Museum Core
บำบัด กับ พระตะบอง: คำยืมที่มาไกลแต่รู้ไหมว่าใกล้กัน
Museum Core
21 ธ.ค. 65 2K

ผู้เขียน : กฤตกร สารกิจ

           

              การยืมคำเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาที่น่าสนใจปรากฏการณ์หนึ่ง ภาษาแต่ละภาษาต่างก็ยืมคำเข้ามาใช้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน คำยืมเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ระหว่างภาษาผู้ให้และภาษาผู้รับ อย่างไรก็ดี เมื่อภาษาผู้รับยืมคำมาจากภาษาผู้ให้แล้ว ภาษาผู้รับอาจปรับเปลี่ยนเสียงหรือรูปคำเสียใหม่ให้เข้ากับภาษาของตน คำที่ยืมเข้ามาจึงมีหน้าตาต่างออกไปเดิม เมื่อใช้ไปนานวันเข้า หน้าตาของคำยืมก็ละม้ายคล้ายกับคำอื่น ๆ ที่มีอยู่ในภาษานั้น ๆ จนผู้ใช้ภาษาอาจจะหลงลืมไปแล้วว่าเรารับคำเหล่านี้เข้ามาใช้ ไม่ใช่คำที่เรามีอยู่เดิม

               คำว่า “บำบัด” เป็นคำยืมภาษาเขมรที่ภาษาไทยรับเข้ามาใช้นานแล้ว คำนี้ตรงกับคำในภาษาเขมรปัจจุบันคือคำว่า “បំបាត់ (บํบาต่ - บ็อมบัด)” คำดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยการนำคำฐาน “បាត់ (บาต่ – บัด)”
ซึ่งเป็นคำกริยาแปลว่า “หาย” มาแผลงคำด้วยการเติมหน่วยคำเติมหน้า (prefix) เป็น “បំបាត់ (บํบาต่ - บ็อมบัด)” จึงมีความหมายว่า “ทำให้หาย” อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ ภาษาไทยยืมเข้ามาเฉพาะคำที่แผลงแล้วคือ “บำบัด” เท่านั้น ไม่ได้ยืมคำฐาน “บัด” มาด้วย เมื่อยืมมาแล้วก็ยังคงเก็บความหมายในภาษาต้นทางเอาไว้ ไม่ได้เปลี่ยนความหมายไป

               แล้วคำว่า “บำบัด” เกี่ยวข้องกับ “จังหวัดพระตะบอง” ได้อย่างไร ดูจากรูปร่างหน้าตาของคำแล้วยังไม่เห็นเลยว่าจะมาสัมพันธ์กันได้อย่างไร?

               หากพิจารณารูปคำอย่างเดียวคงตอบได้ยากว่าคำทั้งสองสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าหากให้คำใบ้เพิ่มว่า “พระตะบอง” เป็นการลากเข้าความ (false etymology) ของชื่อบ้านเมืองในภาษาไทย คำใบ้นี้อาจจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นร่องรอยบางอย่างชัดเจนขึ้นก็เป็นได้

 

 

                 “พระตะบอง” เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในกัมพูชา ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกโดยคนไทย พื้นที่แห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่สัมพันธ์กับไทยมาอย่างยาวนาน ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไทยได้ปรับปรุงการปกครองและเข้าไปดูแลดินแดนของเขมร ครอบคลุมพื้นที่ของเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ดินแดนนี้จึงได้รับการขนานนามว่า มณฑลเขมร และเปลี่ยนเป็น มณฑลบูรพา ในเวลาต่อมา ก่อนจะยกมณฑลนี้ให้แก่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1907 (อาณัติ อนันตภาค, 2558) แม้ว่าพระตะบองจะอยู่ในความรับรู้ของคนไทยมานาน แต่ถ้าหากออกเสียงเช่นนี้ให้คนกัมพูชาฟัง คนกัมพูชาก็อาจจะงงอยู่หน่อย ๆ ว่ามีพระมาเกี่ยวข้องได้อย่างไร เพราะชื่อจริง ๆ ของจังหวัดนี้คือ “បាត់ដំបង (บาต่ฎํบง - บัตฎ็อมบอง)” ที่แปลว่า ตะบองหาย อันเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านซึ่งบอกเล่าความเป็นมาของจังหวัดนี้

