Museum Core
สัลเลขนา: การอดอาหารสู่หนทางความหลุดพ้น
Museum Core
20 ธ.ค. 65 2K

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าชาวไทยคงคุ้นเคยกับคำว่า “การุณยฆาต (Euthanasia)” กันไม่มากก็น้อย การุณยฆาตหรือการมอบความตายโดยปราศจากความเจ็บปวดให้กับผู้ที่ต้องการกลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง หลายคนมองว่าการจบชีวิตคนๆ หนึ่ง แม้จะด้วยวิธีที่ไม่ทรมานและผ่านการยินยอมของบุคคลนั้นๆ ไม่ต่างอะไรกับการฆาตกรรม การุณยฆาตอาจถูกมองว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อมผ่านการช่วยเหลือจากแพทย์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในมุมมองศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรมหรือฆ่าตัวตายต่างเป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้ ทว่าลึกเข้าไปในชมพูทวีป ยังคงมีศาสนาที่ชี้แนะหนทางสู่ความตายที่เหมาะสม คนเหล่านั้นเชื่อว่าบุคคลสามารถจบชีวิตของตนภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์จำเป็นโดยไม่ขัดต่อหลักศีลธรรม หลักปฏิบัตินี้เรียกว่า “สัลเลขนา (Sallekhana)” หรือการอดอาหารจนถึงแก่ความตายตามหลักศาสนาเชน (Jainism) สัลเลขนาคืออะไร หลักปฏิบัติที่ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากการุณยฆาตและการฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

               ก่อนที่จะรู้จักกับสัลเลขนา ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงศาสนาเชนสักนิด เชนหรือไชนะเป็นหนึ่งในศาสนาเก่าแก่ที่สุดในอนุทวีปอินเดีย หลักความเชื่อดังกล่าวริเริ่มขึ้นราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาลโดยองค์มหาวีระ (Mahavira) ตีรถังกร (Tirthankara) หรือศาสดาองค์ที่ 24 ตามความเชื่อของศาสนิกชน ศาสนาเชนแพร่หลายในชมพูทวีปในเวลาไล่เลี่ยกันกับพุทธศาสนา ความเชื่อและหลักธรรมบางประการในศาสนาเชนมีความใกล้เคียงกับศาสนาพุทธมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรม การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ รวมถึงหนทางแห่งการหลุดพ้นเพื่อที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป

 

ภาพที่ 1 รูปเคารพองค์มหาวีระ ตีรถังกรองค์ที่ 24

แหล่งที่มาภาพ: Dayodaya. Mahavir. (2001). [Online]. Accessed 2022 July 16.

Available from:https://en.wikipedia.org/wiki/Mahavira

 

 

               ในส่วนของการหลุดพ้นจากสังสาระ ชาวเชนเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถหลุดพ้นจากบ่วงกรรมเพื่อเข้าสู่สิทธศิลา (Siddhashila) หรือดินแดนแห่งความสุขนิรันดร์ได้หากปฏิบัติตามหลักมหาพรต 5 ประการ อันได้แก่ อหิงสา (การไม่ทำลายชีวิต) สัตยะ (การพูดแต่ความจริง) อัสเตยะ (การไม่ลักขโมย) พรหมจรยะ (การประพฤติพรหมจรรย์) และอปริครหะ (การปราศจากความโลภ) นอกจากหลักปฏิบัติที่เป็นหัวใจสำคัญเหล่านี้ ยังมีหลักปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับศาสนิกชนที่เคร่งครัด ได้แก่ หลักคุณพรต 3 และหลักสิกขาพรต 4 รวมแล้วเป็นหลักปฏิบัติ 12 ประการ ชาวเชนยึดถือหลักปฏิบัตินี้เป็นหนทางในการดำเนินชีวิต ทว่าศาสนาเชนไม่ได้ชี้แนะเพียงการใช้ชีวิตเท่านั้น พวกเขามีหลักปฏิบัติเพื่อนำทางสู่การตายที่เหมาะสมเช่นกัน หลักปฏิบัติที่ว่านี้เพิ่มเติมจากพรตทั้ง 12 ประการ นั่นคือสัลเลขนา หรือการอดอาหารจนถึงแก่ความตายที่กล่าวถึงในข้างต้น

