เปลุสิอุม (Pelusium) เป็นชื่อที่ชาวกรีกใช้เรียกชื่อเมืองแห่งหนึ่งในอียิปต์ที่วางตัวอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ โดยตั้งอยู่บนปากน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียนของลำน้ำสาขาทางด้านทิศตะวันออกสุด แม่น้ำสายสำคัญที่สุดในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณสายนี้
ชาวอียิปต์เรียกเมืองแห่งนี้ว่า ซีนา (Sena) หรือบางทีก็เรียกว่า เปอร์ อามุน (Per-Amun) ซึ่งแปลว่า บ้าน หรือเทวาลัยของเทพอามุน ซึ่งก็คือเทพแห่งดวงอาทิตย์องค์หนึ่งตามความเชื่อของชาวอียิปต์ โดยในที่นี้ขอเรียกว่า เปลิสิอุม ตามอย่างที่โดยทั่วไปแล้วมักรู้จักเมืองที่ว่าในชื่อแบบกรีกมากกว่า
และก็เป็นเพราะการมีชัยภูมิอย่างที่ว่านี่เอง ทำให้เมืองเปลิสิอุมกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เพราะยามเมื่อมีทัพจากเอเชียบุกรุกเข้ามาทวีปแอฟริกาก็ประจัญหน้าเข้ากับเมืองแห่งนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรนักถ้าเมืองแห่งนี้จะเป็นจุดปะทะกันระหว่างพวกอียิปต์กับกองทัพจากดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ถัดออกไปทางตะวันออกอยู่บ่อยครั้ง
แต่สงครามครั้งใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งต่อรบกันโดยมีเมืองแห่งนี้เป็นสมรภูมิ กลับมีชื่อเสียงด้วยโทษฐานสงครามที่เกี่ยวข้องกับสิงสาราสัตว์มันเสียอย่างนั้น ซึ่งเป็นการศึกที่รู้จักกันดีในชื่อ สงครามเปลุสิอุม (Battle of Pelusium) ตรงตามชื่อเมืองเลยด้วย
พยานปากเอกหนึ่งเดียวของเรื่องนี้คือนักประวัติศาสตร์ ควบตำแหน่งนักพิชัยสงครามชาวมาซิดอน (คือ มาซิโดเนีย จัดอยู่ในปริมณฑลของความเป็นกรีก) ที่ชื่อว่า โปลีเอนุส (Polyaenus, มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 350-450) ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือที่มีชื่อในภาษาละติน ตามต้นฉบับดั้งเดิมว่า Strategemata ซึ่งรู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษในชื่อว่า Polyaenus Stratagems คือ พิชัยสงครามโปลีเอนุสที่ได้เล่าถึงสงครามครั้งนั้นเอาไว้ว่า พวกเปอร์เชียได้ใช้สัตว์ต่างๆ บุกโจมตีเมืองเปลิสิอุมจนแตกยับ
ภาพที่ 1: เมืองเปลุสิอุมวางตัวอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Pelusium#/media/File:Lower_Egypt-en.png
อย่างไรก็ตาม โปลีเอนุสไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไป อันเป็นเหตุของการศึกในสงครามครั้งนี้มากเท่ากับที่ระบุถึงวิธีการเอาชนะในศึกครั้งนั้น (แน่ล่ะ ก็คุณทวดท่านแต่งตำราพิชัยสงคราม ไม่ใช่บันทึกประวัติศาสตร์) ดังนั้นผมจึงต้องนำเอาข้อความในหนังสือ Historiai หรือที่รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า The Histories ของผู้ที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกอย่าง เฮโรโดตุส (Herodotus, พ.ศ. 58-118) ซึ่งบันทึกถึงประวัติศาสตร์ตอนนี้เอาไว้อย่างละเอียด มาเรียบเรียงให้เข้าใจถึงลำดับเหตุการณ์กันมากขึ้น
