‘เอโดะ’ (Edo) ชื่อเมืองในอดีตของโตเกียวที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างตั้งแต่สมัยเป็นเด็กผ่านเนื้อหาในการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องดังจากญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคทศวรรษ 2520 เรื่องเณรน้อยเจ้าปัญญา หรือที่ทุกคนเรียกกันจนติดปากว่า ‘อิคคิวซัง’ ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ยินคำว่าเอโดะเป็นครั้งแรกจากการ์ตูนเรื่องนี้เช่นกัน
เอโดะเป็นเมืองแบบไหน? ผู้เขียนนึกภาพไม่ออกเลยจนกระทั่งได้ไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นและมีเพื่อนแนะนำว่าถ้าชอบไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ชอบเรื่องราวแนวประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแล้วละก็ให้ไปที่เอโดะ-โตเกียวมิวเซียม ซึ่งเพื่อนการันตีว่าไปที่นี่แล้วไม่ผิดหวัง ต้องชอบอย่างแน่นอน
เมื่อย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ก็พบว่า เอโดะเป็นทั้งชื่อยุคสมัยระหว่างค.ศ.1603 – 1868 (เมืองรุ่นราวคราวเดียวกับกรุงศรีอยุธยา) และหมายรวมถึงพื้นที่เมืองที่มีอาณาบริเวณกว่า 2,000 ตร.ม. ซึ่งยุคเอโดะเป็นยุคสมัยที่โชกุนขึ้นมาเรืองอำนาจและเป็นยุคที่ญี่ปุ่นมีพัฒนาการทางสังคมสูงเพราะการเมืองมั่นคง บ้านเมืองมีความสงบสุข เศรษฐกิจมั่งคั่ง ศิลปะและวัฒนธรรมเฟื่องฟูได้รับความนิยมแม้จะมีนโยบายปิดประเทศก็ตาม
ตามประวัติความเป็นมา เอโดะ-โตเกียวมิวเซียม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 โดยแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ถูกพัฒนามาก่อนหน้านั้นเกือบ 10 ปี เริ่มจากเฟ้นหาพื้นที่สำหรับก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในท้องที่สุมิดะ อันเป็นย่านบ้านเกิดของ คัสสึชิกะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) ศิลปินภาพพิมพ์ ยูกิโยเอะ (U-kiyoe ภาพพิมพ์ที่แกะจากบล็อกไม้) ชื่อดังแห่งยุค รวมถึงวัฒนธรรมเอโดะนั้นถือกำเนิดและรุ่งเรืองในเขตเรียวโคคุ (Ryogoku) นอกจากนี้ตัวอาคารยังโดดเด่นเป็นแลนมาร์กของย่านนี้ด้วยรูปลักษณ์ที่สถาปนิกออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายกับโกดังเก็บข้าว หรือยุ้งฉางที่ยกพื้นขึ้นสูงด้วยขาทั้ง 4 ที่สูงถึงเกือบ 36 เมตรจากพื้น ขณะที่หลังคาสีขาวคล้ายวัดญี่ปุ่นโบราณ
ภาพที่ 1 แค่รูปทรงของอาคารพิพิธภัณฑ์ก็โดดเด่นเห็นมาแต่ไกล
แหล่งที่มาภาพ : https://www.edo-tokyo-museum.or.jp/en
การเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ก็สะดวกมากๆ มีรถไฟฟ้าใต้ดินสายโอเอโดะ (Oedo Line) ผ่าน เดินออกมาจากสถานีแล้วเดินอีก 3 นาทีก็ถึงพิพิธภัณฑ์ หลังจากซื้อตั๋วเข้าชมเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาออกเดินทางผ่านเวลา 400 ปี กลับสู่ยุคเอโดะ โดยอาศัยอุโมงค์บันไดเลื่อนที่พิพิธภัณฑ์ได้นำภาพวาดแต่ละสมัยมาติดไว้ ทำให้รู้สึกเหมือนเวลาค่อยๆ ย้อนกลับไป ในที่สุดก็มาถึงชั้น 6 ซึ่งเป็นทางเข้าห้องนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ และตื่นตะลึงกับสะพานไม้ขนาดใหญ่ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นการจำลองสะพานนิฮงบาชิ (Nihonbashi bridge) ตัวสะพานของจริงสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1603 ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง มีความกว้างถึง 8 เมตร และยาวประมาณ 51 เมตร สะพานนี้เป็นจุดเริ่มต้นและแผ่ขยายความเจริญของเมืองเอโดะ จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครต่อใครจะต้องอวดว่าเคยมาหรือรู้จักสะพานนี้ อย่างในการ์ตูนก็มีภาพอิคคิวซังแกว่งแขนเดินกร่างบนสะพาน หรือศิลปินภาพพิมพ์ยูกิโยเอะหลายคนก็มักทำภาพวิวของสะพานนิฮงบาชิ
