Museum Core
“มาเลเซีย” ดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม
Museum Core
15 ส.ค. 65 1K
ประเทศมาเลเซีย

ผู้เขียน : สุวดี นาสวัสดิ์

          Malaysia Truly Asia คือคำขวัญส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซียที่ได้ยินมาตั้งแต่ ค.ศ. 2007 น่าคิดตามว่าอะไรในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแห่งนี้ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอเชียที่แท้จริง และเรารู้จักประเทศในคาบสมุทรมลายูแห่งนี้มากน้อยแค่ไหนนอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ถ้ำบาตูที่มีรูปปั้นสีทองอร่ามขนาดยักษ์ยืนตระหง่านอยู่หน้าถ้ำ มัสยิดสีชมพูที่เมืองปุตราจายา เมืองมรดกโลกจอร์จทาวน์ที่มี street art และมุมถ่ายภาพสวย ๆ สไตล์ Sino-Portuguese หรือ
แลนด์มาร์คอย่างตึกแฝดเปโตรนาสที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลก คำถามข้างต้นนี้มีคำตอบรอเราอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซีย

 

          พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซีย (Muzium Negara) อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของพิพิธภัณฑ์สลังงอร์ที่บูรณะขึ้นใหม่หลังได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารจัดแสดงมี 2 ชั้น ชั้นล่าง 2 ห้อง ชั้นบน 2 ห้อง โถงอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน อย่างตอนที่ไปชมนั้นเป็นเรื่องการละเล่นพื้นเมือง เราจึงได้เห็นของเล่นนานาชนิด เช่น ว่าว หนังสติ๊ก ลูกข่าง ที่ดูแล้วทำให้นึกถึงของเล่นบ้านเราและมองเห็นความคล้ายคลึงกันของวิถีชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ภาพที่ 1 ของเล่นในนิทรรศการการละเล่นพื้นเมือง

 

          ห้องแรกที่เราเดินไปชมคือห้องจัดแสดง A ทางขวามือ ห้องนี้นำเสนอความเป็นมาของการตั้งรกรากบริเวณคาบสมุทรมลายูในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อก้าวเข้าไปเราจะได้ทำความรู้จักดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงเวลาที่แผ่นเปลือกโลกแยกตัวออกเป็นทวีปต่าง ๆ มีตู้จัดแสดงวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทั้งกะโหลกศีรษะและโครงกระดูกมนุษย์ โลงศพ ข้าวของเครื่องใช้ที่พบในหลุมฝังศพ อันเป็นหลักฐานว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นชุมชนและมีพิธีกรรมสืบเนื่องมายาวนาน มุมด้านในสุดของห้องจำลองเป็นถ้ำพร้อมกับหุ่นจำลองมนุษย์ และโครงกระดูกจำลองของ Perak Man ส่วนนี้เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของห้องก็ว่าได้ เพราะเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญ เนื่องจาก Perak Man เป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าหนึ่งหมื่นปีและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเดินเลียบตู้จัดแสดงวัตถุโบราณที่แสดงถึงร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ในแถบนี้ตั้งแต่ยุคหิน ยุคโลหะ ได้เห็นเครื่องประดับ สร้อยคอลูกปัดหลากสี ถ้วยโถโอชาม ที่เป็นหลักฐานของความเจริญในยุคต่อมา รวมทั้งพระพุทธรูป และศิลาจารึก ที่บ่งบอกถึงการได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาของคนในพื้นที่

 

 

ภาพที่ 2 หุ่นจำลอง Perak Man

 

 

ภาพที่ 3 เครื่องนุ่งห่มทำจากเปลือกไม้

 

 

