โจทย์สำคัญในการมาเกาหลีของครอบครัวผู้เขียนในครั้งนี้คือ “ทำงานอย่างไร ให้ได้เที่ยว?” ด้วยผลกระทบจากโควิด – 19 ทำให้ครอบครัวเราไม่ได้เดินทางไปเที่ยวที่ไหนมานานเหมือนกับอีกหลายครอบครัว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสแม้เป็นการเดินทางระยะสั้นเพื่อไปเก็บข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์มาใช้ในงานและอดไม่ได้ที่จะหอบหิ้วกันไปทั้งหมดสามคนพ่อ แม่ ลูก คราวนี้จึงต้องพยายามวางแผนการเที่ยวประเภท “งานก็ต้องได้ ความเพลิดเพลินก็ต้องมา” ให้ได้เพื่อให้ลูกสาววัย 8 ขวบ ไม่งอแงหาว่าแม่หลอกมาทำงาน
เป้าหมายสำคัญที่ผู้เขียนปักหมุดไว้ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี (The National Museum of Korea) ที่ตั้งอยู่ในกรุงโซล ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ตัวอาคารหลักของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการมีทั้งหมด 3 ชั้น ทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน พิพิธภัณฑ์มีความโดดเด่นในการจัดแสดงเนื้อหาความรู้และวัตถุจัดแสดงทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีเป็นหลัก
บรรยากาศทั้งภายนอกและภายในพิพิธภัณฑ์ มีหลายจุดที่เด็ก ๆ เข้าชมได้แบบไม่เบื่อ เริ่มตั้งแต่สวนด้านข้างทางเข้ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ยืนต้นอยู่เต็มไปหมด ตอนเดินขึ้นจากรถไฟใต้ดินสถานีอิชอน (Ichon Station) มาโผล่ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ มองเห็นเด็ก ๆ เดินมากับพ่อแม่ มีหลายคนนำสวิงจับแมลงมาด้วย และพบว่าที่แท้เด็กๆ มีนัดมาไล่จับแมลงกับเพื่อน ๆ ในสวนด้านข้างของพิพิธภัณฑ์นั่นเอง ส่วนพวกเรามาต่างบ้านต่างเมืองไม่ได้เตรียมอุปกรณ์มาด้วย จึงจำใจจูงมือลูกสาวที่แอบทำตาละห้อยเดินผ่านจุดนี้ไปจนมาถึงตัวอาคารหลักของพิพิธภัณฑ์
ภาพที่ 1 ลานกว้างของพิพิธภัณฑ์ที่เปิดโล่งจนมองเห็นยอดโซลทาวเวอร์อยู่ไกลๆ
ทีแรกผู้เขียนแอบใจชื้นเมื่อเหลือบไปเห็นฮอลล์ฝั่งซ้ายมีป้ายติดเชิญชวนให้เข้าชมนิทรรศการเรื่องชาวแอซแท็ก (Aztec) ในใจก็คิดไปว่าลูกน่าจะชอบ เพราะแค่ป้ายโฆษณาที่ติดไว้ก็ดูมีสีสัน เชิญชวนเด็กปฐมวัยได้ดีทีเดียว ถ้าปล่อยให้ลูกเดินเล่นกับพ่อตรงนี้ เมื่อผู้เขียนเสร็จงานแล้วค่อยมารับก็น่าจะพอไหว แต่สุดท้ายฝันก็ต้องสลาย เพราะบัตรเข้าชมขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่ก่อนที่เราจะมาถึง แถวยาว ๆ ที่เรามายืนต่อคิวรอเป็นแถวสำหรับเข้าไปชมโซนอื่นที่อยู่ในฮอลล์เดียวกัน
