ในตำราเก่าแก่ของอินเดีย จำพวกคัมภีร์ในศาสนา มีคำเรียกพื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนที่นับถือคัมภีร์พระเวท ในเขตภูมิภาคเอเชียใต้ปัจจุบันอย่างน้อย 2 คำ ได้แก่คำว่า ‘พราหมวรรต’ และคำว่า ‘ชมพูทวีป’
แน่นอนว่า คำว่า ‘ชมพูทวีป’ นั้น เป็นที่คุ้นเคยของใครต่อใครมากกว่า เพราะเป็นที่นิยมมากกว่าและพบบ่อยกว่า อย่างไรก็ตาม คำนี้มีความหมายซ้อนทับกันอยู่ระหว่าง พื้นที่ในปรัมปราคติที่ผูกโยงกับแผนผังจักรวาลในพระศาสนากับพื้นที่ในโลกของความเป็นจริง ในขณะที่คำว่า ‘พราหมวรรต’ นั้น หมายถึงเฉพาะพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ทาบทับอยู่บนภูมิศาสตร์โลกเท่านั้น
‘ชมพูทวีป’ นั้นเป็นคำที่ชาวอินเดียและปริมณฑลโดยรอบใช้เรียกดินแดนในจักรวาลวิทยาของตนเองโดยมีความหมายว่า ‘ดินแดนแห่งต้นหว้า’ เพราะคำว่า ‘ชมพู’ ทั้งในภาษาบาลี และสันสกฤตนั้นแปลว่า ‘ต้นหว้า’
ปรัมปราคติเกี่ยวกับสัณฐานจักรวาลในพุทธศาสนา (ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในชมพูทวีป) มักระบุเอาไว้ว่า ที่รอบนอกของศูนย์กลางจักรวาล อันประกอบขึ้นจากเขาพระสุเมรุ และภูเขาวงแหวนที่ล้อมรอบอยู่อีก 7 ชั้นนั้น มีทวีปทั้ง 4 ล่องลอยอยู่บนทะเลจักรวาล และทวีปหนึ่งในนั้นก็คือ ชมพูทวีปที่พวกเขาอาศัยอยู่ การเรียกชื่อทวีปว่า ชมพูทวีป เพราะรูปลักษณะของทวีปมีลักษณะคล้ายกับผลหว้า
แม้ว่าข้อความในวรรณกรรมเชิงปรัมปราคติเหล่านี้ระบุว่า ชมพูทวีปเป็นทวีปที่ไม่ดีพร้อมเท่ากับอีก 3 ทวีปที่เหลือ อันได้แก่ บุพพวิเทหทวีป, อมรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีป แต่ชมพูทวีปกลับเป็นเพียงทวีปหนึ่งเดียวเท่านั้นที่มีพระพุทธเจ้า และพระจักรพรรดิราชองค์ต่างๆ มาประสูติ ในขณะที่อีก 3 ทวีปดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกันนี้
ข้อมูลตามพุทธประวัติระบุว่า พระพุทธเจ้า หรือพระสมณโคดม ประสูติที่สวนลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล อันเป็นส่วนหนึ่งในชมพูทวีป
จักรวาลในปรัมปราคติจึงกำลังทับซ้อนอยู่กับโลกของความเป็นจริง นี่ก็คือจักรวาลวิทยาของคนในยุคโน้นที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ผ่านทางปกรณัมความเชื่อนั่นเอง
ภาพที่ 1: อุตตรกุรุทวีป (ซ้าย) กับอมรโคยานทวีป (ขวา) ในสมุดภาพไตรภูมิของไทย
แหล่งที่มาภาพ: https://becommon.co/culture/beginning-universe-in-buddhism/
ภาพที่ 2: บุพพวิเทหทวีป (ซ้าย) กับชมพูทวีป (ขวา) ในสมุดภาพไตรภูมิของไทย
แหล่งที่มาภาพ: https://becommon.co/culture/beginning-universe-in-buddhism/
คำอธิบายเกี่ยวกับชมพูทวีปข้างต้น แม้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ผู้สนใจเกี่ยวกับคติไตรภูมิ หรือโลกศาสตร์อย่างพุทธ แต่ก็เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับคติของฝ่ายพราหมณ์ที่น่าจะมีมาก่อน
