คำว่า ‘music’ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยตรงกับคำว่า 'ดนตรี' มีรากศัพท์มาจากคำกรีกโบราณว่า 'mousike’ ทว่า นอกจากหมายถึง 'ดนตรี' แล้ว ศัพท์คำนี้ยังแปลความได้ว่า 'ความรู้' (art) และ 'ทักษะ' (techne) ของคณะเทพธิดามิวส์ (Muses) อีกด้วย
ขอให้สังเกต คำว่า 'art’ ในยุคดั้งเดิมมีความหมายว่า 'ความรู้' เพิ่งมีความหมายว่า 'ศิลปะ' ในสมัยหลัง ดังนั้นวลีอมตะของนายแพทย์กรีกผู้เรืองนามอย่าง 'ฮิปโปคราเตส' (Hippocrates, มีชีวิตอยู่ระหว่าง 460-370 ปีก่อนคริสต์กาล) ที่ว่า “ars longa, vita brevis” จึงหมายถึง 'ความรู้ยืนยาว ชีวิตสั้น' อย่างไรก็ดี ความรู้ในความหมายของพวกกรีก มีศิลปะแขนงต่างๆ รวมอยู่กับศาสตร์อื่นด้วย ดังนั้นการที่คนไทยมักแปลคำนี้ว่า 'ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น' จึงเป็นเพียงการจำกัดความที่ตื้นเขินกว่าความเป็นจริง แต่ก็ไม่ใช่ผิดไปเสียทั้งหมด
อันที่จริง ‘ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว’ ในต้นฉบับภาษากรีกของคุณหมอฮิปโปฯ คือ ‘Ho Bios Brachus, the de Techne Makre’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ชีวิตสั้น ความรู้ยืนยาว’ ขอให้สังเกตว่าในรูปประโยคใช้คำว่า ‘techne’ ซึ่งหมายถึง 'ทักษะ' อันหมายถึง ทักษะทางการแพทย์ เพราะวลีที่ว่านี้ เป็นประโยคขึ้นต้นของตำราทางการแพทย์ของคุณหมอฮิปโปฯ ที่ชื่อ ‘Aphorism’ (ที่นี้แปลว่า การแยกแยะประเภทของโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ได้แปลว่า สุภาษิต คำพังเพย อย่างที่คุ้นเคยกันในภาษาอังกฤษปัจจุบัน) ในโลกของชาวกรีกโบราณก็หมายถึง งานจำพวกงานฝีมือ หรืองานช่าง ไม่ได้หมายถึงงานวิจิตรศิลป์ (fine art)
ย้อนกลับมาที่คณะเทพธิดามิวส์ ตามเทพปกรณัมกรีกเล่าว่า มหาเทพซุส (Zeus) ได้สมสู่กับนางเนโมสิเน (Mnemosyne) เทพีแห่ง 'ความทรงจำ' หรือ 'ความรำลึก' แล้วบังเกิดเทพธิดาที่ดลใจศิลปวิทยาทั้งหลาย
ว่ากันว่า เบื้องต้นมีเทพธิดาเหล่านี้มีเพียงสามองค์ คือ 1) วาจากวี 2) เสียงดนตรี และ 3) การร่ายรำ ต่อมาเทพธิดาทั้งสามได้ขยายจำนวนเป็นเก้าองค์ (3 x 3 = 9, ตามการเล่นเลขศักดิ์สิทธิ์ที่คนโบราณทุกชาติทุกภาษานิยมกัน)
คณะเทพธิดาทั้งเก้าองค์นี้เรียกรวมกันว่า “มิวส์”
ภาพที่ 1: หนังสือ Aphorism ของฮิปโปคราเตส แปลจากภาษากรีก เป็นภาษาละติน
เชื่อกันว่าจัดทำที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 (ไม่ปรากฏชื่อผู้จัดทำ)
ขึ้นต้นหนังสือด้วยประโยค ‘Vita brevis, ars vero longa’ (ชีวิตนั้นสั้น แต่ศิลปะยืนยาว’
แต่เขียนผิดเป็น ‘Vita breuis, ars uero longa’
แหล่งที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hippocrates,_Aphorismi,_manuscript,_s.l._Wellcome_L0030310.jpg)
ภาพที่ 2: เทพอพอลโล (Apollo) กับคณะเทธิดามิวส์ วาดโดย ไซมอน โวเอต์ (Simon Vouet) เมื่อราว ค.ศ. 1640 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Museum of Fine Art กรุงบูดาเปส ประเทศฮังการี
แหล่งที่มาภาพ: https://www.mfab.hu/artworks/apollo-and-the-muses-the-parnassus/
