Museum Core
พระพิราพ มาจากไหน?
Museum Core
19 ม.ค. 66 18K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               เป็นที่ถกเถียงกันมาเนิ่นนานว่า ยักษ์ที่ในรามเกียรติ์ฉบับของไทยเรียกชื่อว่า ‘พิราพ’ นั้นคือใคร?

               ในขณะที่ข้อความในรามเกียรติ์ กล่าวถึงพระพิราพในฐานะ ‘ยักษ์เฝ้าสวนต้นพวาทอง’ ซึ่งช่างดูไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก แต่ว่าในพิธีไหว้ครูโขน ละคอน หรือดนตรีไทยต่างๆ นั้น ‘เศียร’ คือหัวโขนของพระพิราพกลับถูกยกย่องว่าเป็นเศียรของยักษ์ผู้ใหญ่ที่ถูกนับถือยำเกรงเสียยิ่งกว่าเศียรของเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเสียด้วยซ้ำ

                จุดสำคัญ คือ ท่ารำพระพิราพนั้นถูกยกย่องนับถือว่าเป็นท่ารำชั้นสูงสุดที่ไม่ใช่ว่าให้ใครรำกันง่ายๆ ถึงขนาดว่าตามหลักการแห่งธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ผู้ที่จะได้รับการต่อท่ารำพระพิราพนั้น จะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยพระมหากษัตริย์เท่านั้นเลยทีเดียว (เป็นที่แน่นอนด้วยเช่นกันว่า ถ้าไม่ว่ากันตามหลักการ ก็มีผู้ที่ได้รับการต่อท่ารำพระพิราพจากครูโขนละคอน โดยที่ไม่รับการโปรดเกล้าฯ ด้วยเช่นกัน)

                 แล้วอย่างนี้จะบอกว่า ‘พระพิราพ’ เป็นเพียง ‘ยักษ์เฝ้าสวน’ กิ๊กก๊อกไปได้อย่างไร

 

ภาพที่ 1: เศียรพระพิราพ

แหล่งที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/

 

ภาพที่ 2: ‘รำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเต็มองค์’ ครูรงภักดี (เจียร จารุจรณ)

รำหน้าพระที่นั่ง ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พ.ศ. 2504

(ภาพจากหนังสือ พระพิราพ ของประพันธ์ สุคนธะชาติ)

 

                ในหนังสือ ‘รามายณะ’ ของอินเดียฉบับสำคัญทุกสำนวน ไม่ว่าจะเป็นฉบับวาลมิกิ เบงกอล กัมปัน ฯลฯ เรียกพระพิราพว่า ‘วิราธ’ และไม่ได้เป็นยักษ์เฝ้าสวน แต่เป็นคนธรรพ์ (สิ่งมีชีวิตในปรัมปราคติจากชมพูทวีปที่เก่งกาจในเชิงดนตรีการ) ชื่อ ‘ตุมพุรุ’ ที่ถูกสาปลงมาเป็นรากษส (คล้ายยักษ์แต่ดุร้ายกว่า และชื่นชอบในรสชาติของเนื้อสดๆ) อยู่ใน ‘ป่าทันฑกะ’

               ‘ตุมพุรุ’ ตามความเชื่อของพ่อพราหมณ์ทั้งหลายในอินเดียนั้น เป็นราชาแห่งคนธรรพ์ ผู้ขับกล่อมเพลงดนตรีได้ไพเราะที่สุดในสามโลก ในรามายณะเองก็อธิบายไม่ต่างนัก ส่วนในมหากาพย์ของอินเดียอีกเรื่องคือ มหาภารตะ พรรณนาว่าตุมพุรุคือหนึ่งในสี่คนธรรพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ตุมพุรุมักปรากฏตัวคู่อยู่กับพระนารทฤาษี ซึ่งในแวดวงดนตรีและการละคอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ถือเป็นครูของการดนตรีของไทยเช่นกัน

