ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เด็กหนุ่มชาวอเมริกันวัย 16 ปีปรารถนาจะช่วยชาติในช่วงปลายสงครามที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกตะวันตกเคยมีมา เขาลาออกจากโรงเรียน และปลอมเอกสารโกหกอายุให้สูงขึ้น เพื่อสมัครเข้าร่วมหน่วยรถพยาบาลของสภากาชาดในเดือนกันยายน ค.ศ. 1918 หลังจากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำการที่ฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายน
ดิสนีย์ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศใหม่นี้นาน 9 เดือน แต่ฝรั่งเศสไม่ใช่สถานที่แปลกแยกหรือน่าอึดอัดสำหรับเขา ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสให้ได้เชื่อมต่อเรื่องราวแห่งบรรพชนของตนที่ลืมเลือนไปนาน ครอบครัวดิสนีย์แท้จริงแล้วสืบเชื้อสายมาจาก อูเกอส์ และโรแบร์ แห่งชุมชนอีซิญญี-ซูร์-แมร์ (Hugues and Robert of Isigny-sur-Mer) ขุนนางนอร์มองดีในราชสำนักของพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต เจ้านายฝรั่งเศสผู้ยึดครองบัลลังก์อังกฤษในปี ค.ศ. 1066 ภายหลัง ทั้งสองย่อคำว่าแห่งชุมชนดังกล่าวลงเป็นนามสกุล ดีซิญญี (d’Isigny) และก็ค่อย ๆ เพี้ยนกลายเป็นดิสนีย์ในที่สุด ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ตระกูลดิสนีย์ถึงอพยพมาอาศัยอยู่ในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา
ประสบการณ์รับชมทัศนียภาพและงานศิลปะหลากหลายรูปแบบในฝรั่งเศส ส่งผลให้เมื่อดิสนีย์ปลดประจำการกลับมายังสหรัฐฯ เขาก็สมัครทำงานเป็นนักวาดรูปในเมืองแคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี และตั้งสตูดิโอการ์ตูนแอนิเมชันเป็นของตนเองร่วมกับเพื่อนศิลปิน คือ อับ ไอเวิร์คส์ (Ub Iwerks) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1921 ทั้งสองสิ้นเนื้อประดาตัวและล้มลุกคลุกคลานกันอยู่หลายปีกว่าจะเริ่มประสบความสำเร็จ ดิสนีย์ตัดสินใจเดินทางไปยังฝรั่งเศสอีกครั้งในปี ค.ศ. 1935 เพื่อชมประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ดนตรี และได้เลือกซื้อหนังสือภาพศิลปะที่น่าสนใจกลับมาถึง 335 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นเทพนิยายยุโรปสมัยกอธิค (Gothic) ถึงโรโกโก (Rococo) คือสมัยศตวรรษที่ 12-18 กลายมาเป็น ‘คลังแรงบันดาลใจ’ อันสำคัญยิ่งของสตูดิโอ
ภาพที่ 1: ดิสนีย์ขณะเยือนกรุงปารีส ค.ศ. 1935
แหล่งที่มาภาพ: Agence de presse Meurisse. Agence photographique. (1970, January 01). Walter Disney Le "Père" de Mickey. Retrieved February 19, 2022, from https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/btv1b9027395j/
สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด (Snow White and the Seven Dwarfs) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันวาดมือขนาดยาวเรื่องแรกที่ดิสนีย์ผลิตขึ้น ออกฉายวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1937 ตามมาด้วยงานดัดแปลงบันเทิงคดียุโรปอีกมากมาย เช่น พิน็อคคิโอ (Pinocchio) ซินเดอเรลลา (Cinderella) อภินิหารดาบกู้แผ่นดิน (The Sword in the Stone) เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) เฮอร์คิวลีส (Hercules) เป็นต้น