          ทางเข้าห้องจัดแสดง B ต้อนรับเราด้วยกำแพงและประตูไม้แกะสลักที่ระบุว่ามาจากพระราชวังเซตุล (Setul - คำเดียวกับจังหวัดสตูล) ห้องนี้แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรมาเลย์ในคาบสมุทรมลายูและบอร์เนียว ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นทางผ่านของเรือสินค้าจากอินเดียและจีน ทำให้มะละกาเป็นเมืองท่าที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางการค้าที่เจริญรุ่งเรืองมาก ในด้านความเชื่อทางศาสนา ผู้ครองอาณาจักรมะละกาในสมัยนั้นนับถือศาสนาอิสลาม ดังปรากฏหลักฐาน
ร่องรอย เช่น การใช้คำนำหน้าพระนามว่า สุลต่าน เอกสารคัมภีร์กุรอาน การปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งแสดงว่าศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญในอาณาจักรมะละกาในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ภาพที่ 4 ประตูและกำแพงไม้แกะสลักของพระราชวังเซตุล

 

          ความรุ่งเรืองของอาณาจักรในอดีตถูกขับเน้นผ่านการตกแต่งห้องด้วยไฟสปอตไลท์และผนังสีเหลืองทอง สะท้อนพื้นไม้ที่ขัดเงาเป็นมันปลาบ มีบัลลังก์ของสุลต่านรัฐเปรักเด่นสง่าอยู่กลางห้อง มีการจัดแสดงเสื้อผ้าอาภรณ์ของชนพื้นเมืองซึ่งได้รับอิทธิพลจากพ่อค้าอินเดีย อาหรับ และจีน มีกริชหลายลักษณะ มีรูปแกะสลักหัวเรือพระที่นั่งรูปมังกร รูปปั้นมกรที่แกะสลักจากหิน (มีคำอธิบายประกอบว่าเป็นสัตว์ครึ่งช้างครึ่งปลา ซึ่งแฝงนัยว่าเป็นสัตว์ที่ทรงพลังทั้งบนบกและในน้ำ) และเครื่องเทศนานาชนิดที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของอาณาจักร

 

ภาพที่ 5 เสื้อผ้าอาภรณ์ของชนพื้นเมืองซึ่งได้รับอิทธิพลจากพ่อค้าต่างชาติ

 

 

ภาพที่ 6 รูปแกะสลักประดับหัวเรือพระที่นั่งซึ่งทำจากไม้ขนุน

 

          ขณะที่อาณาจักรมะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าที่เติบโตอย่างมากในคาบสมุทรมลายู ช่วงเวลาเดียวกันนั้นชาติตะวันตกก็พัฒนาการเดินเรืออย่างไม่หยุดยั้ง กระทั่งสามารถเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาได้สำเร็จ โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินเรือผ่านมหาสมุทรอินเดียมาพบกับอาณาจักรมะละกาอันสมบูรณ์มั่งคั่ง ทั้งยังมีสินค้าสำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างเครื่องเทศ โปรตุเกสจึงเข้ายึดครองมะละกาได้ใน ค.ศ. 1511

 

          เดินขึ้นไปบนชั้น 2 ทางซ้ายมือคือห้องจัดแสดง C ที่บอกเล่าเรื่องราวในยุคอาณานิคม ทางเข้าห้องมีภาพวาดจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ประกอบข้อความอธิบาย เราเดินผ่านส่วนจัดแสดงที่ทำเป็นเรือจำลองและมีการฉายวิดีโอสร้างบรรยากาศให้คล้ายกับช่วงเวลาในอดีต ใกล้ ๆ กันนั้นมีโมเดลเรือ Flor de la Mar (Flower of the Sea) ที่พาชาวโปรตุเกสมาถึงที่นี่ได้สำเร็จ เมื่อเดินต่อไปจะพบผนังที่ทาสีตกแต่งคล้ายอิฐ ส่วนทางเดินเบื้องหน้ามีซุ้มประตูโค้งให้เดินลอดผ่าน ซุ้มประตูนี้เป็นของป้อมปราการ A Famosa อันเลื่องชื่อที่โปรตุเกสสร้างขึ้นนั่นเอง มะละกาเป็นดินแดนในอาณัติของโปรตุเกสได้ร้อยกว่าปี ก็ถูกครอบครองโดยฮอลันดาใน ค.ศ. 1641 และตามด้วยอังกฤษใน ค.ศ. 1795 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1941-1945) ญี่ปุ่นจึงเข้ามามีบทบาทในมลายู นับเวลาโดยรวมแล้วดินแดนแถบนี้ถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติกว่า 400 ปี

