ในทำเนียบผู้บริหารสูงสุดของกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขแห่งสยามประเทศ ไล่เลียงมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2426 จนกระทั่งปัจจุบันในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้บริหารสูงสุดล้วนเป็นคนไทยทั้งสิ้น
ทว่า มีหนึ่งนามผู้บริหารสูงสุดเป็นชาวต่างชาติ และตำแหน่งสูงสุดของการไปรษณีย์สยามในขณะนั้น ยังใช้กับผู้บริหารสูงสุดท่านนี้เพียงผู้เดียว นั่นคือตำแหน่ง “ปลัดบัญชาการ” ทำการแทนผู้บัญชาการกรมไปรษณีย์โทรเลข ระหว่างปี พ.ศ. 2449 – 2452 บุรุษนั้นนามว่า แฮรร์ เธโอดอร์ โคลล์มันน์ (Herr Theodor Collmann)
โคลล์มันน์เกิดวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2410 ที่เมืองวินเดคเกน (Windecken) ประเทศเยอรมนี จนอายุได้ 15 ปี เข้าฝึกงานในกรมไปรษณีย์โทรเลขเมืองอัลเทนสตาดท์ (Altenstadt) ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 สอบผ่าน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยนายไปรษณีย์ตามที่ทำการต่าง ๆ กระทั่งพบกับอธิบดีกรมไปรษณีย์เยอรมนี จึงชักชวนโคลล์มันน์เข้าทำงานที่ไปรษณีย์กรุงเบอร์ลิน
ภาพที่ 1 เธโอดอร์ โคลล์มันน์
แหล่งที่มาภาพ ไปรษณีย์ไทย
ขณะที่ยุคแรกเริ่มกิจการไปรษณีย์สยาม ยังขาดบุคลากรที่เหมาะสมในการสร้างกิจการให้เป็นระบบดังการไปรษณีย์นานาอารยประเทศ ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ขณะดำรงตำแหน่งราชทูตประจำประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริกา ทั้งยังได้รับมอบหมายให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เยอรมนีที่มีประสบการณ์ เพื่อเดินทางมาทำงานกับไปรษณีย์สยาม
ในบรรดาที่ปรึกษาชาวเยอรมนี ที่เข้ามาทำงานให้ไปรษณีย์สยามเป็นลำดับนับสิบราย ต่างรับผิดชอบหน้าที่อย่างยังประโยชน์ แต่มีบุคคลหนึ่งที่เป็นความสำคัญสูงสุด นั่นคือชายหนุ่มวัย 35 ปี ผู้ช่วยชั้นเอกในราชการไปรษณีย์โทรเลขเยอรมนี โดยวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2433 โคลล์มันน์ได้รับเลือกให้มารับราชการยังสยามประเทศ ลงนามในสัญญาว่าจ้างวันที่ 10 ตุลาคมปีเดียวกัน ระยะเวลาว่าจ้างทดลอง 3 ปี
โคลล์มันน์ออกเดินทางจากกรุงเบอร์ลินด้วยเรือกลไฟลักเซ่น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เพื่อมารับตำแหน่งที่ปรึกษาของกรมไปรษณีย์โทรเลข รับเงินเดือน 800 บาท พร้อมที่พัก และในอีกหลายปีต่อมา บุรุษผู้นี้คือผู้เขียนร่างแผนปรับปรุงกิจการไปรษณีย์สยาม โดยทำหนังสือกราบทูล เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกโรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งเปิดทำการสอนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2442 ณ อาคารไปรสนียาคาร
ใจความสำคัญหนังสือกราบทูล ได้แก่ เสนอแนวทางการบริหารจัดการ ตั้งบุคคลสำคัญ 9 ตำแหน่งพร้อมบทบาทและหน้าที่ ดังนี้ หัวหน้ากรม, ผู้ตรวจการทั่วไปกรมไปรษณีย์โทรเลข, หัวหน้าสารวัตรสายโทรเลข และอาจารย์ประจำโรงเรียนไปรษณีย์โทรเลข, หัวหน้าฝ่ายบัญชี, เจ้าพนักงานเก็บเอกสาร และหัวหน้าเสมียนสำหรับการติดต่อกับชาวยุโรป, เจ้าพนักงานเก็บเอกสาร และหัวหน้าเสมียนสำหรับการติดต่อกับชาวสยาม, ผู้จัดการที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่ 1, ผู้จัดการที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่ 2, สารวัตรไปรษณีย์ 18 คน สำหรับแต่ละมณฑล