ผลงานของดิสนีย์ที่มีการศึกษาศิลปะฝรั่งเศสนำมาปรับใช้อย่างชัดเจนเป็นเรื่องแรก ๆ คือ เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty) ออกฉายวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1959 ภาพยนตร์เล่าเรื่องเริ่มจากอุปกรณ์ประกอบฉากจริงคือหนังสือปกอัญมณีที่เปิดออกให้เห็นภาพและตัวอักษรศิลป์ทีละหน้า มีต้นแบบมาจากพระวรสารลินเดา (Lindau Gospels) ในออสเตรียสมัยศตวรรษที่ 8 เป็นรูปแบบศิลปะราชวงศ์กาโรแล็งเฌียง (Carolingien Dynasty) ลักษณะการวาดตัวละครและวัตถุรูปร่างสูงแคบ บนพื้นหลังที่โดดออกมาอยู่ในระนาบเดียวกัน(ไม่เน้นมิติใกล้ไกล หรือแสดงภาพหน้าชัดหลังมัว) ยังมีแรงบันดาลใจมาจากผ้าปักยูนิคอร์น (Unicorn Tapestries) ในเนเธอร์แลนด์สมัยศตวรรษที่ 15 ซึ่งออกแบบลายทอจากกรุงปารีส
ภาพที่ 2: เปรียบเทียบปกพระวรสารลินเดา กับหนังสือเจ้าหญิงนิทราที่ใช้ถ่ายต้นเรื่องแอนิเมชันของดิสนีย์
แหล่งที่มาภาพ: The Morgan Library & Museum. (2020, July 23). Lindau gospels. Retrieved February 19, 2022, from https://www.themorgan.org/collection/lindau-gospels, Anachronistic fairytales. (2016, May 20). Retrieved February 19, 2022, from https://anachronisticfairytales.tumblr.com/page/2
ภาพที่ 3: ผ้าปักยูนิคอร์น
แหล่งที่มาภาพ: The Met Cloisters. (1495). The Unicorn Purifies Water (from the Unicorn Tapestries). Retrieved February 19, 2022, from https://www.metmuseum.org/art/collection/search/70007564
ภาพที่ 4: การวาดรูปทรงสูงแคบและวัตถุอยู่บนพื้นหลังระนาบเดียวกันในเจ้าหญิงนิทรา
แหล่งที่มาภาพ: Kennicott, P. (2022, January 08). Review | The Dark Side of Disney's unexpected love affair with frothy French Rococo. Retrieved February 20, 2022, from https://www.washingtonpost.com/arts-entertainment/2022/01/06/disney-france-met-exhibit/, Coles, S. (2018, September 01). Sleeping Beauty castle storybook. Retrieved February 18, 2022, from https://fontsinuse.com/uses/22935/sleeping-beauty-castle-storybook
นอกเหนือจากศิลปวัตถุแล้ว สถาปัตยกรรมของฝรั่งเศสก็ได้เฉิดฉายในภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างยิ่งใหญ่เช่นกัน คือเป็นฉากหลังของเรื่อง คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (The Hunchback of Notre Dame) ออกฉายวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1996 ทีมผู้กำกับ 8 คนต้องเดินทางเยือนกรุงปารีสเป็นเวลา 10 วัน เพื่อไปมหาวิหารนอเทรอดาม (Notre-Dame de Paris) ศึกษาโครงสร้างของบันได ระฆัง หอคอย และห้องลับต่าง ๆ อย่างละเอียด ไปพระราชวังแห่งความยุติธรรม (Palais de Justice) อาคารศาลซึ่งมีตัวร้ายของเรื่องเป็นผู้พิพากษา และไปค้นหาที่ตั้งเดิมของ ‘ศาลปาฏิหาริย์ (Cour des miracles)’ คือเขตสลัมยิปซีและซ่องโจรสมัยศตวรรษที่ 17-18 จึงสามารถผลิตฉากแอนิเมชันที่สมจริงในทุกแง่มุม และผู้ชมฝรั่งเศสก็ประทับใจที่บ้านเมืองของตนได้ปรากฏในสื่ออย่างงดงาม
ภาพที่ 5: โถงพื้นลายตารางหมากรุกและหน้าต่างกระจกสีในมหาวิหารนอเทรอดาม
แหล่งที่มาภาพ: Niland, J. (2021, December 10). Notre Dame gets the green light from French officials for controversial interior refurbishment ahead of 2024. Retrieved February 19, 2022, from https://archinect.com/news/article/150290849/notre-dame-gets-the-green-light-from-french-officials-for-controversial-interior-refurbishment-ahead-of-2024
ภาพที่ 6: ฉากเพลง ขอพรให้คนจน (God Help The Outcasts) ในคนค่อมแห่งนอเทรอดาม
