พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับบุตรหลานของคนทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ทรงเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการศึกษาที่พระราชทานให้แก่พสกนิกร ครั้นถึงพระราชโอรสของพระองค์ หากทรงส่งไปเรียนกับนักเรียนทั่วไปนอกพระบรมมหาราชวัง อาจเป็นอุปสรรคและไม่สะดวกกับหลายฝ่าย
พระองค์จึงทรงให้จัดตั้งโรงเรียนพระราชทานสำหรับพระราชโอรส ตลอดจนบุตรหลานของเจ้านายชั้นสูงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระราชทานชื่อโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนราชกุมาร” โดยโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นนักเรียนพระองค์แรก
จากบันทึกประจำวันของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงชักผ้าที่คลุมแผ่นกระดานมีอักษรจารึกชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนราชกุมาร ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม รัตนโกสินทรศก 111 (พ.ศ. 2435) เวลา 9.00 น.
สำหรับอาจารย์ที่รับผิดชอบโรงเรียนราชกุมารเป็นชาวอังกฤษนามว่า นายโรเบิร์ต โมรันต์ (Mr. Robert Morant) เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2406 ณ ตำบลแฮมสเต็ด กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นคนชอบเล่นกีฬา ร่างกายแข็งแรง เข้าเรียนมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในปี พ.ศ. 2424 และได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังเรียนจบได้สมัครเป็นครูในกรุงลอนดอน
ภาพที่ 1 นายโรเบิร์ต โมรันต์ (Mr. Robert Morant)
แหล่งที่มาภาพ: http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5138.15
ต่อมาโมรันต์มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง และหนังสือเล่มนั้นได้เป็นดั่งต้นทางให้เขาเดินทางไกลในเวลาต่อมา หนังสือประทีปแห่งเอเชีย ผลงานของเซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ เป็นความประทับใจให้อยากมาท่องเที่ยวประเทศในแถบทวีปเอเชีย
ประจวบเหมาะกับโมรันต์ทราบข่าวจากเพื่อนว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ผู้ทรงเคยเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน จะเสด็จกลับสยาม เขาจึงขอติดตามพระองค์ โดยสารทางเรือมาพร้อมด้วยพระโอรสของกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ เดินทางถึงกรุงเทพฯ เดือนมกราคม พ.ศ. 2429 โดยเริ่มต้นสอนหนังสือให้แก่ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช
วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2431 โมรันต์ได้รับลายพระหัตถ์จากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้โมรันต์เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 เป็นต้นไป ครูโมรันต์จึงรับตำแหน่งมีสัญญาว่าจ้าง 2 ปี พระราชทานเงินค่าจ้างปีละ 600 ปอนด์ พร้อมด้วยบ้านพัก ครูโมรันต์ถวายพระอักษรให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระราชโอรสอื่น ๆ ของรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2431 เป็นต้นมา วันละ 2 เวลา
ระหว่างเป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนราชกุมาร นอกจากสอนภาษาอังกฤษแล้ว ยังแต่งตำราแบบเรียนภาษาอังกฤษถึง 5 เล่ม ตลอดจนวางหลักสูตรและดูแลกิจการของโรงเรียน และความที่ครูโมรันต์มีชื่อแรกว่าโรเบิร์ต นักเรียนจึงมักเรียกสั้นว่า ๆ ว่า “ครูโรป” หรือ “ครูโรฟ” นั่นเอง
อีกเรื่องหนึ่งที่ครูโมรันต์ทำ เพื่อใช้เป็นสื่อการสอน นั่นคือการพิมพ์แสตมป์สำหรับใช้ส่งจดหมายระหว่างนักเรียนภายในโรงเรียน หรือระหว่างเจ้านายภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การสื่อสารทางไปรษณีย์ เรียกว่า “ไปรษณีย์ราชกุมาร” (Rajakumar Post)
ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดโรงเรียนราชกุมาร
แหล่งที่มาภาพ: http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5138.0
สำหรับ “แสตมป์ชุดโรงเรียนราชกุมาร” สันนิษฐานว่าออกใช้ก่อน ร.ศ. 111 หรือ พ.ศ. 2435 มีอัตราดวงละ 1 อัฐ, 1 เสี้ยว และ 1 ซีก ใช้ผนึกบนซองจดหมาย ฝากส่งไปมาได้ ทั้งยังมีตราประทับของโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Rajakumar Post Bangkok Siam”
นอกจากนี้ ยังมีแสตมป์ลักษณะเดียวกันอีกชุด มีชื่อเรียกว่า “แสตมป์ชุดราชสำนัก” หรือเรียกอีกชื่อว่า “แสตมป์ชุดเจ้านาย” สันนิษฐานว่าเป็นสื่อการสอนของโรงเรียนราชกุมาร ภายในพระบรมมหาราชวังเช่นกัน โดยใช้ผนึกจดหมายภายในส่งถึงกันระหว่างพระญาติ
แสตมป์ชุดนี้มีทั้งสิ้น 10 แบบ สั่งพิมพ์จากประเทศอังกฤษ ไม่มีตัวอักษรหรือตัวเลขราคาหน้าดวง ทว่ามีกรอบลวดลาย ภายในกรอบเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเรือล่ม), สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นต้น
ภาพที่ 3 แสตมป์ชุดราชสำนัก
แหล่งที่มาภาพ: http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5138.0
หากนับตามลักษณะการใช้เพื่อผนึกจดหมายระหว่างนักเรียนในโรงเรียนราชกุมาร หรือระหว่างเจ้านายภายในพระบรมมหาราชวัง แสตมป์ชุดโรงเรียนราชกุมารและแสตมป์ชุดราชสำนัก นับเป็นตราไปรษณียากรท้องถิ่น (Local Postage Stamp) และหากเทียบเคียงเวลา แสตมป์ทั้งสองชุดก็ออกมาภายหลังสยามมีกิจการไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426
สำหรับครูโมรันต์ หลังเหตุการณ์วิกฤต ร.ศ. 112 เขาได้รับจดหมายเลิกจ้างเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2436 จึงเดินทางกลับแผ่นดินเกิด เข้ารับราชการจนต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ท่านเซอร์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2450 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2462
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย
หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากรไทย เล่ม 4
หนังสือตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม, พ.ต.อ.นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช
ลมล่องข้าวเบา