ปราสาทวัดพู (หรือที่หลายครั้งชาวไทยมักสะกดว่า วัดภู เพราะคำว่าพูของชาวลาวในที่นี้ ก็คือ ภูเขา นั่นแหละ) ตั้งอยู่บนเนินเขาพู ห่างจากตัวเมืองจำปาสัก ในแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ราว 6 กิโลเมตร
และถึงแม้ว่า ‘วัดพู’ เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นถวายพระอิศวร มีศิวลึงค์ชื่อ ‘ภัทเรศวร’ อันถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในอุษาคเนย์ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ อยู่เป็นประธานมาตั้งแต่ช่วงราว พ.ศ. 1150 เช่นเดียวกับรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อื่นๆ อาทิ รูปพระตรีมูรติ อันประกอบไปด้วยเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ทั้งสาม ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมที่สร้างขึ้นในหลังจากการประดิษฐานศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์องค์ดังกล่าวราว 400-500 ปี แต่สถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากปราสาทประธานนัก กลับเป็นร่องหินสกัดเป็นหลุมรูปทรงคล้ายเส้นรอบนอกของจระเข้ที่คงสร้างขึ้นในศาสนาผีพื้นเมือง สุวรรณภูมิ
นักวิชาการชาวลาว (อันที่จริงแล้วที่ไม่ใช่ลาวก็ด้วย) มักอธิบายว่า ร่องหินดังกล่าว ใช้สำหรับบูชายัญมนุษย์ เพราะในบันทึกของจีนเมื่อราว พ.ศ. 1100 ชื่อ ‘สุยสู่’ (Sui-shu, คือพงศาวดารฉบับราชวงศ์สุย) อ้างถึงข้อความของชาวจีนที่ชื่อ ‘หม่าตวนหลิน’ (Ma Tuan-Lin) ซึ่งกล่าวถึง “เจนละ” (ชื่อดินแดนของพวกขอม ตามสำเนียงในเอกสารจีนโบราณ) เอาไว้ว่า
“บริเวณใกล้เมืองหลวง มีภูเขาที่ชื่อว่า ‘ลิงเกียโปโป’ มีทางขึ้นไปสู่วิหารของ ‘โปโตลิ’
บนยอดเขาที่ซึ่งมนุษย์ได้ถูกนำขึ้นไปบูชายัญ โดยมีนายทหารเฝ้าอยู่หนึ่งพันนาย”
จะเห็นได้ว่าในบันทึกจีนเขาไม่ได้บอกเสียหน่อยว่า เขาบูชายัญกันในร่องหินรูปจระเข้ที่ว่านี้ แถมอันที่จริงไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าบูชายัญกันตรงไหนส่วนไหนของวัดพู นอกจากบอกเพียงว่าเป็นจับส่งขึ้นไปถวายสิ่งที่บันทึกจีนเรียก ‘โปโตลิ’ ซึ่งก็คือ ‘ภัทเคศวร’ บนภูเขาต่างหาก
และในเมื่อบันทึกจีนไม่ได้บอกว่ามีการบูชายัญที่ตรงไหน? (นี่ยังไม่นับว่า พวกจีนในยุคนั้นเข้าใจผิดไปหรือเปล่าอีกต่างหาก) ดังนั้นจะบอกว่าไม่ได้เป็นที่บูชายัญก็คงไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเหมือนกัน เพราะแปลว่ามันอาจเป็นที่บูชายัญจริงๆ ก็ได้ แต่ถ้าบอกว่าเป็นที่บูชายัญแน่ๆ โดยไม่มีร่องรอยหลักฐานรองรับนี่ก็ไม่ถูกแน่ๆ
เอาเป็นว่าลองอ่านกันต่อไป แล้วพิจารณากันดูเองว่า ร่องหินสกัดเป็นรูปจระเข้ดังกล่าว น่าจะใช้สำหรับบูชายัญหรือไม่?