แหล่งที่มาภาพ: Nathie, S. (2019, January 14). Prophet of terror: The story of Shoko Asahara, Aum Shinrikyo, and the danger of religious terrorism. Retrieved February 15, 2022, from https://suzukisthoughts.blogspot.com/2019/01/prophet-of-terror-story-of-shoko.html
แม้ในสมัยหลังจากที่ดิสนีย์เปลี่ยนจากแอนิเมชันวาดมือ มาเป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแล้ว ศิลปะฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นต้นแบบที่สตูดิโอมาศึกษาและนำไปใช้ โดยอาศัยความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ เรื่องที่มีการออกแบบสร้างสรรค์มากเป็นพิเศษ คือ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) ซึ่งทำเวอร์ชันวาดมือออกฉายวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 และทำเวอร์ชันคนแสดงผสมคอมพิวเตอร์กราฟฟิกออกฉายวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017
เดิมที คำสาปในนิทานนั้นมีเพียงว่า แม่มดสาปเจ้าชายให้กลายเป็นสัตว์ร้ายเท่านั้น ไม่ได้สาปข้าราชบริพารในวังให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้และเครื่องเรือนแต่อย่างใด แต่สตูดิโอดิสนีย์เพิ่มเติมเรื่องนี้ขึ้นมาเองเพื่อเพิ่มความสนุก พวกเขาเลือกเครื่องใช้ชนชั้นสูงจากยุคเรอเนสซองส์ที่รูปทรงสอดคล้องกับลักษณะกายภาพของมนุษย์ เช่น กาน้ำชามีฝาเป็นหญิงร่างท้วมสวมหมวก ไม้ขนไก่เป็นหญิงร่างผอมสวมกระโปรงบานฟูฟ่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในเวอร์ชันแอนิเมชันวาดมือแม้จะมีภาพร่างข้อเสนอจากศิลปินไปหลายแบบ อาทิ ตัวละครค็อกสเวิร์ธ (Cogsworth) ออกแบบจากนาฬิกาทรงสูงยุคจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ให้สวมเสื้อคลุมกำมะหยี่ดำ แดง และทอง เหมือนกับสีงานฝังกระดองเต่าและทองสำริดที่นิยมในสมัยนั้น ทว่าน่าเสียดาย เทคโนโลยีแอนิเมชันและงบประมาณขณะนั้นไม่สามารถสร้างตัวละครเคลื่อนไหวที่มีลวดลายหรือรายละเอียดมากเกินไป จึงจำต้องตัดทอนลงเป็นรูปทรงเรขาคณิตง่าย ๆ
กว่าเราจะได้เห็นตัวละครเคลื่อนไหวที่เหมือนกับสิ่งของยุคเรอเนสซองส์จริง ก็ต้องรอเวอร์ชันคอมพิวเตอร์กราฟฟิก 26 ปีต่อมา ตัวอย่างตัวละครที่เป็นที่จดจำของผู้ชม เช่น ตัวละครลูมิแอร์ (Lumiere) ออกแบบจากเชิงเทียนสองแขนยุคศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีความอ่อนช้อยเหมือนสายน้ำและพืชพรรณธรรมชาติ และตัวละครมิสซิสพ็อตต์ส (Mrs. Potts) ออกแบบจากกาน้ำชาไมเซน (Meissen) ไมเซนเป็นชื่อเมืองที่ตั้งของโรงงานกระเบื้องหลวงในรัฐแซกโซนี (Saxony) ประเทศเยอรมนี ผู้ผลิตเซรามิกเนื้อแข็งแห่งแรกในยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1708 และกลายเป็นที่นิยมของราชสำนักต่าง ๆ
ภาพที่ 7: เปรียบเทียบนาฬิกาทรงสูงยุคจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 กับภาพร่างตัวละครค็อกสเวิร์ธ
แหล่งที่มาภาพ: Alan, A. (1870). A fine Napoléon III Boulle marquetry inlaid. Retrieved February 20, 2022, from https://www.bada.org/object/fine-napoleon-iii-boulle-marquetry-inlaid-eight-day-longcase-clock, Greenberg, C. (2022, January 30). Why enchanting French antiques fill Walt Disney's animated classics. Retrieved February 20, 2022, from https://www.1stdibs.com/introspective-magazine/walt-disney-at-the-met/
ภาพที่ 8: เปรียบเทียบเชิงเทียนยุคศตวรรษที่ 18 กับแอนิเมชันตัวละครลูมิแอร์
