เมื่อครั้งที่ประเทศฝรั่งเศสจัดให้มีงานมหกรรมนานาชาติชื่อว่างานเวิล์ดแฟร์ครั้งยิ่งใหญ่ของกรุงปารีสที่มีชื่อเต็มว่า The Exposition of Universelle of 1889 หรือเรียกกันเก๋ๆ ว่า EXPO Paris 1889 และจัดให้มีการประกวดออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน
แน่นอนว่า สิ่งปลูกสร้างที่ชนะเลิศในคราวนั้นคืออะไรที่รู้จักกันในชื่อ ‘หอไอเฟล’ (ตั้งชื่อตาม กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel, สถาปนิกควบตำแหน่งวิศวกรผู้ออกแบบ) ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในทุกวันนี้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหอไอเฟลนี้ถูกสร้างขึ้นมาเฉยๆ ให้ใหญ่โตระดับสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกยุคนั้น (สูง 330 เมตร เทียบได้กับตึกสูง 81 ชั้น) เพื่อใช้สำหรับชมเมืองให้เปลืองงบประมาณเล่นเท่านั้น เพราะเจ้าหอนี้ยังทำหน้าที่เป็นพระเอกในงาน EXPO Paris 1889 อีกด้วย
ส่วนที่บอกว่าเป็นพระเอกของงานนี้ก็เพราะ ‘หอไอเฟล’ นั้น ถูกใช้เป็น ‘ประตู’ ทางเข้าไปสู่งาน EXPO Paris 1889 นั่นเอง
ภาพที่ 1: หอไอเฟล สัญลักษณ์ของกรุงปารีส และประเทศฝรั่งเศส
แหล่งที่มาภาพ www.artis-tours.org/A5-eiffel-tower-paris
ภาพที่ 2: ภาพสเก็ตซ์ก่อนการก่อสร้างหอไอเฟล เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับ
อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ วิหารนอเตรอดาม และเสาว็องโดม
แหล่งที่มาภาพhttps://en.wikipedia.org/wiki/Eiffel_Tower
หอไอเฟลจึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ รวมไปถึงความสวยงามทางสถาปัตยกรรมของประเทศฝรั่งเศสในยุคโน้น
ดังนั้น หอไอเฟลจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะเป็นภาพนำเสนอถึงความยิ่งใหญ่ของชาติฝรั่งเศสออกมาในงาน EXPO ที่ว่านี้
อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าฝรั่งเศสชนในยุคนั้นจะเห็นดีเห็นงามกับการสร้างเจ้าหอสูงใหญ่ยักษ์นี่ไปเสียทุกคน ดังปรากฏมีจดหมายเปิดผนึกที่เรียกกันว่า ‘Artists against the Eiffel Tower’ (กลุ่มศิลปินไม่เอาหอไอเฟล) ซึ่งเหล่าศิลปิน นักเขียน และผู้ทำงานศิลปะประเภทต่างๆ ในฝรั่งเศสขณะนั้นร่วมกันประท้วงไม่ให้มีการสร้างหอไอเฟล โดยพวกเขาได้เรียกหอสูงแห่งนี้ว่า ปล่องควันสีดำขนาดมหึมา ที่ไร้ประโยชน์ และจะมาบดขยี้คุณค่าความงามของงานศิลปะต่างๆ ที่มีอยู่ในปารีส ไม่ว่าจะเป็นวิหารนอเตรอดาม ประตูชัย พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ฯลฯ ซึ่งลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Le Temps ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1887 แน่นอนว่า คำประท้วงดังกล่าวไม่เป็นผล หอไอเฟลจึงได้ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส และประเทศฝรั่งเศสมาจนกระทั่งทุกวันนี้)
แต่เรื่องมันไม่ได้สวยหรูอย่างฉากที่เห็นแค่นี้เพราะอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของเจ้างาน EXPO ซึ่งเป็นอีเวนต์สุดชิคที่ใช้ในการอวดเบ่งแสนยานุภาพทางด้านต่างๆ ของชาติตนเอง จนชาติมหาอำนาจ เจ้าอาณานิคมชาติไหนในยุคนั้นก็ต้องจัดกันทั้งนั้นนี่แหละ
งานมหกรรมนานาชาติเหล่านี้ก็คือ การจัดแสดงสิ่งของนานาชาติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้านำสมัยในแต่ละด้าน หรือวัฒนธรรมอันวิจิตรพิสดารพันลึกของประเทศตนเองต่อสายตาของชาวโลก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก และมีการจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา
(น่าสังเกตว่า ประเทศไทยเองก็เคยมีการจัดมหกรรมทำนองนี้ แต่เน้นจัดแสดงเรื่องราวในประเทศสยามเองเสียมากกว่า ครั้งที่สำคัญที่สุดจัดขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2425 ภายใต้ชื่องานชิคๆ ว่า ‘นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน’ แบบไม่เห็นต้องแคร์ว่าต้องใช้ชื่องานเป็นภาษาไทย เหมือนอย่างในปัจจุบันนี้)