               ศาสนาเชนให้ความสำคัญกับความตายเป็นอย่างมาก ความตายตามหลักเชนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ พาลมรณะ (Bala Marana) การตายอย่างผู้เยาว์หรือคนเขลา และปัณฑิตมรณะ (Pandita Marana) การตายอย่างนักปราชญ์ การตายประเภทแรกไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใด ดวงจิตไม่มีการพัฒนาเมื่อไปสู่ภพภูมิใหม่ ขณะที่การตายประเภทที่สองจะทำให้ผู้ตายหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เช่นเดียวกับพาลมรณะ ปัณฑิตมรณะมีมากมายหลายรูปแบบ สัลเลขนาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ชาวเชนเชื่อว่าการตายด้วยวิธีอดอาหารถือเป็นสมาธิมรณะ (Samadhi Marana) หรือการตายอันประเสริฐระหว่างทำสมาธิ ผู้ตายจะมีจิตผ่องใส ปราศจากกิเลศตัณหาใดๆ ที่ผูกมัดพวกเขากับโลกนี้

              แม้จะเป็นการตัดสินใจว่าต้องการจบชีวิต ทว่าสัลเลขนาไม่ใช่การฆ่าตัวตายอย่างปุบปับ กระบวนการตายรูปแบบดังกล่าวอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี คัมภีร์รัตนกรัณฑะ ศราวกาจาร (Ratnakaranda Sravakacara) แต่งโดยปรมาจารย์นิกายทิคัมพร (Digambara) สมันตะภัทระ (Samantabhadra) ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ระบุถึงกระบวนการสัลเลขนาว่า ผู้ปฏิบัติต้องลดการบริโภคอาหารแข็งทีละน้อย จนเหลือเพียงดื่มน้ำนมประทังชีพ ก่อนจะเลิกดื่มนม เหลือเพียงดื่มน้ำร้อนเท่านั้น หลังจากนั้นจึงเลิกดื่มน้ำเพื่อเริ่มต้นอดอาหารและน้ำอย่างสมบูรณ์ ผู้ปฏิบัติต้องละทิ้งร่างกายตน พร้อมกับระลึกถึงบทสวดปัญจนมัสการ (Panca Namaskara Mantra) ระหว่างนั้น จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สัลเลขนาไม่ใช่แค่การอดอาหาร แต่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำสมาธิและฝึกฝนจิตใจในเวลาเดียวกัน

               เป้าหมายหลักของสัลเลขนาไม่ใช่การจบชีวิตเท่านั้น แต่เป็นการปลดปล่อยวิญญาณให้เป็นอิสระ ศาสนาเชนเปรียบเทียบร่างกายของคนกับกรงขังวิญญาณ ขณะที่กิเลสตัณหาเป็นดั่งโซ่ล่ามวิญญาณในกรงขัง วิธีเดียวที่จะขจัดความใคร่ (Raga) และความเกลียดชัง (Dvesa) เพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาณคือการอดอาหารและทำสมาธิควบคู่กันไป ชาวเชนเชื่อว่าเมื่อร่างกายอ่อนแอลงจากการอดอาหาร จิตวิญญาณของพวกเขาจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้การอดอาหารจนถึงแก่ความตายจึงถูกปฏิบัติสืบทอดมาในชุมชนเชนจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพที่ 2 สตรีชาวเชนที่อดอาหารและผู้สังเกตการณ์

แหล่งที่มาภาพ: Sharma, Subhash. SANTHARA : TO DIE VOLUNTARILY BY ONES OWN CHOICE: JAINISM IN INDIA. (2006). [Online]. Accessed 2022 July 16. Available from: http://indiatraveller.blogspot.com/2006/

 

               อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถปฏิบัติสัลเลขนาได้ ปรมาจารย์สมันตะภัทระระบุชัดเจนว่า การอดอาหารจนถึงแก่ความตายสามารถปฏิบัติได้ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์จำเป็นเท่านั้น สถานการณ์เหล่านี้ได้แก่ ทุพภิกขภัย สงครามใหญ่ หรือภัยธรรมชาติ บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติสัลเลขนาคือบุคคลที่แก่ชราหรือป่วยด้วยโรคร้ายแรง บุคคลเหล่านี้มีข้อจำกัดทางร่างกาย เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางโลกและทางธรรมได้ตามปกติ พวกเขาจึงมีสิทธิ์จบชีวิตตัวเองได้โดยไม่ขัดต่อหลักธรรม ด้วยเหตุนั้นผู้ที่รู้ว่าเวลาของตนใกล้จะหมดจึงแสวงหาความตายด้วยวิธีที่ว่า ดีกว่าต้องสิ้นลมก่อนบรรลุธรรมตามตั้งใจ

