Museum Core
อักษรเบรลล์: สิ่งนำทางและแสงสว่างแห่งชีวิต
Museum Core
20 ธ.ค. 65 1K

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

               หากกล่าวถึงคนตาบอด อักษรเบรลล์น่าจะเป็นคำที่ถูกนึกถึงอย่างต่อเนื่องกัน นั่นเพราะอักษรเบรลล์เป็นเครื่องมือให้เหล่าคนตาบอดเข้าถึงเรื่องราว ข้อมูล ข่าวสาร ผ่านโลกการอ่านได้เช่นเดียวกับคนตาปกติ ทว่าไม่ได้อ่านด้วยดวงตา หากใช้ปลายนิ้วสัมผัสกลุ่มของจุดนูนบนแผ่นกระดาษ

               อักษรเบรลล์ (Braille) คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1824 โดยนักเรียนตาบอดชาวฝรั่งเศสนามว่า หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) เขาเกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1809 แต่ประสบอุบัติเหตุจนตาบอดตอนอายุได้ 3 ขวบ โดยตอนแรกได้เข้าเรียนในโรงเรียนปกติ ต่อมาถึงได้ย้ายไปเรียนที่สถาบันคนตาบอดแห่งชาติฝรั่งเศส กรุงปารีส

 

ภาพที่ 1 หลุยส์ เบรลล์

แหล่งที่มาภาพ: https://dcmp.org/learn/260-louis-braille-humanitarian-teacher-inventor-and-friend

 

           

               ต่อมา หลุยส์ เบรลล์ได้เป็นครูสอนหนังสือถึงได้ตระหนักว่าคนตาบอดหากไม่มีอักษรสำหรับบันทึกข้อความ การศึกษาย่อมเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร เขาได้แนวคิดนี้มาจากนายทหารแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสชื่อ ร้อยเอกชาลส์ บาบิแอร์ ซึ่งนำการส่งข่าวสารทางทหารในเวลากลางคืนมาให้คนตาบอดใช้ดู

               โซโนกราฟฟฟี่ (Sonography) คือ ระบบใช้รหัสจุดขีดนูนลงบนกระดาษแข็ง แม้ยุ่งยากพอดูแต่หลุยส์ เบรลล์ก็เห็นคุณค่า และนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับการสัมผัสปลายนิ้วมือ โดยให้มีจุดหกจุดเรียงกันเป็นสองแถว ทางตั้งแถวด้านซ้ายเรียงจากบนลงล่างเรียกจุด 1, 2, 3 และทางตั้งแถวด้านขวาเรียงจากบนลงล่างเรียกจุด 4, 5, 6 แล้วนำจุดต่าง ๆ นี้มาจัดกลุ่มเป็นรหัสได้ถึง 63 กลุ่ม นำไปใช้แทนตัวอักษร

               ในปี ค.ศ. 1824 หลุยส์ เบรลล์ อายุ 15 ปี ได้ประกาศวิธีการใช้อักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอด สร้างความกระตือรือร้นให้กับเหล่าคนตาบอดทั่วโลก เพราะนั่นหมายถึงโอกาสของชีวิตผ่านการศึกษาเรียนรู้ สำหรับผู้คิดค้นอักษรเบรลล์นั้นจากไปด้วยวัยเพียง 43 ปี เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1852 ทิ้งผลงานที่เป็นคุณูปการแก่คนตาบอดทั้งโลกถึงปัจจุบัน

               สำหรับในเมืองไทย อักษรเบรลล์ภาษาไทยได้พัฒนาเพิ่มเติมมาจากอักษรเบรลล์ของหลุยส์ เบรลล์ โดยสองเรี่ยวแรงสำคัญได้แก่ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว และมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ก่อนนำมาสอนในโรงเรียนสอนคนตาบอด เรียกว่าอักษรเบรลล์มีการแก้ไขครั้งใด อักษรเบรลล์ภาษาไทยก็แก้ไขตามไปด้วย