ภาพที่ 1: ร่องหินรูปทรงคล้ายจระเข้ที่วัดพู
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Vat_Phou#/media/File:WatPhuCrocodile.JPG
เช่นเดียวกับใครอีกหลายคนที่ก็ไม่รู้หรอกว่า คนโบราณสกัดหินเป็นร่องรูปจระเข้เอาไว้ทำอะไร? เพราะไม่ได้มีบันทึกอะไรบอกไว้เป็นร่องรอยให้สืบสาวได้เลย แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการสลักรูปจระเข้นี้ก็เป็นสิ่งที่พบได้โดยทั่วไปในอารยธรรมขอมโบราณด้วยเหมือนกัน
ไม่ต้องไปค้นหาที่ไหนไกลให้เหนื่อย บริเวณใกล้กันกับ วัดพู นักโบราณคดีลาวก็ได้ทำการสำรวจพบหินสลักรูปจระเข้อยู่ด้วย โดยปัจจุบันก็เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถาน วัดพู แต่ไม่สามารถชมดูได้โดยทั่วไปเพราะอยู่ในห้องคลังเก็บโบราณวัตถุที่นั่น
ที่สำคัญหินสลักรูปจระเข้ ลอยตัวแบบนี้ ไม่ได้พบเฉพาะที่วัดพูแห่งเดียว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเราก็พบอย่างจระเข้สลักหินหน้าตาคล้ายๆ อย่างนี้ อย่างน้อยอีกสองตัว ตัวหนึ่งเจอจากปรางค์กู่สวนแตง จ.บุรีรัมย์ ส่วนอีกตัวหนึ่ง พบที่ เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด แต่มาจากกู่ไหนไม่มีหลักฐานแน่ชัด
จระเข้ลูกอีสานทั้งสองตัวนี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเก็บมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 เลยทีเดียว
สรุปง่ายๆ ว่าหินสลักรูปจระเข้พวกนี้ พบอยู่ในวัฒนธรรมขอมโบราณ เพราะที่เจออยู่ในอีสานบ้านเรา ตัวหนึ่งพบอยู่ที่ปราสาทขอม อีกตัวหนึ่งก็พบอยู่ในบริเวณที่วัฒนธรรมขอมเคยรุ่งเรืองนั่นแหละ
ภาพที่ 2: ประติมากรรมรูปจระเข้ พบบริเวณใกล้วัดพู
ภาพที่ 3: ประติมากรรมรูปจระเข้ จากปรางค์กู่สวนแตง จ. บุรีรัมย์
แถมอันที่จริงแล้ว ยังพบการสลักรูปจระเข้อยู่ร่วมกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรจระเข้พวกนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเทพเจ้าสักนิด เช่น สลักไว้เหนือพระเศียรของพระอิศวร บนภาพสลักที่ปราสาทนครวัด และปราสาทบายน หรือเหนือเศียรพระนารายณ์ที่ปราสาทกระวาน ในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา หรือบนรูปพระอิศวร ที่กบาลเสปียน คือบริเวณที่เป็นต้นแม่น้ำเสียมเรียบที่ไหลผ่านเมืองพระนคร ศูนย์กลางวัฒนธรรมของพวกขอม (คือชาวเขมร) ยุคสร้างปราสาทหิน (น่าเสียดายที่ปัจจุบันภาพสลักดังกล่าว ถูกลักลอบกะเทาะออกไปโดยนักล่าสมบัติเสียแล้ว) เป็นต้น
ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครชี้ลงไปได้ชัดว่า พวกขอมสมัยนั้น สลักรูปจระเข้เอาไว้ทำไม? แน่นอนว่าการสลักรูปจระเข้อย่างนี้ต้องเอาไว้บูชาแน่ แต่ทำไมต้องบูชาด้วย?
