หากไม่นับการ์ตูนกับซูชิ สิ่งแรกที่นึกถึงประเทศญี่ปุ่นคงเป็นเรื่องเทคโนโลยี การเดินเตร็ดเตร่อยู่ในญี่ปุ่นทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในโลกอนาคต ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไปหมด ตั้งแต่ของชิ้นใหญ่อย่างระบบการคมนาคม รถไฟความเร็วสูงที่แสนตรงเวลาจนถึงเครื่องสั่งราเมนอัตโนมัติในร้านเล็ก ๆ ข้างทาง จึงมีความสนใจว่า ประเทศนี้มีวิธีการสร้างคนของเขาอย่างไร สอนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของประเทศในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติ (National Science and Innovation Technology)หรือมีชื่อเล่นเรียกกันว่า “มิไรคัง” เป็นสถานที่ที่เดียวกันในการจัดแสดง ASIMO เจ้าหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์รุ่นแรกที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ที่เขตโอไดบะ ไม่ไกลจากโตเกียว หลังซื้อบัตรเข้าชมเรียบร้อย พลิกดูด้านหลังก็พบข้อความว่า
“Why do people make robots?”
เปิดด้วยคำถามชวนคิดว่า ไม่ใช่สร้างยังไง แต่ทำไมต้องสร้าง นั่นสิ ทำไมต้องสร้าง?
นิทรรศการหลักของที่นี่มีสองชั้น เริ่มต้นส่วนแรกในหัวเรื่องว่า Explore the frontiers เล่าเรื่องการศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มนุษย์ ชีวิต โลก สิ่งแวดล้อมไปจนถึงอวกาศ ความน่าสนใจจากการตั้งคำถามบนตั๋วในตอนแรกกลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมดของนิทรรศการ ตลอดการเดินของผู้ชมถูกตั้งสารพัดคำถาม เอกภพคืออะไร? มีอะไรอยู่ภายในโลก? ชีวิตคืออะไร? แม้ว่าหลายคำถามถูกตอบไปบ้างแล้วในตัวนิทรรศการเอง แต่ในตอนท้ายของแต่ละหัวข้อก็ยังไม่วายทิ้งคำถามที่มนุษยชาติยังหาคำตอบไม่ได้เอาไว้ด้วย
ปกติทั่วไปช่วงสุดท้ายของนิทรรศการมักสรุปเกี่ยวกับชีวิต โลก หรือเอกภพ แต่นิทรรศการนี้กลับเลือกที่จะสรุปด้วยแผนภาพความคิดว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเกิดขึ้นจากความขี้สงสัยของมนุษย์ เราสงสัย ตั้งคำถาม หาคำตอบ แล้วก็สงสัยใหม่ ตั้งคำถามใหม่ที่ลึกขึ้น กว้างขึ้น อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และผนังด้านหนึ่งของห้องสุดท้ายมีข้อความเขียนว่า
How has our curiosity reshaped our worldwide?
Our curiosity to find out more about the unknown continues to gradually expand our understanding of the world. These tiny curiosities have the power to eventually change the world around us. Each time our understanding of the world is reshaped, so too are our common beliefs.
Where will your curiosity lead you?
ภาพที่ 1: Our curiosity keeps expanding
และผนังที่อยู่ถัดไปด้านข้างก็มีโต้ะ เก้าอี้ และโพสอิท กับข้อความว่า
Our curiosity keeps expanding.
พื้นที่ว่างรอบข้อความนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้นั่งเก้าอี้ และลองเขียนคำถามของตัวเองแปะไว้ที่ฝาผนัง ซึ่งหากพิจารณาจากความสูงของเก้าอี้ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ว่างบนผนังเหล่านี้มีไว้สำหรับผู้ชมกลุ่มไหน
“ทำไมถามอะไรโง่ ๆ”
“แค่นี้ก็ไม่รู้หรือไง”
“ถามอะไรเยอะแยะอยู่ได้ น่ารำคาญ”
มนุษย์แต่ละคนอาจมีประสบการณ์เลวร้ายวัยเด็กที่ต่างกันออกไปเกี่ยวกับการตั้งคำถามในสิ่งต่างๆ ที่สงสัย แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นที่มิไรคังแน่นอน
Create your future โซนถัดมาที่เนื้อหาของนิทรรศการเขยิบจากการแสวงหาความรู้เป็นเรื่องนวัตกรรมล้ำสมัย เช่นเดิมนิทรรศการยังคงรัวคำถามใส่ผู้ชมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคำถามเชิงนามธรรม เช่นระบบประสาทของเราเหมือนกับคอมพิวเตอร์หรือเปล่า? กล้องถ่ายรูปก็คือตาใช่ไหม? หุ่นยนต์ใช่มนุษย์ไหม? เราจะวางแผนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในโลกอนาคตอย่างไร? ไปจนถึงคำถามปลายเปิดอย่างอนาคตแบบไหนที่เราอยากให้โลกเป็น?
แน่นอนว่า คำถามเชิงนามธรรมย่อมไม่ได้มีคำตอบหนึ่งเดียวแม้แต่ในวงการวิทยาศาสตร์ คำถามเหล่านี้ก็ยังถูกถกเถียงกันอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น สิ่งที่นิทรรศการนำเสนอไม่ใช่การพยายามทำให้ผู้ชมเชื่อในคำตอบใดคำตอบหนึ่ง แต่เป็นการชวนผู้ชมคิดผ่านเกม อุปกรณ์ หรือสถานการณ์จำลองที่กระตุ้นให้ได้ลองเล่น คิด และหาคำตอบของคำถามเหล่านั้นของตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ตรงกับคนอื่น ๆ ที่เข้าไปเล่นสิ่งเดียวกันก็ได้
ภาพที่ 2: What is human?
จากนั้นโซนพาโลกไปสู่อนาคตที่เราฝันเป็นการทดลองออกแบบเส้นทางจากโลกวันนี้ไปสู่โลกอนาคตที่อยากเห็นผ่านมุมมองสองแบบ คือ แบบมองจากอนาคตย้อนกลับมาสู่วันนี้ กับแบบมองจากวันนี้ไปข้างหน้า การมองไปข้างหน้านั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความไม่รู้ และความเสี่ยงซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ
ส่วนสุดท้ายเป็นห้องนิทรรศการที่รวบรวมคำถามจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่เคยมาเยี่ยมชมมิไรคังว่าพวกเขาอยากฝากคำถามอะไรไปให้ผู้ชมคนอื่นต่อไปบ้าง คำถามของบางคนก็เนิร์ดแสนเนิร์ด คำถามของบางคนก็น่าสนใจ แต่คำถามที่สะดุดตาผู้เขียนที่สุดเป็นของคุณโคอิจิ ทานากะ (Koichi Tanaka) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปีค.ศ. 2002 ตั้งคำถามว่า “How can we keep on being curious?” ทำอย่างไรเราถึงขี้สงสัยต่อไปได้เรื่อย ๆ
ภาพที่ 3: How can we keep on being curious?
ทุกความรู้ ทุกนวัตกรรม ทุกเทคโนโลยี ล้วนเกิดขึ้นจากความขี้สงสัย
จงตั้งคำถาม น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดของสิ่งที่มิไรคังตั้งใจจะบอกให้กับใครก็ตามที่เข้ามาเยี่ยมชม
ว่าแต่ ต้องทำยังไงกันนะ?