การเลี้ยงผีมีความหมายกับวิถีชีวิตของคนในสังคมล้านนา
คำว่า “เลี้ยง” เป็นคำกริยา หมายถึง ดูแล เอาใจใส่ บำรุง... (ราชบัณฑิตยสถาน, 2554, หน้า 1082) จากกริยาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่เราต้องดูแลเอาใจใส่ “ใครหรือสิ่งใด” อาจแสดงให้เห็นว่า “ใครหรือสิ่งใด” ที่กำลังพูดถึงมีความหมายกับเรา ปกติแล้วคำว่า “เลี้ยง” มักใช้กับคน ซึ่งการเลี้ยงมักเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน ทว่าเมื่อนำมาใช้กับ “ผี” ย่อมสื่อให้เห็นคติของคนล้านนาบางประการที่ชวนให้เราขบคิดได้ว่า ผีในการรับรู้ของคนล้านนาอาจเป็นเช่นเดียวกับคนที่มีตัวตน มีอารมณ์ มีความรู้สึกก็เป็นได้
ภาพที่ 1 อาหารคาวหวานในสำรับเลี้ยงผี
คนล้านนาจำแนกประเภทผีแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ แต่ถ้าให้ขมวดปมและอธิบายให้จบในคราเดียว เห็นจะมีแต่เพียง “เจ้าที่และผีปู่ย่า” เท่านั้นที่คนล้านนาให้ความเคารพนับถือ เนื่องจากเป็นผีดี คุยด้วย ต่อรองได้ผ่านพิธีกรรม ผีดีเหล่านี้มักได้รับการเลี้ยงดูและประกอบพิธีกรรมเพื่อบูชา ทว่าผีอีกจำพวกหนึ่งนั้น ไม่อาจพูดคุย ต่อรองได้ เนื่องด้วยมีประสงค์ร้ายต่อผู้คน ไม่ทันพูดคุย ต่อรอง ก็เจ็บไข้ ประสบเหตุเภทภัยไปแล้วเรียบร้อย ผีทำนองนี้นับเป็นผีร้าย สุดวิสัยบางครั้งก็เลี่ยงไม่พ้น จึงต้องอาศัยอำนาจของผีดีช่วยเหลือ หรือไม่ก็ต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อให้เหล่าผีร้ายพอใจ คนล้านนาพยายามจะหลีกลี้หนีไกลผีร้ายให้มากเท่าที่จะทำได้
ภาพที่ 2 สำรับอาหารพร้อมเครื่องประกอบพิธีเลี้ยงผี
ในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีไม่ว่าจะเป็นผีดีหรือผีร้าย อาหารถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ อันที่จริงอาหารที่จัดเป็นสำรับเลี้ยงผีนั้นเป็นพันธะสัญญาระหว่างคนกับคน และคนกับผี โดยกำหนดการประกอบพิธีกรรมเอง มีกรรมมีวาระระบุชัดเจนว่า ทำช่วงเวลาใดของแต่ละปี เช่น การเลี้ยงผีประจำตระกูล มักจะกำหนดเป็นช่วงปีใหม่ (สงกรานต์) หรือ เดือนเก้าเหนือ (ประมาณเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน) เป็นต้น เป้าหมายของการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี เป็นไปเพื่อบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในการผลิต และรักษาอาการเจ็บป่วยภายในตระกูล ส่วนหมุดหมายจากการประกอบพิธีกรรมเป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้สึกสบายใจ จากการผ่อนคลายเมื่อได้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ การเลี้ยงผีจึงเป็นหลักประกันในชีวิตที่ตอกย้ำให้รู้สึกร่วมกันว่าครอบครัว ชุมชน ยังมีที่พึ่งพิงทางใจ อันก่อให้เกิดความร่วมมือกันของผู้คน ดังจะเห็นได้ว่า การเลี้ยงผีเป็นงานใหญ่เป็นกิจกรรมที่ดึงคนในครอบครัวชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ของตนเอง บ้างก็ไปหาวัตถุดิบ บ้างก็เตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม สร้างปะรำพิธี เป็นต้น นอกจากเรื่องความรู้สึกสบายใจแล้ว การเลี้ยงผียังเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงค่านิยมเรื่องความกตัญญู สำนึกรู้ถึงบุญคุณที่เราเคยได้รับความช่วยเหลือผีอยู่ตลอดทุกปี ผีนั้นจะไม่อิ่มได้จากอาหาร แต่อาจอิ่มเต็มได้จากการที่ผู้คนยังจดจำ รักษาสัญญา และปฏิบัติบูชาอยู่เป็นกิจวัตร คนและผีจึงต่างสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นอาหารจึงเป็นพันธะ ซึ่งผู้คนต้องจัดหามาให้
ภาพที่ 3 สำรับอาหารเลี้ยงผีปู่ย่าบนเรือน
