แคลิฟอร์เนียใต้ถือเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกา นอกจากสถานที่ยอดนิยมอย่างเมืองภาพยนตร์ฮอลลีวูดและสวนสนุกดิสนีย์แลนด์แล้ว ชายฝั่งตะวันตกของรัฐยังมีหาดทรายสีขาวทอดยาวตัดกับท้องน้ำสีครามของมหาสมุทรแปซิฟิก แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ดินแดนแห่งความฝันเคยเป็นที่อยู่อาศัยของหนึ่งในชนเผ่าเก่าแก่ที่สุดในทวีปโลกใหม่ คนเหล่านี้ถูกเรียกขานว่าชูมาช (Chumash) ชาติพันธุ์พื้นเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกทำให้สูญหาย ก่อนลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจเจ้าอาณานิคม เรื่องราวของชาวชูมาชและตำนานการก่อกบฏครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไรนั้น เราจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
ภาพที่ 1: แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งชุมชนชูมาชโบราณในแคลิฟอร์เนีย
แหล่งที่มาภาพ: Arnold, Jeanne E.. The Origin of a Pacific Coast Chiefdom: The Chumash of the Channel Islands. 2011. Page 11.
ชูมาชเป็นชนเผ่าที่สันนิษฐานว่าตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และหมู่เกาะนอร์ทเทิร์นแชนแนล (Northern Channel Islands) กว่าหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว สาเหตุที่ชาวชูมาชอาศัยตามแนวชายฝั่งเนื่องจากวิถีชีวิตของพวกเขาเกี่ยวข้องกับมหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่ เผ่าชูมาชรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล พวกเขาสร้างเรือแคนูที่เรียกว่าโทโมล (Tomol) เพื่อใช้ในการประมงและสัญจรทางน้ำ สัตว์น้ำที่ล่าเป็นอาหาร ได้แก่ ปลา หอย และสิงโตทะเล นอกจากนี้หอยเบี้ยที่เก็บสะสมยังใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนเงินตรา รวมถึงเป็นเครื่องประดับบ่งบอกสถานะทางสังคม ชูมาชจึงเป็นหนึ่งในไม่กี่เผ่าในโลกใหม่ (New World) ที่มีระบบเงินตราและสังคมที่ซับซ้อน
ชีวิตบนบกของชาวชูมาชเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่ต่างกัน พวกเขาดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์เก็บของป่า สร้างกระท่อมพักแรมทรงกลมจากกิ่งวิลโลว์และใบไม้แห้ง ชุมชนชูมาชแต่ละแห่งมีหัวหน้าสามถึงสี่คน หัวหน้าเผ่าและคนทรงเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนเป็นอย่างมาก ชาวชูมาชประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ลานกลางหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันก็วาดภาพเขียนสีที่เกี่ยวข้องกับพิธีศักดิ์สิทธิ์และการล่าบนผนังถ้ำและเพิงผาเช่นกัน หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชูมาชเก่าแก่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตซานตา บาร์บารา (Santa Barbara) เวนตูรา (Ventura) และลอสแองเจลิส
ภาพที่ 2: ภาพเขียนสีของชาวชูมาชบนผนังถ้ำในซานตา บาร์บารา
แหล่งที่มาภาพ: Doc Searls. Painted Cave, Santa Barbara County, California. (2009). [Online]. Accessed 2021 Nov 12. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Rock_art_of_the_Chumash_people#/media/File:2009_07_09_camino_cielo_paradise_137.jpg
