Museum Core
พิพิธภัณฑ์เพื่อทุกคน
Museum Core
04 ส.ค. 65 1K
ประเทศอังกฤษ

ผู้เขียน : ณัฐฐา สววิบูลย์

          คงดีไม่น้อย ถ้าการออกแบบพื้นที่สาธารณะใดๆ ก็ตามในทุกวันนี้ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อเพื่อนมนุษย์ การให้สิทธิและคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน และลดการพึ่งพาคนอื่นได้ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่ร่วมกัน ดังนั้น การออกแบบภายในพิพิธภัณฑ์ควรมีการประยุกต์ใช้หลัก Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกคน เพื่อให้มีสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการต่างๆ ที่เอื้อต่อการใช้งาน สามารถเข้าถึงได้ ปลอดภัยและเป็นสากล ไม่ว่าคนเหล่านั้นมีความหลากหลายทั้งทางเพศ อายุ ความสามารถ สถานะ หรือความพิการก็ตาม

 

          พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในโลกนี้ได้มีการปรับตัวโดยต้องการให้ทุกคนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม คำนึงถึงผู้คนในทุกความแตกต่าง และที่แห่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมและรู้สึกประทับใจ นั่นก็คือ The Roman Baths หรือ โรงอาบน้ำโรมัน ณ เมืองบาธ ประเทศอังกฤษ ดินแดนมรดกโลกในหุบเขาของแม่น้ำเอวอน อุดมไปด้วยน้ำพุร้อนธรรมชาติ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ซึ่งคนทั่วไป ทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษาเข้าถึงได้ และผู้พิการก็สามารถเข้าถึงพื้นที่ใช้งานได้ถึง 90% เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา หรือการได้ยิน รวมไปถึงเด็กออทิสติก อีกด้วย

 

          The Roman Baths เป็นโรงอาบน้ำโรมันขนาดใหญ่ในสมัยโบราณที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ สถานที่พบปะสังสรรค์ รวมถึงเป็นสถานที่อาบน้ำเพื่อความผ่อนคลายและเพื่อการบำบัดโรค ปัจจุบันโรงอาบน้ำแห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมชลประทาน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวโรมัน ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ภายในแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่

 

1) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Spring) เป็นสถานที่สักการะบูชาเทพธิดา Sulis Minerva ของชาวโรมัน และเป็นบ่อกักเก็บน้ำพุร้อนที่มาจากแหล่งธรรมชาติซึ่งไหลเวียนมาสู่อาคารอย่างไม่ขาดสาย 

2) วิหารโรมัน (Roman Temple) เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

3) ห้องอาบน้ำของชาวโรมัน (Roman Bath House) ประกอบด้วยห้องสปา จากน้ำพุร้อนที่มีแร่ธาตุมากกว่า 40 ชนิด ห้อง Heated Rooms and Plunge Pools เป็นบ่อน้ำเย็นทรงกลม และยังมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า รวมไปถึงห้องซาวน่าอีกด้วย

4) ส่วนพิพิธภัณฑ์ ที่มีการจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุที่ถูกค้นพบ

 

 

ภาพที่ 1 โรงอาบน้ำกลางแจ้งและส่วนนิทรรศการภายในอาคาร

 

          ร่องรอยอารยธรรมที่ยังคงอยู่ ได้ถูกจัดแสดงและนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถเตรียมตัวก่อนมาเยี่ยมเยือน The Roman Baths ได้โดยการเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลโดยละเอียดในการเข้าชม เช่น การเข้าถึง (Accessibility) แต่ละพื้นที่ เนื้อหาการจัดแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของปี

 

          ความใส่ใจในความเท่าเทียมกันของผู้คนที่เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ประตูทางเข้า ที่มีความกว้าง 1.32 เมตร สามารถเข็นวีลแชร์ผ่านได้สะดวก เมื่อเข้ามาในบริเวณโถงต้อนรับพบกับเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์รูปทรงวงรีที่ถูกออกแบบให้มี 2 ระดับ คือ ระดับความสูงปกติสำหรับบุคคลทั่วไป และระดับที่ลดความสูงลงมาสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์และเด็กเล็ก ตรงจุดนี้ สามารถรับอุปกรณ์ audio guide เพื่อรับฟังการบรรยายข้อมูลภายใน The Roman Baths โดยกดตามหมายเลขที่ปรากฎตามจุดต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีให้เลือกฟัง 12 ภาษา ผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษสามารถเลือกฟังภาษาอื่น ๆ ได้ มี audio guide สำหรับเด็กที่ใช้งานง่ายและขนาดพอเหมาะ หรือเลือกเป็นแบบ headphone เพื่อให้ตัดเสียงรบกวนจากภายนอกก็ยังได้ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ hearing induction loop สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านการได้ยิน เช่น ความสามารถในการได้ยินต่ำอีกด้วย

 

ภาพที่ 2 แผ่นป้ายคำอธิบายที่มีหมายเลขเมนูออดิโอไกด์กำกับไว้ และอักษรเบรลล์สำหรับผู้มีปัญหาทางสายตา

 

          สำหรับผู้พิการหรือผู้มีปัญหาทางสายตา ภายใน The Roman Baths มีอักษรเบรลล์ในการให้ข้อมูลควบคู่ไปกับการฟังบรรยายจาก audio guide สำหรับผู้มีปัญหาทางสายตาโดยเฉพาะ และมีการใช้แผนผังอาคารที่เป็นลักษณะนูนต่ำ เพื่อให้สามารถใช้มือจับทำความเข้าใจภาพรวมของอาคารได้ นอกจากนี้ ในส่วนจัดแสดงบางส่วนมีการใช้โมเดลจำลองอาคาร หรือชิ้นงานประติมากรรมที่ให้สัมผัสได้ เพื่อให้สามารถจินตนาการได้ถึงรูปทรงของอาคารหรือวัตถุจัดแสดงได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ในสมัยก่อนที่มักไม่ยอมให้ผู้เข้าชมนั้นจับต้องสิ่งใดเลย

