Museum Core
โทรโกซี: เทวทาสีแห่งกาฬทวีป
Museum Core
21 ธ.ค. 65 966

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               ในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี หลายประเทศมีการเฉลิมฉลองและทำกิจกรรมเนื่องในวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) วันสำคัญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงการประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลกในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ปฏิญญาฯ ดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมถึงศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความเสมอภาคของแต่ละบุคคล รวมถึงสิทธิในการมีชีวิต การห้ามไม่ให้ครอบครองทาส และการห้ามทรมานทุกรูปแบบ กฎหมายจารีตในครั้งนั้นได้รับการยอมรับและปฏิบัติอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ในโลกยังคงเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหลายประการลุกลามจนยากจะแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในชุมชน กลายมาเป็นข้อถกเถียงไร้ที่สิ้นสุดว่าหากยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเห็นแก่ปัจเจกชนเมื่อใด ประเพณีโบราณจะสูญหายไปด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนั้นในวันนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับ “โทรโกซี (Trokosi)” ประเพณีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างนักสิทธิมนุษยชนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในแอฟริกาตะวันตกมานานกว่า 3 ทศวรรษ โทรโกซีคืออะไร และเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างไรนั้น เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

ภาพที่ 1: แผนที่แสดงตำแหน่งภูมิภาคโวลตาในกานา

แหล่งที่มาภาพ: Community Development Volta. Volta Region. (n.d.). [Online]. Accessed 2022 Apr 22. Available from: https://cdv-verein.de/volta-region/

 

 

              โทรโกซีเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในชุมชนเอเว (Ewe) และอะดา (Ada) ที่อาศัยในภูมิภาคโวลตา (Volta Region) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกานา และบางส่วนของประเทศโตโก เบนิน และไนจีเรีย คำว่า โทรโกซี เป็นคำในภาษาเอเวที่มีความหมายว่า หญิงพรหมจารีที่รับใช้เทพเจ้า ซึ่งใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า “เทวทาสี (Devadasi)” สาวกหญิงที่มีหน้าที่ร่ายรำถวายเทพเจ้าในเทวสถานศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ทว่าในขณะที่เทวทาสีได้รับการยกย่องอย่างสูงในชมพูทวีป โทรโกซีแห่งกาฬทวีปกลับมีสถานะไม่ต่างกับทาส เด็กหญิงที่เข้ามาเป็นโทรโกซีในศาสนสถานจะต้องอยู่ในวัยก่อนมีประจำเดือนและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชายใด ส่วนใหญ่มักมีอายุราว 10 ปี พ่อแม่จะถวายเด็กหญิงให้นักบวชในชุมชนเมื่อสมาชิกในครอบครัวกระทำเรื่องผิดบาปร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการผิดลูกผิดเมีย การลักขโมย หรือการทำร้ายร่างกายผู้อื่น บางครั้งบุพการีอาจถูกกดดันจากชาวบ้านให้ถวายบุตรสาวเมื่อมีเหตุร้ายแรงอย่างทุพภิกภัย โรคระบาด หรือสงครามเกิดขึ้น ชาวเอเวเชื่อว่าเรื่องเลวร้ายทั้งหลายเกิดขึ้นจากโทสะของเทพเจ้า หากถวายเครื่องสักการะให้เทพเจ้าพอใจ ภัยพิบัติทั้งหมดจะจบลง ดังนั้นการถวายเด็กหญิงเข้าเป็นคนของพระเจ้าจึงดำเนินต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

 

ภาพที่ 2: เด็กหญิงโทรโกซี

แหล่งที่มาภาพ: Read stuff with me. TROKOSI: THE CUSTOM OF RITUAL SERVITUDE!. (2013). [Online]. Accessed 2022 Apr 22. Available from: https://readstuffwithme.wordpress.com/2013/03/07/trokosi-the-custom-of-ritual-servitude/

 

 