เพราะพวกพราหมณ์มีความเชื่อที่ต่างออกไปจากชาวพุทธว่า จักรวาลนั้นประกอบด้วย ทวีปวงแหวนทั้ง 7 ที่ถูกคั่นระหว่างกันด้วย มหาสมุทรที่น้ำในนั้นมีรสชาติแตกต่างกันไป ได้แก่ น้ำเค็ม, น้ำอ้อย, สุรา, น้ำมันเนย, นมเปรี้ยว, น้ำนม และน้ำจืด ตามลำดับ
สำหรับ ‘ชมพูทวีป’ หรืองบางทีเรียกว่า ‘สุทรรศนทวีป’ นั้น ตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลาง โดยมีทวีปที่เหลือล้อมรอบอยู่ และในทวีปแห่งนี้จะมีต้นหว้าใหญ่ยักษ์ที่มีผลขนาดเท่ากับช้างตัวโตเต็มวัย และเมื่อผลหว้าเน่าเปื่อยก็ร่วงหล่นลงบนที่สันภูเขา น้ำที่ไหลออกจากผลหว้าเน่าจะไหลเอื่อยออกไป กลายแม่น้ำที่ชื่อว่า ‘ชมพูนที’ ซึ่งไหลผ่านให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทั้ง 9 ดินแดน และ 8 บรรพต ของชมพูทวีปได้ดื่มกัน (บางคัมภีร์ เช่น มารกัณเฑยปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ปุราณะเล่มสำคัญของพวกพราหมณ์ ระบุว่า ชมพูทวีปแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เช่นเดียวกับกลีบของดอกไม้ โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นประธานอยู่ตรงกลางที่เปรียบได้กับเกสรของดอกไม้)
เรื่องลูกหว้าขนาดใหญ่ที่กลายมาเป็นแม่น้ำก็มีปรากฏหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ประเภทโลกศาสตร์ หรือไตรภูมิของชาวพุทธเช่นกัน แถมยังปรากฎอยู่ในคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับเก่าแก่ที่สุดในพระพุทธศาสนาคือ ‘โลกปราชญปติ’ อันเป็นคัมภีร์ของฝ่ายมหายาน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นก่อน พ.ศ. 1100 เลยทีเดียว
ที่สำคัญคือคัมภีร์โลกศาสตร์เล่มนี้ถูกแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาบาลี โดยพระสัทธรรมโฆษะเถระ ในชื่อว่า ‘โลกบัญญัติ’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลของคัมภีร์ประเภทไตรภูมิ ฉบับภาษาบาลีทั้งหมด หมายความว่า คำอธิบายเกี่ยวกับ ‘ชมพูทวีป’ ของชาวพุทธเถรวาทที่มีอยู่ในหนังสือไตรภูมิอย่างที่คุ้นเคยกันนั้นเป็นความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิมในศาสนาพราหมณ์นั่นเอง
ภาพที่ 3: ต้นหว้าที่มาของชื่อชมพูทวีป
เรื่อง ‘ชมพูทวีป’ ที่หมายถึง ‘ทวีปแห่งต้นหว้า’ นี้คงมีความหมายอะไรซ่อนเร้นอยู่ และเกี่ยวพันกับอารยธรรมของอินเดียอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งนำมาใช้เรียกขอบข่ายจักรวาลวิทยาของตนเอง
แต่เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องภายในของชาวชมพูทวีปเอง คนภายนอกจักรวาลวิทยาคงไม่รู้เรื่องด้วย ดังนั้นคนนอกในยุคโบราณเขาจึงไม่ได้เรียกชาวอินเดียว่า ชาวชมพูทวีป อย่างที่พวกเขาเรียกตัวเอง