 

ภาพที่ 3 โมเดล 3 มิติสำหรับผู้มีปัญหาทางสายตาสัมผัส

 

           ผู้เข้าชมที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเด็กออทิสติก มีเอกสารที่มีข้อมูลพร้อมภาพประกอบในรูปแบบที่เด็กและผู้ปกครองเข้าใจได้โดยง่าย บอกลำดับการเข้าชมห้องจัดแสดง จุดสังเกต สัญลักษณ์ต่าง ๆ และข้อควรระวังที่อาจกระทบกับประสาทสัมผัสและการรับรู้ของเด็ก  เช่น บางพื้นที่อาจมีคนเยอะและเสียงดัง บางพื้นที่ค่อนข้างมืด บางพื้นที่อาจมีความเย็นกว่าปกติ หรือบางพื้นที่อาจมีความร้อนจากน้ำพุร้อนธรรมชาติ และมีกลิ่นที่ต่างไป เป็นต้น ทำให้เด็กๆ สามารถเดินชมด้วยตนเองได้อย่างรู้สึกปลอดภัยตลอดการเข้าชม และหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้ทันที

 

          The Roman Baths เป็นสถาปัตยกรรมโรมันที่มี 3 ชั้น ประกอบด้วย 4 โซน ทางสัญจรภายในจึงมีทั้งทางราบและทางลาดเอียงที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ที่เป็นทางต่างระดับโดยมีราวจับในจุดที่ต้องการความปลอดภัย และในการเดินชมระหว่างชั้น หากผู้เข้าชมเช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ หรือผู้พิการ ไม่สะดวกใช้บันได สามารถใช้ลิฟท์ในการขึ้นลงได้ โดยมีอยู่ 4 จุด คลอบคลุมการสัญจรภายในเกือบทั้งโครงการ วัสดุพื้นของ The Roman Baths ถึงแม้ว่าจะมีหลายวัสดุ แต่ล้วนเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ลื่น และไม่มีสิ่งกีดขวางในเส้นทางที่เป็นเส้นทางเดินหลักของผู้เข้าชม

          เดินชมไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็แวะพักได้ ที่นี่มีจุดนั่งพักเป็นระยะและมีบริการน้ำดื่มที่เป็นน้ำแร่จากธรรมชาติไว้บริการให้กับ
ผู้เข้าชมอีกด้วย

 

 

ภาพที่ 4 ลิฟท์และจุดบริการน้ำดื่มภายในพิพิธภัณฑ์

 

          การให้แสงสว่างเหมาะสมกับการจัดแสดงนิทรรศการ แต่มีบางพื้นที่ที่มีระดับแสงสว่างค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีการฉายภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ประกอบการจัดแสดง ซึ่งมีการเตือนไว้ก่อนเข้าพื้นที่เพื่อให้คนทั่วไปเพิ่มความระมัดระวังในการเดิมชม รวมถึงผู้สูงอายุที่อาจมองเห็นไม่ชัดเจน

 

          ระบบป้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายที่ให้ข้อมูล ป้ายชื่อห้อง ป้ายบอกทาง ฯลฯ มีการออกแบบโดยใช้อักษร สัญลักษณ์ สีที่มีความเป็นสากล และใช้สีตัวอักษรที่แตกต่างจากพื้นหลัง การใช้ภาพประกอบเช่น แผนผัง รูปด้านรูปตัด ของสถาปัตยกรรมโรมัน ก็ทำในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย โดยป้ายแต่ละจุดถูกติดตั้งให้มีความเหมาะสมกับระยะและมุมมองของผู้เข้าชม ทำให้ผู้ชมเดินชมได้อย่างเพลิดเพลิน และไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทาง

 

ภาพที่ 5 แผ่นป้ายที่มีการเปรียบสเกลพื้นที่จริง และภาพจำลองแสดงตำแหน่งแห่งหนที่ในอดีต

 

           ห้องน้ำที่นี่มีทั้งห้องน้ำที่แยกชาย หญิง และห้องน้ำที่เป็นเป็นแบบ Unisex ซึ่งเป็นห้องน้ำ Universal ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานของทุกคน ใช้ประตูแบบบานเลื่อน และมีพื้นที่ภายในห้องน้ำที่ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์สามารถใช้งานได้สะดวก โดยมีสุขภัณฑ์พร้อมกับอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ติดตั้งในระยะที่เหมาะสม เช่น ราวจับ โต๊ะพับเปลี่ยนผ้าอ้อม สายดึงเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน เป็นต้น

           ก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์โรงอาบน้ำโบราณ เมื่อผู้เขียนมองไปรอบๆ สังเกตได้ว่าผู้คนที่มาที่นี่นั้นมีความหลากหลายจริงๆ  สามารถมาเที่ยว มาเรียนรู้ ซึมซับเรื่องราวต่างๆกันได้โดยไม่มีอุปสรรคทางกายภาพและภาษามาขวางกั้น สถานที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมในอดีตแห่งนี้ได้เชื่อมผู้คนในปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกันผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงข้อจำกัดในการใช้ชีวิต การทำความเข้าใจ ใส่ใจถึงการใช้งานจริงของคนทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีส่วนช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่ที่แท้จริง 

 

อ้างอิง

https://www.romanbaths.co.uk/accessibility

 

ณัฐฐา สววิบูลย์

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