เฮโรโดตุสได้อ้างว่า สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะฟาโรห์อมาสิสที่ 2 (Amasis II, ครองราชย์ระหว่าง 27 ปีก่อน พ.ศ.-พ.ศ. 17) แห่งราชวงศ์ที่ 26 ของอียิปต์ ได้ส่ง พระราชธิดาปลอม ไปถวายให้เป็นพระชายาของพระเจ้าแคมไบเสสที่ 2 (Cambyses II, ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 13-22) แห่งราชวงศ์อาเคมีนิด (Achaemenid) ของเปอร์เซีย (คือดินแดนบริเวณประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) แต่กระดาษก็ห่อไฟไม่มิด ในที่สุดจักรพรรดิแห่งเปอร์เซียพระองค์นี้ก็จับพิรุธได้ ซึ่งทรงโกรธเอามากๆ จึงโปรดให้แต่งทัพไปตีอียิปต์เพื่อล้างอายไปในพลันนั้นเลยทีเดียว
แต่ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. 18 ซึ่งเป็นปีที่ฟาโรห์อมาสิสที่ 2 ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว พระราชโอรสของพระองค์ที่เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์คือ ฟาโรห์ปซาเมติคที่ 3 (Psametik III หรือที่เฮโรโดตุสเรียกในสำเนียงกรีกว่า ปซามเมนนิตุส [Psammenitus] ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 17-18) จึงต้องออกรบแทน และสมรภูมิรบก็คือเมืองเปลิสิอุมนี่แหละ
โปลีเอนุสบรรยายเอาไว้ว่า เมืองเปลิสิอุมนั้นมีกำแพงเมืองที่แข็งแกร่ง ทัพของพวกเปอร์เชียพยายามตีป้อมเท่าไหร่ก็ไม่แตกเสียที แถมยังโดนพวกอียิปต์ใช้เครื่องโยนหินออกมาจากป้อม ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากจรวดขีปนาวุธในยุคโน้น จนทำเอาพลทหารเปอร์เซียบาดเจ็บล้มตายกันเป็นอันมาก
แต่พระเจ้าแคมไบเสสที่ 2 นั้นก็แก้เกมได้อย่างเขี้ยวลากดินเลยทีเดียว ข้อความตามพิชัยสงครามโปลีเอนุสระบุเอาไว้ว่า “เพื่อตอบโต้การทำลายล้างเหล่านี้ พระเจ้าแคมไบเสส (ที่ 2) ได้จัดเอา สุนัข, แกะ, แมว, นกช้อนหอย (ibises) และสัตว์อื่นๆ ที่พวกอียิปต์นับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นแนวหน้าในกองทัพ”
ข้อความข้างต้นนี้มีการแปลความกันไปอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่าพระเจ้าแคมไบเสสที่ 2 ได้นำเอาบรรดาสารพัดสัตว์เหล่านี้เข้ามาร่วมอยู่ในกองทัพด้วยจริงๆ หรือบ้างก็ว่า พระองค์แค่วาดรูปของสัตว์เหล่านี้ไว้บนโล่ห์ และสรรพาวุธต่างๆ เท่านั้น แต่ไม่ว่าความจริงเป็นเช่นไรก็ตาม เจอหมากเด็ดอย่างนี้เข้าไป พวกอียิปต์ก็ถึงกับไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว
เพราะนอกจากมีธรรมเนียมว่าห้ามฆ่าสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ผมเล่าเอาไว้ข้างต้นแล้ว บรรดาสัตว์ต่างๆ ที่โปลีเอนุสบรรยายถึงนั้น ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของชาวอียิปต์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทพีบาสเต็ท (Bastet) ที่มีเศียรเป็นเจ้าเหมียว, เทพแห่งความตายอนูบิส (Anubis) มีเศียรเป็นน้องหมา, เทพแห่งการสร้างสรรค์คนุม (Khnum) มีเศียรเป็นน้องแกะ และเทพแห่งปัญญาธอธ (Thoth) ซึ่งมีเศียรเป็นน้องนกช้อนหอย โดยนี่ยังไม่รวมถึงสารพัดสัตว์อื่นๆ ที่โปลีเอนุสไม่ได้ระบุชื่อออกมาเป็นการเฉพาะอีกต่างหาก
ดังนั้นกองทัพอียิปต์ภายใต้บัญชาการรบของฟาโรห์ปซาเมติคที่ 3 จึงไม่กล้าโจมตีทัพของพวกเปอร์เซีย เพราะกลัวว่าเป็นการทำร้ายพวกสัตว์ (หรือรูปของสัตว์) เหล่านี้ไปด้วย สุดท้ายป้อมปราการอันแข็งแกร่งของเมืองเปลิสิอุม จึงถูกพระเจ้าแคมไบเสสที่ 2 ตีแตกในที่สุด
ภาพที่ 2: ประติมากรรมรูปฟาโรห์ปซาเมติคที่ 3 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่