การรวมกลุ่มของเทพธิดาอาจดูประหลาดพิกล (ดูรายละเอียดในตาราง) เพราะสมัยโบราณไม่ได้แยก 'ศิลปะ' ออกจาก 'วิทยาศาสตร์' เหมือนที่แยกขาดจากกันอย่างทุกวันนี้ สมัยโบราณวิทยาศาสตร์ยังเป็นศิลปะ และศิลปะยังเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น 'ประวัติศาสตร์' กับ 'โหราศาสตร์' ยังผนวกกับ 'กวีนิพนธ์' 'ดนตรี' และ 'ระบำ' ได้สะดวกไม่ขัดกัน
น่าสนใจว่าในบรรดาเทพธิดามิวส์ทั้งหลาย มีอยู่หลายองค์ทีเดียวที่กิจการที่เธอครองอยู่นั้นเกี่ยวข้องกับดนตรีการ แต่บางองค์อย่าง 'ยูเทอร์พี' (Euterpe) ก็ถึงกับครองการละเล่น 'ดนตรี' เองเลยทีเดียว ดังนั้นดนตรีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชาวกรีกในยุคคลาสลิค
จึงไม่น่าประหลาดใจอย่างใดเลยที่นักปราชญ์คนสำคัญอย่าง เพลโต (Plato, 424-348 ปีก่อนคริสต์กาล) และอริสโตเติล (Aristotle. 384-322 ปีก่อนคริสต์กาล) เคยเสนอเกี่ยวกับการเล่นดนตรีในวัฒนธรรมกรีกไว้ว่า ควรเล่นเฉพาะบางโหมด (mode) เช่น โหมดที่ให้ความฮึกเหิมใช้เล่นสำหรับสรรเสริญวีรบุรุษ แต่ไม่ควรเล่นโหมดที่ให้ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยามเมื่อปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ‘เพลโต' เอ่ยถึงคำว่า 'mousike’ ความหมายของท่านยังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่หมายถึงแต่ 'ดนตรี' เพราะท่านยังครอบคลุมความหมายถึงงานศิลปะ บทกวี หรืองานสร้างสรรค์แขนงอื่นๆ อีกด้วย
ต่างจากคำว่า 'mousike’ ที่เอื้อนเอ่ยออกมาจากปราชญ์ผู้ศิษย์ของเพลโตเองอย่าง 'อริสโตเติล' ที่คำนี้มีความเฉพาะเจาะจงถึงดนตรีการเป็นการเฉพาะแล้ว
ลักษณะอย่างนี้ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘ดนตรี' ในภาษาอาหรับ เพราะ ในภาษาอาหรับมีคำเรียกดนตรีอยู่สองคำ หนึ่งคือ ‘musik’ และสองคือ 'ghina’ สำหรับคำหลังมีความหมายเป็นเอกพจน์ เมื่อใช้เป็นพหูพจน์จะผันเป็นคำว่า “aghani”
คำว่า “ghina” และ “aghani” นอกจากหมายถึง “ดนตรี” แล้วยังหมายถึง “บทสวด” ได้ด้วย ลักษณะอย่างนี้ต้องตรงกับธรรมชาติของชาวอาหรับที่นิยมเพลงสวด บทกลอนบทกวีต่างๆ ส่วนคำว่า “musik” หยิบยืมมาจากภาษากรีกจึงเป็นคำใหม่ของพวกอาหรับ และไม่มีความหมายครอบคลุมไปถึงบทกวีบทสวดอื่นๆ เป็นไปได้ว่าลักษณะเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อปราชญ์อาหรับได้นำความรู้เกี่ยวกับดนตรีของชาวกรีกมาปรับประยุกต์จนสร้างทฤษฎีดนตรีของพวกอาหรับเองในช่วงระหว่าง ค.ศ. 900-1000
ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงแนวคิดทางปรัชญาของพวกกรีกถือว่า “ดนตรี” เป็น “ความรู้” ชนิดหนึ่งที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของคน และรัฐ (แน่นอนว่าความคิดนี้ส่งไปยังพวกอาหรับ และมุสลิมที่รับเอาคำว่า “mousike” ของกรีกไปใช้ด้วย)
ภาพที่ 3: แม้มีความสัมพันธ์ฉันท์อาจารย์กับลูกศิษย์ แต่เป็นที่รู้กันดีว่า เพลโตและอริสโตเติล
มีความคิดเห็นแไม่ตรงกันหลายอย่าง จนศิลปินในยุคเรอเนสซองค์อย่าง ราฟาเอล (Raphael)
ได้วาดรูปเพลโตชี้นนิ้วขึ้นฟ้า ส่วนอริสโตเติลคว่ำมือลงดิน ไว้ในผลงานจิตรกรรมที่ชื่อ
‘The School of Athens’ ไว้ในพระราชวังสันตะปาปา ในนครวาติกัน
แหล่งที่มาภาพ: https://blog.singulart.com/en/2020/01/28/the-school-of-athens-1511-discover-the-famous-figures-in-raphaels-renaissance-masterpiece/