 

          ห้องนี้มีวัตถุจัดแสดง เช่น ดอกไม้ทองที่ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงสยามตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ซึ่งสยามก็มอบของตอบแทนมาเช่นกัน ภายในห้องยังมีปืนใหญ่ กล้องส่องทางไกล เหรียญกษาปณ์และธนบัตร มีหุ่นจำลองคนกรีดยาง อุปกรณ์ในการกรีดยาง เรือขุดแร่ดีบุกจำลอง เนื่องจากมาเลเซียมีแร่ดีบุกซึ่งเป็นที่ต้องการในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 รวมถึงมีการจัดแสดงสินค้าที่สำคัญ เช่น กาแฟ พริกไทย พืชเศรษฐกิจ เช่น มะพร้าว เป็นต้น

 

ภาพที่ 7 ห้องจัดแสดง C ที่มีเรือขุดแร่ดีบุกจำลอง

 

          วันเวลากว่า 400 ปีที่อยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติได้บ่มเพาะความรู้สึกต้องการเป็นอิสระของชนพื้นเมือง ในที่สุด ตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์มลายาก็ประกาศเอกราชในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 ณ สนามกีฬาเมอร์เดกา (Merdeka หมายถึง อิสรภาพ) ซึ่งต่อมามีการจัดตั้งเป็นประเทศมาเลเซียใน ค.ศ. 1963 ปัจจุบันมาเลเซียปกครองแบบสหพันธรัฐ ประกอบด้วย 13 รัฐ มีประมุขคือสมเด็จพระราชาธิบดี (ยังดี เปอร์ตวน อากง) ซึ่งเลือกจากเจ้าผู้ครองรัฐ 9 รัฐ ในห้องจัดแสดง D ซึ่งเป็นห้องสุดท้ายมีการนำเสนอภาพของมาเลเซียในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นทั้งแบรนด์สินค้า สถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก ชื่อองค์กรระหว่างประเทศที่มาเลเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิก ชาวมาเลย์เชื้อสายต่าง ๆ ทั้งเชื้อสายมาเลย์ จีน อินเดีย และไทย ห้องนี้ทำให้เรารู้จักมาเลเซียในหลากหลายแง่มุม และเห็นภาพมาเลเซียในวันนี้แจ่มชัดขึ้นสมชื่อห้อง Malaysia Today

 

 

ภาพที่ 8 หุ่นจำลองชาวมาเลย์เชื้อสายไทย

 

           เราเดินออกจากห้องจัดแสดงสุดท้ายและพอจะเข้าใจถึงเหตุผลของการใช้คำขวัญโปรโมตการท่องเที่ยวดังที่กล่าวไปข้างต้น ที่นี่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ทั้งที่มาจากความเชื่อในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งที่มาจากอิทธิพลจากศาสนาอิสลามในช่วงที่อาณาจักรมะละการุ่งเรืองถึงขีดสุด และเมื่อชาติตะวันตกเข้ามาก็นำสถาปัตยกรรมแบบยุโรปเข้ามาอีก ร่องรอยของวัฒนธรรมในอดีตจึงยังหลงเหลือให้สัมผัสได้ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้เราได้รู้จักมาเลเซียมากขึ้นผ่านห้องจัดแสดงที่สร้างบรรยากาศให้น่าสนใจด้วยวัตถุ ภาพประกอบในอดีตและเอกสารประวัติศาสตร์ หุ่นจำลอง การออกแบบศิลปกรรมในแต่ละห้องที่สอดคล้องกับเรื่องราวในแต่ละยุคสมัย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซียจึงเป็นสถานที่ซึ่งไม่เพียงแต่เดินชมได้เพลิน ๆ แล้วได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย แต่ยังทำให้เราได้สังเกตและเข้าใจความหลากหลายของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นด้วย

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.muziumnegara.gov.my

 

ชุลีพร วิรุณหะ.  บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :   

ศักดิ์โสภาการพิมพ์, 2553.

 

สุวดี นาสวัสดิ์

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