หากใครเคยผ่านการทำงานพัฒนาชุมชนซึ่งต้องลงพื้นที่อยู่ร่วมกับชุมชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพยายามเข้าไปทำงานร่วมกับพวกเขาจำเป็นต้องพูดคุยและใช้ชีวิตร่วมกัน จึงทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “คนนอก” ซึ่งเป็นนักพัฒนาและ “คนใน” ที่อยู่ในท้องถิ่น ในแง่นี้นักพัฒนาหลายคนจึงมีความทรงจำต่อชุมชนกลุ่มเป้าหมาย และพยายามนำเสนอหรือเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยยึดโยงกับความทรงจำและข้อมูลที่ตนเองได้รับตลอดระยะเวลาการทำงาน
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากความทรงจำของผู้เขียนที่พยายามขบคิดหลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับประมงพื้นบ้านในชุมชนเขาปิหลาย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา ผู้เขียนคิดว่าชุมชนแห่งนี้มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีความสำคัญ เพราะสะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายรัฐทั้งระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก
หลายคนอาจคิดว่าการที่ชุมชนมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพังงาและติดกับทะเลอันดามัน จึงทำให้พวกเขาประกอบอาชีพการประมงจับสัตว์น้ำในทะเลเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่อดีต แต่จากการสัมภาษณ์ประมงพื้นบ้านรวมถึงคนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ พบว่าหลังจากรัฐไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 ซึ่งได้ยกระดับการผลิตโดยนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ในช่วงเวลานั้นมีผู้ที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองในจังหวัดพังงาจำนวน 184 ราย และหนึ่งในนั้นคือองค์กรอิสระเหมืองแร่ในทะเลที่เข้ามาทำเหมืองหาแร่ดีบุกบริเวณทะเลที่ติดกับชุมชนเขาปิหลาย ตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา
จากบริบทข้างต้น ทำให้คนในชุมชนรวมถึงคนจากพื้นที่อื่น ๆ จำนวนมากเข้ามาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ไม่ว่าจะเป็น การรับจ้างขับเรือหาแร่ ลงไปหาแร่ใต้ทะและใช้เครื่องดูดแร่เป็นอุปกรณ์สำหรับลำเรียงแร่ขึ้นเรือ รวมถึงขนย้ายแร่ขึ้นฝั่ง ส่วนชาวประมงในขณะนั้นยังมีจำนวนน้อยและออกเรือจับสัตว์น้ำเพื่อนำมาขายให้กับผู้คนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำแร่รวมถึงใช้บริโภคในครัวเรือน ขณะเดียวกันชาวประมงบางคนได้ปรับเปลี่ยนเรือของตนให้สามารถรับจ้างเคลื่อนย้ายแร่และหลายคนยังได้เข้าไปเป็นแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ในทะเล
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2530 การทำแร่ในทะเลซบเซาลง เนื่องจากหมดเวลาการให้สัมปทานประกอบกับการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ซึ่งส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คนในชุมชนเริ่มประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประมง แต่ส่วนมากคือการทำประมงเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของที่พักอาศัยเป็นฟาร์ม แต่อย่างไรก็ดียังมีชาวประมงบางส่วนที่ออกเรือประมงขนาดเล็กจับสัตว์น้ำในทะเล
ภาพที่ 1 สะพานไม้ที่เคยใช้สำหรับขนย้ายแร่ดีบุก
ช่วงเวลานี้บรรยากาศในชุมชนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะนอกเหนือจากคนในท้องถิ่นที่เริ่มทำกิจการฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ยังมีคนนอกพื้นที่ซึ่งเข้ามาลงทุนทำฟาร์มกุ้งกุลาดำโดยอาจร่วมทุนกับคนในชุมชนหรือจ้างคนในชุมชนเป็นแรงงานภายในฟาร์มของตนเอง ถึงแม้ฟาร์มกุ้งจะสร้างรายได้ในช่วงแรก แต่ชาวประมงหลายคนกลับเห็นว่าหลังปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเจอกับปัญหาโรคระบาดและผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้บางคนจึงต้องขายกิจการหรือเลิกทำฟาร์มกุ้งเพื่อไปเริ่มประกอบอาชีพอื่น
จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนได้ปรับวิถีชีวิตให้เป็นไปตามบริบทและนโยบายของรัฐ ซึ่งสะท้อนความเป็นท้องถิ่นที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลอันดามันเมื่อปี พ.ศ. 2547 ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้หน่วยงานรัฐ เอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนจึงเข้าช่วยเหลือโดยการสนับสนุนเรือรวมถึงอุปกรณ์ทำการประมง คนในชุมชนหลายคนจึงเริ่มออกเรือขนาดเล็กทำการประมงในทะเลและทำให้ประมงพื้นบ้านกลายเป็นอาชีพหลัก ขณะเดียวกันช่วงเวลานั้นรัฐได้ส่งเสริมให้จังหวัดพังงากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ฟาร์มกุ้งหลายแห่งจึงกลายเป็นที่พัก โรงแรม วิลล่า หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ส่วนมากมีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มาจากภายนอกชุมชน
ภาพที่ 2 การประกอบอวนเครื่องมือสำหรับทำการประมง
ระยะเวลาต่อมาหลังจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น คนในชุมชนเขาปิหลายรวมถึงชาวประมงได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น ปรับเรือของตนและพานักท่องเที่ยวตกปลา ดำน้ำ ขายสัตว์น้ำให้กับนักท่องเที่ยว พยายามปรับเปลี่ยนภูมิศาสตร์บริเวณริมชายหาดให้เหมาะแก่การบริการนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นเจ้าของรถตู้และพานักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง ในแง่นี้ชาวประมงรวมถึงคนในชุมชนจึงประกอบอาชีพที่หลากหลาย ภายในระยะเวลา 1 ปี ช่วง 6 เดือนแรกอาจจะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นจะเน้นไปทางให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ภาพที่ 3 เรือประมงพื้นบ้านภายในชุมชนเขาปิหลาย
การระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2562 ถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงภาคการประมงที่สัตว์น้ำมีราคาต่ำลง แต่คนในชุมชนเขาปิหลายยังคงพึ่งพาสองอาชีพนี้เป็นหลัก
เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงความทรงจำส่วนหนึ่งของผู้เขียนที่มีต่อชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของผู้คนอยู่ตลอดเวลา หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเล่าประวัติศาสตร์ฉบับย่อที่พยายามให้เห็นว่าชุมชนหรือหมู่บ้านไม่เป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ ที่ตัดขาดจากโลกภายนอก ในทางกลับกันกลับได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ร่วมกับสังคมภายนอกอย่างเข้มข้น และในระยะเวลาที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนในชุมชนคงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามบริบทอย่างไม่หยุดนิ่งเช่นกัน
หมายเหตุผู้เขียน
ข้อมูลในบทความนี้มาจากการลงพื้นที่ทำงานพัฒนาร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านชุมชนเขาปิหลาย จังหวัดพังงา ผู้เขียนขอขอบคุณชาวประมงพื้นบ้านและผู้คนในชุมชนที่มีส่วนสำคัญทำให้ลงมือเขียนชิ้นนี้
นิติกร ดาราเย็น