               แถมชื่อของตุมพุรุไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะเรื่องราวใน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เท่านั้น แต่ปรากฏในพระสูตรของศาสนาพุทธคือ สักกปัญหสูตร อีกด้วย พระสูตรดังกล่าวเรียก ‘ตุมพุรุ’ ว่า ‘ติมพรุ’ เป็นราชาแห่งคนธรรพ์ มีลูกสาวชื่อนางสุริยวัจฉสา และเป็นพ่อตาของพระปัญจสิขร คนธรรพ์ผู้ดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า ณ ถ้ำอินทสาล พระปัญจสิขรนี้ก็เป็นครูทางดนตรีการ และนาฏศิลป์ที่คนไทยนับถือด้วยเช่นกัน

               ชาวอุษาคเนย์ในชั้นหลังหลงลืมชื่อ ‘ตุมพุรุ’ ไปหมดแล้ว อย่างน้อยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ก็ไม่มีเรื่องของตุมพุรุเหลืออยู่ แต่หลักฐานว่าชาวอุษาคเนย์เคยมีการรู้จักชื่อตุมพุรุมีอยู่ในจารึกภาษาเขมร และสันสกฤตจากปราสาทสด๊กก็อกธม จังหวัดสระแก้ว ที่เรียกกันว่า จารึกสด๊กก็อกธม หลักที่ 2 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1595 ปรากฏข้อความว่า "พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ"

               ข้อความตอนดังกล่าวในจารึกสด๊กก็อกธมกำลังพรรณนาถึงการที่พราหมณ์หิรัณยทามะ ถ่ายทอดสรรพวิชาใน ‘ลัทธิเทวราช' ให้แก่พราหมณ์ศิวะไกวัลย์ ปุโรหิตคนสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 หลังจากนั้นลัทธิเทวราชก็มั่นคงอยู่ในอาณาจักรขอมยุคเก่าก่อน ‘พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ’ ที่อ้างถึงก็คือสรรพวิชาที่พราหมณ์หิรัณยทามะถ่ายทอดต่อพราหมณ์ศิวะไกวัลย์

               ข้อความตรงนี้สำคัญ เพราะบ่อยครั้งที่จารึกขอมโบราณกล่าวถึงพระอิศวรในฐานเทพผู้มี 4 พักตร์ และในหนังสือ โยคะวศิษฐ รามายณะ ที่เก่าแก่ก่อนจารึกสด๊กก็อกธมราว 200 ปีเศษนั้น ระบุว่า ‘ตุมพุรุ’ ก็คือ ‘รุทร’ หรือ ‘พระอิศวร’ (องค์เดียวกันกับพระศิวะ)

                และนี่ก็ย่อมหมายความด้วยว่า ‘พระพิราพ’ นั้น ก็คือพระภาคหนึ่งของ ‘พระอิศวร’ ด้วยเช่นกัน

 

            ภาพที่ 3: จารึกสด๊กก็อกธม หลักที่ 2 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

              จารึกสด๊กก็อกธม ยังระบุไว้ด้วยว่า พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ ได้แก่ ศิรัจเฉท วินาศิขะ สัมโมหะ และนโยตตระ

 

              ความตอนนี้ทำให้เข้าใจต่อกันมาว่า ชื่อทั้งสี่นี้เป็นชื่อคัมภีร์ แต่ผลการศึกษาในชั้นหลังชวนให้เชื่อว่า
สัมโมหะ และศิรัจเฉท น่าจะเป็นกลุ่มลัทธิประเพณีที่เกี่ยวข้องกับลัทธิศักติ ส่วนวินาศิขะเป็นชื่อคัมภีร์ เพราะมีการค้นพบต้นฉบับของคัมภีร์วินาศิขะตันตระ เขียนด้วยอักษรเทวนาครีที่เมืองกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล ส่วนนโยตตระเป็นชื่อคัมภีร์เช่นกัน เพราะมีอ้างถึงอยู่ในต้นฉบับของวินาศิขะตันตระ แต่ยังไม่มีรายงานการค้นพบต้นฉบับของคัมภีร์ดังกล่าว จุดสำคัญ คือ วินาศิขะตันตระ เป็นคัมภีร์ที่เล่าถึงการสถาปนา ‘พระอิศวร’ ในฐานะของ ‘ตุมพุรุ’ ขึ้นเป็นราชาเหนือเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งสอดคล้องกันกับชื่อ ‘ลัทธิเทวราช’ ที่กล่าวถึงอยู่ในจารึกสด๊กก็อกธมนั่นเอง

