เชื่อว่าหลายคนคงยังจำประเด็นร้อนหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่ประเทศกัมพูชาและไทยผลักดันให้ “โขน” นาฏศิลป์ประจำแผ่นดินขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายในปีนั้น แต่โขนก็ถูกยอมรับโดยทั่วกันในฐานะวัฒนธรรมร่วม (Shared Culture) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนอกจากโขนไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก ในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา (2565) ศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเช่นกัน นาฏศิลป์ประเภทนี้มีรากเหง้าจากชมพูทวีปเช่นเดียวกับโขน แต่กลับกลายเป็นมรดกวัฒนธรรมสัญชาติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา นาฏกรรมดังกล่าวมีชื่อว่า “บาล ตามูล (Bal Tamoul)” บาล ตามูลคืออะไร และเพราะเหตุใดนาฏศิลป์อินเดียใต้จึงโด่งดังในดินแดนโพ้นทะเลนั้น เราจะหาคำตอบไปพร้อมกัน
บาล ตามูล คือศิลปะการแสดงประจำเกาะ “เรอูนียง (Réunion)” เกาะสวรรค์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดโพ้นทะเลของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ชื่อบาล ตามูลเป็นคำเรียกภาษาฝรั่งเศสเช่นกัน สามารถแปลตรงตัวได้ว่า “ระบำทมิฬ” อย่างไรก็ตาม ชาวเรอูนียงต่างเรียกขานนาฏกรรมอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “บาล แอ็งเดียง (Bal Indien)” ที่แปลว่า “ระบำอินเดีย” และ “นาร์เลกง (Narlégon)” ที่แผลงมาจากคำว่า “นาฏกัม (Natakam)” หรือการละครในภาษาทมิฬ ชื่อเรียกเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ถึงต้นกำเนิดของนาฏศิลป์จากแผ่นดินทมิฬในอินเดียใต้ ทว่าแม้จะมีที่ตั้งในมหาสมุทรอินเดีย แต่เกาะเรอูนียงกลับอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งอนุทวีปกว่า 4 พันกิโลเมตร! และเพราะเหตุใดระบำทมิฬจึงโด่งดังไกลถิ่นขนาดนั้น เราคงต้องย้อนเวลากลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด
ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 1848 ฝรั่งเศสในขณะนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก นอกจากเพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยเป็นสาธารณรัฐ รัฐบาลยังถูกกดดันจากชาติมหาอำนาจให้เลิกล้มระบบทาสทั้งในแผ่นดินแม่และอาณานิคม ครั้นต้องต่อกรกับกบฏทาสในดินแดนโพ้นทะเลนานวันเข้า ทางการฝรั่งเศสจึงตัดสินใจประกาศเลิกทาสเพื่อตัดปัญหาในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1848 การเลิกทาสในครั้งนั้นส่งผล
กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล เนื่องจากรายได้หลักของสาธารณรัฐมาจากผลผลิตในอาณานิคม โดยเฉพาะพืชไร่อย่างอ้อย โกโก้ และกาแฟ เมื่อขาดทาสผิวดำที่เคยทำงานในไร่ ฝรั่งเศสจึงมองหาแรงงานราคาถูกจากแหล่งใหม่ ใครก็ตามที่มีความรู้เรื่องพืชไร่ และไม่เรียกร้องสิทธิใดๆ ให้มากความ ด้วยเหตุนั้น เคราะห์กรรมจึงไปตกอยู่กับชาวอินเดียใต้ หรือที่คนขาวเจ้าของไร่เรียกรวมกันว่า “มาลบาร์ (Malbar)”
แม้ว่าชื่อมาลบาร์ที่ใช้เรียกคนงานมาจากคำว่า “มะละบาร์ (Malabar)” หมายถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของชมพูทวีป ทว่าแท้จริงแล้ว แรงงานแทบทั้งหมดที่มาถึงเรอูนียงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มาจากเมืองปอนดิเชอร์รี (Pondicherry) และกาไรกาล (Karaikal) เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสขณะนั้น ประชากรส่วนใหญ่ในสองเมืองเป็นชาวทมิฬที่คุ้นเคยกับคนต่างถิ่นเป็นอย่างดี ชาวฝรั่งเศสเริ่มนำคนเหล่านี้มายังเกาะเรอูนียงในปีค.ศ. 1827 ทว่าการนำเข้าแรงงานได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายหลังการเลิกทาส ไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้น จำนวนแรงงานมาลบาร์ในเรอูนียงก็เพิ่มขึ้นถึง 3 หมื่นคน เหตุผลที่คนฝรั่งเศสเลือกแรงงานชาวทมิฬเป็นเพราะคนเหล่านี้มีอาชีพปลูกอ้อยในถิ่นเก่า พวกเขาจึงเชี่ยวชาญการทำไร่มากกว่าชาวอาณานิคมทั้งหลาย นอกจากนี้ชาวทมิฬยังลงเรือด้วยความสมัครใจ แรงงานส่วนใหญ่มาจากวรรณะต่ำ คนเหล่านั้นจึงฝันหาชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนโพ้นทะเล
