“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” คงเป็นคำถามที่หลายคนเคยคุ้น แน่นอนว่าหนึ่งในตัวเลือกร้อยแปดพันเก้า เหล่าผู้เยาว์ Y2K อย่างเราๆ มักตอบว่าอยากเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เด็กๆ ต่างใฝ่ฝันว่าอยากใส่เครื่องแบบสุดเก๋าพร้อมพกอาวุธประจำกาย แต่อาชีพตำรวจมีอะไรมากกว่านั้น สันติบาลเป็นอาชีพเสี่ยงอันตราย หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ต้องพลีชีพระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของพวกเขาจึงควรค่าแก่การส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง หลายประเทศได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางให้ประชาชนร่วมรับทราบวีรกรรมของตำรวจ และในวันนี้ผู้เขียนจะพาไปทำความรู้จักกับ “พิพิธภัณฑ์ตำรวจรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland Police Museum)” สถานที่ที่ไม่เพียงเก็บรักษาความทรงจำเท่านั้นแต่เต็มไปด้วยกิจกรรมให้ได้ร่วมสนุก พร้อมแล้วก็ไปอ่านกันเลย!
ภาพที่ 1 ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ตำรวจรัฐควีนส์แลนด์
พิพิธภัณฑ์ตำรวจรัฐควีนส์แลนด์มีแลนด์มาร์กเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานตำรวจรัฐควีนส์แลนด์ ใจกลางเมืองบริสเบน (Brisbane) รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ผู้เขียนแอบหวั่นใจตอนเดินเข้าไปในอาคารครั้งแรก ซึ่งเป็นธรรมดาของชาวบ้านที่ครั่นคร้ามกับภาพลักษณ์น่าเกรมขามของตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ทุกนายล้วนเต็มใจช่วยเหลือและให้บริการผู้เข้าชมทุกท่าน ผู้เขียนจึงจัดคำถามไปหลายข้อเลยทีเดียว
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่ แต่มีห้องจัดแสดงหลักฐานและเอกสารที่น่าสนใจ เมื่อเดินเข้าไปในห้องแรกจะสะดุดตากับตราประจำรัฐควีนส์แลนด์ขนาดยักษ์ และคำขวัญซึ่งเป็นหัวใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกนาย ตราประจำรัฐมีลักษณะเด่นเป็นรูปมงกุฎที่สื่อถึงความภักดีที่ประชาชนมีต่อราชินีวิกตอเรีย อดีตประมุขแห่งรัฐอันเป็นที่มาของชื่อรัฐควีนส์แลนด์ และกางเขนใหญ่สัญลักษณ์ของความกล้าหาญและศรัทธา เข้ากับคำขวัญตำรวจรัฐที่ว่า “ด้วยเกียรติยศที่มี ขอรับใช้ประชาชีสืบไป (With Honor We Serve)”
สัญลักษณ์และคำขวัญมีคำอธิบายกำกับว่าแท้จริงแล้วก่อนปีค.ศ. 1960 กรมตำรวจรัฐควีนส์แลนด์ไม่เคยมีสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปีค.ศ. 1961 “แฟรงค์ บิสชอฟ (Frank Bischof)” อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้นตระหนักถึงความสำคัญของสัญลักษณ์ บิสชอฟจึงมอบหมายให้ “อเล็ค เดย์ (Alec Day)” เจ้าหน้าที่อาวุโสออกแบบตรา เดย์และเพื่อนร่วมงานจึงออกแบบตราขึ้นใหม่ และได้รับการยอมรับโดยทั่วกันนับแต่นั้น เช่นเดียวกับคำขวัญที่ได้มาจากการปรึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ จนกลายเป็น “Constantie ac Comitate” ในภาษาละตินมีความหมายว่า “ความเข้มแข็งและอ่อนน้อม” เนื่องจากภาษาละตินไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในปีค.ศ. 1983 กรมตำรวจจึงเปลี่ยนคำขวัญเป็นภาษาอังกฤษดังที่เห็นในปัจจุบัน
คราวนี้ถึงเวลาเรียนรู้ประวัติความเป็นมากรมตำรวจรัฐควีนส์แลนด์กันเสียที โซนจัดแสดงส่วนนี้จะอธิบายถึงการก่อตั้งกรมตำรวจรัฐ หลังจากที่ควีนส์แลนด์แยกตัวออกจากรัฐนิวเซาท์เวลส์อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1859 แรกเริ่มเดิมที กรมตำรวจรัฐเกิดใหม่แทบไม่มีระบบระเบียบใดๆ แต่ละเขตต่างมีกฎหมายเฉพาะถิ่นของตัวเอง จนกระทั่งในปีค.ศ. 1863 รัฐได้จัดตั้งสถานีตำรวจตามเมืองต่างๆ จำนวน 27 สถานี โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำการ 151 นาย ในจำนวนนั้นมีทั้งตำรวจผิวขาวและชาวท้องถิ่นที่ถูกเรียกว่า “ตำรวจพื้นเมือง (Native Police)” ในโซนนี้จัดแสดงข้าวของที่เจ้าหน้าที่สมัยนั้นเคยใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธอย่างมีด กริช ปืนยาว กุญแจมือโลหะ แม่กุญแจที่ใช้ล็อกห้องขัง กระบองรูปแบบต่างๆ รวมถึงเครื่องแบบตำรวจยุคแรกเริ่มที่ไม่มีแม้แต่กระเป๋าเสื้อและกางเกง! เจ้าหน้าที่ยุคบุกเบิกไม่อาจพกอาวุธหรืออุปกรณ์ใดๆ ยามออกลาดตระเวนมีเพียงนกหวีดแขวนคอที่เอาไว้เป่าเรียกกำลังเสริมเท่านั้น
โซนต่อมาให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าของกองกำลังพื้นเมือง เช่นเดียวกับดินแดนอาณานิคมทั้งหลาย ผู้ปกครองคนขาวมักว่าจ้างคนพื้นถิ่นให้ทำงานสกปรกแทนตน เขาเหล่านี้คือคนที่เราเรียกรวมว่า “อะบอริจิน (Aboriginal People)” มาช้านาน กองกำลังพื้นเมืองถูกก่อตั้งครั้งแรกในปีค.ศ. 1842 ที่รัฐวิกตอเรีย ก่อนถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ตามถิ่นทุรกันดารต่างๆ รวมถึงรัฐควีนส์แลนด์ในปีค.ศ. 1859 หน้าที่หลักของเด็กหนุ่มพื้นเมืองเหล่านี้คือการแกะรอยกลุ่มกบฎท้องถิ่นและกำจัดคนเหล่านั้นให้หมดไป และด้วยความชำนาญภูมิประเทศทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่คนขาวที่มีอาวุธทันสมัยยิ่งได้เปรียบกลุ่มกบฏมากขึ้น ตำรวจพื้นเมืองถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทรยศต่อเผ่าพันธุ์ ฆ่าฟันเพื่อนร่วมเผ่าเพียงเพื่อค่าจ้างไม่กี่เพนนีไว้ใช้เที่ยวซ่องโสเภณีและดื่มสุรา ค่านิยมที่คนขาวใช้มอมเมาพวกเขามานานนับทศวรรษ และแม้ว่ากองกำลังพื้นเมืองจะยุติบทบาทอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1915 แต่ประวัติศาสตร์บันทึกและจดจำโศกนาฏกรรมนี้ตลอดไป ในโซนนี้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นค่ายพักชั่วคราวของกองกำลังพื้นเมือง ได้แก่ กล้องยาสูบดินเผา ปลอกกระสุน เศษแก้วจากขวดเบียร์และเหล้า เป็นต้น
ภาพที่ 2 โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นค่ายพักกองกำลังพื้นเมือง
โซนถัดมาเป็นไฮไลท์ที่เด็กๆ ตื่นตาตื่นใจ นั่นคือโซนจัดแสดงสัตว์และยานพาหนะที่ตำรวจรัฐควีนส์แลนด์ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพาหนะยุคบุกเบิกจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากม้า สัตว์สี่เท้าที่ถูกใช้ในกรมตั้งแต่วันก่อตั้งจนถึงทศวรรษที่ 1960 แม้จักรยานจะถูกนำมาใช้งานที่สถานีตั้งแต่ปีค.ศ. 1896 แต่ตามท้องที่ห่างไกลในรัฐควีนส์แลนด์ การใช้ม้ากลับแพร่หลายมากกว่า ตำรวจในเมืองใหญ่เริ่มใช้รถจักรยานยนต์ในปี ค.ศ.1925 ก่อนที่จักรยานยนต์และรถยนต์จะมาแทนที่สัตว์พาหนะอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา โซนสัตว์และยานพาหนะมีการจัดแสดงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ บังเหียน แปรง แส้ และอานม้า รวมถึงรถและจักรยานยนต์ของจริงที่ตำรวจควีนส์แลนด์ใช้งานทุกวันนี้ ผู้ชมสามารถขึ้นขี่โพสต์ท่าถ่ายรูปได้ตามอัธยาศัย เรียกได้ว่าถูกใจคนชอบถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลมีเดีย
ภาพที่ 3 รถจักรยานยนต์ลาดตระเวนของตำรวจรัฐควีนส์แลนด์
นอกจากนี้นิทรรศการยังแบ่งพื้นที่เป็นส่วนจัดแสดงข้าวของแต่ละหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการเครื่องแบบตำรวจแต่ละยุคสมัย อุปกรณ์และอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เหรียญกล้าหาญและวีรกรรมของเหล่าเจ้าหน้าที่ที่พลีชีพขณะปฏิบัติงาน ความเป็นมาของตำรวจหญิงและชาว LGBTQ ที่เป็นส่วนสำคัญของกรมตำรวจรัฐ การฝึกสุนัขเพื่อใช้ในการสืบคดี อุปกรณ์เก็บหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ
โซนที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดเป็นห้องนิทรรศการคดีฆาตกรรมอำพรางที่ยังปิดคดีไม่ได้ บางคดีสามารถย้อนกลับไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในส่วนนี้มีการจัดแสดงวัตถุหลักฐานจริงที่พบในที่เกิดเหตุ ทั้งอาวุธที่ใช้ในคดีอุจฉกรรจ์ ชิ้นส่วนเสื้อผ้าของเหยื่อและคนร้าย ปลอกกระสุนและข้าวของอื่นๆ อีกมากมาย ผู้เขียนประทับใจในความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่รัฐที่แม้ว่าหลายคดีหมดอายุความไปหลายสิบปี ทั้งผู้ก่อเหตุและผู้เกี่ยวข้องต่างล้มหายตายจากไปตามกัน แต่ตำรวจก็ยังคงสืบหาความจริงมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งในคดีสะเทือนขวัญที่ปิดไม่ได้คือ “คดีฆาตกรรมเบ็ตตี แชงก์ส (The Murder of Betty Shanks)” คดีสะเทือนขวัญในทศวรรษที่ 1950 ที่ตำรวจรัฐควีนส์แลนด์ยังคงตั้งมั่นว่าจะทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ให้จงได้
ห้องสุดท้ายของนิทรรศการมีคิวอาร์โค้ดให้ผู้ชมสแกนเพื่อทดลองสวมบทบาทตำรวจรัฐควีนส์แลนด์ไขคดีพิศวงไปด้วยกัน นับเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อคอหนังและนวนิยายสืบสวนสอบสวนโดยแท้ ในแบบทดสอบมีการประเมินด้วยว่าผู้เล่นมีเซนส์ หรือสัญชาตญาณการเป็นตำรวจมากน้อยแค่ไหน อยากให้ทุกคนมาสัมผัสความยากง่ายตามอัธยาศัยด้วยตนเอง
หากใครสนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ตำรวจรัฐควีนส์แลนด์สามารถเข้าชมได้ฟรีทุกวันจันทร์ - พฤหัสบดี ตั้งแต่ 10.00- 15.00 น. และทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนจะมีการบรรยายพิเศษเวลา 11.00-12.00 น. โดยมีแขกรับเชิญที่น่าสนใจ อาทิ เหยื่อที่รอดจากเหตุฆาตกรรม เจ้าหน้าที่ปลดเกษียณที่บอกเล่าคดีความสะเทือนขวัญ เป็นต้น ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนจะได้รับความรู้และความประทับใจกลับไป
แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
Johnston, W. Ross. The Long Blue Line – A History of the Queensland Police. Tingalpa: Boolarong
Press, 1992.
Museums and Galleries Queensland. Queensland Police Museum. (2023). [Online]. Accessed
2023 June 7. Available from: https://magsq.com.au/museum-gallery/queensland-police-museum/
Queensland Police Service. Museum. (2023). [Online]. Accessed 2023 June 7. Available from:
https://www.police.qld.gov.au/museum