ดนตรีพูดได้ แม้ไม่มีถ้อยคำ และมนุษย์ทุกชนชั้นทุกภาษาฟังเข้าใจ ตำนานคาซัคเล่าว่า เมื่อครั้งที่เจ้าชายโจชิ (Jochi) โอรสองค์โตของเจงกีสข่าน (Genghis Khan) จักรพรรดินักรบชาวมองโกล ทรงมีเรื่องขุ่นข้องหมองพระทัยกับพระบิดาและมีเสียงเล่าลือว่าจะทรงก่อกบฏในช่วงปี ค.ศ. 1225 เจงกีสข่านพิโรธและตรัสว่า หากผู้ใดพูดถึงเจ้าชายโจชิจะกรอกปากผู้นั้นด้วยน้ำตะกั่วหลอม หลังจากนั้น เจ้าชายโจชิเสด็จออกไปล่าม้าป่าและสิ้นพระชนม์ เมื่อข่าวมาถึงราชสำนัก ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปกราบทูลเจงกีสข่าน จนกระทั่งนักดนตรี ชื่อ เคตบุก (Ketbug) อาสานำพิณออกมาเล่นถวายเป็นเพลงที่โศกเศร้าและรุนแรง เมื่อเจงกีสข่านทรงสดับทำนองแห่งมรณะนั้น มีพระราชโองการให้ลงอาญาเทตะกั่วลงในพิณ เป็นอันว่าพระองค์ทรงทราบแล้วจากบทเพลงว่าพระโอรสที่ทรงห้ามพูดถึงสิ้นพระชนม์
การสื่อสารด้วยดนตรีเป็นศิลปะที่มีความเป็นมายาวนานในทุ่งหญ้าสเต็ปป์แห่งเอเชียกลาง ปรากฏภาพวาดฝาผนังยุคหินใหม่รูปเครื่องดนตรีต่าง ๆ ตั้งแต่ 4,000 กว่าปีก่อน เนื่องจากเสียงที่สูงและดังก้องของเครื่องดนตรีสามารถเดินทางข้ามพื้นที่แจ้งกว้างใหญ่ได้ดีกว่าเสียงร้องตะโกนของคน หลัก ๆ จึงใช้เป็นสัญญาณล่าสัตว์และเดินทัพ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเกี้ยวพาราสี ประกอบพิธีกรรม และสร้างความบันเทิงแก่ชุมชน ชาวคาซัค หรือที่เรียกกันว่า คาซัคตาร์ (Qazaqtar) แบ่งดนตรีออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ดนตรีบรรเลง เป็นเพลงที่มักเล่นเดี่ยวโดยผู้ชาย เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานและความเชื่อศาสนาผ่านทำนอง เรียกนักดนตรีเหล่านี้ว่า คุยชี (Kuishy) กับ ดนตรีร้อง เป็นเพลงที่มักเล่นร่วมกันเป็นวงโดยผู้หญิง ใช้ในพิธีแต่งงานหรืองานเลี้ยงฉลอง มีเนื้อร้องสั่งสอนประวัติศาสตร์ของเผ่าและเล่าสายสัมพันธ์ในครอบครัว เรียกนักร้องเหล่านี้ว่า โอเลนชี (Olenshy)
เครื่องดนตรีสำคัญที่สุดซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติคาซัคสถาน คือ ดอมบรา (Dombra) เป็นพิณสองสายทรงหยดน้ำ มีคอผอมยาว ในแต่ละภูมิภาครูปทรงจะแตกต่างกันเล็กน้อย ทำจากไม้เนื้ออ่อนหรือไม้น้ำหนักเบาชิ้นเดียว เช่น ไม้สนสปรูซ เมเปิ้ล มะเดื่อซิคามอร์ ชาวคาซัคส่วนใหญ่ฝึกเล่นดอมบราตั้งแต่เด็ก เพราะมีภาษิตว่า เลือดคาซัคที่แท้หาใช่คนคาซัคไม่ เลือดคาซัคที่แท้คือดอมบรา (Nagyz kazak, kazak emes. Nagyz kazak, dombra.) ศิลปินเอกชาวคาซัคที่โด่งดังในรัสเซียและยุโรปตะวันออก และเป็นผู้นำการสร้างสรรค์ดนตรีเพื่อเสรีภาพสมัยอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต คือ คูร์มันกาซี ซากีร์ไบยูลี (Kurmangazy Sagyrbaiuly) คาซัคสถานยังมีวันดอมบราแห่งชาติ คือ วันอาทิตย์แรกของเดือนกรกฎาคม สะท้อนความสำคัญของพิณชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี องค์การยูเนสโกจึงพิจารณาขึ้นทะเบียนดนตรีบรรเลงดอมบราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งคาซัคสถานเมื่อปี ค.ศ. 2014 มาลองฟังเสียงดอมบรากัน
ภาพที่ 1: ดอมบรา