ขณะที่เวลากำลังเดินไปเรื่อย ๆ ผู้เขียนก็รีบคิดคำนวณเวลาในหัวอย่างว่องไว แม้ว่าวันที่ไปจะเป็นวันเสาร์ (พิพิธภัณฑ์จะเปิดตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 21.00 น. ปิดช้ากว่าวันอื่นๆ ถึง 3 ชั่วโมง) ทว่า มีวัตถุจัดแสดงจำนวนมากกำลังรอให้เข้าไปชม หรือแม้พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ชมแบบ Night Museum ก็กลัวว่าเวลาอาจจะยังไม่พอ ความเร็วในการกดชัตเตอร์ของผู้เขียนก็จัดอยู่ในระดับกลาง จึงรีบจูงมือลูกสาวไปอีกทางไปสู่ทางเข้าชมโซนนิทรรศการถาวรที่มีตัวเนื้องานของผู้เขียนรออยู่ ซึ่งปกติผู้เขียนมักนำเรื่องสนุกที่เกี่ยวกับงานมาเล่าให้ลูกฟังก่อนเข้านอนทุกวัน ทำให้ลูกมีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับเรื่องเล่าจากวัตถุจัดแสดงอยู่บ้าง และคิดว่าครั้งนี้มีของจริงให้เห็น ประกอบกับเรื่องที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยชวนให้เด็กจินตนาการน่าจะทำให้ผู้เขียนสามารถทำงานได้จนเสร็จแน่นอน
ครอบครัวผู้เขียนเดินผ่านเข้าฮอลล์ที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรมาแบบสบาย ๆ เพราะพิพิธภัณฑ์ไม่เก็บค่าเข้าชม และพากันพุ่งตรงขึ้นไปที่ชั้น 3 ก่อนเป็นลำดับแรกด้วยทำการบ้านศึกษามาก่อนแล้วว่าชั้นที่ 1 -2 เป็นนิทรรศการที่นำเสนอและจัดแสดงโบราณวัตถุของเกาหลี ในขณะที่ชั้นบนสุดเป็นนิทรรศการหมุนเวียน โดยเฉพาะโซน World Art Gallery มักเป็นนิทรรศการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีกับพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ทั่วโลกสลับหมุนเวียนทุก 2 -3 เดือน บ้างก็อยู่ยาวหน่อยเป็นปีก็มี เมื่อเปรียบเทียบถึงการเดินทางจากไทยมาเกาหลีนั้นยังพอจัดการเวลาได้ไม่ยาก หากว่าเดินทางจากไทยไปอเมริกา อังกฤษ หรือฝรั่งเศสก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้จะมีหลายพิพิธภัณฑ์ชวนเชิญให้เราชาว museumgoer ต้องควักกระเป๋าคว้ากล้องไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่ง ฉะนั้น การได้มาชมนิทรรศการต่างประเทศจากทั่วโลกที่ประเทศเกาหลีก็นับว่าคุ้มค่ามาก และผู้เขียนก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าลูกสาวจะชอบพิพิธภัณฑ์ แต่แค่ห้องแรกสาวน้อยก็ตกหลุมรัก ยื่นใบสมัครเข้าแก๊งเดียวแบบไม่ต้องหลอกล่อให้วุ่นวาย ห้องที่ว่านั้นคือ ห้องจัดแสดงวัตถุของกลุ่มอายรธรรมเมโสโปเตเมีย มีชื่อนิทรรศการอย่างเป็นทางการว่า “Mesopotamia: Great Cultural Innovations, Selections from The Metropolitan Museum of Art” ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ไปจนถึง 28 มกราคม พ.ศ. 2567 เลยทีเดียว
สำหรับวัตถุจัดแสดงที่สาวน้อยตกหลุมรักอย่างจัง ไม่ใช่วัตถุชิ้นใหญ่อลังการใดกลับเป็นแผ่นดินเหนียวขนาดเล็ก จัดแสดงอยู่ภายในตู้กระจกในห้องที่จัดแสงให้มืดกว่าห้องอื่น เพื่อปล่อยให้แสงไฟที่ส่องสว่างภายในตู้โชว์ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวที่บันทึกอยู่บนวัตถุขนาดเล็กเหล่านั้นแทน
