Museum Core
พระศรีสรรเพชญดาญาณ พระพุทธรูปแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ
Museum Core
20 มี.ค. 66 13K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดหลวงประจำพระราชวังของกรุงศรีอยุธยา มีข้อความพระราชพงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.  1977 หรือเมื่อเกือบ 600 ปีที่แล้ว

               พระราชพงศาวดารยังระบุเอาไว้ด้วยว่า พื้นที่บริเวณที่เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน คือพระราชวังของช่วงยุคต้นกรุงศรีอยุธยามาแต่เก่าก่อน เพราะแต่เดิมเมืองมีขนาดเล็ก พระราชวังก็เลยมีขนาดเล็กตามไปด้วย

               แต่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาไม่ใช่เมืองขนาดเล็กเหมือนเมื่อยุคก่อนหน้าอีกแล้วนะครับ เพราะกำลังเติบโตเป็นมหานครที่มีพ่อค้าวานิช และคนหลายกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้า ซึ่งทำให้มีการติดต่อคมนาคมอย่างพลุกพล่าน ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับปรุงและขยับขยายพระราชวังให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

               ดังนั้น จึงต้องมีการขยายขนาดของพระราชวัง และได้ย้ายพระราชวังไปอยู่ใกล้แม่น้ำลพบุรีทางตอนเหนือของพระนครก็เพิ่มความสะดวกสบายให้กับพระมหากษัตริย์ในการคมนาคม เพราะง่ายต่อการเสด็จทางชลมารคไปยังเมืองอื่นๆ

               แต่การย้ายพระราชวังไปทางเหนือนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทอดทิ้งบริเวณที่เป็นพระราชวังมาแต่เดิม หากแค่เป็นการขยับขยายให้พระราชวังกว้างขวางยิ่งขึ้น บริเวณที่เป็นพระราชวังเดิมนั้นก็ยังนับอยู่ในเขตพระราชวังที่ถูกขยับขยายขึ้นใหม่ เพียงแค่ถวายให้เป็นที่วัด และนี่คือที่มาของการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังแห่งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

              ก่อนหน้าสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏว่ามีวัดเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง เพราะศูนย์กลางของเมืองแต่เดิมก็คือวัดโดยเฉพาะวัดมหาธาตุ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหลายๆ เมืองสำคัญในเขตพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยและปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช เป็นต้น สมัยก่อนหน้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นกรุงศรีอยุธยาก็มีวัดมหาธาตุเป็นหลักของเมืองเช่นกัน

             วัดพระศรีสรรเพชญ์จึงเป็นวัดสำคัญของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ​เช่น พระราชพิธีถือน้ำพระพัทธ์สัตยา (ที่เรียกว่า ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นความเข้าใจผิดในสมัยหลัง) เป็นต้น ทั้งยังเป็นต้นแบบของวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานที่ในยุคสมัยต่อมาคือกรุงรัตนโกสินทร์ นำมาใช้เป็นแบบอย่างในการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกตขึ้นเมื่อแรกสร้างพระนครด้วย

 

ภาพที่ 1: วัดพระศรีสรรเพชญ์

แหล่งที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/

 

               พระพุทธรูปประธานของวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงของวัด มีพระนามว่า ‘พระศรีสรรเพชญดาญาณ’ ซึ่งหมายความว่า ผู้มีญาณแห่งพระสรรเพชญ์ มีญาณหยั่งรู้ในทุกสิ่ง และนับได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงศรีอยุธยาไม่ต่างไปจากพระแก้วมรกตของยุคกรุงเทพฯ

               มีประวัติเล่าว่ารัชกาลที่ 1 ได้นำพระศรีสรรเพชญดาญาณมาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่พระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ได้รับความเสียหายอันเป็นผลจากสงครามในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงได้มีพระราชปุจฉาไปยังสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นว่าควรนำมาบูรณะซ่อมแซมให้เหมือนเดิมหรือไม่?

               สมเด็จพระสังฆราชตอบกลับว่าตามธรรมเนียมโบราณไม่มีการบูรณะพระพุทธรูปสำคัญ รัชกาลที่ 1 จึงทรงนำซากของพระศรีสรรเพชญดาญาณ ไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ แล้วสร้างเจดีย์ครอบเอาไว้

                เจดีย์องค์ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า ‘พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ’ โดยถือกันว่าเป็นเจดีย์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 1 ที่วัดโพธิ์ อันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวังสมัยกรุงเทพฯ และเกิดเป็นธรรมเนียมการสร้างเจดีย์ประจำพระองค์ของกษัตริย์ยุครัตนโกสินทร์ที่ได้กระทำติดต่อกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4

               แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เสนอว่า เศียรพระพุทธรูปสำริดองค์หนึ่งที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนกลาง และมีประวัติจากทะเบียนของกรมศิลปากรระบุว่า ได้มาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ประกอบกับเศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับขนาดของพระศรีสรรเพชญดาญาณตามที่มีข้อมูลระบุไว้ในพระราชชพงศาวดาร ดังนั้น เศียรพระพุทธรูปองค์นี้จึงควรเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ

              แน่นอนว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่ไม่เห็นด้วย เฉพาะผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีทั้งที่กังขาว่าพระศรีสรรเพชญดาญาณนั้นควรจะถูกครอบอยู่ในเจดีย์ที่วัดโพธิ์ ดังประวัติที่เล่าให้ฟังข้างต้น และผู้ที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องของขนาดของพระพุทธรูป รวมไปถึงประเด็นของอายุสมัยเมื่อกำหนดอายุจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

              แต่ไม่ว่าเศียรพระพุทธรูปสำริดดังกล่าวจะเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณหรือไม่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณนั้นเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงศรีอยุธยาในยุคเรืองรองของราชวงศ์สุพรรณภูมิ

 

ภาพที่ 2: เจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ

แหล่งที่มาภาพ: https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_717730

 

 

ภาพที่ 3: เศียรพระพุทธรูปสำริด ที่มีผู้เสนอว่าคือเศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณ

แหล่งที่มาภาพ: https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_717730

 

 

               ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกปกครองโดยราชวงศ์สุพรรณภูมินั้น กรุงศรีอยุธยาก็มี ‘ราชวงศ์อู่ทอง’ ปกครองมาก่อน และดูเหมือนว่าจะมีพระพุทธรูปสำคัญประจำราชวงศ์ คือ พระธรรมิกราช


               พระธรรมมิกราช’ เป็นพระพุทธรูปสำริด ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในวัดธรรมมิกราช ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนเศียร ศิลปะอู่ทอง ยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา หรือก่อน พ.ศ. 1893 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระวรกายเบื้องล่างตั้งแต่พระศอ (คอ) ลงไปเป็นงานก่ออิฐถือปูน ไม่ได้ทำจากสำริดทั้งองค์


               จากลักษณะของพระพักตร์ที่เป็นสี่เหลี่ยม พระขนง (คิ้ว) เป็นสันนูนและเชื่อมต่อเป็นปีกกา พระเนตรเบิกกว้าง พระนาสิก (จมูก) ใหญ่ และพระโอษฐ์ (ปาก) แบะกว้าง อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะขอมอย่างชัดเจน จนทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893


              ในพระราชพงศาวดารเหนือ ซึ่งถูกรวบรวมขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2331) และถูกชำระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ระบุว่า พระเจ้าธรรมิกราช กษัตริย์ในตำนาน ซึ่งตำนานว่าเสด็จขึ้นครองราชย์ที่อยุธยาได้ทรงสร้างวัดมุขราช หรือวัดธรรมมิกราช อันเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น


              หมายความว่า พระพุทธรูปองค์นี้ควรจะสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1708-1748 ที่พระราชพงศาวดารเหนือระบุว่า พระเจ้าธรรมิกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ครองราชย์อยู่ที่กรุงศรีอยุธยานี่เอง


              นอกจากนี้ การที่พระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่ กล่าวคือมีความสูงถึง 2 เมตรโดยประมาณ จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ ประกอบกับการที่วัดธรรมมิกราช เป็นวัดที่ตั้งอยู่อย่างใกล้ชิดกับพระราชวังของกรุงศรีอยุธยาในยุคต้น ก่อนมีการย้ายและขยับขยายจนมีสภาพเหมือนในปัจจุบันนั้น ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ว่ เกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มอำนาจราชวงศ์โดยเฉพาะสายราชวงศ์อู่ทองที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี และสัมพันธ์อยู่กับเครือข่ายอำนาจและวัฒนธรรมขอมอย่างใกล้ชิด


              เพราะพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับได้ระบุเอาไว้ต้องตรงกันว่า ต่อมาสายราชวงศ์อู่ทอง นำโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 พร้อมกับได้สร้างพระราชวังไว้ใกล้กับวัดธรรมมิกราช


              ดังนั้น ‘พระธรรมิกราช’ จึงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ ‘ราชวงศ์อู่ทอง’ มาก่อนที่ ‘ราชวงศ์สุพรรณภูมิ’ จะมีอำนาจขึ้นมา แล้วสร้าง ‘พระศรีสรรเพชญดาญาณ’ ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นทั้งพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของราชวงศ์สุพรรณภูมิ และกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

 

ภาพที่ 4: เศียรพระธรรมิกราช

แหล่งที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