Museum Core
ยาน เดาดู: คนชายขอบในกรอบวัฒนธรรม
Museum Core
20 ก.พ. 66 1K

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               แรงงานต่างด้าว คนพิการ คนไร้สัญชาติ... คนเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวคนชายขอบ กลุ่มคนเปราะบางที่มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบริการของรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิ์ที่พึงมีอาจมีรากฐานมาจากอคติของคนในสังคม ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงข้อจำกัดทางร่างกายทำให้คนหมู่มากเลือกที่จะปฏิบัติกับคนแปลกแยกอย่างเลวร้าย กลายเป็นการผลักไสคนที่ควรเป็นวงในออกสู่ “ชายขอบ” ของสังคม อย่างไรก็ตาม อคติที่มีต่อคนชายขอบบางพื้นที่ฝังรากลึกจนเกินเยียวยา แม้ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมมาช้านาน แต่พวกเขากลับไม่เคยได้รับการคุ้มกันจากภาครัฐ หรือแม้แต่อิสระในการใช้ชีวิต คนกลุ่มนี้คือ “ยาน เดาดู (Yan Daudu)” กลุ่มชายที่แต่งกายและแสดงออกคล้ายผู้หญิง ยาน เดาดูคือใคร และเพราะเหตุใดกลุ่มคนที่ยึดถือในขนบโบราณจึงถูกผลักไสให้ออกห่างจากชุมชนทุกขณะ เราจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

               ยาน เดาดู คือชื่อเรียกกลุ่มคนใน “ชุมชนเฮาซา (Hausa)” หนึ่งในชาติพันธุ์เก่าแก่ที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก แรกเริ่มเดิมที ชาวเฮาซาอาศัยใกล้ทะเลสาบชาด (Lake Chad) ในแอฟริกากลาง ก่อนอพยพลงใต้เพื่อเสาะหาดินแดนที่อุดมสมบูรณ์กว่า ชาวเฮาซาตั้งรกรากอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรียและตอนใต้ของประเทศไนเจอร์ แม้ที่ตั้งแดนเฮาซาที่แห้งแล้งจะไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกเหมือนที่ราบลุ่มทางตอนใต้ ทว่า “เฮาซา บาไคว (Hausa Bakwai)” หรืออาณาจักรเฮาซาทั้งเจ็ดมีทำเลบนเส้นทางการค้าที่สำคัญ คาราวานสินค้าจากแอฟริกาเหนือที่เดินทางข้ามผ่านทะเลทรายจำเป็นต้องผ่านเส้นทางนี้เพื่อลงใต้ ชาวเฮาซาจึงเปลี่ยนเมืองน้อยใหญ่ให้กลายเป็นสถานีการค้าเต็มรูปแบบ การติดต่อกับพ่อค้าและครูสอนศาสนาจากแอฟริกาเหนือส่งผลให้ชาวเฮาซาหันมานับถือศาสนาอิสลาม และพวกเขายังคงยึดถือปฏิบัติเช่นนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

 

ภาพที่ 1 ชาวเฮาซาในปัจจุบัน
แหล่งที่มาภาพ: Mutuku, Ryan. Hausa: history, traditions, dressing, food, interesting facts. (2020). [Online]. Accessed 2023 Jan 5. Available from: https://yen.com.gh/171329-hausa-history-culture-traditions-dressing-food-interesting-facts.html

 

               ศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญในชุมชนเฮาซามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 อย่างไรก็ดี ก่อนการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวเฮาซายังคงยึดถือขนบธรรมเนียมโบราณของชนเผ่าควบคู่กับหลักปฏิบัติในศาสนาใหม่ เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ ในแอฟริกา ชาวเฮาซาเคยบูชาเทพเจ้าและจิตวิญญาณธรรมชาติ หนึ่งในลัทธิที่สำคัญที่พวกเขานับถือคือ “โบรี (Bori)” ลัทธิโบรีมีประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นระบำหน้ากากที่เชื่อมโลกมนุษย์และวิญญาณ การบูชารูปเคารพต่างๆ และเนื่องจากลัทธิดังกล่าวเป็นพหุเทวนิยม สาวกโบรีจึงบูชาเทพเจ้ามากมายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ หนึ่งในเทพองค์สำคัญของลัทธิโบรีมีนามว่า “ดาน กาลาดิมา (Dan Galadima)” ชาวเฮาซาเชื่อว่า ดาน กาลาดิมาคือเทพบุตรหนุ่มเจ้าสำราญ พระองค์เป็นเทพแห่งการพนันและความสนุกสนาน จึงไม่น่าแปลกใจที่ดาน กาลาดิมาจะได้รับการนับถือจากสตรีขายบริการ รวมถึงยาน เดาดู กลุ่มบุรุษที่มีเพศสภาพเป็นชาย แต่เลือกที่จะแต่งกาย พูดจา และดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับผู้หญิง

 

ภาพที่ 2 ยาน เดาดูในดินแดนเฮาซา
แหล่งที่มาภาพ: Mark, Monica. Nigeria's Yan Daudu Face Persecution in Religion Revival. (2013). [Online]. Accessed 2023 Jan 5. Available from: https://www.theguardian.com/world/2013/jun/10/nigeria-yan-daudu-persecution

 

              ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดถึงที่มาของยาน เดาดูในชุมชนเฮาซา ทว่าในลัทธิโบรี คนกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญมาช้านาน คำว่า ยาน เดาดู มีความหมายตรงตัวว่า บุตรแห่งเดาดู ซึ่งเป็นหนึ่งในนามของดาน กาลาดิมา ความเชื่อมโยงระหว่างเทพเจ้าโบราณและกลุ่มเพศวิถีนอกขนบแสดงให้เห็นว่า ยาน เดาดูอยู่คู่ชุมชนเฮาซาก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม แตกต่างจากฮิชระ (Hijra) บุรุษที่ถูกตอนหรือเกิดมามีอวัยวะเพศกำกวมในเอเชียใต้ ชายทั้งหลายเลือกที่จะเป็นยาน เดาดูด้วยความสมัครใจ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักร่วมเพศเสมอไป ยาน เดาดูเพียงแค่ชอบใจในวิถีของสตรี คนกลุ่มนี้อาจประกอบอาชีพขายอาหารทานเล่น หรือร้องรำทำเพลงตามงานเทศกาล ในชุมชนโบราณ ยาน เดาดูมีภาพลักษณ์สนุกสนาน พวกเขาจึงได้รับการต้อนรับจากผู้คนทั่วไป

               อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามได้เปลี่ยนแปลงชุมชนเฮาซาตลอดกาล ชาวมุสลิมที่เคร่งครัดแบ่งบทบาทของเพศชายและหญิงอย่างชัดเจน บุรุษเกิดมาเพื่อทำงานหนัก ในขณะที่สตรีมีหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัว การแบ่งหน้าที่เช่นนี้ทำให้กลุ่มคนที่ติดอยู่ตรงกลางอย่างยาน เดาดูไม่รู้ว่าควรหันหน้าไปพึ่งใคร กลุ่มคนที่ถูกผลักไสจึงหันไปรวมกลุ่มกับเหล่า “คารุไว (Karuwai)” หรือหญิงโสเภณี ยาน เดาดูและคารุไวอาศัยในคารุวานซี (Karuwanci) สถานเริงรมย์ที่ตั้งอยู่รอบนอกของเมืองใหญ่ ในชุมชนโบราณอย่างเฮาซา สตรีและกลุ่มเพศวิถีนอกขนบไม่มีโอกาสในการประกอบอาชีพเหมือนคนทั่วไป ผู้หญิงที่ไม่มีชายใดคุ้มครองจึงไม่มีทางเลือกนอกจากขายบริการหาเลี้ยงชีพ หญิงเหล่านี้มักว่าจ้างยาน เดาดูให้เป็นผู้ดูแลความปลอดภัย รวมถึงเป็นคนกลางในการต่อรองราคากับลูกค้า ยาน เดาดูบางส่วนจึงผันตัวมาเป็นนายหน้าค้าบริการทางเพศ ในขณะที่อีกหลายคนหันมาเป็นโสเภณีชายรับลูกค้าเช่นเดียวกับคารุไวทั้งหลาย

               คารุวานซีมีชื่อเสียงทางลบในชุมชนเฮาซา นอกจากการค้าบริการทางเพศแล้ว สถานที่ดังกล่าวยังถูกมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุมของ “มาสุ ฮาร์คา (Masu Harka)” หรือกลุ่มคนรักร่วมเพศทั้งชายหญิง เนื่องจากไร้สามีให้พึ่งพิง ยาน เดาดูและคารุไวจึงมีรายได้หลักมาจากเงินทองและของขวัญที่ “ยาน อาราส (Yan Aras)” หรือคู่รักชายนำมาให้ บางครั้งยาน เดาดูก็เรียกชายเหล่านี้ว่า “มิจิ (Miji)” ที่แปลว่าสามีของตน ในทางกลับกัน พวกเขายังปฏิบัติหน้าที่บุรุษเพศตามกฎเกณฑ์ของสังคม ยาน เดาดูมากมายมีลูกเมียเช่นเดียวกับชายทั้งหลาย พวกเขาใช้นามบุรุษนอกกำแพงคารุวานซี ทว่าในซ่องโสเภณี ยาน เดาดูมักมีชื่อที่ใช้ในวงการ รวมถึงคำนำหน้านามเยี่ยงสตรีเช่น “ฮะจิญะ (Hajiya)” ที่แปลว่า สตรีที่เคยทำพิธีฮัจญ์ที่มักกะ เป็นต้น

               การณ์ดำเนินไปเช่นนั้นจนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดินแดนเฮาซาลุกเป็นไฟจากการรุกรานของ “ชาวฟูลานี (Fulani)” ชนเผ่าเพื่อนบ้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน ในครั้งนั้น “อุสมาน ดาน โฟลิโอ (Usman Dan Folio)” ผู้นำฟูลานีได้ประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์กับอาณาจักรเฮาซา อุสมานใช้ข้ออ้างในการรุกรานว่าวัฒนธรรมเฮาซาที่ผสมผสานหลักอิสลามเข้ากับความเชื่อท้องถิ่นไม่ใช่รัฐอิสลามที่แท้จริง สงครามในครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของทัพฟูลานี อุสมานได้ก่อตั้ง “รัฐเคาะลีฟะฮ์โซโคโต (Sokoto Caliphate)” ขึ้นในปีค.ศ. 1804 ดินแดนเฮาซาจึงถูกปฏิรูปศาสนาในครานั้น หลักปฏิบัติอิสลามทวีความเคร่งครัดยิ่งกว่าเก่า วิถีดั้งเดิมอย่างโบรีถูกทำลาย ยังผลให้สถานะของยาน เดาดูตกต่ำ เนื่องจากชุมชนมุสลิมเคร่งศาสนาไม่มีจุดยืนให้กลุ่มเพศนอกวิถี แตกต่างกับลัทธิโบรีที่เคยเฟื่องฟูในอดีต

               การเข้ามาของชาวอังกฤษปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ คนขาวที่ต้องการครอบครองดินแดนนี้ผูกมิตรกับผู้นำมุสลิมในชุมชน คนเหล่านั้นให้ความช่วยเหลือเหล่าผู้นำในการปราบปรามความเชื่อนอกรีตและกลุ่มเพศนอกวิถี ยาน เดาดูบางส่วนต้องหลบหนีลงใต้เพื่อเสาะหาที่หลบภัย ในขณะที่หลายคนต้องเก็บซ่อนตัวตนภายใต้หน้าฉากบุรุษ กระทั่งหลังไนจีเรียประกาศเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1960 ยาน เดาดูก็ยังคงถูกสังคมรุมประณาม ชาวคริสต์ทางตอนใต้ต่อต้านเพศทางเลือกอย่างเปิดเผย ในขณะที่ผู้นำมุสลิมทางตอนเหนือต่างผลักดันหลักชะรีอะห์ (Shariah) หรือกฎหมายอิสลามให้เป็นกฎหมายประจำรัฐ ความพยายามดังกล่าวประสบผลสำเร็จในปีค.ศ. 1999 เมื่อ 12 รัฐทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรียประกาศใช้กฎหมายชะรีอะห์ในระบบยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายอิสลามทำให้กลุ่มเพศนอกวิถีถูกคุกคามทั้งจากภาครัฐและชุมชน ยาน เดาดูหลายคนถูกบังคับให้หนีตายออกนอกประเทศ มิเช่นนั้นพวกเขาอาจถูกตำรวจจับกุม หรือที่เลวร้ายกว่านั้น ชาวบ้านอาจทำร้ายคนเหล่านี้จนถึงตายโดยไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

 

ภาพที่ 3 แผนที่แสดงตำแหน่ง 12 รัฐในไนจีเรียที่บังคับใช้กฎหมายชะรีอะห์
แหล่งที่มาภาพ: World Watch Monitor. Nigeria churches unite for first time to address violence in north. (2016). [Online]. Accessed 2023 Jan 5. Available from: https://www.worldwatchmonitor.org/2016/02/nigeria-churches-unite-for-first-time-to-address-violence-in-north/

 

 

               ในปีค.ศ. 2013 รัฐบาลไนจีเรียประกาศให้ความสัมพันธ์และกิจกรรมรักร่วมเพศทั้งหมดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้ว่ายาน เดาดูมากมายจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ ทว่าภาพลักษณ์ของโสเภณีชายในคารุวานซีก็ทำให้ผู้คนกีดกันยาน เดาดูออกห่างจากสังคม ยาน เดาดูจำนวนมากต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไนเจอร์และชาด ทว่าบางส่วนยังคงยืนกรานที่จะอาศัยในไนจีเรียต่อไป พวกเขาเชื่อว่าสักวันหนึ่ง แผ่นดินเฮาซาที่เคยเป็นบ้านของตนจะเปิดรับคนชายขอบให้กลับมาเป็นสมาชิกชุมชนอีกครั้ง แม้ว่าความหวังนี้จะดูราวกับไม่มีวันเป็นไปได้ ทว่าชาวไนจีเรียรุ่นใหม่ต่างหันมาทำความเข้าใจกับกลุ่มคนในวัฒนธรรมดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น เราจึงได้แต่หวังว่า สถานะของยาน เดาดู บุรุษเพศที่เลือกวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีจะถูกฟื้นฟูกลับฟื้นคืนเหมือนเก่า เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจ ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนเฮาซามาแต่ครั้งโบราณ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Murray, Stephen O. and Roscoe, Will (Editors). Boy Wives and Female Husbands: Studies in African

Homosexualities. Albany: State University of New York Press, 1998.

Ouzgane, Lahoucine and Morrell, Robert (Editors). African Masculinities: Men in Africa from the Late

Nineteenth Century to the Present. London: Palgrave Macmillan, 2005.

Pierce, Steven. Identity, Performance, and Secrecy: Gendered Life and the "Modern" in Northern

Nigeria, Feminist Studies Vol. 33 (3): 539 – 565. College Park: Feminist Studies, Inc. 2007.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