Museum Core
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชกับการค้นหาความจริงบนเรือนร่างของศพ
Museum Core
20 ธ.ค. 65 4K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : นพนิตย์ แคเขียว นักศึกษาฝึกงาน ปี 2565

               ตลอดช่วงชีวิตวัยเด็กของผู้เขียนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูโทรทัศน์จนกลายเป็นเด็กที่มีนิสัยชอบดูละครเป็นชีวิตจิตใจ ตอนแรกก็เริ่มจากละครไทยทั่วไป พอขึ้นชั้นมัธยมปลายจึงเริ่มเข้าสู่วงการซีรีส์เกาหลี และมีความสนใจซีรีส์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์ และเรื่องที่ตราตรึงในใจที่สุดของผู้เขียน คือ เรื่อง “Partners for justice” ซีรีส์ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของกระบวนการทางนิติเวช อันสะท้อนผ่านการทำงานร่วมมือกันระหว่างอัยการและแพทย์ชันสูตรศพ เพื่อค้นหาความจริงภายใต้การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในคดีต่าง ๆ โดยพยายามนำเสนอความเชื่อที่ว่ามนุษย์โดยพื้นฐานแล้วอาจโกหกหรือสร้างความจริงที่เป็นเท็จขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปคดีได้ แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่บนร่างกายของศพไม่สามารถโกหกได้ ดั่งคำกล่าวที่ว่า “แม้คนตายพูดไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสืบหาความจริงจากคนตายไม่ได้ เพราะทุก ๆ การสัมผัสมักทิ้งร่องรอยไว้เสมอ”

               จากความสนใจเรื่องนิติเวชจึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนไปเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ภายใต้รั้วโรงพยาบาลศิริราชที่หลายคนคุ้นเคย นอกเหนือจากการเป็นจุดกำเนิดสถานพยาบาลเก่าแก่ที่สำคัญของวงการแพทย์ไทยที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าร้อยปี (ครบ 134 ปี ในปี พ.ศ.2565) ก็ยังมีการบริการให้ความรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ โดยมีจุดประสงค์แรกคือ การเก็บและจัดแสดงสิ่งของที่มีในแต่ละภาควิชาเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ ต่อมาจึงได้เริ่มเผยแพร่องค์ความรู้ทางการแพทย์ให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจทางการแพทย์สมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง เดิมทีมีจำนวนพิพิธภัณฑ์ถึง 13 แห่ง แต่ปรับลดจำนวนลงเหลือเพียง 6 แห่งในปัจจุบัน โดยแต่ละแห่งมีเนื้อหาสาระและความน่าสนใจแตกต่างกันไป ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส พิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทยอวย เกตุสิงห์ พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์และห้องปฏิบัติการสุด แสงวิเชียรและพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน

 

ภาพที่ 1 ด้านหน้าทางเข้าตึกอดุลยเดชวิกรม ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน

 

               พิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น “พิพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน” เพียงแค่อ่านชื่อผู้เขียนก็สามารถจินตนาการถึงกระบวนการทางนิติเวชตามภาพจำที่เคยดูจากซีรีส์ เช่น ขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ไม่สามารถระบุพฤติกรรมที่ตายของตัวละครได้ในทันที จึงเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เขียนอยากเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น

               อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อาจฉีกจากกรอบของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่มักเผยให้เห็นเฉพาะด้านที่รื่นรมย์สวยงามน่าชม ด้วยการเผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องสวยงามเสมอไป เลือกที่จะนำเสนอสัจจะธรรมและความจริงของผู้คน พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2509 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ สงกรานต์ นิยมเสน ผู้เล็งเห็นความสำคัญของงานด้านนิติเวชศาสตร์และวางรากฐานองค์ความรู้ทางนิติเวชศาสตร์ให้กับโรงพยาบาลศิริราช ในห้วงเวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอย่างกรณีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งอาจารย์สงกรานต์ก็เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการชันสูตรพระบรมศพ ทั้งนี้ เพื่อการสืบหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ท่านได้เสนอให้ทำการทดลองยิงศพเพื่อหาวิถีกระสุน นับเป็นการนำการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาใช้พิจารณาควบคู่กับการปฏิบัติงานทางนิติเวชศาสตร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนี้วัตถุพยานอันเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจพระบรมศพรวมถึงกะโหลกศีรษะที่ได้ทำการทดลองยิงก็ได้นำมาเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์

