ภาพที่ 1 ภาพโมเสก ธีโอดอร์ เมโทคิสต์ (Theodore Metochites) ถวายโมเดลของโบสถ์คอร่า (Chora Church)
แด่พระเยซูคริสต์
ในปี ค.ศ.2018 คำโฆษณาของพิพิธภัณฑ์บอกไว้ว่า พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในทำเนียบ 30 พิพิธภัณฑ์ในโลกที่คุณควรต้องไปชมให้ได้ก่อนตาย จากหนังสือ “1,000 Places to See Before You Die.” ของ Patricia Schultz
โบสถ์คอร่า (Chora Church) เป็นสถานที่แห่งแรกที่แนะนำให้ผู้เขียนรู้จักกับงานโมเสก เป็นงานโมเสกที่สวยงามเปล่งประกายแบบไบแซนไทน์ตอนปลาย (Late Byzantine) ซึ่งทำให้ผู้เขียนหลงรักโมเสก (ในแบบอื่นๆด้วย)นับแต่นั้นมา
ประวัติ
โบสถ์คอร่าเป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ต้นกำเนิดของโบสถ์ยังลางเลือน แต่น่าจะสร้างขึ้นเป็นอารามเล็กๆก่อนในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4-6 (หลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดจากโครงสร้างของโบสถ์อยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 6) ชื่อ Chora หมายถึงสถานที่ตั้งของโบสถ์ที่มีสภาพเป็นชนบท ตั้งอยู่ภายนอกกำแพงเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่สร้างในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 โดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 (มหาราช) (Constantine the Great (ค.ศ.272-337)) ผู้ก่อตั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิล แม้ว่าภายหลังจักรพรรดิธีโอดอสิอุสที่ 2 (Theodosius II (ค.ศ.401-450)) จะได้สร้างกำแพงใหญ่อีกชั้นหนึ่งขยายพื้นที่ออกไปกั้นโบสถ์ไว้ภายใน แต่บริเวณนั้นก็ยังคงไม่ค่อยมีประชาชนไปตั้งถิ่นฐานมากนัก
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 แม่ทัพปรีสคุส (Priscus …- ค.ศ.613) ถูกจักรพรรดิปลดจากตำแหน่ง บังคับให้บวชที่โบสถ์คอร่า เขาเสียชีวิตที่นี่ในปี ค.ศ.613 เนื่องจากแม่ทัพเป็นผู้มีอิทธิพลและได้รับความนิยมจากประชาชนมาก จึงสันนิษฐานว่าเขาน่าจะมีส่วนสนับสนุนโบสถ์ให้มั่นคงเป็นศูนย์รวมใจของคริสต์ศาสนิกชนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ภาพที่ 2 ภาพโมเสก ชุดมารผจญ (The Temptation) หลังจากพระเยซูทรงรับศีลล้างจาก
นักบุญจอห์นเดอะแบปทิสต์แล้ว เสด็จไปสวดมนต์และอดอาหารเป็นเวลาสี่สิบวัน มารได้มายั่วกิเลส
และท้าทายด้วยเล่ห์กลนานา รวมทั้งติดสินบนด้วยสมบัติล้ำค่าเพื่อให้ทรงทอดทิ้งพระเจ้า
คริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของโบสถ์คอร่า การบูรณะครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1315 โดยธีโอดอร์ เมโทคิสต์ (Theodore Metochites (ค.ศ.1270–1332) รัฐบุรุษของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เขาเป็นสามัญชนคนแรกที่มีส่วนก่อสร้างโบสถ์คอร่า อาคารขนาดใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้นอกจากจะใช้ประกอบพิธีทางศาสนาของเมือง เป็นอารามที่พำนักของนักบวช ยังมีพื้นที่ใช้สอยอื่น เช่น โรงครัว สถานพยาบาล ห้องสมุดที่ดีที่สุดในกรุงคอนสแตนติโนเปิล และยังมีส่วนของอาคารที่ใช้เป็นที่ฝังศพอีกด้วย
หลังจากคอนสแตนติโนเปิลเสียกรุงแก่ออตโตมันในปี ค.ศ.1453 โบสถ์คอร่าถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิด ภาพต่างๆ ถูกโบกปูนทับไว้ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 สถาปนิกได้กะเทาะปูนในส่วนที่หุ้มโมเสก แต่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้บูรณะเฉพาะส่วนโถงกลาง นักโบราณคดีชาวอเมริกันได้ค้นพบงานเฟรสโกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โบสถ์คอร่าเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ.1947 งานบูรณะในยุคปัจจุบันเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 และยังไม่เสร็จสิ้น