อย่างไรก็ดี ชีวิตเงียบสงบหลายพันปีของชาวชูมาชต้องถึงคราวสิ้นสุดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 พร้อมกับการก่อตั้งนิวสเปน (New Spain) อาณานิคมของจักรวรรดิสเปนที่มีอาณาเขตตั้งแต่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงดินแดนอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก แม้ว่าเขตปกครองกว้างใหญ่จะถูกกล่าวอ้างว่าอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ ทว่ายังคงมีดินแดนอีกมากที่เหล่าผู้พิชิต (Conquistador) ไม่เคยเหยียบย่าง และในปีค.ศ. 1542 ชื่อชูมาชก็ได้ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์โลกใหม่เป็นครั้งแรกในบันทึกของนักเดินทางชาวสเปน ทว่าไม่มีผู้ใดให้ความสนใจจริงจังจนกระทั่งในปีค.ศ. 1769 เมื่อนายพลกัสปาร์ เดอ ปอร์โตลา (Gaspar de Portolá) และคณะออกสำรวจพื้นที่ชายฝั่งและแผ่นดินแคลิฟอร์เนีย บาทหลวงฮวน เครสปี (Juan Crespí) หนึ่งในผู้ติดตามคณะปอร์โตลาได้บันทึกถึงการเผชิญหน้าของกองทหารสเปนและชนเผ่าชูมาชอย่างละเอียด บันทึกของเครสปีระบุว่าชาวชูมาชเป็นมิตรกับคนต่างถิ่น พวกเขาต้อนรับคณะสำรวจอย่างอบอุ่น รวมถึงแบ่งปันเสบียงอาหารให้กับนักเดินทางที่กำลังจะอดตาย ข้อความเหล่านี้บ่งชี้ว่าชาวชูมาชคุ้นชินกับคนขาวเป็นอย่างดีก่อนได้พบกับคณะปอร์โตลา อาจเป็นเพราะดินแดนนิวสเปนอันกว้างใหญ่มีผู้คนสัญจรไปมาอยู่เสมอ การติดต่อกับคนต่างถิ่นทำให้ชาวชูมาชได้เรียนรู้วัฒนธรรมแปลกใหม่ ทว่าคนขาวก็นำภัยร้ายที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาให้เช่นกัน เมื่อครั้งที่ชาวสเปนตั้งถิ่นฐานในซานตา บาร์บารา ประชากรชูมาชในตอนนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสองหมื่นคน ทว่าหลังจากที่ติดเชื้อโรคต่างถิ่นจากคนขาว จำนวนชาวชูมาชก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับเผ่าอื่นๆ ในทวีปอเมริกา โรคร้ายจากยุโรปอย่างฝีดาษเป็นสิ่งที่คนพื้นเมืองไม่เคยคุ้น ผู้คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจึงล้มตายเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม โรคระบาดอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากเทียบกับสิ่งที่ชาวชูมาชต้องเผชิญหลังจากนั้น ดินแดนเก่าแก่ที่ชนเผ่าอาศัยตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ถูกพรากไปจากพวกเขาในปีค.ศ. 1772 เมื่อชาวสเปนก่อตั้งสำนักสงฆ์และชุมชนชาวคริสต์ที่ซาน ลูอิส โอบิสโป (San Luis Obispo) ตามมาด้วยชุมชนอีกหลายแห่งได้แก่ ซาน บวนนา เวนตูรา (San Buena Ventura) ซานตา บาร์บารา ลา ปูริซิมา (La Purísima) และซานตา อิเนซ (Santa Inés) ตามลำดับ การตั้งถิ่นฐานครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวพื้นเมืองเป็นอย่างมาก หมู่บ้านชูมาชถูกรื้อถอนเพื่อก่อตั้งเมืองใหม่ ผู้คนที่เหลือรอดถูกจับมาใช้แรงงาน บ้างก็จำต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ในขณะที่ชาวเผ่าอีกมากมายต้องหนีออกจากพื้นที่ชายฝั่งไปอาศัยบนภูเขาที่ห่างไกล สถานการณ์เลวร้ายทวีความตึงเครียดในปีค.ศ. 1810 เมื่อชุมชนชาวคริสต์เหล่านี้ถูกตัดความช่วยเหลือด้านเสบียงและสิ่งของที่จำเป็นจากสเปนซึ่งเป็นประเทศแม่ ส่งผลให้บาทหลวงและทหารคุ้มกันหันมาใช้กำลังกับแรงงานเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อการดำรงชีพ ชาวชูมาชจึงถูกบังคับใช้แรงงานอย่างโหดร้าย ความรุนแรงในค่ายกลายเป็นเรื่องปกติที่คนขาวกระทำต่อชาวพื้นเมืองโดยไม่รู้สึกผิดใดๆ
การณ์ดำเนินเช่นนี้จนกระทั่งปลายปีค.ศ. 1821 เมื่อดินแดนเม็กซิโกประกาศเอกราชจากจักรวรรดิสเปน แคลิฟอร์เนียตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลเม็กซิกันที่ไร้เสถียรภาพ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในภูมิภาคส่งผลให้คนขาวในแคลิฟอร์เนียกดดันแรงงานชาวพื้นเมืองในการสร้างผลผลิตมากกว่าเก่า ชาวชูมาชที่ถูกกดขี่จึงวางแผนก่อกบฏอย่างลับๆ ความตึงเครียดระหว่างคนขาวและชาวพื้นเมืองมาถึงจุดแตกหักในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1824 เมื่อเด็กชายชาวชูมาชถูกทหารเม็กซิกันในเขตลา ปูริซิมาทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ชาวชูมาชกว่าห้าร้อยคนจึงเริ่มต้นการกบฏในเขตซานตา อิเนซ พวกเขาต่อสู้กับทหารเม็กซิกันอย่างกล้าหาญ ทว่าครั้นสำนักสงฆ์ถูกลูกหลงจนเกิดเพลิงไหม้ ชาวชูมาชกลับหยุดยั้งการโจมตีเอาไว้ ชนพื้นเมืองให้ความเคารพบาทหลวงและศาสนสถานเป็นอย่างสูง การรบในครั้งนั้นจึงแทบไม่มีผู้ใดต้องหลั่งเลือด
