หลังจากปีใหม่ผ่านพ้นไป วันสำคัญที่หลายครอบครัวรอคอยคงเป็นวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม หรือ “วันเด็ก”
เด็กไม่ว่ายุคสมัยไหนคงต้องเจอคำถามยอดฮิตที่ว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’
คำตอบสุดแสนคลาสิกตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กจนตอนนี้เป็นผู้ใหญ่ประมาณนึงจะต้องมีอาชีพ เช่น หมอ ทหาร ตำรวจ คุณครู ติดลำดับความฝันของเด็ก ๆ อยู่บ้าง แม้ปัจจุบันเด็กยุคใหม่หัวใจออนไลน์เริ่มมีไอเดียอาชีพแปลก ๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่พลอยตื่นเต้นไปด้วย เช่น เกมส์เมอร์ ยูทูปเบอร์ เป็นต้น
เมื่อนึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในฝันของเด็ก ๆ จึงนึกได้ว่าตรงถนนเสือป่า ไม่ไกลจากย่านฮอตฮิตอย่างเยาวราช มีพิพิธภัณฑ์ขนาดกะทัดรัดตั้งอยู่ตรงหัวมุมแยกถนนเสือป่า
ภาพที่ 1 พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
ตึกทรงยุโรปสีเหลืองอ่อนเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
ความรู้สึกแรกเมื่อผลักประตูเข้าไปในตึก…
ลมเย็น ๆ จากเครื่องปรับอากาศพัดปะทะใบหน้า ไล่ความร้อนอบอ้าวที่ติดตามตัวหลังจากที่เราเดินออกจาก MRT วัดมังกร แทรกตัวผ่านผู้คนมากมายหน้าวัดเล่งเน่ยยี่จนมาถึงจุดหมายปลายทาง ความสะอาดและความเงียบสงบเป็นเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ตัดความวุ่นวายจากเสียงรถราที่วิ่งสวนกันบนถนนเจริญกรุงออกไปอย่างสิ้นเชิง
แค่ตอนซื้อตั๋ว ก็รู้สึกเหมือนกำลังย้อนเวลากลับไปโรงหมอเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีกว่าจริงๆ…
ภาพที่ 2 ตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลินเริ่มต้นเล่าถึงการแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทยช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคณะนักสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ชาวเยอรมันและชาวอังกฤษเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพร้อมกับนำวิทยาการการแพทย์ตะวันตกเข้ามา ในช่วงแรกคณะนักสอนศาสนาเพียงแจกจ่ายยาให้กับประชาชนแต่ยังไม่มีการปฏิบัติการทางการแพทย์ กระทั่งปี พ.ศ. 2377 ดร.แดเนียล บรัดเลย์ และ ดร.เรย์โนลต์ เฮ้าส์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันได้เริ่มปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยเปิดร้านขายยาพร้อมทั้งให้บริการวินิจฉัยและรักษาโรค และกลายเป็นต้นแบบของคลินิกรักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน
ต่อมาคลินิกแพทย์เอกชนเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2432 เมื่อมีผู้ประกอบธุรกิจเริ่มเปิดร้านขายยากมากขึ้น เช่น ห้างขายยาเต็กเฮงหยูแถวสำเพ็งของนายแปะลิ้ม โอสถานุเคราะห์ ห้างขายอังกฤษ (ตรางู) แถวบริเวณสี่กั๊กพระยาศรีของหมอโธมัส เฮส์ ขณะเดียวกันเริ่มมีการก่อตั้งโอสถศาลา สังกัดกรมพยาบาลในปี พ.ศ.2444
เรื่องราวของคุณหมอชัย ไชยนุวัติ ผู้ก่อตั้งห้างขายยาเบอร์ลินกับการแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทยเริ่มต้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยนายตงหยง แซ่ไซ้ บิดาของคุณหมอชัย เป็นคนเชื้อสายจีนแคะจากเมืองกว่างโจว ประเทศจีน ได้แต่งงานกับสาวไทยและลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวไชยนุวัติในประเทศไทย แม้จะสร้างครอบครัวและทำมาหากินในประเทศไทย แต่นายตงหยงไม่เคยลืมแผ่นดินเกิด เขาจึงตั้งใจส่งลูก ๆ ไปพักอาศัยกับญาติที่เมืองจีน คุณหมอชัย ไชยนุวัติ ลูกชายคนที่สองจึงถูกส่งไปเรียนมัธยมศึกษาที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ภาพที่ 3 ห้องจัดแสดงประวัติของคุณหมอชัย ไชยนุวัติ
ชีวิตในวัยเด็กของคุณหมอชัยค่อนข้างลำบากเนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน รวมทั้งการได้เห็นพี่ชายเสียชีวิตจากโรคไทฟอยด์จึงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้คุณหมอชัยในวัยหนุ่มมุ่งมั่นในการเรียนแพทย์ กระทั่งสอบได้ทุนเข้าเรียนที่ Tongji German Medical School (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยถ่งจี้ Tongji University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่มีโปรเฟสเซอร์เป็นชาวเยอรมันทั้งหมด
ภาพที่ 4 ตำราการแพทย์
ห้องจัดแสดงนิทรรศการพาไปทำความรู้จักคุณหมอชัย ไชยนุวัติตั้งแต่ชีวิตครอบครัวจนสำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียนดีเยี่ยมในปี พ.ศ. 2475 คุณหมอชัยปฏิเสธการทาบทามจากโปรเฟสเซอร์หัวหน้าที่เสนอให้เป็นอาจารย์ด้านการแพทย์ที่ประเทศจีน เนื่องจากมีปณิธานแน่วแน่ที่จะกลับมารักษาคนไข้ที่ประเทศไทย
เราพยายามจิตนาการตามว่าการที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศตามลำพัง เล่าเรียนวิชาการแพทย์ (ที่สมัยนี้แม้จะมีเทคโนโลยีต่างๆ ในการช่วยให้เข้าถึงการเรียนได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้ความพยายามในการเรียนมากอยู่ดี) จะต้องใช้ความมุมานะอุตสาหะเพียงใดถึงจะเรียนจนสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยม ยังไม่รวมถึงการใช้ชีวิตในต่างแดน การปรับตัวเข้ากับผู้คนต่างเชื้อชาติต่างภาษา รวมทั้งความเหงาจากการไกลจากครอบครัวที่ตอนนั้นคงติดต่อกันได้เพียงแค่จดหมาย ทำให้เรานับถือใจว่าคุณหมอชัยคงต้องพยายามอย่างหนักในทุกด้านกว่าจะสำเร็จการศึกษา
เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว คุณหมอชัยจึงได้เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นคลินิกเอกชนแห่งแรกๆ ในย่านถนนเจริญกรุง - เยาวราช ที่ทำการรักษาคนไข้ทั่วไปใช้ชื่อว่า ‘ห้างขายยาเบอร์ลิน’ เพื่อเป็นการระลึกถึงโปรเฟสเซอร์ชาวเยอรมันที่สอนวิชาความรู้
ภาพที่ 5 จำลองคลินิกรักษาคนไข้
คุณหมอชัยในความทรงจำของคนไข้เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับการรักษาคนไข้ โดยหลายครั้งไม่คิดค่ารักษา บางครั้งแถมเงินค่ารถกลับไป ด้วยความเมตตาและฝีมือการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รวมทั้งการมีสูตรยาที่ดีทำให้ชื่อเสียงของคุณหมอชัยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่คนจีนย่านนี้ที่ต่างเรียกคุณหมอว่า หมอแป๊ะลิ้ม (เพี้ยนมาจากหมอเบอร์ลิน)
พิพิธภัณฑ์จำลองคลินิกของคุณหมอชัยที่ในอดีตได้ใช้พื้นที่บริเวณชั้นสองของตึกเป็นห้องตรวจและห้องทำงาน โดยคนไข้จะต้องไปนั่งรอตรวจที่ชั้นสอง เมื่อตรวจเสร็จแล้วคนไข้จะนำใบสั่งยามาให้ผู้ช่วยปรุงยาที่ชั้นล่างเพื่อจ่ายยา
