Museum Core
ภาพยนตร์“War Horse” จุดเริ่มต้นความอยากรู้เรื่องของ ม้าในสงคราม
Museum Core
22 มิ.ย. 66 851

ผู้เขียน : นิศา บูรณภวังค์

               ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “War Horse” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับม้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทำให้คำถามเกิดในใจว่านอกจากในกองทัพแล้ว ในประวัติศาสตร์ม้ามีบทบาทอย่างไรกับมนุษย์บ้าง ดังที่สพ.ญ.ศุภวรรณ ตันมณี กล่าวว่า “มันไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ม้า ความจริงมันคือประวัติศาสตร์มนุษย์ ถ้าเราทำลายประวัติศาสตร์ม้าก็เท่ากับเราได้ทำลายประวัติศาสตร์มนุษย์ด้วย” จึงเป็นมูลเหตุให้สนใจใคร่รู้และศึกษาเรื่องม้าในสงคราม 

 

ภาพที่ 1 โปสเตอร์ภาพยนตร์ War Horse

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:War-horse-poster.jpg

 

               ม้าเป็นสัตว์ที่วิ่งได้เร็วและแข็งแรง จึงมีบทบาทในวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์รถไฟ รถราง และรถยนต์เสียอีก ด้วยการขี่ม้าสามารถเดินทางไปได้ไกลและรวดเร็วถึง 130 กิโลเมตรต่อวัน และในบันทึกประวัติศาสตร์พบว่ามีหลายชนชาติที่นิยมใช้ม้าในการปฏิบัติภารกิจ อาทิเช่น จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งอาณาจักรมาเซโดเนีย (Macedonia) ขี่ม้าออกรบชนะไปทั่วเจ็ดคาบสมุทร ชาวโรมันโบราณนิยมขี่ม้า ฟาโรห์แห่งอียิปต์ก็โปรดการขี่ม้าและใช้ม้าในสงครามบ่อยๆ ชาวอาหรับโบราณใช้ม้าเป็นพาหนะในการประกอบอาชีพ ซึ่งม้าอาหรับได้ขึ้นชื่อว่าวิ่งเร็วและมีรูปร่างเพรียว ขณะที่ชาวอินเดียนแดงที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือก็สามารถใช้ม้าได้อย่างคล่องแคล่วและยิงธนูขณะอยู่บนหลังม้าได้อย่างสบาย รวมทั้งยังใช้ม้าเป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยเช่นเดียวกับชนเผ่าทาทาร์ (Tartar) ในเอเชียกลาง 

               ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 จักรวรรดิมองโกล (Mongol Empire) จอมทัพอันลือนามที่ชื่อว่า เจงกิสข่าน (Kublai Khan ค.ศ.1264-1294) ได้ทำสงครามขยายอาณาเขตไปกว้างใหญ่ไพศาลด้วยกองทัพนักรบบนหลังม้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ของกองทัพมองโกลไม่ได้เน้นขนาดกองกำลังแต่เน้นคุณภาพ ม้าในมองโกลแม้ตัวเล็กกว่าม้ายุโรปแต่ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นม้าที่มีความเก่งกาจมาก  นอกจากความทรหดอดทนแล้ว ม้ามองโกลสามารถวิ่งด้วยระยะทางไม่ต่ำกว่า 80 กม. อีกทั้งสามารถดูแลตัวเองได้ดี หากินในทุ่งหญ้าได้เองแม้แต่ช่วงที่มีหิมะปกคลุม รวมถึงน้ำนมที่ได้จากม้ายังเป็นอาหารให้แก่ทหารได้อีกด้วย ในยามออกศึกทหารม้ามองโกลจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม ‘ทหารม้าเบา’ หมายถึง ทหารที่มีอาวุธประจำกายเป็นดาบโค้งและหอกยาว ในการสู้รบใช้เทคนิคยิงธนูนำแล้ววิ่งเข้าหาเพื่อล่อให้ข้าศึกเข้าต่อสู้ด้วย แล้วแบ่งกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งเป็นปีกสองข้างโอบล้อมไว้ และอีกกลุ่มเป็น ‘ทหารม้าหนัก’ สวมชุดเกราะเหล็กและเข้าปะทะต่อสู้กับข้าศึกอย่างไม่เกรงกลัว

 

ภาพที่ 2 ภาพวาดทหารมองโกลขี่ม้าและยิงธนูในสนามรบในศตวรรษที่ 14 (หอสมุดแห่งชาติ เบอร์ลิน)

แหล่งที่มาภาพ: https://www.worldhistory.org/image/11455/mongol-warriors-in-battle/

 

               หากย้อนกลับไปในอดีตประเทศจีนก็มีการใช้ม้าในการทำศึกสงครามมายาวนานมาก โดยเฉพาะหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่ขุดค้นพบที่หมู่บ้านหยางเซ่อ นักโบราณคดีขุดค้นพบสุสานขนาดใหญ่ภายในมีรถศึกจำนวน 48 คัน และซากม้าอีก 105 ตัว ถูกฝังรวมกับเจ้าผู้ครองแคว้นเจิ้ง ซึ่งหลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่าแคว้นต่างๆ ในสมัยโบราณมีการใช้มาในการสู้รบมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (1120-781 ปีก่อนคริสตกาล) นับได้ว่าเป็นหลุมฝังม้าและรถศึกขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ

 

ภาพที่ 3 พิธีฝังศพม้าจำนวนมากในประเทศจีน (ช่วงปี 547–490 ก่อนคริสตศักราช)