แหล่งที่มาภาพ: Aga Khan Foundation. (2020). Dombra. AKDN. Retrieved February 28, 2022, from https://www.akdn.org/akmi-instrument-8, Egazarov, A. (2018, July 06). Musical Instruments of the peoples of the Caucasus Dombra. Retrieved February 26, 2022, from https://zvuk-m.com/en/muzykalnye-instrumenty-narodov-kavkaza-dombra.html
นอกจากดอมบราแล้ว มีเครื่องสายไพเราะอีก 2 ชนิดที่เป็นที่รักของชาวคาซัค ชนิดแรกคือ เจทีเกน (Zhetygen) เป็นพิณแนวนอนขนาดใหญ่ 7-23 สาย วางราบบนโต๊ะหรือตัก ลักษณะคล้ายกับกู่เจิ้งของจีน แต่มีตำแหน่งจุดขึงสายที่เหลากลึงจากกระดูกสัตว์เรียงเป็นรูปตัว V และตัวเครื่องกลวงมีช่องกลม 2 ช่องบริเวณใกล้หัวและท้าย ต่างกับกู่เจิ้งที่จุดขึงสายเรียงเป็นเส้นเฉียงรูป / และไม่มีช่อง เจทีเกนมีบทเพลงคาซัคโบราณ เรียกว่า เจทีเกนนิน เจเทอุย (Zhetigennin zheteui) ตำนานเล่าว่า นักดนตรีคนแรกที่สร้างเจทีเกนขึ้นเป็นชายชราผู้สูญเสียบุตรชาย 7 คนไปทีละคนในฤดูหนาว เพราะพายุหิมะคร่าชีวิตปศุสัตว์ของชุมชนไปหมดจนผู้คนทยอยกันอดตาย เขาจึงแต่งเพลงไว้อาลัย 7 เพลง เรียงตามลำดับความรู้สึกเมื่อเห็นศพบุตรชายแต่ละคน ได้แก่ สุดที่รัก (Garagym) ปีกหัก (Kanat sykar) ลูกคนโปรด (Amarym) เปลวไฟดับมอด (Ot suner) ความสุขที่จากไป (Bayt Koshty) สุริยคราส (Kyn tytyldy) และทุกข์โศกจากการเสียบุตรชายทั้งหมดเจ็ดคน (Zheti balamnan ayrylyp asa boldym) จึงถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเศร้าและละเอียดอ่อน ลองฟังเสียงเจทีเกนกัน
ภาพที่ 2: เจทีเกน
แหล่งที่มาภาพ: JrawX, CC0 1.0 Universal Public Domain Dedication (2019, June 22). Zhetygen at the Museum of Folk Musical Instruments in Almaty. Wikimedia Commons. Retrieved February 28, 2022, from https://commons.wikimedia.org/
เครื่องสายชนิดที่สองคือ โคบิส (Kobyz) เป็นซอสองสายที่สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก พบในตุรกีและอุซเบกิสถานด้วย เดิมใช้ในพิธีกรรมของหมอผีและหมอรักษาโรคประจำเผ่า เพราะเชื่อว่าเสียงสื่อสารกับวิญญาณและปัดเป่าความชั่วร้ายได้ กะโหลกซอทำจากไม้แกะเป็นรูปทรงน้ำเต้า เว้าคล้ายช้อนหรือทัพพี คันทวนสั้น นอกจากเล่นเพลงแล้วยังสามารถทำเสียงเลียนธรรมชาติได้หลากหลาย เช่น เสียงสุนัขป่าเห่าหอน เสียงร้องของหงส์ และเสียงกีบเท้าม้าขณะวิ่ง มาลองฟังเสียงโคบิสกัน
ภาพที่ 3: หมอผีเล่นโคบิส ค.ศ. 1920
แหล่งที่มาภาพ: MusicRepublic. (1970, January 1). Kazakhstan – Kyrgyzstan voyage EN URSS. MusicRepublic - World Traditional Music from LPs and Cassettes. Retrieved February 28, 2022, from https://music-republic-world-traditional.blogspot.com/2019/01/kazakhstan-kyrgyzstan-voyage-en-urss-n.html
ชาวคาซัคยังมีเครื่องเป่า เป็นขลุ่ยต้นอ้อเรียกว่า ซีบิสกี (Sybyzgy) ในสมัยปัจจุบันอาจประยุกต์ทำจากไม้ ไม้ไผ่ หรือทองแดงเพื่อให้ทนทานยิ่งขึ้น เจาะ 3-5 รู เวลาเป่าวางขลุ่ยในแนวตั้งกลางลำตัว จรดริมฝีปากด้านบนให้ขอบขลุ่ยพิงมุมปากด้านใดด้านหนึ่งและใช้ลิ้นดุน สามารถทำเสียงออกมาประสานกัน 2 ทำนอง ได้แก่ เสียงหวานนุ่มจากตัวขลุ่ยเอง และเสียงต่ำสั่นเครือจากบริเวณคอหอยผู้เป่า (guttural) คล้ายเสียงคำราม เป็นการแยกสองเสียงในเวลาเดียวกันเหมือนการร้องเพลงแบบมองโกลซึ่งก็เป็นอีกลักษณะเด่นหนึ่งของดนตรีทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ซีบิสกีโดยทั่วไปใช้เล่นในพิธีแต่งงาน รับขวัญเด็กเกิดใหม่ และต้อนรับแขกสำคัญ มาฟังเสียงซีบีสกีกัน