 

ภาพที่ 2 ตัวอย่างกะโหลกที่แสดงรอยบาดแผลจากอาวุธปืน

 

               ด้วยบรรยากาศรอบบริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นตึกเก่าสีขาวทึบ มีแค่เพียงแสงไฟจากหลอดไฟนีออนที่ไม่ค่อยสว่างมากนัก บวกกับความเย็นยะเยือกจากเครื่องปรับอากาศที่ปล่อยลมเย็น ๆ มากระทบกับผิวหนัง ช่วยกระตุ้นเตือนผัสสะการรับรู้ให้ตื่นตัวขึ้นอาจเป็นปัจจัยสร้างบรรยากาศให้ห้องนิทรรศการดูหลอน หดหู่และสะเทือนอารมณ์ในเวลาเดียวกัน จนทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นตำนานที่กล่าวขานโจษจันถึงความน่ากลัวจนบางคนเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์แห่งความตาย”  เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมหลักฐานจากคดีฆาตกรรมดังในความทรงจำของคนไทย

               หลังจากซื้อบัตรเข้าชมแล้ว พิพิธภัณฑ์จะปล่อยให้ผู้เข้าชมเดินชมด้วยตัวเองตามอัธยาศัย ไม่มีบริการไกด์นำชมแต่อย่างไร เมื่อเดินเข้ามายังพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการผู้เขียนก็สะดุดตากับกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ได้รับความเสียหายจากอาวุธในเหตุอาชญากรรม ชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์อย่างกะโหลกศีรษะมนุษย์ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่าง ๆ เหนือขึ้นไปด้านบนมีภาพสถานที่เกิดเหตุที่เสียชีวิตของเจ้าของอวัยวะชิ้นนั้นแสดงไว้ด้วย ซึ่งเป็นการจัดแสดงที่สะเทือนอารมณ์และจิตใจอยู่พอสมควร หากแต่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีการติดป้ายแจ้งคำเตือน Trigger  Warning หรือการทำภาพให้เบลอไว้แต่อย่างใด จึงไม่ค่อยเหมาะสมนักหากผู้ชมมีจิตใจอ่อนไหวและเดินชมคนเดียวลำพัง แม้แต่ผู้เขียนที่เดินชมนิทรรศการร่วมกับกลุ่มเพื่อน เมื่อเห็นชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ของจริงก็ยังรู้สึกหนักอึ้งในใจจนเริ่มรับรู้ได้ถึงลมหายใจที่ช้าลง และค้นพบว่าความน่ากลัวที่เห็นในฉากละครเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับประสบการณ์จริงที่เห็นด้วยตาตัวเอง

               เมื่อเดินลึกเข้าไปโซนด้านในทางซ้ายมือก็พบกับตู้กระจกรูปทรงสี่เหลี่ยมยาวขนานไปกับผนังห้อง ภายในจัดแสดงวัตถุพยานในคดีต่าง ๆ มีด้วยกันหลายขนาดหลายประเภทจากทั้งคดีฆาตกรรม อุบัติเหตุ หรือแม้การฆ่าตัวตาย  ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เชือก มีด สายไฟพลาสติก โซ่ รวมถึงลูกกระสุนปืนเปื้อนเลือดที่แพทย์นำออกมาจากศพของผู้เสียชีวิต ตัวอย่างเช่น “คดีนวลฉวี” พยาบาลสาวที่ถูกฆาตกรรมจากคนรัก เรื่องราวของเธอกลายเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่ยากจะลืมเลือนจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในการสืบหาความจริงเบื้องหลังการเสียชีวิตของเหยื่อในเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่สืบสวนได้ทำงานร่วมกับแพทย์นิติเวชเพราะต้องอาศัยความรู้ด้านนิติเวชศาสตร์ในการสืบหาพยานหลักฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางกฎหมาย โดยแพทย์นิติเวชจะทำการผ่าศพชันสูตร รวมถึงหาร่องรอยที่อาจหลงเหลืออยู่บนร่างกายของศพที่สามารถระบุพฤติการณ์ที่ตายของผู้เสียชีวิตได้ (เช่นเดียวกับกรณีที่มีบุคคลถึงแก่ความตายโดยไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต หรือกรณีที่มีข้อสงสัยถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ) ทำให้เห็นว่างานด้านนิติเวชศาสตร์มีความสำคัญ และความสัมพันธ์ของกระบวนการสอบสวนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างการแพทย์และกระบวนการยุติธรรม 

