Museum Core
โธมัส ซังการา: เช เกวาราแห่งบูร์กินา ฟาโซ
Museum Core
18 เม.ย. 66 1K

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               หากกล่าวถึงนักปฏิวัติในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชื่อของเช เกวาราคงปรากฏเป็นอย่างแรกในใจใครหลายคน วีรบุรุษชาวอาร์เจนตินาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มนิยมฝ่ายซ้าย แม้ว่าเชเสียชีวิตไปแล้วกว่าห้าสิบปี แต่วีรกรรมของเขาในการต่อสู้เพื่อประชาชนที่ถูกกดขี่ยังคงเป็นที่จดจำไม่รู้ลืม อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ลึกเข้าไปทางตะวันตกของแอฟริกายังมีบุรุษผู้หนึ่งที่ถูกเรียกขานว่าเช เกวาราแห่งกาฬทวีป เขาผู้นี้เป็นคนหนุ่มที่ฝันถึงชาติเสรี ดินแดนที่ยืนหยัดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมหาอำนาจ และภายในเวลาไม่กี่ปี เขาได้นำพาหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในแอฟริกาเข้าสู่ศักราชใหม่ วีรบุรุษนักปฏิวัติผู้นี้มีนามว่าโธมัส ซังการา (Thomas Sankara) บิดาผู้ก่อตั้งประเทศบูร์กินา ฟาโซ

 

ภาพที่ 1: ซังการาขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

แหล่งที่มาภาพ: Mosata, Kearoma. Thomas Sankara: The Upright Pan - Africanist. (2016). [Online]. Accessed 2022 July 5. Available from: https://www.africanexponent.com/post/7492-the-revolution-and-womens-liberation-go-together

 

               ซังการามีชื่อเต็มว่า โธมัส อิซิดอร์ โนเอล ซังกรา (Thomas Isidore Noël Sankara) เขาเกิดในครอบครัวคาทอลิกเคร่งครัดที่เมืองยาโก (Yako) ประเทศโวลตาตอนบน (Haute – Volta) ซึ่งเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสในขณะนั้น ครอบครัวของซังการาต้องการให้เขาเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนา ทว่าเด็กหนุ่มกลับเลือกรับใช้กองทัพโวลตาเพราะเห็นว่าเป็นทางเดียวที่จะหลุดพ้นวงจรความยากจน ในปีค.ศ. 1970 ซังการาในวัย 20 ปีถูกส่งไปเรียนวิชาการทหารที่ประเทศมาดากัสการ์ จิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติในตัวเขาถูกปลุกขึ้นมาหลังได้เห็นการประท้วงของประชาชนที่ถูกภาครัฐกดขี่ ซังการาใช้เวลา 2 ปี ในมาดากัสการ์ศึกษาตำราการเมืองฝ่ายซ้าย เขาอ่านหนังสือของคาร์ล มาร์กซ์และเลนินจนหันมาฝักใฝ่ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างเปิดเผย ครั้นกลับมายังโวลตาในปีค.ศ. 1974 ซังการาก็ได้สร้างชื่อจากการรบที่ชายแดนมาลี ทหารหนุ่มวัย 24 ปีกลายเป็นวีรบุรุษของประเทศภายในชั่วข้ามคืน เขาได้รับเหรียญกล้าหาญมากมาย รวมถึงกลายเป็นที่เชิดหน้าชูตาของกองทัพ ด้วยใบหน้าหล่อเหลาและบุคลิกสุขุม ซังการาจึงเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนทั่วไป ผลงานและภาพลักษณ์ทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นผู้บังคับบัญชาในเวลาอันสั้น

               ตั้งแต่ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ประเทศโวลตาตอนบนมีการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง รัฐบาลทหารที่ตั้งขึ้นชั่วคราวล้วนขาดประสิทธิภาพ และสำหรับซังการาในตอนนั้น ภาพลักษณ์ที่ดีทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศภายใต้รัฐบาลนายพลซาย แซร์โบ (Saye Zerbo) ในปีค.ศ. 1981 นับเป็นก้าวแรกสู่วงการการเมืองของทหารหนุ่มก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ซังการาไม่พอใจเพื่อนร่วมงานและสภาพแวดล้อม เขามองเห็นปัญหาของประเทศอย่างชัดเจนจากที่สูง ในขณะที่ผู้คนกว่า 7 ล้านคนกำลังอดอยาก เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้ชีวิตหรูหราบนหอคอยงาช้าง ซังการาเห็นว่านโยบายของนายพลแซร์โบขัดกับสิ่งที่เขาเชื่อถือ รัฐมนตรีหนุ่มจึงลาออกจากตำแหน่งในปีต่อมา

               การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีของซังการานับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะไม่กี่เดือนต่อมา
แซร์โบก็ถูกยึดอำนาจโดยคณะปฏิวัตินำโดยนายพลฌอง – บัปติสต์ อูเอเดราโก (Jean – Baptiste Ouédraogo) เช่นเดียวกับแซร์โบ อูเอเดราโกเห็นศักยภาพของคนหนุ่มอย่างซังการา ซังการาจึงถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม ค.ศ. 1983 ทว่า หลังจากทำงานเป็นมือขวาประธานาธิบดีเพียง 5 เดือน ซังการาก็ถูก
อูเอเดราโกปลดจากตำแหน่งเนื่องจากทัศนะทางการเมืองที่แตกต่าง ซังการาต้องการปฏิรูปรัฐบาล ในขณะที่
อูเอเดราโกเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน อูเอเดราโกจึงสั่งคุมขังซังการาเพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนาม แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีไม่คาดคิดก็คือ การกระทำของเขาเป็นการเพิ่มความนิยมให้ซังการาจนนำไปสู่การปฏิวัติครั้งต่อมา

              แบลส กอมปาโอเร (Blaise Compaoré) สหายสนิทของซังการารวบรวมกำลังพลก่อรัฐประหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1983 การปฏิวัติครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อูเอเดราโกถูกปลดจากตำแหน่ง  ซังการาได้รับอิสรภาพอีกครั้ง กอมปาโอเรเห็นว่าประชาชนนิยมชมชอบซังการา เขาและนายทหารระดับสูงจึงผลักดันให้
ซังการาขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของโวลตาในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1983 ด้วยอายุเพียง 33 ปี นับเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของโวลตาตอนบนในขณะนั้น

               ทันทีที่ขึ้นตำรงตำแหน่ง ซังการาก็พลิกโฉมหน้าประเทศเสียใหม่ ด้วยความฝักใฝ่ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม ซังการาจึงคัดค้านไม่ให้โวลตากู้เงินจากกองทุนกู้ยืมระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เขามีความคิดว่า มหาอำนาจที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือต่างต้องการควบคุมประเทศตน ดังนั้นซังการาจึงส่งเสริมให้ประชาชนหันมาพึ่งพาตัวเอง เขาต่อต้านการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า หรือข้าวของเครื่องใช้ ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีสนับสนุนให้ผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศ รวมถึงอนุญาตให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐสวมเสื้อผ้าพื้นเมืองมาทำงาน และในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1984 ซังการาได้ฉลองวันครบรอบ 1 ปีของการปฏิวัติด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศเสียใหม่ เขาต้องการลบล้างตราบาปสมัยอาณานิคมให้หมดไป ดังนั้นโวลตาตอนบนจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบูร์กินา ฟาโซ (Burkina Faso) ที่มีความหมายว่า “ดินแดนแห่งชาวประชาผู้เที่ยงธรรม (Pays des Hommes honnêtes)” มาจากการรวมเอาคำในภาษาโมสซี (Mossi) และดิยูลา (Dyula) ภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในประเทศเข้าด้วยกัน

               นอกจากนโยบายชาตินิยมแล้ว ซังการายังได้ชื่อว่าเป็นนักสตรีนิยม เขาเป็นผู้นำคนแรกของทวีปที่ว่าจ้างสตรีให้ทำงานตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล ซังการาส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนมีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาบุรุษ เขาอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์ได้วันลาคลอดโดยไม่หักเงินเดือน และออกคำสั่งยกเลิกประเพณีที่เป็นการกดขี่ทางเพศอย่างการขริบอวัยวะเพศหญิง การบังคับคลุมถุงชน การครองคู่กับภรรยาหลายคน เป็นต้น

               ในด้านสาธารณสุข ซังการาก่อตั้งสถานพยาบาลประจำชุมชนหลายแห่ง เขาส่งเสริมให้เด็กๆ บูร์กินาเบ (Burkinabé) และประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยใกล้ชายแดนได้รับวัคซีนไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบ และโรคหัด ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้เยาว์ในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซังการาเห็นว่าเด็กๆ คืออนาคตของชาติ ดังนั้นเขาจึงสร้างโรงเรียนหลายแห่งในถิ่นทุรกันดาร ทำให้เยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง

                ซังการาเป็นผู้นำคนแรกๆ ของโลกที่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่ง บูร์กินา ฟาโซปลูกป่าไปแล้วกว่า 10 ล้านต้น นอกจากนี้เขายังมีชื่อเสียงเรื่องความมัธยัสถ์ ซังการาสั่งลดเงินเดือนข้าราชการระดับสูงทุกคนรวมถึงตัวเอง เขาขายรถหรูประจำตำแหน่งรัฐมนตรีและนำรถราคาถูกมาแทนที่ ประธานาธิบดีออกคำสั่งให้นายทหารและรัฐมนตรีโดยสารด้วยเครื่องบินชั้นประหยัดเท่านั้น ซังการามองว่าประชาชนทุกคนต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติ และผู้นำควรเป็นคนแรกที่เสียสละเพื่อผองชน

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายของซังการาจะนำพาบูร์กินา ฟาโซสู่ยุคทอง ทว่าชนชั้นนำในประเทศกลับเห็นว่าเขาเป็นอุปสรรคขัดผลประโยชน์ของพวกตน แม้แต่อดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสยังต่อต้านประธานาธิบดีหัวก้าวหน้าอย่างเปิดเผย ซังการามักเรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิวัติ เขาชื่นชมผู้นำฝ่ายซ้ายอย่าง
เช เกวาราและฟิเดล คาสโตรเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้สื่อต่างชาติจึงนำเสนอข่าวสร้างความเกลียดชังว่าซังการาเป็นผู้นิยมฝ่ายซ้ายสุดโต่ง ความคิดที่ต้องการให้ประเทศเป็นอิสระจากต่างชาติทำให้ซังการามีศัตรูรอบทิศ แม้แต่สหายสนิทอย่างกอมปาโอเรที่เคยช่วยให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดียังหันหลังให้ซังการาในเวลาต่อมา

ภาพที่ 2: คอมปาโอเร อดีตประธานาธิบดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารซังการา

ที่มา: BBC News. Burkina Faso ex - leader Blase Compaore becomes Ivorian. (2016). [Online]. Accessed 2022 July 5. Available from: https://www.bbc.com/news/world-africa-35650193

 

 

               ยุคทองของบูร์กินา ฟาโซภายใต้การนำของซังการาจบลงในปีค.ศ. 1987 ในวันที่ 15 ตุลาคม ซังการาถูกลอบสังหารพร้อมผู้ติดตาม 12 คน ในวันเดียวกันนั้น แบลส กอมปาโอเรได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลและตั้งตนเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา กอมปาโอเรอ้างว่านโยบายของซังการาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบูร์กินา ฟาโซและฝรั่งเศสตึงเครียด เขาจึงใช้เหตุผลนี้ในการยึดอำนาจและปกครองประเทศต่อมากว่า 27 ปี

 

ภาพที่ 3: อนุสาวรีย์ซังการาที่กรุงวากาดูกู บูร์กินา ฟาโซ

ที่มา: BBC News. Burkina Faso unveils 'corrected' Thomas Sankara Statue. (2020). [Online]. Accessed 2022 July 5. Available from: https://www.bbc.com/news/world-africa-52704979

 

               ตั้งแต่ปีค.ศ. 1987 จนถึงค.ศ. 2014 ชื่อของซังการากลายเป็นคำต้องห้ามในบูร์กินา ฟาโซ กอมปาโอเรทำทุกวิถีทางเพื่อจะลบล้างภาพจำที่ผู้คนมีต่อโธมัส ซังการา ทว่าซังการาเคยพูดไว้ก่อนเสียชีวิตว่า แม้ว่านักปฏิวัติจะถูกฆ่า แต่ปณิธานของพวกเขาจะคงอยู่ชั่วกาล คำกล่าวนั้นเป็นความจริงมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่อของซังการายังอยู่ในใจชาวบูร์กินาเบหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วกว่า 30 ปี ประชาชนยังคงเรียกร้องเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในอาชญากรรมครั้งนั้น กอมปาโอเรที่พ้นจากตำแหน่งต้องหนีตายออกนอกประเทศไปลี้ภัยในโกตดิวัวร์ ในขณะที่
ซังการาถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษบูร์กินาเบ และถูกขนานนามว่าเช เกวาราแห่งแอฟริกามาจนถึงปัจจุบัน

 

หนังสืออ้างอิง

Harsch, Ernest. Thomas Sankara: an African Revolutionary. Athens: Ohio University Press, 2014.

Martens, Ludo. Sankara, Compaoré et la révolution burkinabè. Anvers: EPO, 1989.

Prairie, Michel (editor). Thomas Sankara Speaks: The Burkina Faso Revolution 1983 – 1987, 2nd

Edition. Atlanta: Pathfinder Press, 2007.

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