ภาพที่ 2 เธโอดอร์ โคลล์มันน์ (คนกลางแถวหน้า) และเจ้าหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลข หน้าไปรสนียาคาร
แหล่งที่มาภาพ ไปรษณีย์ไทย
หลังรับราชการในสยามประเทศมาได้ราว 12 ปีเศษ โคลล์มันน์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 3 มัณฑนาภรณ์ ตามด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 3 นิภาภรณ์ ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2451 รับมอบจากกระทรวงโยธาธิการเป็นผู้แทนไปประชุมโทรเลขสากลนานาชาติ ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
เนื่องจากภาระหน้าที่อันหนักหน่วง ตลอดจนสุขภาพที่ไม่สู้ดีนัก หลังกลับจากพักผ่อนและตรวจราชการที่มณฑลจันทบุรี อาการป่วยที่มีอยู่ทรุดหนักจนต้องถวายบังคมลาออกจากราชการ ขณะดำรงตำแหน่งปลัดบัญชาการ โดยสัญญายังเหลืออยู่อีกหนึ่งปี ซึ่งตามกำหนดจะครบในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อไปรักษาสุขภาพ และแล้ววันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2452 โคลล์มันน์ก็ออกเดินทางลาจากสยามประเทศโดยเรือกลไฟเดลี
แต่ก่อนเดินทางกลับบ้าน โคลล์มันน์ยังได้ส่งแสตมป์ชุดวัดแจ้ง (ภาพพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามและเด็กไว้จุกสองคน เชิญกรอบพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย วันแรกจำหน่าย ธันวาคม พ.ศ. 2448) ไปให้ฟริตซ์ โคลล์มันน์ ผู้เป็นบิดา แม้เป็นเรื่องภายในครอบครัว ทว่าก็สะท้อนความรักผูกพัน และภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสรับใช้การไปรษณีย์สยามยาวนานร่วม 20 ปี
ภาพที่ 3แสตมป์ชุดวัดแจ้ง
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/8097/
ต่อเหตุการณ์ลาออกของโคลล์มันน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติว่า “พ่อมีความเสียดายมิสเตอร์ โคลล์มันน์เป็นอันมาก ด้วยเหตุว่าทำการโดยจงรักภักดีต่อหน้าที่ราชการจริง ๆ ให้จ่ายเงินเป็นค่าบำเหน็จเท่าเงินเดือนปีหนึ่งเป็นจำนวนเงิน 18,000 บาท”
จากการไปรษณีย์สยาม โคลล์มันน์กลับไปรับราชการยังกรมไปรษณีย์โทรเลขกรุงเบอร์ลินถิ่นเก่า กระทั่งเกษียณอายุราชการในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2470 ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลอเมริกายึดครองเยอรมนี และขอร้องให้ปรับปรุงกิจการไปรษณีย์โทรเลขหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของเมืองมาร์เบิร์ก (Marburg) โคลล์มันน์เป็นนายไปรษณีย์เมืองนี้จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 และถึงแก่กรรม ณ เมืองนี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2492
รากฐานที่ปลัดบัญชาการหนึ่งเดียวแห่งการไปรษณีย์สยามได้วางไว้ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดอย่างข้ามศตวรรษ และเป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนสังคมไทยจากยุคสู่ยุค
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย
หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1
หนังสือตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม, พ.ต.อ.นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช
หนังสือประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 2, นันทา วรเนติวงศ์
นิตยสารแสตมป์และสิ่งสะสม พ.ย. 2561