Museum Core
อะดิเร ผ้ามัดย้อมเก๋ไก๋สไตล์โยรูบา
Museum Core
16 ก.พ. 66 1K

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

 

               ปัจจุบันในประเทศไทย ไม่ว่าใครก็คงรู้จักผ้ามัดย้อมกันทั้งสิ้น การมัดย้อมคือการตกแต่งผ้าด้วยลวดลายต่างๆ เกิดจากการผูก ม้วน พับ และขยำผ้าสีพื้นก่อนนำไปย้อมให้ติดสีสัน เสน่ห์ของผ้ามัดย้อมคือลวดลายหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร จึงไม่น่าแปลกใจหากพบเห็นร้านขายเสื้อมัดย้อมทุกที่ ตั้งแต่ริมชายหาดในภาคใต้ ไปจนถึงบนดอยสูงที่เชียงราย ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ผ้ามัดย้อมยังคงความนิยมในหลายชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และในวันนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับศิลปะการมัดย้อมที่เรียกว่า “อะดิเร (Adire)” อะดิเรคืออะไร และเพราะเหตุใดผ้ามัดย้อมจากแอฟริกาจึงโด่งดังไปไกล จนแม้แต่อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกายังชื่นชอบนั้น เราจะมาหาคำตอบพร้อมๆ กัน

 

ภาพที่ 1 ผ้ามัดย้อมอะดิเร

แหล่งที่มาภาพ: Adire African Textiles. Adire Cloth of The Yorubas. (n.d.). [Online]. Accessed 2022 Dec 22. Available from: https://www.adireafricantextiles.com/textiles-resources-sub-saharan-africa/some-major-west-african-textile-traditions/adire-cloth-of-the-yorubas/

 

               อะดิเร คือชื่อเรียกผ้ามัดย้อมที่โด่งดังในวัฒนธรรมโยรูบา (Yoruba) ชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศไนจีเรีย เช่นเดียวกับชนชาติไทที่แบ่งย่อยได้หลายกลุ่ม ชาวโยรูบาแต่ละท้องที่ล้วนมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป แรกเริ่มเดิมที การผลิตผ้ามัดย้อมอะดิเรถือกำเนิดในชุมชนเอกบา (Egba) ชาวโยรูบาที่อาศัยในรัฐโอกุน (Ogun State) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นเหตุให้ในปัจจุบัน แม้ว่าธุรกิจการผลิตและค้าผ้าอะดิเรจะแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ ทว่าศูนย์กลางการผลิตผ้ามัดย้อมยังคงเป็นอะเบโอคูตา (Abeokuta) เมืองหลวงรัฐโอกุนมาจนถึงทุกวันนี้

               การผลิตสิ่งทอในชุมชนโยรูบามีประวัติความเป็นมายาวนาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้งที่ชาวโยรูบาก่อตั้งจักรวรรดิโอโย (Oyo Empire) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่แม้จะมีสิ่งทอที่หลากหลาย ทว่ารูปแบบที่ยังคงความนิยมมาจนถึงปัจจุบันกลับหลงเหลือไม่กี่ประเภท อะดิเรเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ควบคู่กันกับผ้าทออะโซโอเค (Aso Oke) โดยคำว่าอะดิเรในภาษาโยรูบาแปลตรงตัวได้ว่า “การมัดและย้อมสี” ซึ่งเป็นกรรมวิธีการผลิตที่สำคัญ แรกเริ่มเดิมที ชาวโยรูบารู้จักการทอผ้าจากเส้นใยที่ได้จากพืชพื้นถิ่น เช่น ต้นปาล์มแรฟเฟีย (Raffia Palm) ก่อนนำมาย้อมสีที่ได้จากธรรมชาติ สีที่ได้รับความนิยมที่สุดคือสีฟ้าและน้ำเงินจากต้นครามที่เรียกว่าเอลู (Elu)

               การผลิตผ้าเพื่อใช้ในชุมชนมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในทศวรรษที่ 1860 โลกตะวันตกในคราวนั้นเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติ อเมริกากำลังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามระหว่างดินแดนเหนือและใต้ ปัญหาที่ว่าส่งผลกระทบต่อผลผลิตฝ้าย พืชไร่ที่สร้างรายได้มหาศาลจากการใช้แรงงานทาสผิวดำ ครั้นเห็นว่าสถานการณ์ประเทศเกิดใหม่ไม่มั่นคง คู่ค้าจากแดนผู้ดีอย่างอังกฤษจึงมองหาสถานที่ลงทุนเพาะปลูกฝ้ายแห่งใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นของคนในประเทศ ในครั้งนั้น “เฮนรี จอห์น เทมเพิล (Henry John Temple)” ไวส์เคานท์พาล์เมอร์สตัน (Viscount Palmerston) นักการเมืองอังกฤษได้เสนอให้ลงทุนเพาะปลูกฝ้ายในแอฟริกาตะวันตก อังกฤษในขณะนั้นกำลังหมายตาไนจีเรียเพื่อยึดครองเป็นอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ทันทีที่ไวส์เคานท์จุดประกายความคิดใหม่ ทางการอังกฤษจึงส่งคนไปลงทุนทำไร่ฝ้ายในดินแดนโยรูบา โดยใช้กลุ่มครูสอนศาสนาเป็นฉากหน้าเพื่อแทรกซึมเข้าไปในแต่ละชุมชน

               การเข้ามาของชาวอังกฤษในครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สิ่งทอไนจีเรียตลอดกาล ชาวโยรูบาได้รู้จักผ้าฝ้ายเป็นครั้งแรก ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียดได้เข้ามาแทนที่สิ่งทอเนื้อหยาบดั้งเดิมอย่างรวดเร็ว อะเบโอคูตา เมืองหลวงของชาวเอกบาถูกเปลี่ยนให้เป็นศูนย์กลางการผลิตฝ้าย ส่งผลให้ดินแดนโดยรอบได้รับอิทธิพลจากสิ่งทอชนิดใหม่เช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านเคมตา (Kemta) ชาวเอกบาเล่าสืบต่อกันมาว่า ในครั้งนั้น “มินิยา โจโจโลลา โซเอตัน (Miniya Jojolola Soetan)” หัวหน้าตระกูลโจโจโลลา ผู้ดำรงตำแหน่งอิยาโลเด (Iyalode) หรือผู้นำฝ่ายหญิงของชุมชนเอกบาคนที่สองได้คิดค้นการทำผ้ามัดย้อมโดยใช้ผ้าฝ้ายเป็นวัสดุหลัก ผ้าอะดิเรที่เรารู้จักจึงถือกำเนิดขึ้นมาใครครานั้น

               หลังจากที่ผ้าอะดิเรได้รับความนิยมในชุมชนโยรูบา ตระกูลโจโจโลลาก็เก็บงำกรรมวิธีการผลิตเป็นความลับ โดยจะถ่ายทอดกันในหมู่สมาชิกหญิงของครอบครัวเท่านั้น ผ้ามัดย้อมถือเป็นงานที่สงวนไว้ในกลุ่มสตรี ผู้เป็นมารดามีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาให้บุตรสาวและสะใภ้ พวกหล่อนจะไม่ยอมให้บุรุษคนใดเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอันขาด แตกต่างจากการทอผ้าอะโซโอเคที่ผู้ทอส่วนมากเป็นบุรุษ อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น ตระกูลโจโจโลลาก็ไม่อาจปิดบังความลับอีกต่อไป การทำผ้ามัดย้อมจึงถูกถ่ายทอดให้สมาชิกหญิงชุมชนใกล้เคียงในเวลาต่อมา ก่อนแพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของดินแดนโยรูบา ไม่ว่าจะเป็นเมืองอิบาดัน (Ibadan) ในรัฐโอโย
(Oyo State) เมืองโอโซกโบ (Osogbo) ในรัฐโอซุน (Osun State) เป็นต้น

               การทำผ้าอะดิเรในปัจจุบันแตกต่างจากวิธีการในอดีตเป็นอย่างมาก ความต้องการที่มากขึ้นของท้องตลาดส่งผลให้ช่างฝีมือหันมาใช้อุปกรณ์ทุ่นแรงต่างๆ รวมถึงสีสังเคราะห์ที่เป็นมลพิษต่อธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ช่างฝีมือบางกลุ่มยังคงรักษากรรมวิธีดั้งเดิมเอาไว้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลไนจีเรียและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ขั้นตอนการทำผ้ามัดย้อมอะดิเรได้แก่ การคัดเลือกวัสดุ การมัดสิ่งทอ การย้อมสี การตากแห้ง การตีผ้าให้เรียบ การจัดเก็บ และการตัดเย็บให้เป็นเครื่องแต่งกาย ขั้นตอนเหล่านี้มักมีช่างผู้ชำนาญการคอยประจำในแต่ละจุด จะไม่มีการข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเพื่อความรวดเร็วเป็นอันขาด

               ในการทำอะดิเรแต่ละครั้ง ช่างฝีมือจะเตรียมเตรู (Teru) หรือผ้าฝ้ายสีขาวขนาด 5 ถึง 6 หลา อาจมีการย้อมสีผ้าก่อนหน้าตามต้องการ หลังจากนั้นช่างเริ่มทำลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมัดปมถี่ๆ เรียกว่า “โอนิคัน (Onikan)” ทำให้ผ้าเกิดลายวงหลังย้อมสี หรือการวาดลวดลายด้วยขนไก่ โดยใช้แป้งมันสำปะหลังอุ่นร้อนแทนขี้ผึ้งหรือพาราฟินที่นิยมในปัจจุบัน ช่างอาจใช้ผลน้ำเต้าแกะสลักจุ่มแป้งมันก่อนประทับลายบนผ้าแทนการใช้แม่พิมพ์ การเขียนหรือพิมพ์ลายประเภทนี้เรียกว่า “เอเลโค (Eleko)”

 