ดังนั้นจึงสามารถเห็นกันได้ชัดๆ แบบไม่มีเม้มกันเลยทีเดียวว่า มหกรรมพวกนี้ก็คืองาน ‘โชว์ของ’ ว่าประเทศตัวเองนั้น เจ๋ง ชิค คูล และชนะเลิศ อย่างไรบ้าง? ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า ในการแต่ละชาติที่จัดงานจำพวกนี้ต่างก็ต้องการประกาศศักดาว่า ชาติข้านี้เจ๋งกว่าชาติมหาอำนาจอื่นๆ อย่างไรกันด้วยกันทั้งนั้น
แต่ถ้าแค่อวดว่าตัวเองมีของอย่างไรเท่านั้นก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่หลายครั้งงาน EXPO ที่จัดโดยชาติเจ้าอาณานิคมขาใหญ่ทั้งหลายมักไม่แค่อวดของของตัวเองเท่านั้น เพราะยังได้ข่มเอาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศโลกที่สามที่ไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลยด้วย
ที่สำคัญก็คือจุดเปลี่ยนผ่านของปรากฏการณ์อย่างที่ว่าผ่านงาน EXPO ทำนองนี้ก็คือ ตัวงาน EXPO Paris 1889 ที่มีหอไอเฟลเป็นพระเอกเองนี่แหละ เพราะภายในงาน EXPO ครั้งนี้ได้เกิดการแบ่งส่วนพื้นที่การจัดแสดงเป็นสองส่วน ซึ่งมักเรียกรวมกันว่า โซน ‘White City’ กับ ‘Colonial section’ ขึ้นเป็นครั้งแรก
ภาพที่ 3: โปสเตอร์แสดงผังในงาน EXPO Paris 1889
แหล่งที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Eiffel_Tower
แน่นอนว่า ‘White’ ใน ‘White City’ นี่ก็หมายถึง ‘คนขาว’ หรือพวกฝรั่งนี่แหละ
แค่ชื่อก็เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่าเป็นการเหยียดชนชาติอื่นที่ไม่ขาว ไม่ว่าผิวคุณเหลืองหรือดำ ก็ถูกเหยียดแบบ ‘เสมอภาค’ เหมือนกันทั้งหมด อะไรที่ถูกจัดแสดงอยู่ในโซนนี้ก็คือ ความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ของกลุ่มประเทศที่ศิวิไลซ์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การขนส่ง เทคโนโลยีล้ำสมัยในยุคโน้น การเกษตรแบบทันสมัย และอีกสารพัดสิ่ง
ในขณะที่โซน ‘Colonial section’ หรือส่วนของพวกที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงว่าโซนที่มีแต่ชาติใต้อาณานิคมของพกฝรั่งในยุคนั้นเท่านั้น แต่หมายถึงโซนของพวกคนที่ไม่ขาวอย่างฝรั่ง (ซึ่งหมายถึงพวกที่ไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลย ในสายตาของฝรั่งเจ้าอาณานิคม) ไม่ว่าเป็นอาณานิคมของใครหรือไม่ก็ตาม
และคงไม่ต้องบอกว่าเวลาประเทศสยามไปเข้าร่วมงานมหกรรมพวกนี้แล้ว ชาติมหาอำนาจจะจัดพื้นที่ไว้ให้เราไปโชว์ของในโซนไหน?
ส่วนข้าวของที่ถูกจัดแสดงอยู่ในโซนของชนชาติที่ไม่ขาวก็ไม่ใช่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอะไรเหมือนทางฝั่งเมืองคนขาว แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ และข้าวของแปลกๆ ดูยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาในสายตาฝรั่งจากประเทศเหล่านั้นต่างหาก
‘EXPO Paris 1889’ จึงเป็นเหมือนกับการจำลอง และย่อขนาดโลกของพวกฝรั่งเศส พร้อมๆ ไปกับมีการจัดระเบียบโลกสมมติดังกล่าวด้วยการลำดับชั้นวรรณะไปด้วยว่า ฉันเป็นคนขาวและอารยะ พวกคนอื่นๆ ที่ไม่เหลืองก็ดำนั้นไม่ได้ศิวิไลซ์เอาเสียเลย โดยศูนย์กลางของโลกสัปปะรังเคอย่างนี้ก็คือ สิ่งปลูกสร้างล้ำสมัยที่สูงที่สุดในโลกเมื่อครั้งกระโน้นอย่าง ‘หอไอเฟล’ นี่เอง
เอาเข้าจริงแล้ว หน้าที่สำคัญแต่เริ่มแรกของหอไอเฟลก็คือ การเป็นสัญลักษณ์แห่งความศิวิไลซ์ชาติฝรั่งเศสพร้อมไปกับที่เหยียดชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนขาว ด้วยสายตาแบบเจ้าอาณานิคมราวกับว่าพวกเขามองดูคนผิวสีลงมาจากบนยอดของหอไอเฟล
ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องย้อนแย้งสิ้นดี เพราะแท้จริงแล้ว งาน EXPO Paris 1889 นั้น มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส (หมายถึงการปฏิวัติ 1789) อันเป็นจุดเริ่มต้นการปลดแอกของชนชั้นในประเทศของพวกเขา ด้วยการสร้าง ‘หอไอเฟล’ ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการตอกย้ำเรื่องการจัดระเบียบชนชั้น เพื่อการกดขี่ และลัทธิล่าอาณานิคม
ภาพที่ 4: โปสเตอร์งาน EXPO Paris 1889 แสดงให้เห็นว่า หอไอเฟลเป็นสัญลักษณ์ของงาน
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Exposition_Universelle