ภาพที่ 2 ไฮไลท์แรกของเมืองเอโดะกับสะพานนิฮงบาชิจากยุคสมัยเอโดะ
แหล่งที่มาภาพ : https://www.edo-tokyo-museum.or.jp/en
หลังเดินข้ามสะพานที่เป็นไฮไลท์แรกมาแล้วก็เป็นโซนที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับศูนย์กลางและความเป็นเมืองของเอโดะที่เน้นการจัดแสดงด้วยโมเดลเมืองจำลองที่มีความอลังการงานสร้างมาก แม้จะย่ออัตราส่วนแล้วชิ้นโมเดลจำลองชุมชนก็นับว่ายังมีขนาดใหญ่และกว้าง จนพิพิธภัณฑ์ต้องมีกล้องส่องทางไกลเสริมให้ผู้ชมใช้ส่องดูในบริเวณที่ไกลสายตามากเกินไป ในขณะที่จุดที่อยู่ใกล้ตาก็สามารถมองเห็นรายละเอียดยิบย่อยของแต่ละส่วนได้ชัดเจน แค่ค่อยๆ ไล่สายตาดูลักษณะอาคารบ้านเรือนแต่ละหลัง หรือหุ่นโมเดลจิ๋วรูปคนนับร้อยที่เดินขวักไขว่บนท้องถนนก็ละลานตาไปหมด ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม อากัปกิริยาท่าทางของโมเดลแต่ละตัวล้วนแตกต่าง ทุกตัวมีคาแร็กเตอร์และสตอรี่ของตัวเอง เรียกได้ว่า “ละเอียดจนตาแตก”จุดนี้เป็นจุดที่ผู้เขียนชื่นชอบมากและหยุดเป็นเวลานานกว่า 30 นาทีเพื่อจ้องดูทีละส่วนของโมเดลแล้วอมยิ้มกับรายละเอียดเล็กน้อยๆ ที่พิพิธภัณฑ์พิถีพิถันบรรจงสร้างบรรยากาศธรรมดาสามัญสมัยเอโดะให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ภาพที่ 3 โมเดลจำลองวิถีชีวิตและบ้านเรือนในละแวกสะพานนิฮงบาชิ
แหล่งที่มาภาพ : https://www.edo-tokyo-museum.or.jp/en
พ้นผ่านโซนเมืองจำลองก็มาเรียนรู้วิถีความหรูหราของขุนนางระดับไดเมียวที่เดินทางไปไหนมาไหนด้วยเกี้ยวศักดินา และพิพิธภัณฑ์ได้ทำเกี้ยวจำลองไว้ให้ผู้ชมได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ลองนั่งเกี้ยวเป็นไดเมียวและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากสังเกตได้จากมีแถวเก้าอี้สำหรับนั่งรอ
ภาพที่ 4 เกี้ยวไดเมียว และป้ายคำอธิบายพร้อมภาพประกอบเข้าใจได้ง่าย
โซนถัดมาผู้ชมต้องลงบันไดเลื่อนมาที่ชั้น 5 ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน โดยโซนแรกยังเป็นโซนที่สืบต่อเนื่องของยุคเอโดะ จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตทั่วไปชาวเมืองเอโดะว่ามีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลักษณะการจัดแสดงจะเน้นรูปแบบการสร้างฉากจำลองขนาดเท่าจริง เช่น จำลองห้องแถวไม้ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพห้องหับ ข้าวของเครื่องใช้ และมีหุ่นคนประกอบในแต่ละฉากเพื่อแสดงความเป็นอยู่ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย หรือจำลองร้านขายหนังสือที่มีภาพพิมพ์ต่างๆ แขวนเรียงรายโชว์ให้ลูกค้าเลือก ซึ่งนอกจากมีป้ายคำอธิบายที่หน้าร้านแล้ว ฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์จัดทำตู้จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับภาพพิมพ์ด้วยเทคนิคยูกิโยเอะ เพื่อให้ผู้ชมได้ความรู้ความเข้าใจควบคู่กัน บางมุมมีกิจกรรมเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเอง เช่น ลองหาบถังน้ำด้วยไม้คาน ลองยกเสาธงโบกสัญญาณไฟไหม้ ลองยกหีบเหรียญทอง เป็นต้น
ภาพที่ 5 ร้านขายหนังสือจำลอง และภาพแสดงขั้นตอนการทำภาพพิมพ์ยูกิโยเอะในตู้จัดแสดง (ซ้าย)