อาหารในสำรับเลี้ยงผีแม้จะแตกต่างกันไปบ้างตามจารีต แต่ถึงกระนั้นสำรับอาหารเลี้ยงผีมักจะประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ โดยนำมาปรุงเป็น “ลาบ ส้า อ่อม ปิ้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่มีกรรมวิธีการปรุงแบบฉบับคนล้านนา ข้าวก็จะนำมาทำเป็นขนม เป็นเหล้าขาว ผลไม้จะมีกล้วย กับ มะพร้าว เป็นต้น บางท้องถิ่นก็จะนำหมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสำรับอาหารเลี้ยงผีด้วย ทั้งนี้ปริมาณอาหารจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนที่มาร่วมประกอบพิธีกรรม หากสภาพเศรษฐกิจช่วงปีนั้นไม่สู้ดีนัก สำรับอาหารอาจจะมีการลดปริมาณ หรือ เปลี่ยนแปลงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ การขอเปลี่ยนแปลงสำรับอาหาร มักต้องผ่านการต่อรองกันระหว่างคนกับผี ส่วนใหญ่หากเป็นผีปู่ย่า มักสื่อสารกันผ่านผู้อาวุโสของตระกูล ส่วนในกรณีของเจ้าที่ มักจะสื่อสารผ่านร่างทรง บางกลุ่มจะตัดอาหารบางประเภทออกไป เช่น กรณีผีมดผีเม็งเมืองลำปาง ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนสำรับอาหารไปมากแล้ว บางตระกูลจากที่เคยเลี้ยงด้วยควาย 1 ตัว ก็ลดมาเป็นหมู 1 ตัว บางตระกูลขอเลี้ยงเพียงหัวหมู เท้าทั้ง 4 ข้าง และ หาง (น่าจะสัญลักษณ์แทนหมูทั้งตัว) บางตระกูลขอเปลี่ยนจากหมูเป็นไก่ โดยยึดตามจำนวนผีในตระกูลเป็นหลัก อาจต้องใช้ไก่ 6 ตัว 12 ตัว หรือ 36 ตัวขึ้นอยู่กับจำนวนผีประจำตระกูล ตระกูลใหญ่มากก็มีผีเยอะ สำหรับบางตระกูลจะใช้เป็นปลาแห้ง กรณีเรียบง่ายที่สุด คือ ใช้เพียงปลาร้าใส่กระบอกไม้ไผ่
ภาพที่ 4 ผีปู่ย่าเข้าทรงรับเครื่องสังเวย
อาหารสำหรับเลี้ยงผีนั้น จริง ๆ แล้วมีไว้เลี้ยงคน เพราะท้ายที่สุดแล้วอาหารเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาแจกจ่าย แบ่งปันให้ผู้คนที่มาร่วมงานเลี้ยงผี ดังคำกล่าวที่ว่า “กินขี้ซากผี อยู่ดีมีสุข” นัยยะของถ้อยคำสื่อถึง การบริโภคที่นำมาซึ่งสุขภาวะทางกายและใจที่ดี โดย “ใจดี” ได้จากการความสัมพันธ์ ส่วน “กายดี”ได้จากการปฏิสัมพันธ์ การเลี้ยงผีจึงเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ของกลุ่ม และสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์จากกิจกรรมการมีส่วนร่วม ใครทำอะไรผ่านมาในรอบปีก็มาเล่าสู่กันฟัง ลูกหลานเกิดใหม่ มีใครมาอาศัยในชุมชนเพิ่มก็แจ้งกันบอกกล่าว ใครทำผิดต่อใครก็อาศัยโอกาสนี้ขอขมา ทุกรายละเอียดผู้คนต่างก็ต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้พิธีกรรมเรียบร้อย ในพิธีกรรมเราจะพบเจอได้ทั้งคนมั่งมีมากล้น และคนที่ขาดแคลนเข็ญใจในชุมชน ทั้งหมดนี้ล้วนมีผีเป็นพยานอยู่เบื้องหลัง เมื่อถึงตอนสุดท้ายของการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในฐานะคนนับถือผีเดียวกันทุกคนต่างก็จะได้ร่วมเฉลิมฉลอง กินเลี้ยง และแบ่งปันความทรงจำระหว่างกัน ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่ความช่วยเหลืออื่น ๆ ในชีวิตอีกด้วย
ภาพที่ 5 ลูกหลานร่วมจุดเทียนสังเวยผีปู่ย่า
ตราบเท่าที่ยังประกอบพิธีกรรม ผีก็ยังคงมีตัวตนอยู่ในเรื่องเล่าและพิธีกรรมของผู้คนสืบต่อไป
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวล้านนา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย
ภาคเหนือ . กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
มณี พยอมยงค์. (2547). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม).
เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์
มาลา คำจันทร์. (2544). เล่าเรื่องผีล้านนา.กรุงเทพฯ : มติชน
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2555). เจ้าที่และผีปู่ย่า พลวัตความรู้ของชาวบ้าน อำนาจและตัวตนของคน
ท้องถิ่น. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่