หลังถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางไกลมานานกว่าสามปี เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศผ่อนปรนมาตรการเรื่องโรคระบาดและยกเว้นวีซ่าเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม ผู้เขียนจึงรีบกดจองตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อพักผ่อน เปลี่ยนบรรยากาศและชมธรรมชาติช่วงเปลี่ยนฤดูกาล รวมถึงอยากไปชมนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยไปเยี่ยมชมด้วย
ในการเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนพบว่าระหว่างที่อยู่เมืองโตเกียวมีอากาศแปรปรวน มีพยากรณ์คาดการณ์ว่าฝนจะตก ผู้เขียนจึงคิดแผนเผื่อไว้หากิจกรรมที่สามารถเข้าไปหลบฝนหลบความหนาวในอาคารแทน โดยลองค้นจากกูเกิ้ลหาว่ามีพิพิธภัณฑ์ที่ไหนน่าสนใจบ้าง ปรากฏว่า Fire Museum หรือพิพิธภัณฑ์การดับเพลิงได้รับการแนะนำเป็นอันดับต้นๆ ของประเภทพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง (Specialty Museum) อีกทั้งยังมีคะแนนโหวตจากผู้เข้าชมการันตีว่าเป็น 1 ใน 20 พิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโตเกียวจากเว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์เสียด้วย
ภาพที่ 1 พิพิธภัณฑ์เป็นตึกสูงตรงหัวมุมถนนที่มีตราสัญลักษณ์หน่วยงานเป็นจุดสังเกต
พิพิธภัณฑ์การดับเพลิงตั้งอยู่ในพื้นที่ชินจูกุเดินทางไปถึงง่ายด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสีแดงสายมารุโนะอุจิ (Marunouchi) ไปที่สถานีโยสึยะ ซันโจเมะ (Yotsuya sanchome หรือ M11) ใช้ทางออกที่ 2 ตึกนี้แบ่งการใช้พื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ให้บริการสาธารณะ ได้แก่ ชั้น 10 Louge จำหน่ายเครื่องดื่มพร้อมวิวมุมกว้างของนครโตเกียวโซนชินจูกุ ชั้น 7 ห้องสมุด ตั้งแต่ชั้น 6 ลงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ และโซนที่เหลือเป็นพื้นที่ส่วนออฟฟิศข้าราชการ พิพิธภัณฑ์ของรัฐบาลแห่งนี้ดำเนินการโดยหน่วยดับเพลิงโตเกียว (Tokyo Fire Department) จึงไม่เก็บค่าเข้าชม แต่เมื่อเข้าไปในอาคารแล้วมีธรรมเนียมให้ผู้เข้าชมลงชื่อในสมุดเยี่ยมชมเพื่อแจ้งจำนวนผู้เข้าชมก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเจ้าหน้าที่ต้อนรับบอกแนะนำให้ขึ้นลิฟท์ไปที่ชั้น 5 อันเป็นจุดเริ่มต้นนิทรรศการห้องแรก
เนื้อหาของนิทรรศการเป็นการแสดงประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของการบริการดับเพลิงในญี่ปุ่นที่ใช้หลักฐานและเอกสารอ้างอิงต่างๆ ทั้งม้วนภาพเขียนเล่าเรื่องที่เรียกว่า เอมากิ (emaki) ภาพพิมพ์แกะไม้นิชิกิเอะ (nishikie) จากศตวรรษที่ 18 – 19 และเครื่องมือในการดับเพลิงยุคทศวรรษ 1920 จนถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ใหม่ล่าสุด โดยแบ่งพื้นที่นิทรรศการตามยุคสมัยไล่เรียงกัน เริ่มต้นจากสมัยเอโดะที่เป็นยุคที่เกิดเพลิงไหม้ใหญ่มากถึง 3 ครั้ง แต่ช่วงแรกการดับไฟเป็นการร่วมกลุ่มของคนหนุ่มอาสาสมัครเป็นคนดับไฟจนกลายเป็นฮีโร่ของชาวเอโดะ ต่อมาในปีค.ศ. 1643 (ตรงกับปลายรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ยุคกรุงศรีอยุธยาของไทย) รัฐบาลโชกุนจึงจัดตั้งเป็นกองกำลังเฉพาะกิจ เรียกว่า ไดเมียวบิเคชิ (Daimyobikeshi) เป็นกลุ่มซามุไรทำหน้าที่ระงับเหตุไฟไหม้ ทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการจัดการเกี่ยวกับไฟไหม้อย่างเป็นระบบ ได้แก่ มีการสร้างหอคอยสูงเพื่อสังเกตการณ์โดยเฉพาะ มีการจัดแบ่งพื้นที่เฝ้าระวังและควบคุมเพลิงออกเป็นโซนทั่วเมืองเอโดะ แต่ละโซนจะมีหน่วยดับเพลิงที่มีธงดับเพลิง (Matoi) ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ประจำหน่วย นอกจากนี้กลุ่มนักผจญเพลิงยังมีชุดเครื่องแบบสวมโดยเฉพาะ ตัดเย็บด้วยผ้าเนื้อหนาทนไฟกันความร้อนได้ มีเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการดับไฟ เช่น บันได ตะขอเกี่ยวกระเบื้องหลังคาแบบด้ามสั้น-ยาว ถังน้ำ กระบอกฉีดน้ำ และแท๊งก์ไม้เพิ่มแรงดันน้ำฉีดดับไฟ เป็นต้น
ภาพที่ 2 (ซ้าย) ภาพอาคารทำการของหน่วยดับเพลิงควบคู่กับตำรวจประจำชุมชน มีบันไดปีนขึ้นที่สูง
เพื่อสังเกตการณ์และระฆังสำหรับตีแจ้งเหตุไฟไหม้ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดหน่วยดับเพลิงของญี่ปุ่น
