“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี”
รู้ไหมนี่ที่ไหน...
พอเห็นคำว่า “โอ่ง” หลายคนคงร้องอ๋อ แต่ประตูสู่ภาคใต้จังหวัดนี้ไม่ได้มีดีแค่ “โอ่ง” และ “อื่น ๆ” ที่อวดไว้ไม่กี่อย่างเท่านั้น เพราะยังซ่อนความลับสมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงอาณาจักรโบราณในดินแดนสุวรรณภูมิ และเรื่องราวทั้งหมดก็ถูกร้อยเรียงบอกเล่าในอาคารหลังนี้ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี”
เบื้องหลังสนามหญ้าสีเขียวคืออาคารชั้นเดียวสีชมพูอ่อน กลางซุ้มประตูทางเข้าประดับตราพระครุฑพ่าห์โดดเด่นดึงดูดสายตา บอกเป็นนัยว่าในอดีตคือสถานที่สำคัญของแผ่นดิน เราเลี้ยวซ้ายเข้าประตูไปห้องนิทรรศการห้องแรก และสัมผัสได้ถึงสายลมอ่อน ๆ ที่พัดมาจากหน้าต่างที่เปิดกางไว้รับแสง ชวนให้นึกถึงบรรยากาศในละครย้อนยุค
ภาพที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เดิมใช้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี
และที่ว่าการเมือง ต่อมาใช้เป็นศาลากลางจังหวัด
หากนึกถึงภูมิประเทศของราชบุรี ภาพเทือกเขาหินเรียงรายคงเป็นหนึ่งในหลายภาพที่คุ้นตาอย่างอุทยานหินเขางูแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ในห้องแรกนี้พาเราไปรู้จักพื้นที่ของราชบุรีแบบเจาะลึกถึงชั้นหิน จากที่เคยได้ยินแต่ชื่อก็ได้มาเห็นของจริงใกล้ ๆ ทั้งหินควอตซ์ หินปูน หินแกรนิต แร่ดีบุก แล้วยังมีผังจำลองบริเวณที่พบแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดอีกด้วย ถ้ากดปุ่มชื่อแร่ธาตุก็มีไฟติดขึ้นในบริเวณที่มีแร่ชนิดนั้น เด็ก ๆ เลยปรี่เข้ามามุงดูกันใหญ่ และห้องนี้เองก็ทำให้เรารู้จักชื่อ “ดินมันปู” ว่าเป็นดินที่ใช้ปั้นโอ่งมังกรของดีเมืองราชบุรีนี่เอง
ภาพที่ 2 ตัวอย่างหินจากพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี
เรามาที่นี่โดยไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน พอเห็นการนำเสนอเรื่องราวและข้าวของต่าง ๆ จึงเกินความคาดหมายพอควร ใครจะคิดว่าอาคารแนววินเทจหลังย่อมจะบรรจุอะไรไว้มากมาย ที่สำคัญยัง “เล่าเรื่องแบบย่อยง่าย” อ่านเพลิน ดูเพลิน ด้วยห้องนิทรรศการไม่ใหญ่มากและกั้นเป็นส่วน ผู้ชมอย่างเราจึงถูกจำกัดให้เดินไปตามทางเล็ก ๆ ลดเลี้ยวไปมา เราเดินต่อไปเจอตู้กระจกที่มีปลาตัวเขื่อง ซึ่งเป็นตัวอย่างของ “ย่านยี่สกปลาดี” ที่อยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด เพราะราชบุรีมีแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำแม่กลอง เจ้าปลายี่สกก็เป็นปลาน้ำจืดสายพันธุ์เดียวกับปลาตะเพียนที่เชื่อกันว่ามีเนื้ออร่อยที่สุดเมื่อเจริญเติบโตในแม่น้ำที่นี่ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ได้ดี
ในห้องที่สองเล่าเรื่องราวบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่ราชบุรีเป็นแหล่งความเจริญมาตั้งแต่อดีต เห็นได้จากร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคหินบ่งบอกว่ามีคนตั้งรกรากอยู่ในเขตจังหวัดราชบุรีแล้วตั้งแต่เมื่อ 12,000 ปีก่อน เราไล่สายตาดูเครื่องมือหิน ขวาน หอก ถ้วยชาม เครื่องประดับ ด้วยความรู้สึกตื่นเต้นและขนลุก เหมือนทุกครั้งที่ไปดูวัตถุเหล่านี้ที่พิพิธภัณฑ์ แล้วก็ยิ่งขนลุกมากขึ้นไปอีกเมื่อเหลือบไปเห็นอะไรอยู่ทางขวา