การไปรษณีย์ของสยามประเทศ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 และทศวรรษแรก ๆ ของการก่อตั้งกิจการ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดแคลนตราไปรษณียากรบางชนิดราคา นั่นคือไม่พอกับความต้องการ และในระหว่างรอการพิมพ์ชุดใหม่ก็มักใช้วิธีพิมพ์ทับราคานำออกใช้ขัดตราทัพไปก่อน เหตุแห่งความล่าช้าที่สำคัญ เพราะตราไปรษณียากรยุคแรกต้องสั่งพิมพ์จากต่างประเทศ และการคมนาคมขนส่งทางเรือใช้เวลาไม่น้อย
สืบเนื่องมาถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2442 ตราไปรษณียากรชุดพระบรมสาทิศลักษณ์รัชกาลที่ 5 (ชุดที่ 2) ซึ่งวางจำหน่ายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2430 ได้หมดลง ด้วยความเข้าใจผิดเจ้าหน้าที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จ่ายตราไปรษณียากรชุดที่จัดพิมพ์เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2440 และจะประกาศใช้เป็นชุดที่ 3 แต่ยังมิได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้
โดยจัดส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์หลายแห่ง เช่น ภูเก็ต นครราชสีมา และพระตะบอง รวมทั้งถูกส่งต่อไปยังที่ทำการไปรษณีย์ย่อยใกล้เคียงอีก เช่น ระนอง ศรีโสภณ รวมทั้งเคดาห์ – ไทรบุรี และแม้มีการนำออกไปใช้ในท้องตลาดบ้างบางส่วน แต่ต้องนับว่าเป็นระยะเวลาอันสั้น ที่สำคัญตราไปรษณียากรชุดนี้ที่จ่ายให้กระทรวงโยธาธิการยังไม่ได้มีการออกจำหน่ายแต่ประการใด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทอดพระเนตรตราไปรษณียากรชุดนี้ และมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า พระบรมสาทิศลักษณ์ไม่เหมือนพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำลายเสีย มิให้นำออกจำหน่ายตามที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเสนอ ส่วนที่ส่งออกไปจำหน่ายแล้วก็ให้เรียกส่วนที่เหลือกลับคืนทั้งหมด
ภาพที่ 1 ตราไปรษณียากรชุดพระพักตร์เพี้ยน ชนิดราคา 1 อัฐ
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/7438641
ดังนั้น ในภายหลังเมื่อปรากฏตราไปรษณียากรชุดนี้ในหมู่นักสะสม จึงนิยมเรียกกันว่า “ชุดพระพักตร์เพี้ยน”
ตราไปรษณียากรชุดพระพักตร์เพี้ยน พิมพ์ออกมาทั้งหมด 5 ชนิดราคา ซึ่งแต่ละชนิดราคามียอดพิมพ์หลักแสนหลักล้านดวงเลยทีเดียว และยอดคงเหลือก็นับว่าสูงเช่นกัน ได้แก่ 1 อัฐ (สีเขียว) พิมพ์ 5 แสนดวง คงเหลือ 490,000 ดวง, 2 อัฐ (สีเขียวและชมพู) พิมพ์ 5 แสนดวง คงเหลือ 490,000 ดวง, 3 อัฐ (สีชมพูแก่และน้ำเงิน) พิมพ์ 3 แสนดวง คงเหลือ 290,000 ดวง, 4 อัฐ (สีดำและสีเขียว) พิมพ์ 5 แสนดวง คงเหลือ 495,000 ดวง และ 10 อัฐ (สีชมพูแก่และสีเขียว) พิมพ์ 1 ล้านดวง คงเหลือ 995,000 ดวง
โดยสรุป เท่ากับว่าตราไปรษณียากรชนิดราคา 1, 2 และ 3 อัฐ ถูกจำหน่ายไปชนิดละ 1 หมื่นดวง ส่วนชนิดราคา 4 และ 10 อัฐ ถูกจำหน่ายไปชนิดละ 5 พันดวง
แสตมป์ชุดนี้ พิมพ์ที่ ห้างกีเซกเก แอนด์ เดฟะเรียงต์ เมืองไลพซิก ประเทศเยอรมนี ด้วยวิธีการพิมพ์
ไทโปกราฟฟี่ (Typography) ในวงรีรอบพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ปรากฏอักษรความว่า “ไปรสะนีย์ แล เงินค่าตรา สยาม” ด้านล่างกึ่งกลางเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า “SIAM POSTAGE & REVENUE” ขนาบด้านซ้ายด้วยชนิดราคาเลขไทย – ภาษาไทย ด้านขวาชนิดราคาเลขอารบิค – ภาษาอังกฤษ
ภาพที่ 2 ตราไปรษณียากรชุดพระพักตร์เพี้ยน 5 ชนิดราคา แบบใช้งานจริงเพราะมีรอยตราประทับ
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/3819661
กล่าวถึงที่สุด คุณค่าของตราไปรษณียากรชุดนี้อยู่ที่การออกแบบ เพราะก่อนหน้ามีการออกแบบให้พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 อยู่ในลักษณะผินพระพักตร์เบื้องซ้าย นั่นคือ ตราไปรษณียากรชุดโสฬศ ตราไปรษณียากรชุดแรกของสยาม และชุด 2 ออกแบบอยู่ในลักษณะพระพักตร์ตรง
ฉะนั้น ครั้งนี้จึงออกแบบในลักษณะผินพระพักตร์หนึ่งในสามส่วน อันเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพหรือวาดภาพบุคคล (portrait) ตามคตินิยมของยุโรปในสมัยนั้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยากที่จะออกแบบให้เหมือนพระองค์ นั่นคือออกแบบมาแล้วไม่เหมือนนั่นเอง
ในแวดวงนักสะสม ตราไปรษณียากรที่เกิดจากการผิดพลาดต่าง ๆ นับเป็นของหายาก และมีมูลค่าสูง ตัวอย่างเช่น ตราไปรษณียากรชื่อ Inverted Jenny ของการไปรษณีย์สหรัฐอเมริกา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2461 แต่เครื่องบินบนดวงแสตมป์พิมพ์กลับหัวในบางดวง และอีกกรณีของการไปรษณีย์จีน ตราไปรษณียากรภาพ ดร.ซุนยัดเซ็น พิมพ์กลับหัวในกรอบเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีนักสะสมอีกกลุ่ม ซึ่งมุ่งไปสู่ขั้นการประกวดตราไปรษณียากรในระดับนานาชาติ เช่น หากต้องการกำหนดหัวข้อแสตมป์สมัยรัชกาลที่ 5 การได้แสตมป์จริงทุกชุด ตลอดจนข้อมูลประกอบที่ครบพร้อม เช่น แสตมป์ผนึกบนซอง มีตราประทับต้นทาง – ปลายทาง ย่อมทำให้ได้คะแนนในการประกวดสูงอย่างเป็นเงาตามตัว ทั้งยังใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงต่อไปได้อีก
และไม่ว่าตราไปรษณียากรดวงนั้นจะเป็นปกติ หรือผิดพลาดจากการผลิต ทว่าข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้เที่ยงทิศ และเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างเป็นสากล
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย
หนังสือที่ระลึก 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย
หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากรไทย เล่ม 1 และ เล่ม 4