นักเรียนที่มาทัศนศึกษาลองประสบการณ์หาบถังน้ำด้วยไม้คาน (ขวา)
มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจเป็นเรื่องเศรษฐกิจการค้าสมัยเอโดะที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเมือง และศิลปะและความบันเทิงต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเติบโตในยุคสมัยนี้โดยเฉพาะละครคาบูกิที่รุ่งเรืองมาก
ภาพที่ 6 ฉากจำลองโรงละครคาบูกิที่อลังการมาก โดยเฉพาะหุ่นตัวแสดง
นอกจากขนาดเท่าคนแล้ว ใบหน้าแววตายังสมจริงจนขนลุก
หลังจากดื่มด่ำกับยุคเอโดะจนทั่วแล้ว ผู้ชมจะเดินมาจบยุคเอโดะที่กึ่งกลางของชั้น 5 แล้วลอดใต้สะพานนิฮงบาชิเพื่อข้ามไปสู่ยุคสมัยเมจิ (ค.ศ.1868 – 1912 ร่วมยุคกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) หรือยุคที่เอโดะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘โตเกียว’ นับเป็นสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเปิดประเทศและรับอิทธิพลจากตะวันตก
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นภาพสภาพบ้านเรือนและรูปแบบสังคมใหม่ของโตเกียวได้อย่างชัดเจนผ่านรูปแบบสื่อที่หลากหลาย ทั้งฉากจำลองขนาดเท่าจริงของอาคารสำคัญในสมัยนั้น โมเดลจำลองตึกสูงเก้าชั้น หรือร้านค้าในย่านกินซ่าที่สะท้อนให้เห็นไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของชาวเมืองโตเกียว รวมถึงโมเดลจิ๋วที่เนรมิตภาพบรรยากาศของโตเกียวที่เต็มไปด้วยอาคารที่มีหน้าตาแบบฝั่งยุโรป ท้องถนนเต็มไปด้วยการสัญจรของรถราง รถม้า รถลาก และยามค่ำคืนก็สว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีโซนที่เป็นตู้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้จริงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละห้วงทศวรรษให้ผู้ชมได้เปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตัวเอง เช่น ตู้เย็นรุ่นแรก โทรทัศน์รุ่นที่ยังเป็นจอภาพขาวดำ การตัดชุดเสื้อผ้าเองด้วยจักรเย็บผ้า เครื่องทำน้ำแข็งไสเป็นเกล็ด เป็นต้น
ภาพที่ 7 โตเกียวในยุคเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเมือง ‘บิ๊กซิตี้’
จากที่ใช้เวลาเดินชมนิทรรศการถาวรนานกว่า 4 ชั่วโมง ผู้เขียนชื่นชอบและประทับใจพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก ทั้งครบถ้วนด้วยสาระความรู้และรู้สึกอิ่มเอมใจ ยอมรับว่ารูปแบบการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ที่เลือกใช้วิธีสื่อสารผ่านฉากและโมเดลจำลองที่เต็มไปด้วยรายละเอียดแบบสมจริง นอกจากทำให้เข้าใจเนื้อหาสาระได้ง่ายแล้วยังทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน ยิ่งมุมไหนมีกิจกรรมให้ทดลองประสบการณ์ด้วยตัวเองแล้วยิ่งสนุกสนานมากขึ้น นับได้ว่าพิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียวทำหน้าที่ให้บริการความรู้ได้ดี คนดูรู้สึกมีชีวิตชีวา ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดด้วยชุดข้อมูล สังเกตจากคนอื่นๆ ที่ร่วมชมนิทรรศการด้วยกัน แต่ละคนดูเอ็นจอยกับการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียวให้บริการมานานเกือบ 30 ปี เพิ่งประกาศปิดพิพิธภัณฑ์ชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมครั้งใหญ่ปรับปรุงห้องนิทรรศการใหม่ และจะเปิดมาให้บริการอีกครั้งในปีค.ศ. 2025
แหล่งข้อมูล
https://www.edo-tokyo-museum.or.jp/en
ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล