เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 มีพิธีสำคัญเกิดขึ้นที่สหราชอาณาจักร คือ พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) จัดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ซึ่งสถานที่แห่งนี้ถูกใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้กับกษัตริย์แห่งอังกฤษย้อนกลับไปได้หลายศตวรรษตั้งแต่สมัยของพระเจ้าวิลเลี่ยมผู้พิชิต (William the Conqueror) ทั้งนี้ หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้ในพิธี คือ บัลลังก์ราชาภิเษก (The Coronation Chair) หรือที่นิยมเรียกว่าบัลลังก์เซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward's Chair) ซึ่งเป็นบัลลังก์ที่กษัตริย์ประทับขณะทรงรับมงกุฎราชาภิเษก ธรรมเนียมนี้เริ่มต้นมีขึ้นครั้งแรกใน สมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ได้โปรดให้ออกแบบและสร้างพระที่นั่งทำจากไม้มีช่องสำหรับวางก้อนหินทราย หรือ “หินแห่งสโคน” (Stone of Scone) เป็นหินที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงยึดมาไว้ในครอบครองหลังจากรบชนะสกอตแลนด์ในปี ค.ศ.1296 โดยมีสัญญะทางการเมืองเพื่อแสดงว่าทรงครองทั้งบัลลังก์สก็อตและบัลลังก์อังกฤษ เนื่องจากชาวสกอตเชื่อว่า หินนี้เป็นหินที่กษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ประทับนั่งสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ภาพที่ 1 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงรับมงกุฎบรมราชาภิเษกจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
(Archbishop of Canterbury) บนบัลลังก์ราชาภิเษก
แหล่งที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/uk-65518360
นอกจากนี้ยังมีอีกตำนานศักดิ์สิทธิ์เล่าว่าก้อนหินนี้เป็นหินที่ยาคอบ (Jacob) บรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ใช้ต่างหมอนหนุนนอนที่เมืองเบเธล (Bethel) ก่อนนิมิตเห็นทูตสวรรค์ปรากฏตัวและกลับขึ้นบันไดสวรรค์ไป เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ของหินก้อนนี้ทำให้มันถูกเคลื่อนย้ายไปทั่วบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) และมาบรรจบลงที่ไอร์แลนด์เมื่อราว 700 ปีก่อนคริสตศักราช ตั้งไว้บนเนินเขาทารา (Tara) ในจังหวัดเคาน์ตีมีท (County Meath) ซึ่งคติการใช้หินเป็นบัลลังก์ หรือสถานที่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกสามารถพบเห็นได้หลายแห่งในยุโรปยุคกลาง อาทิ หินลีอาฟอล (Lia Fáil) ในไอร์แลนด์ หินแห่งโมรา (Mora stenar) ก้อนหินที่กษัตริย์สวีเดนโบราณใช้ในการพิธีปราบดาภิเษก หรือหินแห่งเจ้าชาย (The Prince's Stone) ก้อนหินที่ถูกตั้งล้อมรอบพื้นที่พิธีแต่งตั้งเจ้าชายแห่งอาณาจักรคาแรนเทเนีย (Carantania) (ปัจจุบันอยู่ในประเทศสโลวีเนีย) ในสมัยยุคกลางตอนต้น (Early Middel Ages) เป็นต้น
ภาพที่ 2 หินแห่งสโคน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ปราสาทเอดินบะระ (Edinburgh) ในสกอตแลนด์
แหล่งที่มาภาพ: https://www.townandcountrymag.com/society/tradition/a43745473/coronation-stone-of-destiny-scone-explained/
หากมองย้อนกลับเข้ามาในประเทศไทยก็พบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนหรือพระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ ภายใต้พระมหานพปฎลเศวตฉัตร ดังปรากฎในพระบรมฉายาลักษณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2454 (ค.ศ. 1911)
พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ หรือพระแท่นมนังคศิลาบาตร เป็นแผ่นหินที่เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ประทับของพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์สุโขทัย ซึ่งพระวชิรญาณภิกขุค้นพบร่วมกับศิลาจารึกหลักที่ 1 และมีปรากฎข้อความที่กล่าวถึงแผ่นหินนี้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้วย พระองค์จึงนำกลับมายังกรุงเทพในปีพ.ศ. 2377 (ค.ศ. 1834) เมื่อแรกนำไปตั้งไว้ที่วัดราชาธิวาสที่พระองค์จำพรรษาอยู่ และต่อมาเมื่อพระวชิรญาณภิกขุเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ได้ย้ายแผ่นหินนี้ไปเก็บรักษาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามร่วมกับศิลาจารึกหลักที่ 1 โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงกล่าวถึงแผ่นศิลาหลายครั้งในนิตยสารวชิรญาณ อาทิ “อักษร จาฤกในเสาสิลานเมืองศุโขไทย ขอมแลไทยโบราณ” ในวชิรญาณเล่ม 1 ฉบับที่ 3 เดือนยี่ จ.ศ. 1246 (พ.ศ. 2427) “เรื่องราชประวัติ ในรัชการที่ 4 ตั้งแต่แรกทรงผนวชตลอดสวรรณคาไลย โดยความย่อ” ในวชิรญาณเล่ม 2 ฉบับที่ 8 เดือนเจ็ด จ.ศ. 1247 (พ.ศ. 2428) และ “เรื่องอภินิหารการประจักษ์” ในวชิรญาณเล่ม 6 ตอนที่ 36 เดือนกันยายน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) และยังปรากฎในพระนิพนธ์บทความของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่ชื่อ “ราชประวัติ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในวชิรญาณเล่ม 1 ฉบับที่ 5 เดือนสี่ จ.ศ. 1246 (พ.ศ. 2427) ซึ่งเรื่องราวของการค้นพบพระแท่นมนังคศิลาบาตร ในแต่ละสำนวนไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ขอยกตัวอย่างจากบทความเรื่องพระราชประวัติ ในรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่แรกทรงผนวชตลอดสวรรณคาไลย ความย่อดังนี้
“...เวลาเย็นเสด็จประพาษที่โคกปราสาทร้าง ภบแท่นสิลาแห่งหนึ่งอยู่ริมเนินปราสาทเก่าแต่โบราณ แท่นสิลานั้นเขาก่อไว้ในภายหลังแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ริมเนินปราสาท ชาวเมืองนั้นเขาเคารพย์ยำเกรงกรัวนับถือ สำคัญว่าเป็นศาลจ้าว จนชั้นแต่คนเดินกล้ำกรายเคียงก็ไม่ได้ เกิดเจปไปไม่สบาย... ครั้นทรงทอดพระเนตร แลทรงฟังกรมการกราปทูลดังนั้นแล้ว ก็เสด็จทรงพระดำเนินด้วยพระบาท ตรงเข้าไปที่แท่นสีลานั้น พวกกรมการกลัวเต็มที กราบทูลจนปากสั่นเสียงสั่นทูลว่าที่แท่นสิลานี้สักศิทขลังนัก... ครั้นได้ทรงฟังกรมการกราบทูลดั่งนั้น ก็ไม่ทรงเชื่อจึงเสด็จครงเข้าไปใกล้แท่นสีลาว่าอย่าทำ ๆ แล้วเสด็จขึ้นประทับทรงนั่งบนแผ่นสีลา รับสั่งว่ามาอยู่ทำไมกลางป่า ไปอยู่บางกอกด้วยกัน จะได้ฟังเทศน์จำศีลแลชมบ้านเมืองหลวงสนุกนี้ กว่าเมืองเหนือครั้นเห็นเงียบสงบดีมิเปนอันตรายแก่ใครไม่... ครั้นเมื่อจะเสด็จกลับมีรับสั่ง ให้ชลอลงแพล่องลงมากรุงเทพได้ก่อเปนแท่นแล้วเอาแผ่นสีลานั้น ไว้ที่แท่นใต้ต้นมขามน่าโบสถ์วัดสมอราย เอาไว้ด้วยกันกับเสาสิลาที่จาฤกเปนอักษรเขมรนั้น เอามาแต่เมองสุกโขไทย์คราวเดียวกัน...”
กล่าวโดยสรุปว่าเป็นแผ่นศิลาที่มีความศักดิ์สิทธิ์จนเป็นที่โจษจันของชาวเมือง หากผู้ใดมาแตะต้องก็มีผลให้ป่วยไข้หรือมีอันเป็นไป แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้มีบุญญาธิการจึงไม่เกิดเหตุเภทภัยอันใดกับพระองค์
ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการถวายคำสัตย์ปฏิญาณของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ พราหมณ์ ข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ โดยธรรมเนียมสองอย่างนี้ไม่เคยปรากฏนี้ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยองค์ก่อนหน้า แต่มีความคล้ายคลึงกับพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 5 (George IV) กษัตริย์แห่งอังกฤษที่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในปีเดียวกัน อีกทั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมารก็ทรงเคยเข้าร่วมในพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (Edward VII) ที่จัดขึ้นก่อนหน้า เมื่อปีพ.ศ.2445 (ค.ศ. 1902) ด้วย
ภาพที่ 3 พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจาก
บริเวณเนินปราสาท เมืองโบราณสุโขทัย (เฉพาะส่วนที่เป็นแผ่นหิน)
ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง
แหล่งที่มาภาพ: https://www.matichonweekly.com/column/article_2003
ภาพที่ 4 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องต้นบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
แหล่งที่มาภาพ: https://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal159.htm
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าหลังจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพดานความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีของชนชั้นนำไทยมีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งการขยายอำนาจของอังกฤษขึ้นเป็นเจ้าอาณานิคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อขับเขี่ยวกับฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกนำธรรมเนียมการบรมราชาภิเษกอย่างอังกฤษมาประยุกต์กับโบราณวัตถุที่มีตำนานและความสำคัญต่อราชวงศ์ในเชิงสัญลักษณ์บุญญาธิการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความเก่าแก่และสืบย้อนไปถึงบูรพกษัตริย์ในอดีตเพื่อแสดงให้พระราชอาคันตุกะที่เข้าร่วมในพิธีได้เห็นว่าสยามก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน มีความสืบเนื่องของราชวงศ์ที่ไม่ด้อยไปกว่าบรรดาราชวงศ์ในยุโรป และมีธรรมเนียมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงถึงพระราชอำนาจของพระองค์ในราชสำนัก และแสดงความสำเร็จให้ประจักษ์แก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการจากรัชกาลก่อนเห็นถึงพระปรีชาสามารถ เพื่อสนับสนุนพระองค์ในการปกครองประเทศต่อไป ซึ่งข้อนี้มีปรากฎเป็นข้อความที่ทรงพระนิพนธ์ถึงการจัดพระราชพิธีนี้ในจดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“...การบ้านเมืองในสมัยนี้ก็เหมือนค้าฃาย จะคงใช้วิธีอย่างเก่าก็แพ้เปรียบเฃาเท่านั้น ถ้าไม่หาญลงทุนบ้างก้ค้าไม่ขึ้น... ความตั้งใจของเราก็คือจะจูงความคิดคนไทยให้คิดการกว้างแลทางยาวขึ้น และงานครั้งนี้นับว่าเปนส่วน 1 แห่งอุบายนั้น... เราพึ่งจะเริ่มรัชกาล จึ่งพอจะหาญลองคิดทำการใหญ่และอื้ออึงเช่นงานครั้งนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะมีบกพร่องไปในทางใดบ้าง ก็พอจะมีทางแก้ตัวได้ว่า ยังใหม่ไม่สันทัดในกิจการ เชื่อความสามารถของตนเกินไป หาญเกินไปตามวิไสยคนหนุ่ม ทั้งต่อไปก็ยังจะมีโอกาสทำการแก้ตัวแก้หน้าได้ด้วย...”
จากที่กล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นถึงการกระบวนการความเป็นตะวันตก (Westernization) เพื่อให้สยามเข้าไปสู่สังคมโลกที่ทัดเทียมกับชาติตะวันตกระบบโลก สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดภายในประเทศและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับประเทศต่าง ๆ บนโลกแม้ว่าพิธีบรมราชาภิเษกจะเป็นเพียงหนึ่งในสัญญะเท่านั้น หากลองศึกษาประวัติศาสตร์ไทยโดยเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลกก็ยิ่งทำให้มองเห็นภาพของประวัติศาสตร์ไทยที่กว้างขวางและน่าสนใจมากขึ้น
รายการอ้างอิง
จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2466. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์ พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ. 2466).
จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2517. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 1 สิงหาคม 2517).
วชิรญาณ เล่ม 1/24 ฉบับ 1-6 เดือน 12 - เดือน 5 จ.ศ. 1246-1247. วชิรญาณ. รวบรวมและจัดพิมพ์โดย วิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสนและคณะ. กรุงเทพ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559.
วชิรญาณ เล่ม 2/24 ฉบับ 7-13 เดือน 6 - เดือน 11 จ.ศ. 1247. วชิรญาณ. รวบรวมและจัดพิมพ์โดย วิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสนและคณะ. กรุงเทพ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559.
วชิรญาณ เล่ม 8/24 ตอนที่ 31-36 เมษายน - กันยายน ร.ศ. 116. วชิรญาณ. รวบรวมและจัดพิมพ์โดยวิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสนและคณะ. กรุงเทพ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559.
Rodwell, Warwick. The Coronation Chair and Stone of Scone: history, archaeology and conservation. Oxford: Oxbow Books, 2013.
https://en.wikipedia.org/wiki/Lia_F%C3%A1il
https://en.wikipedia.org/wiki/Stones_of_Mora
https://en.wikipedia.org/wiki/Prince%27s_Stone
https://www.youtube.com/watch?v=g8HVnAXZI1I&t=3260s