 

ภาพที่ 3 ตู้จัดแสดงเสื้อผ้าในคืนวันเกิดเหตุของคดีนวลฉวี

 

                กรณีเหตุฆาตกรรมคุณนวลฉวี วัตถุที่สำคัญคือเสื้อผ้าในคืนวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นหลักฐานวัตถุพยาน ที่พบและเป็นเครื่องหมายยืนยันว่านิติเวชศาสตร์เป็นสายงานที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน และต้องใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญต่อคดีได้

                นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เคยจัดแสดงศพดองร่างกายของ“นายซีอุย แซ่อึ้ง” ผู้ที่ถูกประหารชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2502 ด้วยข้อหาเป็นฆาตกรฆ่าและกินตับเด็ก ในสมัยนั้นเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ทำให้เกิดคำพูดหลอกเด็กที่มีนิสัยซุกซนว่าให้ระวัง “ซีอุยมากินตับ” จนกระทั่งในปี พ.ศ.2563 เกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์นำร่างของนายซีอุยออกจากการจัดแสดง เนื่องจากสมัยต่อมามีประจักษ์หลักฐานเห็นชอบว่านายซีอุยไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงที่ฆ่าเด็กทั้งหมดและการประหารชีวิตนายซีอุยเป็นการจับแพะ เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

               ตลอดการเดินชมนิทรรศการผู้เขียนเกิดความรู้สึกอึดอัดและหน่วงในใจ การได้เห็นวัตถุพยานอันเป็นเหตุแห่งความตายหรือแม้แต่ชิ้นส่วนอวัยวะของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าดูเท่าไรนัก หากแต่การรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับทำให้ผู้เขียนหันมาหวงแหนลมหายใจและรักชีวิตของตัวเองมากขึ้น การเฝ้ามองวัตถุพยานไปเรื่อย ๆ เสมือนสิ่งที่มากระตุ้นจิตสำนึก ภายในจิตใจจนเกิดความรู้สึกว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์ล้วนไม่แน่นอน แม้ว่าการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อาจน่ากลัว แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนใจแก่ผู้ชมให้ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่ตายของมนุษย์และกระตุ้นจิตสำนึกให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อได้เป็นอย่างดี

               หลังจากชมพิพิธภัณฑ์เสร็จผู้เขียนและเพื่อนก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เนื่องจากฝนตก ทำให้ผู้เขียนได้มีเวลานั่งคิดทบทวนในสิ่งที่เจอภายในพิพิธภัณฑ์จนเกิดเป็นความรู้สึกที่หดหู่ตีขึ้นมาภายในจิต หวนคิดว่าตลอดช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา สิ่งที่หวงแหนและมีค่าที่สุดคงหนีไม่พ้นลมหายใจ เพราะการมีลมหายใจอยู่นั้นเป็นเครื่องหมายที่ยืนยันได้ว่ามนุษย์คนนั้นยังคงมีชีวิตอยู่อย่างน้อยก็ในทางการแพทย์ และทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่าถึงแม้การมีชีวิตอยู่และความตายนี้จะเป็นสองสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกันก็เป็นสองสิ่งที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ เพราะความเป็นและความตายเสมือนกับสองหน้าของกระดาษใบเดียวกัน การที่เรายังมีชีวิตอยู่ก็หมายความว่าความตายยังไม่ได้รุกล้ำเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ความตายก็ไม่ได้หนีห่างจากเราไปมากนักยังคงติดตามเราคล้ายกับเงาตามตัว สองสิ่งนี้ที่ดูเหมือนมีความขัดแย้งกันภายในตัวเองแต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ดำเนินควบคู่กันได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