ภาพที่ 1 บ้านพักคนงานมาลบาร์บนเกาะเรอูนียงในอดีต
แหล่งที่มาภาพ: Musee Historique de Villele. L’engagisme indien au XIXe siècle à La Réunion. (n.d.). [Online]. Accessed 2023 Jan 15. Available from: https://www.portail-esclavage-reunion.fr/documentaires/abolition-de-l-esclavage/apres-l-abolition/lengagisme-indien/
อย่างไรก็ตาม ความหวังของคนงานมาลบาร์กลับไม่เคยกลายเป็นจริง ชาวฝรั่งเศสปฏิบัติกับแรงงานอย่างเลวร้าย มาลบาร์ทั้งหลายไม่มีสิทธิ์ทัดเทียมกับคนขาว พวกเขาถูกใช้ให้ทำงานหนัก นอกจากนี้ยังไม่มีแม้แต่อิสรภาพในการนับถือศาสนา ชาวมาลบาร์ยุคบุกเบิกถูกบังคับให้เข้ารีตคริสต์ศาสนา พวกเขาจำต้องละทิ้งความผูกพักกับแผ่นดินที่จากมาไม่ต่างจากทาสผิวดำในอดีต ความยากลำบากที่เผชิญในไร่ส่งผลให้แรงงานมาลบาร์ผูกมิตรกันแน่นแฟ้น พวกเขามักสังสรรค์หลังเลิกงาน รวมถึงร้องรำทำเพลงตามเทศกาลต่างๆ และเช่นเดียวกับชาวทมิฬแผ่นดินแม่ เหล่ามาลบาร์ต่างชื่นชอบนาฏกรรมกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ กลุ่มแรงงานจึงจัดการแสดงโดยสร้างฉากและเวทีจากวัสดุที่หาได้ในท้องที่ นาฏศิลป์ที่รังสรรค์ล้วนมาจากวรรณคดีชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นรามายณะ
มหาภารตะ กุมารสัมภวะ และเรื่องราวในคัมภีร์ปุราณะ การแสดงยุคแรกเริ่มดำเนินเรื่องเป็นภาษาทมิฬ นาฏกรรมของคนงานพลัดถิ่นจึงถูกเรียกขานว่าบาล ตามูลอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
บาล ตามูลยุคบุกเบิกใช้นักแสดงชายทั้งหมด การแสดงจะเปิดฉากโดย “วาร์เซียล (Vartial)” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “วาฏฏิยาร์ (Vattiyar)” หรืออาจารย์นาฏศิลป์ในภาษาทมิฬ วาร์เซียลมีทำหน้าที่ร่ายโศลกสันสกฤตเพื่อบูชาเทพเจ้า ก่อนเข้าเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครหลักและเนื้อหาโดยสังเขป ครั้นวาร์เซียลเปิดการแสดงแล้ว
ชายสองคนจะถือผ้าสี่เหลี่ยมปิดบังร่างตัวละครเอกเบื้องหลัง และทันทีที่ดนตรีเริ่มบรรเลง ตัวละครหลังผ้าร่ายรำ ผ้าผืนใหญ่ถูกปลดลงช้าๆ ให้ผู้ชมได้ยลโฉมมงกุฎ รัดเกล้า และหน้ากากหรือใบหน้าทาสีสัน เมื่อผ้าผืนใหญ่ถูกดึงลง เหล่าผู้ชมจะได้เห็นบุรุษในเครื่องทรงเทพเจ้าหรือราชาอย่างเต็มตา
ภาพที่ 2 ผ้าที่ใช้ปิดบังนักแสดง เอกลักษณ์ของละครบาล ตามูล
แหล่งที่มาภาพ: Inde Reunion. Scène de bal tamoul. (n.d.). [Online]. Accessed 2023 Jan 15. Available from: https://www.indereunion.net/malbar/malbtam/199a.htm
นักแสดงบาล ตามูลในอดีตจะท่องบทเป็นภาษาทมิฬทั้งหมด ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน ผู้คนต่างหลงลืมภาษาแม่ วาร์เซียลจึงต้องรับบทคนพากษ์บทดำเนินเรื่อง โดยมีคำร้องเป็นภาษาทมิฬ และบทพูดที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและเครโอล (Créole) ให้ผู้ชมได้เข้าใจ วาร์เซียลหลายคนจึงแก้ปัญหาด้วยการจารบทละครลงบนใบปาล์มเพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาต้องสูญหาย เช่นเดียวกับการรจนาคัมภีร์ใบลานในวัฒนธรรมทมิฬแผ่นดินใหญ่