ภาพที่ 4: ซีบิสกี
แหล่งที่มาภาพ: Qazaq TV. (2020, December 4). Folk art: Kazakh wind musical instruments. Retrieved March 1, 2022, from https://qazaqtv.com/ru/programms/folk-art?start=8
นอกเหนือจากบรรดาเครื่องสายและเครื่องเป่าที่เป็นตัวเอกของเพลงแล้ว ตัวประกอบอย่างเครื่องเคาะผู้ให้จังหวะก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ดังกีรา (Dangyra) เป็นกลองโบราณที่ขึงหนังสัตว์บนกรอบกลมอย่างง่าย ๆ แล้วตีด้วยมือหรือไม้ มีเสียงต่ำกังวานอย่างฟ้าร้อง สามารถทำได้หลายขนาด และอาจร้อยโซ่ ห่วง ลูกกระพรวน หรือแผ่นโลหะ เข้าไปรอบกรอบ เพื่อเพิ่มเสียงเขย่าเกรียวกราวเหมือนกับแทมบูรีน ทั้งนี้ กลองหนังแบนแบบดังกีราเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีชนิดแรก ๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาละม้ายคล้ายกันหมดในทุกทวีป เช่น รำมะนาในภาคใต้ของไทยเราที่รับมาจากมลายู คันจิราของอินเดีย มาซาร์ของอียิปต์ ปันเดโรของละตินอเมริกา เป็นต้น มาลองฟังเสียงดังกีรากัน
ภาพที่ 5: ดังกีรา
แหล่งที่มาภาพ: Wilkowski, R., CC BY 3.0. (2010, July 4). Wspólczesnie wykonane bebny szamanskie. Wikipedia. Retrieved March 1, 2022, from https://en.wikipedia.org/wiki/Frame_drum#/media/File:Bebny_szama%C5%84skie.jpg
ทุกวันนี้ การเล่นดนตรีคาซัคแบบพื้นบ้านดั้งเดิมใช้เฉพาะเพื่อประกอบพิธีกรรมและต้อนรับนักท่องเที่ยวเสียมากกว่า ตามปกติแล้วเครื่องดนตรีคาซัคจะนำมาเล่นผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากลในแนวเพลงที่นิยมต่าง ๆ เช่น คลาสสิค ป็อป ร็อค ฮิปฮอป เพื่อปรับตัวตามความต้องการของตลาด และก็เป็นที่ดีใจว่านักดนตรีคาซัคส่วนใหญ่ซึ่งมีพื้นฐานการเล่นดอมบราแต่เยาว์วัย มักจะพลอยเก่งเครื่องสายสากลเช่นฮาร์ปและไวโอลินไปด้วย ทำให้สามารถส่งนักดนตรีเข้าสู่วงการบันเทิงสากลได้ อาทิ โรมัน คิม (Roman Kim) ชาวคาซัคผู้มีเชื้อสายตุรกี เบลารุส และเกาหลี สามารถเล่นไวโอลินเดี่ยว ทว่าผลิตเสียงออกมาเสมือนมีสี่คนเล่นในวงสตริงควอร์เท็ตได้ มาลองฟังตัวอย่างผลงานของคิมกัน
คาซัคสถานยังส่งออกนักร้องจำนวนมาก โดยมีการก่อตั้งโรงเรียนประจำดนตรีจูบานอฟ (Zhubanov) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 และสถาบันดนตรีแห่งชาติ (Kazakh National Academy of Music) กรุงอัสตานา ในปี ค.ศ. 1998 ซึ่งต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลป์แห่งชาติ (Kazakh National University of the Arts) ทั้งยังมีสถาบันระดับสูงของเอกชน คือ โรงเรียนดนตรีแห่งชาติคูร์มันกาซี (Kurmangazy Kazakh National Conservatory) นครอัลมาตี ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1944 รวมถึงรัฐบาลสนับสนุนการสร้างวงดนตรีป๊อปวัยรุ่นชนิดร้องและเต้น เรียกว่า คิวป็อป (Q-Pop) เพื่อเข้าร่วมอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน นักร้องคาซัคที่มีชื่อเสียงเช่น จานาร์ ดูกาโลวา (Zhanar Dugalova) ไครัท นูร์ตาซ (Kairat Nurtas) และที่สำคัญที่สุด ดิมาช คูไดแบร์เกน (Dimash Kudaibergen) ผู้สามารถร้องเพลงได้ 15 ภาษา ช่วงเสียงกว้างถึง 6 อ็อกเทฟและ 2 เซมิโทน และเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำเสนอวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านคาซัคเข้าสู่สื่อรัสเซีย จีน และสหรัฐอเมริกา ฟังตัวอย่างผลงานของคูไดแบร์เกนกัน