ผมสันนิษฐาน (ศัพท์วิชาการของคำว่า เดา) ว่าน่าจะเกี่ยวกับความคิดเรื่องผีบรรพชน
ถ้าสืบดูจากญาติสนิทกลุ่มหนึ่งของพวกขอมก็คือ ชาวจาม ซึ่งก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีตำนานเกี่ยวพันกับวัดพูอยู่มาก คนพวกนี้บางกลุ่มถือว่าบรรพชนของตนเองเป็น จระเข้ เช่นพวกจามที่บ้านครัวตรงริมคลองแสนแสบ เป็นต้น
ตำนานเรื่อง “พระนางจามเทวี” เล่าว่า พระนางคนนี้เป็นเชื้อสายราชวงศ์มอญที่ขึ้นไปครองหริภุญไชย แต่บ้านเกิดเมืองนอนที่พระนางจากมาไม่ได้มอญเลยสักนิด เพราะพระนางเสด็จไปจาก ‘เมืองละโว้’ หรือ ‘ลพบุรี’ ที่ใครๆ ต่างก็รู้กันดีว่าเป็นเมืองฐานที่มั่นสำคัญของพวกขอมสมัยโบราณ
แล้วพระนางจามเทวีเกี่ยวอะไรกับจระเข้?
เรื่องนี้เกี่ยวแน่นอนครับ เพราะชื่อพระนางออกเสียงแบบมอญว่า “กยามเทวี” แปลว่า “พระนางจระเข้” เพราะ “กยาม” ในภาษามอญ แปลเป็นไทยว่า “จระเข้”
การที่ชื่อของพระนางจามเทวี หมายถึงจระเข้ โดยอ้างว่าเป็นเชื้อสายมอญ แต่ปกครองเมืองลพบุรี จึงเป็นร่องรอยที่สำคัญ เพราะในกรณีนี้จระเข้เป็น “ผีบรรพชน” อย่างไม่ต้องสงสัย จึงถูกใช้แสดงผ่านชื่อของเชื้อพระวงศ์ (โดยเฉพาะเมื่อนับทางฝ่ายหญิง ตามธรรมเนียมโบราณ) ที่ขึ้นไปปกครองเมืองใหม่ คือหริภุญไชย
ดังนั้นจึงอาจไม่ได้มีเฉพาะชาวมอญ ที่ถือว่า “จระเข้” เป็น “บรรพชน” ของตนเอง พวกขอมก็น่าจะเคยนับถือเอาอย่างนั้นด้วย
ภาพที่ 4: ภาพจระเข้ ถูกสลักอยู่บนด้านบนสุดของภาพเหนือรูปพระนารายณ์ ในปางพระวิศวรูป
ปราสาทกระวาน เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
แหล่งที่มาภาพ: https://arjuna-vallabha.tumblr.com/post/639778733470908416
การสลักรูปจระเข้เข้าไปรวมอยู่ในรูปเรื่องราวเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ อย่างที่ปราสาทกระวาน ปราสาทนคร และปราสาทบายน ผมเดาว่าก็คือเรื่องที่ชาวขอมนำเอาผีบรรพบุรุษของตนเอง ไปรวมอยู่ในจักรวาลวิทยา (cosmology) จากอินเดีย
ส่วนการสลักรูปจระเข้ลอยตัวจากหินแบบที่เจอบริเวณแถบวัดพู และในภาคอีสาน ถ้าไม่ตั้งอยู่ในศาลเพียงตาให้อยู่เป็นเจ้าที่เจ้าทางใกล้หนองน้ำสักแห่ง ก็ไปอยู่เป็นเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งในวัดของพราหมณ์ คือปราสาทขอมเหล่านั้นนั่นเลย ทำนองเดียวกับที่ทุกวันนี้ไม้ซุงของเจ้าแม่ตะเคียนทอง หรือนางนากพระโขนงก็สิงสถิต แชร์ที่วัดในพุทธศาสนาเถรวาทอยู่แบบไม่น่าตะขิดตะขวงใจนัก
ร่องหินรูปจระเข้ ที่วัดพูนั้น จึงคงต้องใช้สำหรับประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพชนนั่นแหละครับ แต่จะประกอบพิธีกันอย่างไร? เป็นพิธีบูชายัญหรือเปล่า? จากข้อมูลทั้งหมดที่เรามีอยู่ ณ ขณะจิตนี้ ก็คงไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างชัดๆ