บาล ตามูลมักแสดงตามงานรื่นเริงต่างๆ คณะนักแสดงจะเดินสายพร้อมกับวงดนตรีที่บรรเลงเครื่องประกอบจังหวะแบบฉบับทมิฬอย่างมฤทังกัม (Mridangam) ซะลังไล (Calankai) และตาลัม (Thalam) คนเหล่านั้นพร้อมมอบความสนุกสนานให้ผู้ชมทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน วันครบรอบเกิด และการเกิดของทารก นอกจากนี้นาฏศิลป์ทมิฬยังถูกจัดตามเทศกาลสำคัญ เช่น ปงกัล (Pongal) ทีปาวลี (Deepavali) และไทปูซัม (Thaipusam) ซึ่งเป็นการฉลองใหญ่ของชาวทมิฬทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของแรงงานพลัดถิ่นและแผ่นดินแม่ ทว่าแตกต่างจากการแสดงนาฏศิลป์ของเหล่าเทวทาสี (Devadasi) ในเทวาลัยอินเดียใต้ คณะบาล ตามูลสามารถจัดแสดงได้ทุกที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นบนเวทีกลางแจ้งหรือบ้านพักคนงาน ทั้งนี้ คณะบาล ตามูลในอดีตไม่มีนักแสดงประจำ ดาราทั้งหลายต่างมาจากหลากสาขาวิชาชีพ ทั้งชาวไร่ คนรับใช้ และพ่อค้า คนขาวเจ้าของไร่จึงมีอคติกับบาล ตามูล เนื่องจากมองว่าเป็นการแสดงของคนจนและชนชั้นกรรมาชีพ
ภาพที่ 3 นักแสดงบาล ตามูลในเครื่องแต่งกายหลากสีสัน
แหล่งที่มาภาพ: Ibn Battuta. La Réunion. Le Narlgon, cérémonie du "bal Tamoul". Vidéos. (2011). [Online]. Accessed 2023 Jan 15. Available from: https://www.ressources-mcm.com/s/Ibn_Battuta/item/1449
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทรรศนะของคนขาวที่มีต่อบาล ตามูลเริ่มเปลี่ยนไป นักมานุษวิทยาหันมาสนใจนาฏศิลป์ทมิฬพลัดถิ่น เนื่องจากบทละครบาล ตามูลส่วนมากตัดตอนมาจากวรรณคดีอย่างเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น กฤษณะลีลา (Krishna Leela) ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระกฤษณะและเหล่าโคปีเมื่อครั้งยังอยู่ที่หมู่บ้านวฤนทาวัน โศกนาฏกรรมของราชาหริศจันทร์ (Harishchandra) ที่ต้องกลายมาเป็นทาส วนบรรพใน
มหาภารตะที่เกี่ยวกับการถูกเนรเทศไปอยู่ป่า และวัลลีติรุมะณัม (Valli Thirumanam) ตำนานรักของเทพมุรุกันและธิดาหัวหน้าเผ่า บทละครเหล่านี้มีจุดร่วมเดียวกันคือการถ่ายทอดความยากลำบากของชนชั้นล่าง และการฝ่าฟันเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า การคัดเลือกบทอย่างพิถันจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า แม้ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย แต่มาลบาร์ทั้งหลายก็ไม่เคยละทิ้งความฝันที่ต้องการชีวิตที่ดีกว่าให้ตนเองและคนในครอบครัว
ทุกวันนี้ ชาวมาลบาร์ในเรอูนียงไม่ได้มีชีวิตที่ทุกข์ยากอีกต่อไป เหล่าลูกหลานทมิฬพลัดถิ่นล้วนมีสถานะเป็นพลเมืองสาธารณรัฐเต็มภาคภูมิ ทว่าแม้จะมีสิทธิเท่าเทียมกับชาวฝรั่งเศส เหล่ามาลบาร์ก็ไม่เคยหลงลืมรากเหง้าของหมู่ชน ทุกคนต่างช่วยกันฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมทมิฬกลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง เหล่าวาร์เซียลหันมาเปิดโรงเรียนสอนบาล ตามูลให้กับคนรุ่นหลัง นาฏศิลป์ที่เคยตกต่ำจึงกลายมาเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาของเกาะเรอูนียงในปัจจุบัน และเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 องค์การยูเนสโกก็ประกาศให้บาล ตามูลมีสถานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเภทแนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล ยังความภูมิใจให้แก่ชุมชนทมิฬพลัดถิ่นทั่วโลก เรื่องราวของชาวมาลบาร์และบาล ตามูลจึงเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของผู้คนที่จำจากบ้านเกิดเมืองนอนที่รัก แต่ไม่เคยหลงลืมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ตำนานของพวกเขาจึงถูกขับขานสืบไป เช่นเดียวกับนาฏกรรมแห่งเกาะเรอูนียงที่ครองใจผู้ชมมาแสนนาน
แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
Barat, Christian. Nargoulan: Culture et rites malbar à la Réunion. Saint – Denis de La Réunion: Éditions du Tramail, 1989.
Marimoutou – Oberlé, Michèle. Les Engagés du sucre. Saint – André de La Réunion: Océan.
Éditions, 1999.
Varadpande, M. L.. History of Indian Theatre. New Delhi: Abhinav Publications, 1992.