ต่างกับสื่อบันเทิงอื่น ๆ อย่างหนังสือและภาพยนตร์ ดนตรีนั้นไม่ต้องแปล ผู้ฟังก็เข้าใจและรับสุนทรียรสได้ ดังที่เล่าไปในตำนานเจงกีสข่านตอนต้น นอกจากนั้นจะผลิตเป็นครั้ง ๆ อย่างคอนเสิร์ตเล่นสดก็ได้ หรืออัดเสียงทำซ้ำขายก็ได้ ทำให้เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบัน คาซัคสถานแม้จะจัดเป็นประเทศเหมือง ผู้ส่งออกแร่ธาตุหลักของโลกโดยเฉพาะยูเรเนียมและไฮโดรคาร์บอน ไม่มีอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่เป็นของตนเอง แต่ก็ปรากฏความพยายามต่อเนื่องที่จะส่งเสริมทรัพยากรด้านอื่นโดยเฉพาะดนตรี อันมีความหมายอย่างยิ่งต่อจิตวิญญาณชาวคาซัค ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับการหารายได้ในตลาดบันเทิงสากล เรียกว่าไม่มีเวทีเอง ก็ยืมเวทีคนอื่นเล่นเสียเลย แจ้งเกิดได้เหมือน ๆ กัน หลังจากนี้เมื่อเกิดแล้วอุตสาหกรรมดนตรีคาซัคจะเติบโตไปได้ไกลเพียงใด เราทั้งหลายคงต้องติดตามรับฟัง
บรรณานุกรม
Egazarov, A. (2018, July 06). Musical Instruments of the peoples of the Caucasus Dombra. Retrieved February 26, 2022, from https://zvuk-m.com/en/muzykalnye-instrumenty-narodov-kavkaza-dombra.html
Levin, T. C., Daukeyeva, S., & Kocumkulova, E. (2016). The music of Central Asia. Bloomington, IN: Indiana University Press.
Niles, L. (2018, September 27). For the record, op. 65: Roman Kim's 'Kimpossible'; Viktoria Mullova/Arvo Pärt; Danish string quartet; Lucia Micarelli. Violinist.com. Retrieved March 1, 2022, from https://www.violinist.com/blog/laurie/20189/27475/
Pretto, R. (2021, March 15). Traditional Musical Instruments of Kazakhstan. Retrieved February 26, 2022, from https://traveltomorrow.com/traditional-musical-instruments-of-kazakhstan/
The Library of the First President of the Republic of Kazakhstan Elbasy. (2018). In memory of the terrible tragedy. August 6 is World Day for the prohibition of nuclear weapons. Retrieved February 26, 2022, from https://elbasylibrary.gov.kz/en/news/memory-terrible-tragedy-august-6-world-day-prohibition-nuclear-weapons
UNESCO. (2019, July 8). The National Day of Dombra. Retrieved February 28, 2022, from http://en.unesco.kz/the-national-day-of-dombra
Windsor, R. (2019, February 8). 'The world's best: Dimash Kudaibergen wins the fan-favorite vote as his vocal range stuns the judges. Media Entertainment Arts WorldWide. Retrieved March 1, 2022, from https://meaww.com/the-worlds-best-dimash-kudaibergen-winner-fan-favorite-vote-judges-drew-barrymore-rupaul-charles
Museum Core Writer