ร่างเจ้าของเครื่องมือหินในสภาพโครงกระดูกอายุ 2,000 ปี นอนนิ่งสงบอยู่ในตู้ข้อมือสวมกำไลวงใหญ่ทำจากกระดองเต่าทะเล และนี่เองนำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่าแต่เดิมพื้นที่ของราชบุรีเป็นหาดทรายริมอ่าวไทย เพราะพบดินทรายและเปลือกหอยด้วย ร่องรอยความเจริญอีกอย่างหนึ่งคือการพบหลุมเสาที่แหล่งโบราณคดีหนองแช่เสา ซึ่งคาดว่าเป็นหลุมเสาของบ้านใต้ถุนสูง ภายในห้องจึงมีแบบจำลองบ้านของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ให้เห็น ถือเป็นร่องรอยของบ้านสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบแห่งแรกในประเทศไทย
ภาพที่ 3 ต่างหูและกำไลเครื่องประดับที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี
หลักฐานความเจริญของราชบุรียังไม่หมดเท่านี้ พอถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่นี่พบหลักฐานสำคัญคือเหรียญเงินที่ด้านหน้าเป็นรูปวัวมีโหนก ด้านหลังปรากฏตัวอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต จารึกคำว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี อักษรปัลลวะเป็นอักษรที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียตอนใต้สะท้อนว่าอารยธรรมอินเดียได้แผ่ขยายมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ ราชบุรียังเป็นเมืองใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดีรองจากนครปฐมอีกด้วย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโบราณคูบัวหรือบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรีในปัจจุบัน ซึ่งในห้องนิทรรศการก็จำลองส่วนหนึ่งของโบราณสถานคูบัวขนาดใกล้เคียงของจริงให้ได้ชมกัน
ภาพที่ 4 เศียรพระพุทธรูปสมัยทวารวดี มีพระพักตร์แบนกว้าง พระเนตรโปน
พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกและพระโอษฐ์ใหญ่
หน้าต่างมีประติมากรรมพระพุทธรูปและพระพิมพ์ เราเดินเลาะไปริมหน้าต่างก็พบวัตถุอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ คือพระพิมพ์สลักจากหินชนวนสีขาวเทาซึ่งพบในประเทศไทยเพียงชิ้นเดียว เป็นภาพพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ มีสถูปและธรรมจักรขนาบข้าง ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการตั้งธรรมจักรซึ่งพบได้ทั่วไปในเมืองโบราณสมัยทวารวดี เรากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่กลางห้อง แล้วเดินไปดูเทวรูปพระศิวะแกะสลักจากหิน ทางฝั่งขวาแสดงชิ้นส่วนประติมากรรมและเครื่องใช้ในวิถีชีวิตชาวบ้านที่คงเป็นนวัตกรรมในสมัยนั้น เช่น แท่นหินบดยา ที่ใส่น้ำมันตะเกียง ตราประทับ ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นความซับซ้อนของวิถีชีวิตมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลาทั้งข้าวของและความคิด แสดงถึงการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการอยู่รอดและเอาตัวรอดของมนุษย์