นิทรรศการพาเราไปทำความรู้จักห้องปรุงยาขนาดกระทัดรัด สมัยนั้นยาส่วนมากเป็นยาน้ำ คุณหมอชัยจะบดยาด้วยโกร่งให้ละเอียด ชั่งแบ่งเป็นซอง ๆ ให้คนไข้นำไปเติมน้ำเอง เช่น ยาซัลฟาไดอะซีน (ยาฆ่าเชื้อ) ยาลดไข้ หรือสั่งเป็นยาน้ำ ยาที่ห้างขายยาเบอร์สินจ่ายให้คนไข้ในยุคนั้นสั่งนำเข้าหัวเชื้อจากต่างประเทศ แล้วจึงนำมาผสมกับสูตรของตนเองเพื่อใช้เป็นยาในการรักษาคนไข้
ภาพที่ 6 อุปกรณ์ปรุงยา
คุณหมอชัยอุทิศตนเพื่อการรักษาคนไข้มาตลอดเกือบทั้งชีวิต กระทั่งเมื่อมีอายุมากขึ้นแล้วจึงเริ่มคิดถึงการสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว ในปี พ.ศ. 2497 จึงก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขายยาเบอร์ลินขึ้นในตึกเดียวกัน เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในสูตรยาที่ดี ยาที่ผลิตในยุคแรก ได้แก่ ยานีโอโทนิน ยาหม่องเบอร์ลินตราเทวดาเป่าขลุ่ย ซึ่งเป็นยาที่มีสรรพคุณในการเจริญอาหาร ยาแก้ไอน้ำดำฮุสโตนิน เป็นต้น
ในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ คุณหมอชัยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะผลิตยาที่ดีในราคายุติธรรมจะต้องประสบความสำเร็จในสักวันหนึ่ง จึงทำให้คุณหมอชัยและครอบครัวยังคงมุ่งมั่นใจการประกอบผลิตยาธุรกิจยาพร้อมกับการรักษาคนไข้
ภาพที่ 7 ก้าวสู่ธุรกิจผลิตยา
เราใช้เวลาย้อนอดีตไปกับเส้นทางชีวิตของคุณหมอชัย ไชยนุวัติ และเรื่องราวของยาเพียงไม่นาน
ทว่าความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนไข้ของคุณหมอกลับทำให้ตกผลึกกับตัวเองได้ว่า ไม่ว่ายุคสมัยไหน หรือทำอาชีพอะไร ความตั้งใจทำด้วยเจตนารมณ์ที่ดี การเรียนรู้และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคยังเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุดเช่นเดียวกับธุรกิจขายยาของคุณหมอชัยเติบโตขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันยาของห้างขายยาเบอร์ลิน อยู่ภายใต้การผลิตและการบริหารจัดการของบริษัท เบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี้ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาสามัญชั้นนำของประเทศ
ในโลกที่เชื่อมต่อทุกอย่างแค่เพียงปลายนิ้ว การเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและรวดเร็วกับภาพความสำเร็จที่ถูกประกาศในสื่อต่าง ๆ ที่ทำให้คนภายนอกเห็นเพียงผลลัพธ์สุดท้าย เรื่องราวของคุณหมอชัยในพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลินจึงเป็นภาพฉายขององค์ประกอบความสำเร็จที่ชัดเจน และห่างไกลคำว่า ‘รวดเร็ว’ จึงเป็นสถานที่ที่เราอยากแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาเยี่ยมชม เสร็จแล้วจะเดินไปหาของอร่อยทานต่อที่ถนนเยาวราช ก็นับเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่อิ่ม อร่อยและมีความรู้ดี
พิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน ตั้งอยู่ ณ หัวมุมถนนเสือป่า เปิดให้บริการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่ 08.30 - 16.30 น. สามารถเดินทางโดย MRT ลงที่สถานีวัดมังกร ทางออก 3 เดินผ่านวัดเล่งเน่ยยี่ประมาณ 200 เมตร เกือบถึงทางแยกถนนเสือป่า
ข้อมูลอ้างอิง
นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน
www.berlinpharmaceutical.com