               ย้อนกลับไปก่อนการเข้ามาของคริสต์ศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวเอเวนับถือเทพเจ้าและจิตวิญญาณธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโวดุน (Vodun) หลักความเชื่อดั้งเดิมในแอฟริกาตะวันตก ชาวเอเวเชื่อว่าหากต้องการหยุดยั้งภัยพิบัติหรือได้รับความสำเร็จในชีวิต พวกเขาจะต้องถวายเครื่องสักการะให้เทพเจ้าพอใจ ทว่าคนธรรมดาไม่อาจติดต่อเทพโดยตรงได้ มีเพียงนักบวชที่สามารถเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับองค์เทพ นักบวชโวดุนจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชุมชน คนเหล่านี้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้านทุกแห่ง หากเกิดปัญหาใหญ่หรือโรคภัยไข้เจ็บ ชาวบ้านจะไปหานักบวชเพื่อหาหนทางแก้ไข หลายครั้งที่นักบวชเอ่ยปากขอเครื่องบูชาตามความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ปศุสัตว์ หรือเงินทอง สำหรับชาวเอเว คำพูดที่ออกจากปากนักบวชมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างกับพระประสงค์ของเทพเจ้า ดังนั้นไม่ว่านักบวชจะขอสิ่งใด ชาวบ้านก็จะนำมาให้ไม่เคยขาด ด้วยเหตุนี้เมื่อนักบวชต้องการข้ารับใช้เพื่อแบ่งเบาภาระ พวกเขาจะเอ่ยปากขอโทรโกซี หรือเด็กหญิงพรหมจารีจากแต่ละครอบครัวเพื่อมาปรนนิบัติ

               ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด ในปีค.ศ. 1879 อัลเฟรด เบอร์ดัน เอลลิส (Alfred Burdon Ellis) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวอังกฤษได้มีโอกาสไปเยือนอาณาจักรดาโฮมี (Dahomey Kingdom) ที่รุ่งเรืองในเบนินตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เอลลิสเข้าเฝ้ากษัตริย์ดาโฮมีและพำนักในพระราชวังชั่วระยะหนึ่ง ตอนนั้นเองที่เขาได้พบสตรีกว่า 1,500 คนที่ถูกกักขังเพื่อทำหน้าที่รับใช้เทพเจ้า สตรีเหล่านี้ถูกเรียกว่า โกซิโอ (Kosio) เอลลิสบันทึกว่าชาวดาโฮมีถือว่าโกซิโอคือภรรยาของเทพเจ้า แต่เท่าที่เขาได้เห็น โกซิโอมีสถานะไม่ต่างจากทาสที่ต้องทำงานหนักและร่วมหลับนอนสนองกามารมณ์นักบวช นอกจากอาณาจักรดาโฮมีแล้ว แอลลิส ยังกล่าวว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายกันมีให้เห็นในชุมชนเอเวทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาวเอเวจำนวนมากอพยพจากที่ราบสูงอะโบมี (Abomey Plateau) ในเบนินไปยังภูมิภาคโวลตาทางตะวันตก ประเพณีการถวายหญิงรับใช้แก่นักบวชจึงแพร่หลายพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ของชาวเอเว

                แม้ว่าเอลลิสเขียนบันทึกเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน แต่สถานะของโทรโกซีในปัจจุบันกลับไม่ต่างจากเรื่องเล่าของเขาเท่าใดนัก ทันทีที่พ่อแม่ถวายเด็กหญิงให้ศาสนสถาน ชีวิตทั้งชีวิตของพวกหล่อนจะขึ้นอยู่กับนักบวชเท่านั้น นักบวชเป็นผู้ตัดสินว่าเด็กหญิงลบล้างมลทินของครอบครัวได้หรือไม่ โทรโกซีอาจถูกบังคับให้รับใช้นักบวชเป็นเวลาไม่กี่ปีไปจนถึงตลอดชีพ หากเด็กหญิงคนใดเสียชีวิตหรือหลบหนีก่อนนักบวชมอบอิสรภาพ คนในครอบครัวต้องส่งเด็กหญิงคนใหม่มาทำหน้าที่แทนโทรโกซีที่จากไป กลายเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

ภาพที่ 3: โทรโกซีและนักบวช

แหล่งที่มาภาพ: Ntreh, Nii. Trokosi: The West African custom where girls are forced to serve at shrines for sins of their fathers. (2020). [Online]. Accessed 2022 Apr 22. Available from: https://face2faceafrica.com/article/trokosi-the-west-african-custom-where-girls-are-forced-to-serve-at-shrines-for-sins-of-their-fathers

 