แหล่งที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sacrificial_horsepit_linzi_2010_06_06.jpg

 

               ในภาพยนตร์เรื่อง “War Horse” แสดงให้เห็นว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรบ จากที่เห็นในภาพยนตร์ตอนต้นๆ เรื่อง กองทหารม้าอังกฤษวิ่งลุยเข้าใส่ข้าศึกตามยุทธวิธีแบบเดิมอย่างกล้าหาญและหึกเฮิม หากเมื่อโดนโต้ตอบด้วยอาวุธสมัยใหม่ ก็ไม่สามารถรับมือได้เท่าไหร่นัก และเมื่อกองทัพพ่ายแพ้หน้าที่ของม้าศึกจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นม้าลากเกวียนพยาบาลและม้าลากปืนใหญ่แทน  ทหารม้าเริ่มหมดไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะการก้าวเข้ามาของรถถัง  ในตอนท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 แทบไม่มีหน่วยทหารม้าให้เห็นในสนามรบ บทบาทของม้าในสงครามได้ถูกจำกัดลงจากเดิมไปมาก แต่ก็ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางในการสนับสนุนภารกิจต่างๆ เช่น หน่วยสอดแนม การขนส่งลำเลียงและการลากจูงอาวุธปืนชนิดต่างๆ ขนส่งทหารและเสบียง อย่างไรก็ตาม ทหารม้าสามารถนำมาทดแทนในบางสภาวการณ์ที่ยากลำบาก เช่น เมื่อครั้งที่กองทัพเยอรมันเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน ทำให้ทหารหลายหน่วยยังคงต้องใช้ม้า ทางด้านรัสเซียนั้น ก็มีกองทหารม้าคอสแซคส์ (Cossacks) อันเลื่องชื่อเรื่องการความแข็งแกร่ง ใช้เดินทางในยามค่ำคืนเพื่อลบเลี่ยงการตรวจจับของเครื่องบิน เมื่อใกล้ที่หมายกองทหารก็ลงจากหลังม้าแล้วเข้าโจมตีที่หมายเช่นเดียวกับทหารราบทั่วไป

               แน่นอนเมื่อคนยังเป็นฮีโร่ของสงครามได้ ม้าก็เป็นได้เช่นกัน ดังเช่นในสงครามเกาหลี ชื่อของ สิบเอก “Reckless” ซึ่งเป็นม้าที่เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับมนุษย์ จนเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ แต่เดิมนั้นสิบเอก “Reckless” มีชื่อว่า Ah Chim Hai หรือ “เปลวเพลิงในรุ่งอรุณ” มันเป็นม้าที่เจ้าของขายให้ทหารอเมริกันเพื่อหาเงินรักษาน้องสาว ว่ากันว่ามันเป็นม้าที่จงรักภักดีมาก ไม่เกรงกลัวต่ออันตรายใดๆ และไม่เคยละทิ้งหน้าที่แม้สักครั้ง ในปีค.ศ. 1953 มันได้รับหน้าที่สำคัญในการนำกระสุนเพื่อเอาไปส่งให้แนวหน้า และต้องพาผู้บาดเจ็บกลับมารักษา บางครั้งบางหนมันต้องเดินทางโดยลำพัง ถึงวันละ 51 รอบ “Reckless” เคยโดนยิงเข้าถึงสองครั้ง วิ่งเข้าไปรับสะเก็ดระเบิดแทนทหาร 4 นาย คุณงามความดีนี้ ทำให้มันได้รับตำแหน่งสิบเอกในวันที่ 10 เมษายน 1954 และกลายเป็นสัตว์เพียงตัวเดียวที่ได้ยศอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ หลังจากหน้าที่ในสงครามเสร็จสิ้นลง “Reckless” ได้เดินทางกลับมายังสหรัฐอเมริกา และใช้ชีวิตอย่างสงบสุขจนกระทั่งจากไปในปีค.ศ. 1968 ท่ามกลางพิธีศพอย่างสมเกียรติ

 

ภาพที่ 4 สิบเอก Reckless ม้าในสนามรบ 

แหล่งที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sgt_Reckless_with_recoilless-rifle.jpg

 

               สงครามมักมาพร้อมกับวีรบุรุษ แต่วีรบุรุษหลายคนก็มักจากไปในสงครามเสมอ ดังนั้น  เมื่อผู้เขียนได้รับชมภาพยนตร์จบ นอกจากความรู้สึกชื่นชมในความเก่งกล้าของม้า (และทหาร) แล้วนั้น ก็ยังแอบมีความรู้สึกเล็ก ๆ ซ่านขึ้นมาในใจว่า ทำไมพวกม้าเหล่านั้นจึงต้องพลอยมารับกรรมจากสงครามที่มนุษย์ก่อขึ้น เช่นเดียวกับมนุษย์อีกหลายชีวิตที่ต้องได้รับความสูญเสียในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นมาเลย

 

ภาพที่ 5 ภาพม้าในสนามรบ

แหล่งที่มาภาพ:  https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Reckless_under_fire.jpg

 

เอกสารอ้างอิง

ภาพยนตร์เรื่อง “War Horse”ม้าศึกจารึกโลก.Steven Spielberg.ผู้ผลิต : DreamWorks SKG

www.catdumb.com/heroic-horse/

https://www.facebook.com/Penedgeencyclopedia/posts/823325681077606

https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet4/july8/horse.htm

https://www.noticaballos.com/th/caballos-de-guerra.html

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