คำว่า ‘อินเดีย’ (India) เป็นคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกดินแดนชมพูทวีป ตามชื่อของแม่น้ำ ‘สินธุ’ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายแรกที่พวกเขาได้พบเห็น เมื่อข้ามเทือกเขาฮินดูกูษทางตอนเหนือของอินเดียผ่านทางช่องเขาไคเบอร์ (Khyber pass) ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางจากพื้นที่บริเวณเอเชียกลางเข้ามาสู่ขอบข่ายของความเป็นชมพูทวีป
แน่นอนว่า คำว่า ‘อินเดีย’ นี้ ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ในปรัมปราคติ
พวกเปอร์เซียโบราณเรียกแม่น้ำสายดังกล่าว และดินแดนแถบนี้ว่า ‘ฮินด์’ (Hind) ตามสำเนียงของภาษาดาร์ดิค (Dardic) ซึ่งเป็นภาษาถิ่นพวกพวกอินโด-อารยัน ในแถบไคเบอร์ ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถานปัจจุบัน (รวมถึงพวกที่อยู่ละแวกช่องเขาไคเบอร์ด้วย) ที่ออกเสียงคำนี้ว่า ‘สีนท์’ (sind)
นอกจากนี้ยังมีดินแดนที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันตกของแคว้นปัญจาบ ในประเทศปากีสถานปัจจุบัน ซึ่งทอดยาวไปตามเส้นทางของแม่น้ำสินธุจนไปไหลออกมหาสมุทรที่ทะเลอาหรับ เรียกว่า แคว้นสินธ์ (Sindh, หรือมักสะกดกันว่า ซินด์) ในประเทศปากีสถาน แน่นอนว่าคำว่า ‘สินธ์’ ในที่นี้ก็ย่อมมาจากคำว่า ‘สินธุ’ ที่เป็นทั้งชื่อของแม่น้ำเช่นกัน
ต่อมาพวกกรีกก็เรียกชื่อชมพูทวีปตามเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง แต่ออกเสียงตามสำเนียงตนเองว่า ‘อินดอส’ (Indos) ก่อนที่จะกลายเป็นคำว่า ‘อินดัส’ (Indus) ที่ใช้เรียกแม่น้ำสินธุ ในภาษาอังกฤษตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และเรียกชมพูทวีปว่า ‘อินเดีย’ หมายถึงประเทศอันเป็นที่ตั้งของแม่น้ำอินดัส หรือแม่น้ำสินธุนั่นเอง (ไม่ได้มีแค่พวกกรีกที่เรียกชื่อพื้นที่บริเวณนี้ตามเปอร์เซีย ชาวจีนก็เรียกตามเช่นกัน โดยออกเสียงตามภาษาจีนว่า ‘เทียนจู๋’)
ลักษณะอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำสินธุในสายตาของคนนอก อย่างพวกเปอร์เซีย โดยเฉพาะเมื่อคำว่า ‘ฮินด์’ ตามสำเนียงของชาวเปอร์เซีย ยังกลายเป็นคำเรียกชาวอินเดียโดยรวมว่า ‘ฮินดู’ (Hindu) โดยไม่ได้หมายความเฉพาะเจาะจงไปถึงกลุ่มคนที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ก่อนที่คำนี้จะมีความหมายถึงศาสนาพราหมณ์และผู้ที่นับถือศาสนานี้ในภายหลังเมื่ออินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ทั้งคำว่า ‘อินเดีย’ และ ‘ฮินดู’ จึงเป็นคำศัพท์ที่ฝรั่งเรียกตามพวกแขกเปอร์เซียที่เรียกแม่น้ำสินธุ ในสำเนียงของพวกตนเองว่า ‘ฮินด์’ ไม่ได้เป็นชื่อของลัทธิศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาแต่แรกเริ่ม แต่หมายถึงดินแดนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของลัทธิความเชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกมาก่อนนั่นเอง
ภาพที่ 4: แม่น้ำสินธุ ที่มาของคำว่า อินเดีย
แหล่งที่ภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Indus_River