              สรุปง่ายๆ คือ นอกเหนือจาก ‘พระพิราพ’ จะเป็น ‘พระอิศวร’ แล้ว ยังเป็นพระอิศวรในฐานะ ‘เทวราช’ หรือราชาเหนือเทพเจ้าทั้งปวงในจักรวาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกต่างหาก

              ชื่อตุมพุรุยังมีพบที่ในจารึกเกาะบาหลี ซึ่งเป็นเครือข่ายของรัฐในเกาะชวา โดยในจารึกสด๊กก็อกธม
หลักเดิมนั้นมีข้อความอ้างไว้ด้วยว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เสด็จมาจากชวา ก่อนได้พบกับพราหมณ์หิรัณยทามะ
ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในลัทธิเทวราช ให้ลงหลักปักฐานอยู่ในวัฒนธรรมขอมยุคที่สร้างปราสาทหิน

              ดังนั้น จารึกสด๊กก็อกธมที่เป็นจารึกหลักพรรณนาถึงประวัติของลัทธิเทวราชที่มีความสำคัญยิ่งในวัฒนธรรมขอมดั้งเดิมอย่างละเอียดที่สุด การอ้างถึง ‘พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ’ และเอ่ยถึงชื่อ ‘วินาศิขะ’ ทำให้เชื่อถือได้ว่าพวกขอมยุคเก่าแก่รู้จัก ‘ตุมพุรุ’ ในฐานะพระภาคหนึ่งของ ‘พระอิศวร’ และไม่ต้องสงสัยว่าพวกขอมย่อมรู้จักรามายณะ (ไม่ว่าจะเป็นฉบับใดก็ดี) ที่ ‘พระพิราพ’ ซึ่งเพี้ยนมาจาก ‘วิราธ’ เป็น ‘ตุมพุรุ’ ในฐานะ ‘ราชาแห่งคนธรรพ์’ ถูกสาปลงมา พวกเครือข่ายของรัฐในเกาะชวา-บาหลี ก็คงรู้จักไม่ต่างกัน

               ชาวอุษาคเนย์จึงเคยรู้จัก ‘พระพิราพ’ ทั้งในฐานะ ‘ราชาแห่งดนตรีการ และนาฏศิลป์’ และในฐานะพระภาคหนึ่งของ ‘พระอิศวร’ ที่เป็น ‘เทวราชา’ มีพยานยืนยันอยู่ในวัฒนธรรมขอมยุคเก่า ที่ส่วนหนึ่งสืบสายและคลี่คลายมาเป็นอยุธยา และต่อเนื่องมาเป็นรัตนโกสินทร์ในที่สุด เพียงแต่ว่าหลงลืมรายละเอียดไปเสียหมด มีจดจำได้บ้างว่าพระพิราพไม่ใช่ยักษ์ธรรมดาแต่เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีร่องรอยอยู่ในบทละคอนรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่1 และประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพิราพ เช่น พิธีไหว้ครู เป็นต้น

               ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไรที่ทั้ง ‘เศียร’ และ ‘ท่ารำ’ ของพระพิราพนั้นจะถูกเคารพนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก

 

ภาพที่ 4: ภาพลายเส้นพระพิราพ ของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย)

(ภาพจากหนังสือ พระพิราพ ของประพันธ์ สุคนธะชาติ)

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