ลมหนาวที่พัดผ่านกรุงเทพมหานครช่วงกลางเดือนธันวาคมช่างมีอิทธิพลที่ทำให้คนที่เพิ่งผ่านชีวิตหนักหน่วงมาตลอดทั้งปีนึกอยากเปลี่ยนบรรยากาศไปที่ไหนสักแห่ง แต่ความเกียจคร้านที่จะจัดการทริปไกล ๆ ทำให้เราได้แต่ค้นหาในอินเตอร์เน็ตว่ามีที่ไหนที่ทำให้ได้เปลี่ยนบรรยากาศและเปลี่ยนมุมมองในชีวิตบ้าง ที่สำคัญต้องไม่ไกลจากที่พักมากนัก กระทั่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ของดีไซน์เนอร์ชาวไทยท่านหนึ่งที่เพิ่งจัดแฟชั่นโชว์ไป ทำให้เรานึกถึงพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เคยไปทัศนศึกษากับโรงเรียนเมื่อนานมาแล้ว
ภาพที่ 1 อาคารทรงกลมที่โถงทางเข้าพิพิธภัณฑ์
ตึกยุโรปสีขาวทรงกลมสีครีมตัดเหลืองอ่อนตัดกับประตูไม้สีมะฮอกกานี เสาโรมัน บันไดเตี้ยสี่ขั้นตรงมุขทางเข้าสะท้อนความเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดีว่ากันว่าสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่ยืนยันกับชาวตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมว่า สยามกำลังปรับเปลี่ยนประเทศให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
เมื่อก้าวผ่านประตูเข้าไปในตัวตึกเพื่อซื้อตั๋ว สำหรับประชาชนทั่วไปอยู่ที่ราคา 150 บาท
ภาพที่ 2 โถงกลางภายใน
ความงดงามแรกปรากฏเมื่อเข้ามาในตัวอาคารเป็นบันไดหินอ่อนที่แยกทางขึ้นซ้ายขวา และวนไปบรรจบกันที่ระเบียงกลางในชั้นสองคล้ายกับฉากงานเลี้ยงในละครที่มีนางเอกปรากฏกายอยู่ที่ระเบียงส่งยิ้มละมุนให้กับพระเอกที่ยืนรออยู่ที่ปลายบันได
แสงอบอุ่นละมุนภายในตัวอาคารจากแชนเดอเลียร์สีทองห้อยระย้าที่ห้อยจากเพดานสีงานช้างตัดกับไม้สีเข้มเป็นความแตกต่างที่ลงตัว
เป็นอีกครั้งที่ทำให้ยิ้ม…ที่นี่สวยจนลืมหายใจ
ภาพที่ 3 ตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์
เราพลิกตั๋วกระดาษแข็ง ๆ ในมือ…สีน้ำเงินชวนให้นึกถึงสายเลือดสีน้ำเงิน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Blue Blood” แปลได้ว่าเชื้อสายราชวงศ์ ลายปักผ้าไทยด้านล่างของตั๋วออกแบบได้อย่างน่ารัก สะท้อนเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นในห้องนิทรรศการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
พนักงานแนะนำให้เราชมนิทรรศการห้องกิจกรรม ปัก : ถัก : ทอ (Woven Dialects) ซึ่งเป็นนิทรรศการหมุนเวียน และเป็นห้องเดียวที่สามารถบันทึกภาพหรือวีดีโอได้ นิทรรศการในห้องแรกเป็นเรื่องราวอันแสนเรียบง่ายเกี่ยวกับผ้าชนิดต่าง ๆ โดยนำผ้าจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเล่าผ่านแผ่นที่ Textile Cartograph of Thailand โดยแสดงถึงเอกลักษณ์ของผ้าจากท้องถิ่นต่างๆ ที่มีชื่อเสียงจากแต่ละภูมิภาคของไทยที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้รวบรวมไว้ รวมทั้งมีมุมจัดแสดงอุปกรณ์และวิธีการขั้นตอนการทอผ้าประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจ
หากสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้มากที่สุดกลับเป็นผ้าปักชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะผ้าปักซอยแบบไทยมีคำอธิบายว่าเป็นการปักผ้าแบบโบราณที่ใช้วิถีการปักขึ้นลงถี่ ๆ สับหว่างและโค้งไปตามลวดลายภาพต้นแบบและต้องอาศัยความละเอียดสูง ถ้าผู้ปักมีฝีมือจะทำให้ปักแล้วเกิดภาพเหลือบเงาได้เสมือนจริง ชวนให้จินตนาการถึงช่วงเวลาที่ช่างปักค่อย ๆ บรรจงปักผ้า แต่ละลายของผ้าสะท้อนให้เห็นถึงความประณีต ละเอียดลออและเทคนิคในการปักชั้นสูงที่ทำให้ผ้าปักเป็นภาพตรงหน้ามีชีวิตราวกับเป็นภาพเสมือนจริง
ภาพที่ 4 ภาพผ้าปักซอยแบบไทย
โซนถัดมาจึงเป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิม
พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา โดยบอกเล่าผ่านความสวยงามของผ้าไทยและศิลปะในการถักทอที่พลิกฟื้นผ้าไทยให้กลายเป็นอาภรณ์ล้ำค่าที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้หญิงในชุมชน กลายเป็นเอกลักษณ์อันงดงามของท้องถิ่นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
ภาพที่ 5 การจัดแสดงนิทรรศการ
เมื่อเดินในห้องนิทรรศการชั้นหนึ่งจนครบแล้ว เราจึงได้รับคำเชื้อเชิญให้ขึ้นไปชมนิทรรศการซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการสิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงฉลองพระองค์ผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา
เราก้าวเข้าไปในห้องจัดแสดงนิทรรศการสิริราชพัสตราบรมราชินีนาถ
แสงระยิบระยับจากลูกปัดสะท้อนแสงไฟในตู้กระจกที่ฉลองพระองค์ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีทำให้บรรยากาศในห้องจัดแสดงนิทรรศการคล้ายเป็นฉากหนึ่งในเทพนิยาย
แสงแวววาวที่สะท้อนนัยน์ตาดึงดูดให้เราก้าวเข้าไปใกล้
ลายของผ้าไทยโบราณที่ถูกถักทอด้วยความรัก และได้รับการออกแบบตามวาระโอกาสกับการบรรจงปักแต่ละฝีเข็มที่ประณีตวิจิตร ปักดิ้นทองหรือลูกปัดสีทองแวววับ หรือความอ่อนหวานของผ้าไม้ลูกไม้สีขาวตรึงสายตาคล้ายกับกำลังเชิญชวนให้ดำดิ่งไปกับเรื่องราวของฉลองพระองค์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ
ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง การได้เห็นผ้าไทยพื้นถิ่น โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ที่หลากหลายสีสันได้รับการออกแบบเป็นฉลองพระองค์ตามแบบฉบับสังคมชาวตะวันตกชั้นสูง ทั้งฉลองพระองค์ชุดกลางวัน เสื้อคลุม ชุดกลางคืน ชุดไทยพระราชนิยม รองเท้าเข้าชุด และหมวก ถือเป็นความเพลิดเพลินใจอย่างที่สุด ส่วนใหญ่ล้วนออกแบบและตัดเย็บโดยนายปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่สามารถดึงความอ่อนช้อยของลวดลายบนผ้าไทยตัดเย็บออกมาเป็นอาภรณ์ชั้นสูงแบบชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี
เราใช้เวลาในห้องนิทรรศการนี้เกือบสี่สิบนาที…ค่อย ๆ สำรวจร่องรอยความคิดสร้างสรรค์ ลวดลายของผ้าแต่ละผืนที่ตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ซึ่งสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงยุคนั้น ชุดที่ประทับใจเรามากที่สุดเป็นฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเคยทรงสวมใส่เพื่อต้อนรับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินเบอระที่ขณะนั้นเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการจัดหารายได้สมทบทุนมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2526
ในค่ำคืนนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฉลองพระองค์ด้วยชุดราตรียาวสำหรับงานกลางคืน เปิดไหล่เฉียงข้างเดียวแต่งขอบระบายเป็นเนื้อผ้าไหมมัดหมี่สีส้มอมน้ำตาลสลับกับสีเขียวปีกแมลงทับ เป็นผ้าชิ้นเดียวกันทั้งชุด โดยช่วงกระโปรงเป็นทรงหางขอบระบายเป็นชั้นไล่ระดับ มีเครื่องประดับเป็นเข็มขัดทองคำและสร้อยสังวาลงดงาม
ฉลองพระองค์ดังกล่าวสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนไทยในภาคอีกสานซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีการทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้เองแทบทุกครัวเรือน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีพ.ศ. 2519 เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารให้มีรายได้เสริมจากงานทอผ้า ในช่วงแรกพระองค์ทรงรับซื้อผ้าทอเหล่านั้นไว้เอง ต่อมาจึงค่อยขยายเป็นการหัตถกรรมประเภทอื่น ๆ ที่กลายเป็นอาชีพของชาวบ้านจวบจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับและเผยแพร่ความสวยงามของผ้าไทยแก่สายตาชาวโลกผ่านฉลองพระองค์ที่ทรงสวมใส่
เราก็อดภูมิใจกับไม่ได้ว่า ผ้าทอของประเทศไทยเมื่อได้รับการออกแบบและตัดเย็บอย่างประณีต
ก็งดงามไม่แพ้แฟชั่นของชาติใดในโลก
นิทรรศการต่อมาที่เราไปชมเป็นนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของผ้าบาติกที่สะท้อนวีถีชีวิตของชาวชวา สายใยสัมพันธ์ระหว่างพระปิยมหาราช รวมทั้งฉลองพระองค์แบบชวาของพระปิยมหาราช ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคงเป็นฉลองพระองค์แบบชวาของพระปิยมหาราชที่กาลเวลาผ่านไปกว่าหนึ่งร้อยปี แต่ฉลองพระองค์ยังคงดูงดงามในตู้กระจกราวกับเรื่องราวทั้งหมดเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน
น่าเสียดายที่นิทรรศการชั้นสองไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพใด ๆ แม้ไม่อนุญาตให้บันทึกภาพก็ไม่เป็นไร เพราะความวิจิตรงดงามของฉลองพระองค์แต่ละชุดยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำและประทับใจ หากมีโอกาสคงได้กลับมาอีกอย่างแน่นอน
พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์
ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 09.00 - 16.30 รอบสุดท้าย : 15.30 รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.qsmtthailand.org