Allard Piersonmuseum กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
แหล่งที่มาภาพ: www.livius.org/pictures/a/egypt/26th-dynasty-saites/unidentified-pharaoh/
ภาพที่ 3: ตราประทับ (seal) โบราณรูปพระเจ้าแคมไบเสสที่ 2 จับตัวฟาโรห์ปซาเมติคที่ 3
แหล่งที่มาภาพจาก: https://www.tota.world/article/928/
ข้อความในพิชัยสงครามโปลีเอนุสจบลงแค่เพียงว่า เมื่อเมืองเปลิสิอุมถูกตีแตก พระเจ้าแคมไบเสสที่ 2 ก็ทรงก้าวเข้าไปสู่อียิปต์อย่างสะดวกดายเพียงเท่านี้ ในขณะที่เฮโรโดตุสได้เล่าต่อไปว่า พระองค์ได้บุกไปจนถึงเมืองเมมฟิส (Memphis) อันเป็นเมืองราชธานีของอียิปต์ในขณะนั้น จนเป็นเหตุให้ฟาโรห์ปซาเมติคที่ 3 สิ้นพระชนม์ลงหลังจากที่ครองราชย์บัลลังก์ไอยคุปต์ได้เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น
ถึงแม้ว่าด้วยหลักใหญ่ใจความของหนังสืออภิมหาเก๋ากึ้กทั้งสองเล่มนี้จะพูดถึงสงครามเปลุสิอุมได้อย่างสอดประสานคล้องจองกันเป็นที่สุด แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราก็ไม่รู้หรอกว่า โปลีเอนุสได้ ‘มโน’ ต่อเติมเสริมแต่งจินตนาการ หรือได้กล่าวเกินจริงเกี่ยวกับเรื่องการนำบรรดาสารพัดสัตว์ มาใช้เป็นอุบายในการรบไปแค่ไหน?
เพราะข้อความในหนังสือ The Histories ของเฮโรโดตุส ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกับสงครามเปลุสิอุมในครั้งนั้นมากกว่าโปลีเอนุสมาก (เฮโรโดตุส เขียน The Histories หลังจากสงครามครั้งนั้นไม่ถึง 100 ปี ในขณะที่พิชัยสงครามโปลีเอนุสถูกเขียนขึ้นหลังการศึกดังกล่าว 300 กว่าปีเลยทีเดียว) และเล่าถึงประวัติการศึกในสมรภูมิครั้งนั้นอย่างละเอียดลออมากกว่าในพิชัยสงครามโปลิเอนุส แต่กลับไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ที่ควรถูกกล่าวขวัญถึงเป็นที่สุด อย่างกลศึกการจับสารพัดสัตว์มาใช้ในการรบ
แน่นอนว่า เป็นไปได้ที่เฮโรโดตุสอาจเคยได้ยินได้ฟังเรื่องกลศึกที่แยบคายนี้ แต่อาจเพราะไม่เชื่อถือ หรือไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง (ในขณะที่โปลีเอนุสซึ่งเขียนตำราพิชัยสงคราม ย่อมให้ความสำคัญกับอุบายที่ใช้ในการศึกต่างๆ มากกว่าเฮโรโดตุสแน่) จึงได้เลือกที่จะไม่กล่าวถึง หรือตัดทอนออกไป ตามวิธีการทำงานในการเรียบเรียงประวัติศาสตร์ที่มีทั้งการตัดทอน ขยายความ สอบสวน หรือแม้กระทั่งเพิ่มเติมเรื่องราวเข้าไปเฉยๆ เลยก็ด้วย
เอาเข้าจริงแล้ว เราคงสืบสาวราวเรื่องได้ยากว่า การศึกสมารภูมิเปลิสิอุมในครั้งนั้น ทัพของพวกเปอร์เซียได้นำสารพัดสัตว์มาเดินพาเหรดร่วมอยู่ในทัพด้วยจริงหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม การที่โปลีเอนุสได้บรรจุกลยุทธ์การใช้สัตว์ดังกล่าว เอาไว้ในตำราพิชัยสงครามของเขานั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงมุมมองของพวกกรีกที่มีต่อวัฒนธรรมการบูชาสิงสาราสัตว์ชนิดต่างๆ ของอียิปต์ชนได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 4: ภาพวาดสมรภูมิเปลุสิอุม ที่มีฝูงสัตว์เข้าร่วมในสงคราม ตามจินตการ
แหล่งที่มาภาพ: afrinik.com/how-the-persians-defeated-egyptians-by-throwing-cats-at-legendary-battle-of-pelusium/
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