ภาพที่ 2 ตัวอย่างอักษรคูนิฟอร์มที่จารึกบนแผ่นดินเหนียว
แค่ห้องนี้ห้องเดียวเด็กน้อยก็ร่ายคำถามยาว ๆ มาแบบไม่ยอมให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเล่าเรื่องที่รู้มาบ้าง ทั้งเรื่องที่ว่า “มันเป็นตัวอักษรตรงไหน หนูเห็นแต่เส้นขีด ๆ เต็มไปหมด เขาเขียนลงไปได้ยังไง หินแข็งออก ถ้าไม่ใช่หินแต่เป็นดิน เขาทำให้ดินมันแข็งได้ยังไง แล้วดินมันไม่พังเหรอคะ ในเมื่อเวลามันผ่านมานานมากแล้ว” ฯลฯ” โชคยังดีที่บริเวณเดียวกัน มีการฉายวิดีทัศน์เรื่องวิธีการบูรณะแผ่นดินเหนียวเหล่านี้อยู่ แถมทุกตู้ที่จัดแสดงก็มีคำอธิบายชัดเจน แม่ลูกช่วยกันแปลก็พอจับใจความสำคัญมาได้ครบถ้วนพอสมควร งานนี้ต้องยอมใจให้การออกแบบนิทรรศการ และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยเสริมให้การนำเสนอน่าติดตาม สมกับคำโฆษณาที่เขียนไว้ในหน้าเพจของพิพิธภัณฑ์ (www.museum.go.kr) ว่า “คุณสามารถเพลิดเพลินไปกับนิทรรศการได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน”
ภาพที่ 3 แผ่นดินเหนียวขนาดเล็กที่ว่า เป็นแผ่นดินเหนียวที่ชาวสุเมเรียน ซึ่งอาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำ
ไทกริส - ยูเฟรติส 3,000 กว่าปี ก่อนคริสต์กาล ใช้บันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเองผ่านอักษร
คูนิฟอร์ม (Cuneiform) หรืออักษรรูปลิ่ม เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกลุ่มอารยธรรมตะวันออก
ที่เรา ๆ คุ้นหูกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
สรุปเบ็ดเสร็จครอบครัวผู้เขียนใช้เวลาถึง 2 วันเต็ม อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลีได้แบบไม่รู้จักคำว่าเบื่อ ลูกสนุกกับเรื่องราวของวัตถุที่จัดแสดงจากสื่อต่าง ๆ ที่จัดแสดงให้ชม รวมผสมกับคำเล่าของแม่นอกจากนี้ส่วนร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ยังมีหนังสือนิทานให้เด็กได้เลือกทดลองอ่านได้ก่อนตัดสินใจซื้อ และมีของเล่นพื้นบ้านของเกาหลีที่เด็กนิยมเล่นมาวางขายด้วย ครอบครัวผู้เขียนเองก็ไม่ลังเลที่จะซื้อมาแม้จะยังไม่รู้วิธีการเล่น เพราะด้านนอกอาคารบริเวณโถงทางเข้าพิพิธภัณฑ์มีกลุ่มเด็กเกาหลีเจ้าบ้านที่อาจเหนื่อยจากการไล่จับแมลง เดินชมพิพิธภัณฑ์กับคุณครู หรือพ่อแม่ นั่งจับกลุ่มกันโชว์เทคนิคการเล่นของเล่นพวกนั้นแบบเมามัน ซึ่งการเรียนรู้ใดคงไม่น่าสนใจเท่าการเรียนรู้จากการได้เห็นของจริง รวมถึงลูกสาวที่แอบเข้าไปยืนดูใกล้ๆ แบบไม่วางตา หากได้อยู่นานกว่านี้ลูกคงได้เพื่อนใหม่จากพิพิธภัณฑ์เป็นแน่