ภาพที่ 3: สำนักสงฆ์ซานตา บาร์บารา หนึ่งในเป้าหมายจู่โจมของกบฏชูมาช
แหล่งที่มา: Unknown. Mission at Santa Barbara after the Revolt. 2013. [Online]. Accessed 2021 Nov 12. Available from: https://oac.cdlib.org/ark:/13030/c8f18xj8/?docId=c8f18xj8&query=Santa%20Barbara%20Mission&brand=calisphere&layout=printable-details
กลุ่มกบฏจากซานตา อิเนสรวมตัวกับกองกำลังชูมาชในลา ปูริซิมาและซานตา บาร์บารา เป้าหมายต่อมาของพวกเขาคือการทำลายชุมชนคนขาวในเขตปกครองที่ว่าตามลำดับ ผลการสู้รบเป็นไปดังที่ชาวพื้นเมืองคาดไว้ พวกเขาต้องการสร้างความวุ่นวายให้คนขาวในแคลิฟอร์เนียตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวพื้นเมืองได้รับมาหลายทศวรรษ กบฏชูมาชได้รับความช่วยเหลือจากเผ่าโยกุต (Yokut) ที่เป็นพันธมิตรจนสามารถยึดเอาจุดยุทธศาสตร์จากทหารเม็กซิกันได้หลายที่ อย่างไรก็ดี ชนพื้นเมืองมากมายต้องสละชีพในการปะทะกับคนขาวเช่นกัน และแล้วในเดือนมีนาคมปีค.ศ. 1824 กองทหารเม็กซิกันก็ยึดป้อมปราการคืนมาได้ ชาวชูมาชที่เหลือรอดหนีไปหลบซ่อนบนภูเขา บาทหลวงคณะฟรานซิสกันหลายคนที่ถูกชาวพื้นเมืองไว้ชีวิตก่อนหน้าเห็นท่าว่าการกบฏอาจทำให้สองฝ่ายเสียหายไม่จบสิ้น พวกเขาจึงส่งจดหมายถึงผู้ว่าการแคลิฟอร์เนียเพื่อขอให้คนขาวเจรจาหย่าศึกโดยไม่เอาความกับชนพื้นเมือง กองทหารเม็กซิกันถูกส่งไปเจรจากับกบฏชูมาชในวันที่ 8 มิถุนายน ฝ่ายชูมาชยอมสงบศึกแต่โดยดีและยินยอมกลับไปอาศัยในเขตปกครองของเม็กซิโก แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคนขาวดังที่รัฐบาลเม็กซิกันให้คำมั่นตั้งแต่ต้น แน่นอนว่าความเท่าเทียมที่ชาวพื้นเมืองคาดหวังอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในตอนนั้น ทว่าการกบฏครั้งนั้นก็ทำให้คนขาวในโลกใหม่ตระหนักถึงความสำคัญในการผูกสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น กบฏชูมาชในปีค.ศ. 1824 นับเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างคนขาวและชาวพื้นเมืองในดินแดนแคลิฟอร์เนียภายใต้การปกครองของสเปนและเม็กซิโก และยังเป็นต้นแบบให้กับชุมชนชาวพื้นเมืองอื่นๆ ในการเรียกร้องสิทธิพื้นฐานที่พึงมีจากผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย
ภายหลังการกบฏในครั้งนั้น รัฐบาลเม็กซิกันได้มอบที่ดินบางส่วนในซานตา บาร์บาราให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวชูมาช และหลังจากที่แคลิฟอร์เนียถูกประกาศให้เป็นรัฐที่ 31 ของสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1850 รัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับชนพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น ศูนย์การเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุของชาวชูมาชถูกก่อตั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทว่าวิถีชีวิตเรียบง่ายที่ถูกทำลายกว่าสามศตวรรษยากที่จะหวนคืนเหมือนเก่า วัฒนธรรมและประเพณีที่เคยมีได้เลือนหายจากความทรงจำ ปัจจุบันลูกหลานชูมาชต่างหลงลืมเอกลักษณ์ของบรรพบุรุษจนหมดสิ้น ชูมาชเป็นเพียงหนึ่งในหลายพันเผ่าที่ถูกคนขาวแทรกแซงวิถีชีวิต
หนังสืออ้างอิง
Arnold, Jeanne E. (Editor). The Origins of a Pacific Coast Chiefdom: The Chumash of the Channel
Islands. Salt Lake City: University of Utah Press, 2001.
Gamble, Lynn H. The Chumash World at European Contact: Power, Trade, and Feasting Among
Complex Hunter-Gatherers. Los Angeles: University of California Press, 2008.