 

 

               จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนไทยไม่ได้ยืมคำฐาน “បាត់ (บาต่ – บัด)” เข้ามาด้วยนั้น หากออกเสียงตามภาษาต้นทางก็คงจะทำให้ผู้ฟังเดาคำศัพท์ได้ยาก จึงได้มีการปรับเสียงจาก “บัด” เป็น “พระ” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในภาษาไทย จากจังหวัดบัดตะบองก็กลายมาเป็นจังหวัดพระตะบอง เพื่อให้คนไทยออกเสียงได้ง่ายขึ้นและคุ้นเคยกับรูปศัพท์มากขึ้นนั่นเอง

                กระบวนการปรับเปลี่ยนเสียงที่เกิดขึ้นนี้ ในทางนิรุกติศาสตร์ (etymology) หรือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับศัพท์สันนิษฐานเรียกว่า การลากเข้าความ (false etymology) เป็นปรากฏการณ์หนึ่งทางภาษาที่สัมพันธ์กับศาสตร์ในการศึกษาคำยืม (loan word) คำยืมภาษาต่างประเทศในภาษาไทยจำนวนหนึ่งมีการลากเข้าความแบบนี้เช่นกัน พระยาอนุมานราชธน (2522) ได้ยกตัวอย่างคำในลักษณะนี้ เช่น คำว่า “ประตูกัน” คำนี้เป็นการลากเข้าความมาจากคำว่า “Protugal” เป็นการปรับเสียงให้เข้ากับคำที่มีอยู่แล้วในภาษาไทยเช่นเดียวกับคำว่า “พระตะบอง” นั่นเอง

                ดังนั้น จากคำว่า “บำบัด” ซึ่งแปลว่า “ทำให้หาย” จึงสัมพันธ์กับชื่อ “จังหวัดพระตะบอง” ที่แปลว่า “ตะบองหาย” แม้จะลากเข้าความออกไปเสียไกล แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องกลับมาได้ ก็ทำให้เห็นความสนุกของการเปลี่ยนแปลงทางภาษาไม่น้อยเลยทีเดียว

                นอกจากคำว่า “บัด” ใน “บำบัด” ที่คนไทยรับเข้ามาแล้ว คำว่า “บัด” ยังไปปรากฏอยู่ในคำไทยอีกหลายคำ เช่น “บัดสีบัดเถลิง” และ “บัดซบ” รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ (2562) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า คำว่า “บัดสีบัดเถลิง” ในที่นี้ สันนิษฐานว่าหมายถึง การที่ “สี” หรือ “ศรี” อันแปลว่า “มิ่ง สิริมงคล และความรุ่งเรือง” รวมถึง “เถลิง” หรือ “การขึ้น” ไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น “หาย” ไป ขณะที่คำว่า “บัดซบ” นั้น หมายถึง การที่ “ซบ” หรือ “สรรพ” (ภาษาบาลี คือ สพฺพ) แปลว่า ทุกสิ่ง ทั้งปวง ทั้งหมด
ได้หายไปเสียสิ้นหมดแล้ว

               “บัด” นี้ ท่านผู้อ่านคงได้รับความรู้เกี่ยวกับคำยืมภาษาเขมรที่นำมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ของภาษาไทยกลับไปไม่มากก็น้อย ยังมีคำอีกจำนวนมากที่รอคอยให้ทุกท่านเข้าไปศึกษาศัพท์สันนิษฐานเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับที่มาและหลักฐานการใช้ หวังใจว่าจะได้นำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกท่านอีกครั้งในโอกาสต่อ ๆ ไป

 

เอกสารอ้างอิง

ศานติ ภักดีคำ. (2562). แลหลังคำเขมร-ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.

อนุมานราชธน, พระยา. (2522). นิรุกติศาสตร์. กรุงเทพฯ: อักษรสัมพันธ์.

อาณัติ อนันตภาค. (2558). ประวัติศาสตร์กัมพูชา : จากอาณาจักรโบราณ สู่แผ่นดินแห่งน้ำตา. กรุงเทพฯ:       ยิปซี กรุ๊ป.

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