ภาพโมเสกและภาพเฟรสโกส่วนใหญ่ที่หลงเหลือตกทอดมาถูกสร้างขึ้นโดยการอุปถัมภ์ของธีโอดอร์ เมโทคิสต์ ในปี ค.ศ.1315-1321 เป็นตัวอย่างที่มั่งคั่งมลังเมลืองของฝีมือช่างจากช่วงปลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์
ภาพโมเสก
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าการทำภาพโมเสกเริ่มขึ้นประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาลในบริเวณเมโสโปเตเมียและมาซิโดเนีย เริ่มจากการนำวัสดุธรรมชาติ เช่น กรวด หิน มาทำเป็นลูกบาศก์เล็กๆที่เรียกว่าเทสเซรา (tessera พหูพจน์ใช้ tesserae) แล้วนำมาเรียงกันเป็นลวดลายต่างๆบนพื้น คล้ายกับที่เราเรียงบล็อกปูพื้นทางเดินในปัจจุบัน ต่อมาลวดลายก็กลายเป็นรูปภาพต่างๆ ที่นิยมมักจะเป็นรูปสัตว์และการล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อคนรู้จักการทำแก้วสีก็มีการเพิ่มเติมสีสันที่สมจริงมากขึ้นลงในภาพโมเสกที่แต่เดิมจะเป็นสีเทาและเอิร์ธโทนเป็นหลักตามสีของวัสดุธรรมชาติ แต่ชิ้นส่วน tesserae ที่ทำจากแก้วไม่ค่อยทนทานต่อการเหยียบย่ำ งานโมเสกจึงขยับขยายจากพื้นขึ้นมาสู่ผนัง เสา เพดาน ไปจนถึงภาชนะ สิ่งประดับตกแต่งต่างๆ และจากบ้านเรือนไปสู่โบสถ์
ภาพที่ 3 ภาพโมเสก การเสกน้ำให้เป็นเหล้าองุ่น ปาฏิหาริย์แรกที่พระเยซูคริสต์ทรงบันดาลให้เกิดขึ้น
เมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์รับนับถือศาสนาคริสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ทำให้มีการสร้างโบสถ์วิหารเพิ่มขึ้นมาก การประดับตกแต่งและการทำภาพที่เป็นรูปเคารพด้วยโมเสกก็เฟื่องฟูขึ้นตามไปด้วย สันนิษฐานกันว่าโมเสกไบแซนไทน์ในช่วงแรกยังนิยมใช้กระจกสีเป็นหลัก ต่อมาเมื่อช่างรู้จักวิธีนำแผ่นเงินและทองคำเปลวมาหลอมประกบไว้ด้วยแผ่นแก้ว แรกๆก็มีการใช้สีทองและเงินเฉพาะเพื่อแสดงส่วนที่เป็นโลหะในภาพ ต่อมาก็ขยายกลายเป็นสีสันของเสื้อผ้า รัศมี และพื้นหลังที่เป็นทองคำเหลืองอร่าม เหมือนจะสร้างความเหนือจริง ขับเน้นคุณค่าสูงส่งของโลกในอุดมคติ ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของงานในยุคกลางและปลายไบแซนไทน์ (คริสต์ศตวรรษที่ 10-14) อย่างไรก็ตาม โมเสกไบแซนไทน์ไม่ได้ใช้ในงานศาสนาไปเสียทั้งหมด มีทั้งใช้ในการตกแต่งพื้นและผนังของพื้นที่สาธารณะและส่วนตัวด้วยรูปแบบทางเรขาคณิตและรูปต่างๆในทางโลกด้วย
ในพื้นที่หนึ่งตารางเมตรจะใช้ tesserae ขนาด 0.5 เซนติเมตรประมาณ 40,000 ชิ้น ความวาวและความด้านของผิวเนื้อของวัสดุที่ต่างกัน องศาในการติด และแม้แต่ความสูงต่ำของระดับที่ไม่เท่ากันล้วนส่งผลต่อภาพโมเสกที่เรามองเห็น ผู้เขียนจินตนาการไม่ออกว่าศิลปินทำงานกับชิ้นส่วนเล็กๆหลากสีจำนวนมากมายอย่างไร พวกเขาทำงานกันกี่คนและใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะติดโมเสกได้สักตารางเมตรหนึ่ง พวกเขาวางแผนการทำงานอย่างไรกับการสร้างรูปภาพขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดมากมายในที่สูงและบนเพดาน ทรัพยากรและแรงงานเท่าไหร่ที่จะใช้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมหาศาลนับล้านชิ้น