               แม้ว่าโทรโกซีจะมีสถานะเป็นสตรีของเทพเจ้า แต่สภาพความเป็นอยู่ของพวกหล่อนกลับเลวร้ายอย่างน่าเศร้า นักบวชถือว่าอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกของโทรโกซีเป็นความรับผิดชอบของครอบครัว พวกเขาจึงปฏิเสธที่จะดูแลปัจจัยขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กหญิง บ่อยครั้งที่พ่อแม่ส่งบุตรสาวไปรับใช้ในศาสนสถานที่ห่างไกล เด็กเหล่านั้นจึงตกอยู่ใต้ความเมตตาของนักบวชแต่เพียงผู้เดียว โทรโกซีถูกใช้ให้ทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่ทำความสะอาดศาสนสถาน ดูแลนักบวชให้ได้รับความสะดวกสบาย ไปจนกระทั่งร่วมหลับนอนและอุ้มท้องลูกของนักบวช โทรโกซีในวัยเยาว์แทบทั้งหมดไม่ได้รับการศึกษา สตรีหลายคนจึงไม่ต้องการเป็นอิสระเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นการยากสำหรับอดีตโทรโกซีที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพในสังคมโดยไม่มีความรู้พื้นฐาน นอกจากนี้หญิงที่เคยมีสถานะโทรโกซียังไม่มีโอกาสได้แต่งงานเนื่องจากถูกถือว่าเป็นภริยาของเทพเจ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้แม้จะได้รับอิสระ แต่โทรโกซีส่วนมากก็ยังต้องอยู่ใต้เงานักบวชจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

               หากมองในแง่สิทธิมนุษยชน สถานะที่ไม่ต่างจากทาสของโทรโกซีเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทว่าแม้จะมีกฎหมายห้ามการค้าและครอบครองทาสในกานาตั้งแต่ค.ศ. 1960 แต่กรณีของโทรโกซีกลับไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นพิจารณา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าเป็นเรื่องของประเพณี ในขณะที่ชุมชนต่างๆ ยังคงหวั่นเกรงโทสะเทพเจ้า อย่างไรก็ตาม ต้นทศวรรษที่ 1990 นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรไม่แสวงไม่แสวงหาผลกำไรในกานาได้นำกรณีที่สตรีโทรโกซีถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจ รวมถึงการถูกนักบวชทำร้ายร่างกายมาตีแผ่ให้ชาวโลกได้รับรู้ รัฐบาลกานาจึงถูกกดดันอย่างหนักให้ดำเนินมาตรการหยุดยั้งประเพณี ทว่าเจอร์รี รอว์ลิงส์ (Jerry Rawlings) ประธานาธิบดีกานาในขณะนั้นกลับเพิกเฉยกรณีของโทรโกซี โดยอ้างว่าการถวายข้ารับใช้ให้ศาสนสถานเป็นหนึ่งในธรรมเนียมโบราณที่ควรปฏิบัติสืบต่อไป แต่สุดท้ายกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ไม่อาจต้านทานกระแสต่อต้านจากนานาชาติได้ ในปีค.ศ. 1997 โทรโกซี 672 คนได้รับการช่วยเหลือจากนักสิทธิมนุษยชนให้ได้รับอิสระ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โทรโกซีได้รับการปลดปล่อย และในปีค.ศ.1998 การครอบครองโทรโกซีก็ถูกประกาศให้เป็นอาชญากรรมในกานา นักบวชในชุมชนจึงจำเป็นต้องทำพิธีมอบอิสระคืนให้โทรโกซีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี เด็กสาวเหล่านี้จึงได้กลับสู่อ้อมอกของครอบครัวในที่สุด

                แม้ว่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายมากว่า 2 ทศวรรษ แต่ในชุมชนเอเวที่ห่างไกล การส่งเด็กสาวไปเป็นข้ารับใช้เทพเจ้ายังคงมีให้เห็นจนชินตา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอ้างว่าโทรโกซีเป็นประเพณีที่มีไว้เพื่อรักษาความสงบในชุมชน ทว่าการใช้งานเด็กหญิงประหนึ่งทาสเพื่อลบล้างความผิดของคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนไม่อาจยอมรับ เด็กทุกคนควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย มิใช่ถูกบังคับไปเป็นแรงงานและทาสกามโดยไม่เต็มใจ ทุกวันนี้โทรโกซีอีกนับพันในแอฟริกายังคงรอคอยการได้รับอิสรภาพ

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

Agawu, Kofi. African Rhythm: A Northern Ewe Perspective. Cambridge: Cambridge University Press,

1995.

Bilyeu, Amy Small. Trokosi – The Practice of Sexual Slavery in Ghana: Religious and Cultural Freedom

  1. Human Rights, Indiana International and Cooperative Law Review, Vol. 9 No. 2: 457 – 504. Bloomington: Indiana University Press, 1999.

Greene, Sandra E.. Modern "Trokosi" and the 1807 Abolition in Ghana: Connecting Past and Present,

The William and Mary Quarterly Third Series, Vol. 66, No. 4, Abolishing the Slave Trades: Ironies and Reverberations: 959 – 974. Williamsburg: Omohundro Institute of Early American History and Culture, 2009.

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