แหล่งที่มาภาพ: The Met Fifth Avenue. (1745). Candlestick with Two Branches. Retrieved February 20, 2022, from https://www.metmuseum.org/art/collection/search/461110, Thompson, E. (2021, November 01). Help me, I'm sexually attracted to a Candlestick. Retrieved February 20, 2022, from https://www.cosmopolitan.com/entertainment/movies/a9097654/lumiere-in-beauty-and-the-beast/
ภาพที่ 9: กาน้ำชาไมเซน
แหล่งที่มาภาพ: Meissen Manufactory. (1719). Teapot with cover. Retrieved February 20, 2022, from https://www.metmuseum.org/art/collection/search/205267, Meissen Manufactory. (1719). Teapot with equestrian scene. Retrieved February 20, 2022, from https://www.metmuseum.org/art/collection/search/188553
ความสำเร็จของดิสนีย์เป็นตัวอย่างการสืบค้นรากเหง้าของลูกหลานผู้อพยพ ในฐานะคนเชื้อสายฝรั่งเศสที่เกิดในสหรัฐฯ ไม่เคยรู้ว่าดินแดนต้นตระกูลของตนมีประวัติความเป็นมาและศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง ดิสนีย์ได้บินข้ามทวีปกลับไปศึกษา ซาบซึ้งในสุนทรียภาพ และใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมฝรั่งเศสสร้างสรรค์แอนิเมชัน อาจจะเรียกได้ว่าโด่งดังกว่าผลงานของชาวฝรั่งเศสแท้ ๆ จำนวนมากด้วยซ้ำ แม้หลังจากเขาเสียชีวิตแล้วก็ยังคงเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกนิยมชมชอบ จึงได้สร้างใหม่ (remake) ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นตามยุคสมัย ส่วนความประณีตงดงามแห่งศิลปะฝรั่งเศสเองก็ได้โอกาสเผยสู่สายตาชาวโลกในแบบ ‘มะกัน ๆ’ คือพร้อมมอบความสนุกครื้นเครงให้แก่ทุกคนที่มีเงินซื้อตั๋ว ไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในศาสนาหรือราชสำนักอีกต่อไป
บรรณานุกรม
Attractions Magazine Staff. (2020, April 01). A look back at the French history of Walt Disney's family. Retrieved February 19, 2022, from https://attractionsmagazine.com/look-back-french-history-walt-disney-family/
Hogg, T. (2017, July 19). The iconic character transformations of 'Beauty and the Beast'. Retrieved February 18, 2022, from https://www.awn.com/vfxworld/iconic-character-transformations-beauty-and-beast
Lindsay. (2015, July 27). Art in Disney: Sleeping Beauty. Retrieved February 18, 2022, from https://www.artdocentprogram.com/art-disney-sleeping-beauty/
Margaret, L. (2013, December 05). Animation history: Disney's 'Sleeping Beauty'. Retrieved February 18, 2022, from https://laurenmacsweencdc.wordpress.com/2013/12/01/animation-history-disneys-sleeping-beauty/
Price, T. (2012, May 21). "Over There": Walt Disney's World War I Adventure. Retrieved February 21, 2022, from https://www.waltdisney.org/blog/over-there-walt-disneys-world-war-i-adventure
Rebello, S. (1997). The art of the Hunchback of Notre Dame: A Disney Miniature. New York: Hyperion.
Staatliche porzellan-manufaktur Meissen GmbH. (2021). The invention of the first European porcelain. Retrieved February 20, 2022, from https://www.meissen.com/en/geschichte
The Metropolitan Museum of Art (MET). (2021, December 10). Inspiring Walt Disney: The Animation of French Decorative Arts. Retrieved February 18, 2022, from https://www.metmuseum.org/exhibitions/listings/2021/inspiring-walt-disney
Museum Core Writer