วัตถุแต่ละชิ้นคือจิ๊กซอว์จากอดีต ให้เราค่อย ๆ ปะติดปะต่อภาพความเป็นมาก่อนจะถึงวันนี้ของราชบุรี ที่นี่มีเรื่องมากมายที่เราไม่รู้และรอให้เราไปเรียนรู้ เมื่อทวารวดีเสื่อม วัฒนธรรมเขมรเรืองอำนาจ เมืองราชบุรีก็ยังเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่เก็บหลักฐานไว้ให้คนรุ่นหลังได้แกะรอยในทุกยุคสมัย มาที่นี่จึงได้รู้ว่าเมืองโอ่งมังกรแห่งนี้ในสมัยธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน จึงเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์และพ่อค้าชาวต่างชาติ พอสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองราชบุรีก็เป็นหนึ่งในสมรภูมิสงครามเก้าทัพ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ราชบุรีก็เป็นมณฑลหนึ่งในระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคหรือมณฑลเทศาภิบาล และพอเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการทิ้งระเบิดตัดเส้นทางขนส่งอาวุธและเสบียง ซึ่งปัจจุบันยังมีระเบิดที่รอการเก็บกู้จมอยู่ใต้แม่น้ำ เรียกว่าทุกบทของประวัติศาสตร์มีเมืองราชบุรีเป็นฉากสำคัญทั้งสิ้น
ภาพที่ 5 เครื่องใช้ในวิถีชาวบ้าน
จากประวัติศาสตร์บ้านเมืองมาถึงเรื่องของผู้คน ราชบุรีเป็นบ้านของคนไทยหลายชาติพันธุ์ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในห้องนี้เราจึงได้เห็นเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ ความเชื่อ ประเพณีของชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเช่นชาวไทยวน ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่เชียงแสน และมาตั้งรกรากที่ราชบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 คนไทยวนมีผ้าซิ่นตีนจกที่มีสีสันและลวดลายสวยงามขึ้นชื่อในห้องจึงมีผ้าซิ่นลายสวยจัดแสดงให้ชม
ภาพที่ 6 ลายผ้าดั้งเดิมของชาวไทยวนในจังหวัดราชบุรี
แล้วก็มาถึงห้อง “มรดกดีเด่น” ที่รวบรวมของดีเมืองราชบุรีไว้ในที่เดียว มองเห็นโอ่งมังกรตั้งเรียงรายอยู่หลายใบ พร้อมกับเครื่องมือที่ใช้ในการทำโอ่ง ในยุคแรกโอ่งไม่ได้มีลวดลายเรียกว่าโอ่งเลี่ยน ต่อมาทำเป็นลายมังกรตามความเชื่อของจีนที่ว่ามังกรเป็นสัตว์มงคล
ภาพที่ 7 โอ่งมังกร เครื่องปั้นดินเผาขึ้นชื่อของราชบุรี
ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ “วัดขนอนหนังใหญ่” ในคำขวัญประจำจังหวัดก็นึกสงสัยว่าคืออะไร แล้วก็มาเฉลยที่นี่ว่าหมายถึง หนังใหญ่ มหรสพประเภทหนึ่งซึ่งวัดขนอน (ขะ-หฺนอน) มีชื่อเสียงทางด้านการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงนี้ไว้ แล้วหนังใหญ่ก็ไม่ใช่แค่ของดีประจำจังหวัด แต่ได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทีเดียว สำหรับคนที่ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติก็จดชื่อแหล่งท่องเที่ยวในห้องนี้ไปได้เลย ทั้งโป่งยุบ น้ำตกเก้าชั้น ธารน้ำร้อนบ่อคลึง เขางู ถ้ำเขาบิน และเขาช่องพรานที่มี “ค้างคาวร้อยล้าน” โบยบินออกหากินเป็นกลุ่มจำนวนมาก ถึงขนาดที่ใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะบินออกมาหมด จากนั้นเราก็เดินมาถึงห้องบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้แก่จังหวัด และนิทรรศการห้องสุดท้าย คือ “ราชบุรีในปัจจุบัน” ซึ่งบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และบุคคลสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับเมืองราชบุรี
เราก้าวออกจากห้องสุดท้ายด้วยความรู้สึกเต็มอิ่ม อิ่มตาที่ได้ดูของเก่าล้ำค่า อิ่มใจที่ได้รู้จักเมืองไทยมากกว่าที่เคยรู้ ใครมาเที่ยวราชบุรีขอแนะนำให้มาที่นี่เป็นที่แรก แล้วการท่องเที่ยวของคุณจะครบรสยิ่งขึ้น