(ขวา) ชุดนักดับเพลิงและอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ดับไฟในสมัยเอโดะ
สำหรับผู้เขียนการจัดแสดงโซนนี้นับว่าตื่นตาตื่นใจมาก ทั้งมีฉากโมเดลจำลองที่แสดงรายละเอียด ทำให้เข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนว่าในสมัยเอโดะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หน่วยดับเพลิงจะใช้วิธีการรื้อทำลายเพื่อหยุดไฟ (destructive fire fighting) โดยหัวหน้าทีมจะปีนขึ้นไปหลังคาบ้านพร้อมธงดับเพลิงคอยประเมินสถานการณ์จากทิศทางและความเร็วลม ความแรงของเปลวไฟ โครงสร้างของบ้าน และช่องว่างระหว่างแนวบ้าน เป็นต้น จากนั้นจึงสั่งการลูกทีมให้รื้อส่วนหลังคา เตรียมน้ำระดมดับไฟ รื้อโครงสร้างอาคารด้วยการดึงเสาและผนังให้พังราบลงเพื่อระงับไฟไม่ให้ลุกลาม นอกจากนี้นิทรรศการยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้อีกมากมายทั้งของจริงและของจำลอง เพื่ออธิบายขยายความเข้าใจเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้ผู้คนมักห่วงทรัพย์สมบัติ จึงพยายามคิดหาหนทางขนย้ายข้าวของหนีไฟไหม้ด้วยการประดิษฐ์กล่องไม้ใบยาวติดล้อเลื่อนเก็บของมีค่าที่สามารถเข็นย้ายได้
ภาพที่ 3 โมเดลจำลองแสดงการทำงานของหน่วยดับเพลิงญี่ปุ่นที่ใช้วิธีรื้อทำลายเพื่อหยุดการกระจายไฟ
เมื่อลงไปที่ชั้น 4 ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเมื่อเห็นหุ่นจำลองม้าเทียมรถลากอุปกรณ์ดับไฟแบบใช้แรงดันจากไอน้ำที่ดูแปลกตาออกไป พร้อมกับภาพถ่ายต่างๆ ของพนักงานดับเพลิงยุคเมจิ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ทำให้เห็นว่างานดับเพลิงของญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้า มียานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ดูทันสมัย เช่น สมัยเมจิมีเหตุไฟไหม้ในตึกสูงจึงมีการคิดสร้างบันไดเลื่อนต่อความสูงบันไดให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุ จนกลายเป็นต้นแบบระบบมาตรฐานของรถกระเช้าดับเพลิง รวมถึงการออกกฎหมายกำหนดให้อาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป (จนถึงความสูง 30 เมตร) ทุกแห่งต้องติดรูปสามเหลี่ยมสีแดงกลับหัวไว้ที่ด้านนอกช่องหน้าต่างเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งสำหรับการทุบกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินในสมัยปัจจุบัน หรือในสมัยโชวะ (ค.ศ. 1926–1989) มีการประดิษฐ์สร้างรถมอเตอร์ไซค์ดับเพลิงเป็นหน่วยดับเพลิงเคลื่อนที่เร็ว ภาพรวมของนิทรรศการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของระบบงานบริการดับเพลิงที่มีระเบียบแบบแผนมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงคนญี่ปุ่นเรียนรู้ปัญหาและอุปสรรคจากอดีตเพื่อหามาตรการป้องกัน และมีความตื่นตัวกับการรับมือภัยพิบัติสูงมาก
ภาพที่ 4 มอเตอร์ไซค์ดับเพลิง
ระหว่างที่เพลิดเพลินกับการดูนิทรรศการผู้เขียนสังเกตเห็นว่ามีผู้เข้าชมทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งบุคคลเดี่ยว และกลุ่มครอบครัวที่มีลูกน้อยวัยอนุบาล แอบเดินตามครอบครัวหนึ่งไปโซนนอกอาคารก็เห็นเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงสีแดงของจริงที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่จอดอยู่บนลาน เด็กน้อยดูตื่นเต้นกันมากที่ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งในค็อกพิทจับคันโยกสมมติตัวเองเป็นนักบิน ยิ่งเมื่อลงมาที่ชั้น 3 จนถึงชั้นใต้ดินเป็นโซนนิทรรศการจัดแสดงเรื่องการดับเพลิงสมัยปัจจุบันที่มีสื่อการเรียนรู้หลากหลาย ทั้งรถดับเพลิงสีแดงคันใหญ่ที่เรียกความสนใจให้เด็กๆ ร้องว้าวอย่างตื่นเต้น รถพยาบาลฉุกเฉินของจริงที่ส่งเสียงไซเรน วีดิโอแอนิเมชั่น มัลติมีเดีย และเกมที่ออกแบบให้เรียนรู้เข้าใจง่ายเหมาะสมตอบโจทย์ความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 5 กิจกรรมต่างๆ ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชมวัยอนุบาล
จากที่สังเกตเด็กๆ ไม่เพียงดูสนใจกับรถดับเพลิง แต่ยังตั้งใจเรียนรู้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ทำจำลองให้จับได้ ตั้งใจฟังสิ่งที่พ่อแม่ชี้ชวนดูชวนคุยและถามกลับในสิ่งที่ไม่เข้าใจ แถมสนุกที่ได้เล่นเกมแข่งขันดับเพลิงกับผู้ปกครอง ผู้เขียนก็เข้าใจได้ทันทีว่าทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มครอบครัวลูกเล็ก