และในทางกลับกัน ดนตรียังคงเป็นเครื่องมือในการเซ่นสรวง ปรนนิบัติ เข้าถึงหมู่เทพเจ้าอยู่เสมอ หน้าที่อย่างนี้คงเป็นหน้าที่แต่ดั้งเดิมของดนตรี เช่นเดียวกับอีกหลากหลายสังคมวัฒนธรรมในโลก
การได้รับการดลใจเพื่อรังสรรค์งานศิลปวิทยาต่างๆ จากคณะเทพธิดาเทพมิวส์เองก็คงไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะเมื่อหลายองค์ในบรรดาไท้เธอต่างครองไว้ซึ่งอำนาจแห่งดนตรีการ การระบำ ละครประเภทต่างๆ
สรรพความรู้ที่เหล่าเทพธิดามิวส์ดลบันดาลให้แก่มนุษย์เอง แต่แรกเริ่มก็ออกมาในรูปลักษณะของดนตรี เพราะท่วงทำนองในการโอดเอื้อนคือเครื่องมือวิเศษในการช่วยจำ ไม่ต่างไปจากการเทศนาของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่ท่องทอดออกเป็นท่วงทำนอง
ที่จริงแล้วศิลปวิทยาจากเทพธิดามิวส์บางองค์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการดนตรีโดยตรงอย่าง เทพธิดาผู้ครองประวัติศาสตร์ และโหราศาสตร์ อย่าง คลิโอ (Clio) และยูราเนีย (Urania) ตามลำดับ ก็อาจถูกถ่ายทอดผ่านดนตรีการด้วย ไม่ต่างจากที่พระเวทของพวกพราหมณ์ถูกขับออกมาเป็นทำนอง หรือพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธที่เอื้อนทำนองออกมาผ่านปากของพระสงฆ์
ลักษณะคล้ายๆ กันนี้ก็เกิดขึ้นในอุษาคเนย์โดยเฉพาะที่สยามประเทศ
ปราชญ์นอกเครื่องแบบอีกคนหนึ่งอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายให้ผมฟังว่า ในภาษาไทยมีคำที่เกี่ยวข้องกับ “music” ตามทัศนะของฝรั่งอยู่อย่างน้อยอีกสองคำ คือคำว่า “เพลง” และ “ดนตรี”
แม้ว่าปัจจุบันเราแปลคำว่า “เพลง” เป็นภาษาอังกฤษว่า “song” แต่คนสมัยโบราณไม่ได้คิดเช่นนั้น คุณสุจิตต์อธิบายว่า “เพลง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ทางร้อง” ส่วนคำว่า “ดนตรี” มาจากคำของพวกพราหมณ์ชมพูทวีป แปลว่า “ทางดนตรี” และกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นผู้สืบทอดอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของพวกขอมอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นการที่เราเรียก “music” ด้วยคำว่า “เพลง” ซึ่งเป็นภาษาเขมรจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
เมื่อ “เพลง” มีความหมายครอบคลุมไปถึง “ทางร้อง” จึงยิ่งเทียบได้กับคำว่า “ghina” ของชาวอาหรับ ในกรณีนี้คำว่า “ดนตรี” ที่เรายืมมาจากพราหมณ์อินเดีย จึงยิ่งไม่ต่างไปจาก “musik” ที่อาหรับหยิบยืมมาจากพวกกรีกอีกทอด
พูดง่ายๆ ว่า ในโลกยุคเก่าก่อน โดยเฉพาะโลกก่อนยุคสมัยใหม่นั้น “ดนตรี” จึงไม่ใช่แค่การละเล่น กิจกรรมยามว่าง เครื่องผ่อนคลายอารมณ์ตามอย่างที่นิยามกันในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความรู้อย่างลึกซึ้ง ถึงแม้ว่านิยามของดนตรีจะเขยิบห่างจากความหมายเดิมจนมีความหมายเฉพาะแล้ว แต่การส่งเสริมหรือชักชวนให้ประชาชนได้รับชม รับฟังดนตรีในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่เช่นเดิม เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์แล้วยังเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริม และสั่งสมรสนิยมที่ดีให้ผู้คนในสังคม สำหรับนำไปประยุกต์ใช้กับอะไรอื่นๆ ได้อีกมาก
ภาพที่ 4: บรรยากาศก่อนเริ่มงาน ‘นั่งเล่นบนลานหญ้า’ ชมดนตรีในสวน ที่มิวเซียมสยาม
เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565
แหล่งที่มาภาพจาก: บัญชีทวิตเตอร์ Sek Samyan