ในปีค.ศ. 2018 ที่ผู้เขียนไปชม โบสถ์คอร่ายังอยู่ระหว่างการบูรณะ เปิดให้ชมได้เพียงบางส่วน ส่วนที่เป็นงานประดับโมเสกที่ให้ชมได้แก่โถงชั้นนอกและโถงชั้นใน ถัดจากโถงชั้นในซึ่งเป็นส่วนกลางหรือพื้นที่หลักของโบสถ์นั้นปิดอยู่ เราจึงไม่ได้เห็นลักษณะของงานศิลปะจากโมเสกที่สร้างขึ้นก่อนส่วนอื่นๆ นักวิชาการกล่าวว่าการตกแต่งโมเสกในโถงชั้นนอกและชั้นในซึ่งทำขึ้นภายหลังพัฒนาจากรูปแบบที่เคร่งขรึมและเคร่งครัดเป็นแบบที่มีชีวิตชีวาและนุ่มนวลมากขึ้น ภาพที่อยู่บนเพดานและผนังด้านบนจะเป็นรูปหรือประวัติของพระแม่มารีย์และพระเยซู ส่วนผนังด้านล่างลงมาจะประดับด้วยรูปนักบุญต่างๆ สันนิษฐานว่าสาเหตุที่กำหนดให้รูปเคารพและภาพเรื่องเล่าจากพระคัมภีร์อยู่ในที่สูงเป็นผลจากการที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลผ่านเหตุการณ์ของการต่อต้านและทำลายรูปเคารพ (Iconoclasm) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8-9
ภาพที่ 4 ภาพเฟรสโก พระแม่มารีย์ทรงอุ้มพระบุตร รายล้อมด้วยเทพธิดา
ภาพเฟรสโก
โบสถ์จะมีโถงหรือห้องที่ต่อออกไปทางด้านข้าง (ด้านทิศใต้) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของโบสถ์ไบแซนไทน์ เรียกว่า Paracclesion ที่โบสถ์คอร่าใช้เป็นสถานที่เก็บศพโดยทำเป็นซุ้มทรงโค้งเว้าเข้าไปในกำแพงทั้งสองด้าน ในส่วนนี้ของโบสถ์จะประดับด้วยภาพเฟรสโก (Fresco ภาพเขียนสีบนปูนเปียก)
การดึงดูดความสนใจของโมเสกมักจะกลบความงามของเฟรสโก้ไบแซนไทน์ด้วยความอร่ามเหลืองเรืองรองของมัน แต่เฟรสโกในโบสถ์คอร่าก็มีความสวยงามและมีบทบาทสำคัญที่แสดงถึงพัฒนาการของศิลปะไบแซนไทน์ตอนปลาย ส่วนปีกของโบสถ์ที่ทำขึ้นภายหลังโดยธีโอดอร์ เมโทคิสต์ นี้ แสดงถึงการเข้ามาของงานเฟรสโกซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าโมเสก ในยุคขาลงของความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งของจักรวรรดิ
ในช่วงที่ผู้เขียนไปชม มีนั่งร้านซ่อมแซมส่วนนี้ของโบสถ์ทำให้ถ่ายภาพยากสักหน่อย ภาพเฟรสโกตรงนี้ยังยึดขนบคล้ายส่วนอื่น คือส่วนล่างเป็นรูปนักบุญ ส่วนบนโดมเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่มารีย์ ผนังส่วนบนเป็นภาพวาดเล่าเรื่อง เขียนเป็นฉากของสวรรค์และนรก การฟื้นคืนชีพ และการพิพากษาครั้งสุดท้าย สะท้อนถึงจุดประสงค์ของห้องฝังศพ
ภาพที่ 5 ภาพเฟรสโก พระเยซูคริสต์เสด็จเยือนนรก (The Anastasis หรือ Resurrection) เพื่อชุบชีวิตคนตาย
ตัวล็อคและบานพับหักอยู่ใต้ฝ่าเท้าขณะที่ทรงเหยียบย่ำประตูของยมโลก ทรงเอื้อมมือเพื่อฉุดอาดัมและอีฟจากหลุมฝังศพ คนที่ยืนทางด้านขวาของพระเยซู คือ กษัตริย์ดาวิด กษัตริย์โซโลมอน และนักบุญจอห์น
การตกแต่งภายในโบสถ์นี้ช่างไม่ยอมปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเปล่าเลย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณอุโมงค์ฝังศพ ซอกมุมและขอบหน้าต่างทรงโค้ง พวกเขาตกแต่งมันด้วยภาพวาด โมเสก และแกะเป็นลวดลายด้วยเทคนิคอื่นๆ ผู้เขียนไม่สามารถจะนำมาบอกเล่าได้หมด จึงขอชวนผู้อ่านไปเยี่ยมชมโบสถ์ต้องห้ามพลาดแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ปัจจุบันโบสถ์ทำหน้าที่เป็นมัสยิดโดยระหว่างที่ทำพิธีเขาจะใช้ผ้าปิดรูปต่างๆไว้ เมื่อเสร็จพิธีเขาจะเอาผ้าที่ปิดไว้ออกและให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้
ที่มาของข้อมูล
เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ https://www.choramuseum.com/
Joann Lacey, History of Art and Architecture: Volume One
Annie Labatt, Frescoes and Wall Painting in Late Byzantine Art
Tessera mosaic [Britannica.com] เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์, จอร์จ เฟอร์กุสัน เขียน, กุลวดีมกราภิรมย์ แปล อธิบาย และวิจัยภาพประกอบเพิ่มเติม จาก Signs and symbols in Christian art
กระต่ายหัวฟู