อาดัมกับอีฟ มนุษย์คู่แรกของโลกอาศัยอยู่ที่ ‘สวนอีเดน’ ตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ในศาสนายูดาย จนสืบทอดมาถึงศาสนาคริสต์ และอิสลาม
สวนอีเดนที่ว่าคือ ‘โลกในอุดมคติ’ เพราะอาดัมกับอีฟยังไม่มีบาปจนกระทั่งถูกซาตานล่อลวงไปกินผลแอปเปิ้ล (แท้จริงแล้วตามเอกสารเก่าระบุว่าเป็นลูก figue ซึ่งควรหมายถึง มะเดื่อ มากกว่าเป็นแอปเปิ้ล) ที่พระยะโฮวาห์สั่งห้ามไว้จนต้องถูกเนรเทศออกมาจากสวนอีเดน หรือโลกในอุดมคติที่ว่า ศาสนสถานของอิสลามทุกวันนี้ ยังต้องจำลองสวนอีเดนไว้ทางด้านหน้าอาคารประธาน ด้วยการจำลองแม่น้ำสี่สายสบกันเป็นรูปกากบาทตามความเชื่อในศาสนา
ภาพที่ 2: พระคริสต์ในรูปลักษณ์ของชาวสวน กับแมรี่ แมกดาลีน
ภาพคัมภีร์ไบเบิล ฉบับ ค.ศ. 1405
แหล่งที่มาภาพ: https://artandtheology.org/2016/04/05/she-mistook-him-for-the-gardener/
แต่บางที ‘สวน’ ก็ไปอยู่ใน ‘โลกบาดาล’ (ซึ่งก็คือโลกของคนตายที่พัฒนาไปเป็นความเชื่อเรื่องนรก) ได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในโลกของพวกกรีกโบราณคำว่า ‘ฮาเดส’ (Hades) นอกจากหมายถึงตัวมหาเทพผู้ปกครองนรกเองแล้วยังหมายถึงตัวขุมนรกอีกด้วย
ในภาษากรีกโบราณ ‘ฮาเดส’ แปลว่า ‘ที่ไม่เคยพบเห็น’ ประมาณว่า unseen แสดงว่าโลกของคนตายสำหรับชาวกรีกก็คือโลกที่คนเป็นไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่นรกฮาเดสของกรีกที่ฟังเผินๆ อาจนึกถึงสถานที่คล้ายกับทัณฑสถานเหมือนนรกในวัฒนธรรมอื่นๆ นั้น กลับมีสถานที่ชวนรื่นรมย์อยู่ด้วย คือทุ่งหญ้าที่มีชื่อว่า ‘อีลีเซียม’ (Elysium/ Elysian field) ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนอันเป็นนิรันดร์ของวีรบุรุษผู้กล้า
หน้าตาของทุ่งอีลีเซียมก็คล้ายกับอุทยานอันสุขสงบ โดยนัยยะแล้ว ‘อุทยาน’ หรือ ‘สวน’ ก็คือ ‘สวรรค์’ นั่นเอง
คำว่า paradise แปลว่าสวรรค์ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากคำกรีกที่ยืมคำเปอร์เซียมาอีกทอดหนึ่ง โดยอาจสังเกตได้ว่าชาวมุสลิม (ซึ่งอยู่ในขอบข่ายวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับพวกเปอร์เซียน) เมื่อสิ้นชีวิตวิญญาณจะเดินทางไปสู่สถานที่ที่เรียกว่า painidaiza แปลว่า สถานที่ปิดล้อมด้วยกำแพง กรีกรับมาใช้พูดว่า paradeisos แต่แปลว่า park คือ สวน ศัพท์คำนี้เป็นรากให้กับคำว่า paradis ในภาษาฝรั่งเศส และ paradise ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่คำว่าอีลีเซียมจะเป็นที่มาของชื่อถนนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกสายหนึ่งคือ ถนนฌอง เอลิเซส์ ในนครปารีส
ภาพที่ 3: ประติมากรรมรูปเทพเจ้าฮาเดส สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 2
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Hades
ในไทยเองก็มีเรื่องของ ‘สวน’ ในความหมายทำนองนี้อยู่เหมือนกัน ดังเห็นได้จาก ‘พระพิราพ' เป็นที่เคารพบูชายิ่งในฐานะที่เป็น ‘ครู’ นาฏศิลป์ที่มีอิทธิฤทธิ์ มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ และดุร้ายน่าเกรงกลัวที่สุดในบรรดาครูทั้งหลายที่อยู่ในพิธีไหว้ครูโขนละคร แต่เรื่องของพระพิราพกลับถูกเล่ากันแบบปากต่อปากด้วยความสงสัยใจทั้งตัวผู้เล่า และตัวผู้ฟังเองว่า พระพิราพท่านเป็นแค่ ‘ยักษ์เฝ้าสวน’ เท่านั้น
ความจริงเรื่องราวในรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 กล่าวเอาไว้ว่าพระอิศวรได้ประทานสวนให้พระพิราพ ดังนั้นพระพิราพจึงไม่ได้เป็นยักษ์เฝ้าสวน แต่เป็นเจ้าของสวนที่มีบริวารคอยดูแลรับใช้อยู่ด้วยต่างหาก
รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เล่มเดิมยังบรรยายไว้ด้วยว่า สวนของพระพิราพปลูกต้น ‘ชมพู่พวาทอง’ ความตอนนี้ไม่มีในรามายณะฉบับอินเดีย โดย ‘ชมพู่’ ในที่นี้เป็นโวหารของกวีที่เล่นกับศัพท์คำว่า ‘ชมพู’ หมายถึง ‘ชมพูทวีป’ ซึ่งหมายถึงโลกนั่นเอง
ที่สำคัญคือคำว่า ‘พวา’ ตามคำอธิบายในหนังสือ ต้นไม้ในวรรณคดี ของปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชพรรณต่างๆ อย่าง หลวงบุเรศ บำรุงการ ผู้ล่วงลับ ท่านว่า ‘พะวา’ (พวา) คือ ‘ต้นหว้า’ และคำว่า ‘ชมพูทวีป’ ก็แปลว่า ‘ทวีปแห่งต้นหว้า’ อีกด้วยต่างหาก
‘สวน’ ของพระพิราพในรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 จึงเป็นโลกจำลองที่เต็มไปด้วย ‘ต้นหว้า’ สัญลักษณ์ของ ‘ชมพูทวีป’ ซึ่งเป็นโลกในอุดมคติของทั้งชาวพุทธ และพวกพราหมณ์ ‘พระพิราพ’ จึงไม่ใช่ยักษ์กระจอกที่ไหน แต่เป็นผู้ปกครองสวนคือ ‘โลก’
ในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลกนั้น จึงมักใช้ ‘สวน’ เป็นสัญลักษณ์ของ ‘โลกในอุดมคติ’ ซึ่งก็รวมถึงไทยด้วย
ภาพที่ 4: พระพิราพในสวนชมพู่พวาทอง ภาพจิตรกรรมในระเบียงคต วัดพระแก้วมรกต