               การอดอาหารตายตามความสมัครใจไม่ใช่เรื่องใหม่ในชมพูทวีป อินเดียใต้ในอดีตเองก็มีประเพณีคล้ายคลึงกันที่มีชื่อว่า “วะฏักกีรุตตัล (Vatakkirutthal)” ซึ่งปรากฏหลักฐานในวรรณคดีทมิฬยุคสังคัม (Sangam) นอกจากนี้ในคัมภีร์ปุราณะยังกล่าวถึง “ปราโยปเวสะ (Prayopavesa)” หรือการอดอาหารจนถึงแก่ความตายในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว สัลเลขนาในศาสนาเชนมีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายมากกว่า โดยปรากฏหลักฐานทั้งในวรรณคดีมุขปาฐะ จารึก และบันทึกประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญในอดีตที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติสัลเลขนาได้แก่ สกันฑะ กัตยานะ (Skanda Katyayana) สาวกของศาสดามหาวีระ นีติมรรคะที่ 1 (Nitimarga I) กษัตริย์ราชวงศ์คงคาตะวันตก (Western Ganga Dynasty) หรือแม้แต่จันทรคุปต์ เมารยะ (Chandragupta Maurya) พระอัยกาของพระเจ้าอโศกเองก็ถูกกล่าวถึงในจารึกว่าเสียชีวิตด้วยวิธีนี้เช่นกัน แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดก็ตาม

 

ภาพที่ 3 จารึกภาษากันนฑะ กล่าวถึงการตายของกษัตริย์นีติมรรคะด้วยวิธีสัลเลขนา

แหล่งที่มาภาพ: Holenarasipura. Doddahundi nishidhi inscription. (2012). [Online]. Accessed 2022 July 16. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Doddahundi_nishidhi_inscription

 

 

               อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับประเด็นถกเถียงเรื่องการุณยฆาต สัลเลขนาเองก็เป็นหัวข้อที่โต้แย้งกันมาแต่โบราณว่าถือเป็นการฆ่าตัวตายหรือไม่ เช่นเดียวกับศาสนาสากลอื่นๆ ชาวเชนเองก็ต่อต้านการฆ่าตัวตายไม่ต่างกัน คัมภีร์เชนระบุว่าผู้ที่จบชีวิตตัวเองด้วยคมอาวุธ ยาพิษ หรือกระโจนลงกองไฟและแม่น้ำจักต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏร่ำไป ทว่าสำหรับศาสนิกชน การตายอย่างสมัครใจจากการอดอาหารไม่ถือเป็นการฆ่าตัวตายแต่อย่างใด ชาวเชนอ้างว่าสัลเลขนาปฏิบัติได้ในสถานการณ์จำเป็นเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นแรงจูงใจยังแตกต่างจากการฆ่าตัวตายอย่างสิ้นเชิง การฆ่าตัวตายเกิดจากความโกรธ เกลียดชัง และโศกเศร้า ในขณะที่ผู้ปฏิบัติสัลเลขนาต้องละทิ้งความรู้สึกเหล่านี้เพื่อไปสู่การตายอย่างสงบ สัลเลขนาจึงเป็นการเตรียมความพร้อมของจิตใจเพื่อการตายที่เหมาะสม ในขณะเดียวกัน สัลเลขนาก็แตกต่างจากการุณยฆาตเนื่องจากเป็นการกระทำของผู้สมัครใจเพียงผู้เดียวเท่านั้น อาจมีบ้างในบางกรณีที่ผู้กระทำได้รับความช่วยเหลือจากผู้สังเกตการณ์ แต่จะไม่มีการเร่งกระบวนการการตายโดยเครื่องมือหรือสารเคมีใดๆ เหมือนกับการุณยฆาต ด้วยเหตุนี้สัลเลขนาจึงเป็นการตายที่บริสุทธิ์ ไม่มีความจำเป็นในการยืมมือผู้อื่นเพื่อจบชีวิตตัวเอง

               ตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 เป็นต้นมา ศาลสูงสุดอินเดียสั่งห้ามการปฏิบัติสัลเลขนาไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด โดยถือว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ผู้สังเกตการณ์ที่รู้เห็นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทว่าสัลเลขนายังคงปฏิบัติอย่างลับๆ ในชุมชนเชนสืบต่อมา เช่นเดียวกับข้อโต้แย้งของผู้สนับสนุนการุณยฆาต ชาวเชนเองก็มีความเห็นว่าบุคคลควรมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกความตายที่เหมาะสมด้วยตนเอง ทว่าการลาจากโลกนี้โดยเจตนาเป็นทางออกที่ดีกว่าการทนต่อความทรมานจากโรคภัยหรือไม่ คงไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องในประเด็นนี้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติในแต่ละวัน เพื่อจะได้ไม่มีความเสียใจใดๆ เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

Battin, Margaret Pabst. The Ethics of Suicide: Historical Sources. New York: Oxford University Press,

2015.

Long, Jeffery D.. Jainism: an Introduction. London: Thomson Press, 2009.

Tukol, Justice P. K.. Sallekhana is Not Suicide. Ahmedabad: L. D. Institute of Indology, 1976.

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