ภาพที่ 2 การวาดลายลงบนผ้าอะดิเร

แหล่งที่มา: Triplett, Lori Lee. Adire: African Indigo Resist. (2015). [Online]. Accessed 2022 Dec 22. Available from: https://www.ctpub.com/blog/adire-african-indigo-resist/

 

               เมื่อเตรียมผ้าเรียบร้อยแล้ว ช่างจะนำผ้าที่ได้จุ่มลงในสีย้อมครามผสมน้ำร้อนที่เตรียมไว้ ผ้าจะถูกแช่ทิ้งไว้เป็นเวลา 15 ถึง 30 นาที ครั้นเห็นว่าสีซึมเข้าผ้าดีแล้ว ผ้าจะถูกนำขึ้นมาผึ่งหนึ่งครั้ง ก่อนนำไปกวนน้ำเย็นเพื่อให้แป้งมันที่เคลือบลายหลุดออก ขั้นตอนเหล่านี้จะคล้ายกับการทำผ้าบาติกในภาคใต้ของไทย การทำผ้าอะดิเรสมัยใหม่อาจผสมโซเดียมซิลิเกตลงไปในสีย้อมผ้า เพื่อให้สีเคลือบเนื้อผ้าดียิ่งขึ้น

               ขั้นตอนสุดท้ายเป็นขั้นตอนที่สตรีอนุญาตให้บุรุษในครอบครัวมีส่วนร่วม นั่นคือการตีผ้าที่แห้งดีให้เรียบคล้ายการรีดด้วยเตา ชายเหล่านี้จะใช้ไม้ขนาดใหญ่ช่วยกันตีผ้าจนเรียบดี ก่อนนำผ้าที่ได้ใส่บรรจุภัณฑ์เพื่อส่งขายต่อไป ถือเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการการผลิตผ้ามัดย้อม ผ้าอะดิเรที่ได้มักถูกนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายทั้งบุรุษและสตรี นอกจากนี้ผู้หญิงโยรูบายังเพิ่มมูลค่าให้ของดีประจำถิ่น โดยนำผ้าอะดิเรมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูเตียง และคิจิปา (Kijipa) ผ้าห่อของที่นิยมใช้ในแอฟริกา

               ทุกวันนี้ ผ้าอะดิเรไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ในไนจีเรียเท่านั้น แต่ยังเป็นสินค้าส่งออกชื่อดังของดินแดนโยรูบา ชาวแอฟริกันจากประเทศต่างๆ ทั้งกานา เซเนกัล และคองโก ต่างนิยมสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากอะดิเรแบบดั้งเดิมทั้งสิ้น แม้กระทั่งลูกหลานชาวแอฟริกันพลัดถิ่นในแดนไกลยังประทับใจในลวดลายสวยงามไม่ซ้ำใครตามสไตล์ผ้ามัดย้อม ไม่ว่าจะเป็น ลูปิตา อึนยองโก (Lupita Nyong’o) นักแสดงฮอลลีวูดเชื้อสายเคนยา แม้แต่มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาล้วนสวมใส่เสื้อผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งทอโยรูบาทั้งสิ้น ชาวโยรูบาทั้งผองต่างภูมิใจในปรากฏการณ์นี้ หลังเวลาผ่านไปกว่าร้อยปี ผ้ามัดย้อมของสตรีพื้นถิ่นในตอนต้นก็มีโอกาสแพร่หลายสู่สากลในที่สุด

 

ภาพที่ 3 มิเชลล์ โอบามาในเครื่องแต่งกายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายอะดิเร

แหล่งที่มาภาพ: African Super Woman. Amaka Osakwe, The Nigerian Fashion Designer. (2018). [Online]. Accessed 2022 Dec 22. Available from: http://african-superwoman.blogspot.com/2014/11/amaka-osakwe-nigerian-fashion-designer.html

 

               เช่นเดียวกับมรดกวัฒนธรรมทั้งหลาย รัฐบาลไนจีเรียไม่ได้นิ่งนอนใจในการรักษาภูมิปัญญา ในรัฐโอกุน ต้นกำเนิดผ้ามัดย้อมอะดิเร ทางการไนจีเรียมีคำสั่งให้นักเรียนนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐ รวมถึงพนักงานราชการสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าอะดิเรอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งวัน เพื่อเป็นการกระตุ้นการผลิตระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ในดินแดนโยรูบา โรงเรียนสอนทำผ้ามัดย้อมหลายแห่งยังถูกก่อตั้งเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม แม้ว่าโลกหมุนผ่านกี่สมัย แต่ผืนผ้าที่ทำขึ้นโดยสตรีโยรูบาคงความงดงามไม่เสื่อมคลาย และครองใจคนทั่วโลกต่อไปตราบนานเท่านาน

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

Johnson, Samuel. The History of the Yorubas. London: Lowe and Brydone Ltd., 1960.

Saheed, Zakeree S. Adire Textile: A Cultural Heritage and Entrepreneurial Craft in Egbaland,

Nigeria, International Journal of Small Business and Entrepreneurship Research, Vol.1 No.1: 11 – 18. Bingley: Emerald Group Publishing Ltd., 2013.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