              ปัจจุบัน ทั้งอักษรเบรลล์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ถูกนำมาใช้สอนในโรงเรียนสอนคนตาบอด เป็นทั้งความสะดวกและหลากหลาย ให้เหล่าคนตาบอดเข้าถึงตำราได้มากขึ้น สื่อสารกันได้กว้างไกล แถมในบางวิชาคนตาบอดสามารถเรียนร่วมชั้นกับคนตาปกติได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย

              มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevieve Caulfield) สตรีตาบอดชาวอเมริกัน คือบุคคลสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาอักษรเบรลล์ภาษาไทย ริเริ่มโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในเมืองไทยขึ้น ที่บ้านเช่าหลังเล็ก ถนนคอชเช่ ศาลาแดง เพราะตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีองค์กรใดให้ความช่วยเหลือ

 

ภาพที่ 2 มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์

แหล่งที่มาภาพ: https://www.5000smag.com/stories/2021/8/4/genevieve-caulfield-1888-1972

 

 

               ต่อมาได้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยขึ้น และมีผู้ให้การสนับสนุนจัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิช่วยให้การศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 นับเป็นมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย

               อักษรเบรลล์ นอกจากใช้สำหรับการเรียนการสอนผ่านหนังสือ และตำราแล้ว ยังเคยปรากฏอักษรเบรลล์บนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ขนาดเพียง 45 x 27 มิลลิเมตรเท่านั้น นั่นคือ แสตมป์ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์พิเศษ และในประวัติการไปรษณีย์ไทย จัดสร้างขึ้นเพียง 2 ดวงเท่านั้น

 

ภาพที่ 3 แสตมป์ชุดการศึกษาเพื่อคนตาบอดไทย

แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/175

 

 

                “แสตมป์ชุดการศึกษาเพื่อคนตาบอดไทย” ภาพนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอด และภาพของมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ พร้อมบรรจุอักษรเบรลล์ด้วยการปั๊มดุนนูน พิมพ์ด้วยหมึกพิเศษที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพื่อให้คนตาบอดสามารถอ่านได้จริง ข้อความอักษรเบรลล์แต่ละดวง จะเป็นข้อความที่ไม่ซ้ำกัน รวม 20 คำ โดยกำหนดถ้อยคำว่า “คน ตาบอด เราทำ ได้ มาก กว่า ใคร คิด คน ตาบอด เชิญ ชวน ทุกคน เลิก กลัว ความ มืด เพื่อลด โลก ร้อน” สำหรับคนตาปกติสามารถอ่านได้ภายใต้หลอดไฟที่ให้แสงเหนือม่วง (black light) วันแรกจำหน่าย 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

                 “แสตมป์ชุดที่ระลึก 80 ปี มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย” สำหรับแคมเปญ “MORE THAN EYES CAN SEE 80 ปี มากกว่าที่เห็น” คือพันธกิจที่มูลนิธิฯ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างอาชีพ นักออกแบบแสตมป์จึงถ่ายทอดผ่านความสดใสในโทนสว่าง ทั้งฉากหลังรูปดอกไม้ และภาพผู้บกพร่องทางการเห็นยิ้มเปี่ยมหวังขณะถักนิตติ้ง สำหรับอักษรเบรลล์กลางภาพถอดความได้ว่า “80 ปี” วันแรกจำหน่าย 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

 

ภาพที่ 4 แสตมป์ชุดที่ระลึก 80 ปี มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย

แหล่งที่มาภาพ: ไปรษณีย์ไทย

 

                อักษรเบรลล์ จึงเป็นดั่งสิ่งนำทางและแสงสว่างแห่งชีวิต ให้บรรดาคนตาบอดได้ศึกษาหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อนำความรู้นั้นไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนต่อยอดเป็นอาชีพอย่างพึ่งพาตัวเองได้ เป็นอีกกำลังในการร่วมพัฒนาชาติ

 

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 3 และ เล่ม 4

นิตยสารแสตมป์และสิ่งสะสม ฉบับ เม.ย. 2562

www.blind.or.th/centre/

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