Museum Core
ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรีบนแสตมป์ไทย
Museum Core
16 ม.ค. 66 2K

ผู้เขียน : ลมล่องข้าวเบา

 

               วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เด็กชายคนหนึ่งในครอบครัวซึ่งบิดามารดามีอาชีพค้าขายได้ลืมตาดูโลก คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) คือนามของเด็กชายที่ในภายภาคหน้าต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาทางศิลปะ ณ แผ่นดินประเทศไทยอันไกลโพ้น

               สำหรับเมืองฟลอเรนซ์ เป็นเมืองเก่าแก่และมีชื่อเสียงทั้งเรื่องศิลปวิทยาและการค้าขาย เฟโรจีในวัยเด็กคงได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ของศิลปะบ้านเกิดมาไม่น้อย ตรงข้ามกับอาชีพค้าขายของครอบครัวที่อย่างไรก็ห่างไกลความสนใจ ความสนใจทางศิลปะของเฟโรจีปรากฏชัดเมื่อไปสมัครเป็นลูกมือประติมากร

               ส่งผลให้สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาศิลปะแห่งฟลอเรนซ์ (The Academy of Fine Arts of Florence) หลังเรียนจบชั้นมัธยม ขณะอายุเพียง 16 ปี และอีก 7 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) ได้สำเร็จการศึกษาเป็นประติมากร และด้วยความสามารถอันสูงส่ง จึงสอบผ่านการแข่งขันและได้รับคัดเลือกเป็นศาสตราจารย์ในสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งฟลอเรนซ์ ด้วยวัยเพียง 23 ปีเท่านั้น

               ตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ศาสตราจารย์เฟโรจีเดินทางมาถึงสยามประเทศในปี พ.ศ. 2466 เริ่มต้นชีวิตข้าราชการโดยเป็นช่างปั้นกรมศิลปากร ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้ร่วมกับข้าราชการในกรมศิลปากร ก่อตั้งโรงเรียนศิลปะขึ้นโดยแรกชื่อโรงเรียนประณีตศิลป์ ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนศิลปากร ก่อนขยับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2486

 

ภาพที่ 1 ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี

แหล่งที่มาภาพ https://board.postjung.com/1341426

 

                ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกกองทัพเข้าไทย อิตาลีอยู่ฝ่ายอักษะ เป็นเหตุให้ศาสตราจารย์เฟโรจีซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนต้องถูกรัฐบาลญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ รัฐบาลไทยใช้การทูตขอร้องให้ปล่อยตัวท่าน และได้แปลงสัญชาติมาเป็นไทย ชื่อ “ศิลป์ พีระศรี” ศาสตราจารย์ศิลปอุทิศชีวิตให้กับการสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสอนอยู่จนถึงวันก่อนเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช และเสียชีวิตในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 สิริอายุรวม 70 ปี

 

ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดบุคคลสำคัญ (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/709/

 

               อีก 30 ปีต่อมา ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ได้มีการจัดสร้างแสตมป์เพื่อเป็นการยกย่องและเผยแพร่เกียรติคุณของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้บุกเบิกงานศิลปะร่วมสมัยของไทย ชื่อ “ชุดบุคคลสำคัญ (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)” นับเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้รับเกียรติให้มีภาพปรากฏบนดวงแสตมป์ไทย ในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะไทย

               ภาพศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีบนดวงแสตมป์ ได้จากการจัดประกวดของกรมศิลปากร โดยภาพชนะการประกวดและนำมาเป็นแบบในการจัดพิมพ์ วาดโดยนายพันฤทธิ์ อินทร์ชิน แสตมป์พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ ลีห์-มาร์ดอน พีทีวาย จำกัด ประเทศออสเตรเลีย จำนวน 4 ล้านดวง ราคาหน้าดวง 2 บาท ออกจำหน่ายวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2535

               ศาสตราจารย์ศิลป์อยู่เมืองไทยเกือบ 40 ปี ทั้งปั้นและออกแบบงานประติมากรรมมานับไม่ถ้วน ซึ่งบรรดาผลงานเหล่านี้ไม่น้อยเคยปรากฏบนดวงแสตมป์ไทยมาแล้ว จึงมิอาจปฏิเสธได้ว่าในอีกทางหนึ่งนับเป็นบุคคลผู้มีคุณูปการต่อแวดวงแสตมป์ด้วยเช่นกัน โดยแสตมป์ดวงแรกที่มีผลงานปั้นของท่านปรากฏในภาพ ได้แก่ “ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี” ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ซึ่งประดิษฐานอยู่เชิงสะพานพุทธ ฝั่งพระนคร ชนิดราคา 1 บาท วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน พ.ศ. 2475

 

ภาพที่ 3 แสตมป์ชุดที่ระลึกในงานสมโภชพระนคร 150 ปี (ชนิดราคา 1 บาท)

แหล่งที่มาภาพ https://www.venusstamps.com/products_detail/view/6268097

 

              เพื่อที่ระลึกถึงเหตุการณ์สงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 – 28 มกราคม พ.ศ. 2484 ได้มีการจัดสร้างแสตมป์ “ชุดที่ระลึกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ชนิดราคา 3 สตางค์ วันแรกจำหน่าย 1 มิถุนายน พ.ศ. 2486 ประติมากรรมประดับอนุสาวรีย์เป็นรูปปั้นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศาสตราจารย์ศิลปเป็นผู้ออกแบบ และปั้นโดยลูกศิษย์ของท่าน

 

ภาพที่ 4 แสตมป์ชุดที่ระลึกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/19189/

 

             บุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชาติ นับเป็นผลงานปั้นและออกแบบอีกประเภทของศาสตราจารย์ศิลป์ และปรากฏบนดวงแสตมป์อย่างโดดเด่นในปี พ.ศ. 2498 นั่นคือแสตมป์ “ชุดท้าวสุรนารี” ชนิดราคา 10 สตางค์, 25 สตางค์ และ 1 บาท วันแรกจำหน่าย 15 เมษายน พ.ศ. 2498 อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม จังหวัดนครราชสีมา เป็นผลงานปั้นในระหว่างปี พ.ศ. 2477 

 

ภาพที่ 5 แสตมป์ชุดท้าวสุรนารี

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/8703/

 

              อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ก็นับเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ โดยทุ่มเทแรงกายแรงใจให้ผลงานชิ้นนี้อย่างมากในระหว่างปี พ.ศ. 2493 – 2494 ก่อนมาปรากฏบนดวงแสตมป์ “ชุดพระเจ้าตากสินมหาราช” ชนิดราคา 5 สตางค์, 25 สตางค์ และ 1.25 บาท วันแรกจำหน่าย 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 โดยแสตมป์ทั้งชุดพระเจ้าตากสินมหาราชและชุดท้าวสุรนารี พิมพ์ที่ วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ

 

ภาพที่ 6 แสตมป์ชุดพระเจ้าตากสินมหาราช

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/4687/

 

                บนดวงแสตมป์ทุกชุดข้างต้น ปรากฏผลงานปั้นและออกแบบของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ครั้งยังมีชีวิตอยู่ และแม้ท่านลาโลกไปแล้วแต่ผลงานก็ยังปรากฏบนแสตมป์ไทยสืบมา หนึ่งในอนุสาวรีย์กลางเมืองที่สำคัญกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง นั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์เป็นผู้ออกแบบและปั้นโดยลูกศิษย์ เคยปรากฏบนดวงแสตมป์มาแล้วเช่นกัน ได้แก่

                “ชุดที่ระลึกปีสากลแห่งสิทธิมนุษยชน 2511” เพื่อเป็นที่ระลึกในการฉลองครบรอบ 20 ปี แห่งการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และที่ระลึกปีสากลมนุษยชน 2511 เป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อันมีความหมายแสดงถึงสิทธิมนุษยชน ในการสามารถศึกษา หาเลี้ยงชีพ และเลือกนับถือศาสนา ชนิดราคา 50 สตางค์ วันแรกจำหน่าย 10 ธันวาคม พ.ศ. 2511 พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์รัฐบาล กระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น

 

ภาพที่ 7 แสตมป์ชุดที่ระลึกปีสากลแห่งสิทธิมนุษยชน 2511

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/3508/

 

 

                ส่วนแสตมป์อีกชุดที่ปรากฏภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือ “ชุดที่ระลึก 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516” มี 4 ชนิดราคา ดังนี้ 75 สตางค์ ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, 2 บาท ภาพปั้นนูนต่ำส่วนล่างปีกด้านหนึ่งของ
อนุสาวรีย์ฯ แสดงถึงการมีชีวิตโดยอิสระและเสมอภาคของประชาชนไทยภายใต้ขอบเขตกฎหมาย, 2.75 บาท ภาพปั้นนูนต่ำที่ส่วนล่างของปีกด้านหนึ่งของอนุสาวรีย์ฯ แสดงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และ 5 บาท ภาพพานรัฐธรรมนูญและพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 วันแรกจำหน่าย 26 มกราคม พ.ศ. 2518

 

ภาพที่ 8 แสตมป์ชุดที่ระลึก 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/3623/

 

               อนุสาวรีย์และพระพุทธรูปสำคัญที่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ และเป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งคุ้นตากันโดยทั่วไป ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ผลงานออกแบบและปั้นในปี พ.ศ. 2497 ปรากฏบนแสตมป์ “ชุดที่ระลึกวันกองทัพไทย” ชนิดราคา 1.25 บาท วันแรกจำหน่าย 25 มกราคม พ.ศ. 2527 ขณะที่พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่ศาลายา นครปฐม ผลงานการออกแบบเพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ปรากฏบนแสตมป์ “ชุดที่ระลึกงานสมโภชพุทธมณฑล” ชนิดราคา 6 บาท วันแรกจำหน่าย 5 ธันวาคม พ.ศ. 2531 แสตมป์ทั้งสองชุดพิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ แฮริสัน แอนด์ ซันส์ (ไฮ วายคอมบ์) จำกัด ประเทศอังกฤษ

ภาพที่ 9 และ 10 แสตมป์ชุดที่ระลึกวันกองทัพไทย

และแสตมป์ชุดที่ระลึกงานสมโภชพุทธมณฑล (ชนิดราคา 6 บาท)

แหล่งที่มาภาพ http://www.stampthailand.com/product/3795/

แหล่งที่มาภาพ https://www.blockdit.com/posts/60531895724c50026a0c47b7

 

               แม้แต่แสตมป์อีกหลายชุด ซึ่งปรากฏภาพประติมากรรมปูนปั้นรูปครุฑประดับเด่นเป็นสัญลักษณ์ที่ยอดมุมตึกไปรษณีย์กลาง บางรัก ก็เป็นผลงานการออกแบบอีกชิ้นของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และดำเนินการปั้นโดยศิษย์ยุคแรก ๆ ของท่าน ซึ่งฝากไว้อย่างเปี่ยมค่ากับการไปรษณีย์ไทยตราบปัจจุบัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ 125 ปี ไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย

หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1 – 4

หนังสือที่ระลึกงานแสดงตราไปรษณียากร ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2544

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