Museum Core
สวมวิญญาณมนุษย์ต่างดาว สืบเสาะเรื่องราวของ “มนุษย์”
Museum Core
29 มิ.ย. 66 834
ประเทศฝรั่งเศส

ผู้เขียน : สุวดี นาสวัสดิ์

               เย็นวันแรกที่มาถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รถบัสท่องเที่ยวจอดให้คณะทัวร์ ลงที่ทรอกาเดโร (Trocadéro) เพื่อเก็บภาพสวย ๆ กับหอไอเฟล ขณะที่หมุนซ้ายหมุนขวาหามุมเหมาะอยู่นั้น เสียงพูดคุยต่างภาษาของนักท่องเที่ยวก็ดังเข้าหูเราไม่หยุด ผู้คนมากมายหลากภาษานานาชาติพันธุ์รวมกันอยู่ที่นี่ แต่ไม่ว่ารูปพรรณสัณฐานและวัฒนธรรมจะแตกต่างกันอย่างน่ามหัศจรรย์เพียงใด พวกเราทั้งหลายก็ได้ชื่อว่ามนุษย์เหมือนกัน

               หลังจากมนุษย์อย่างเราใช้เวลาดื่มด่ำและกระหน่ำถ่ายรูปกับหอไอเฟลจนหนำใจแล้ว เพิ่งสังเกตว่าป้ายตรงอาคารหลังใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังเขียนไว้ว่า Musée de l’Homme หรือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา ที่นี่ไม่อยู่ในแผนการท่องเที่ยวของคณะทัวร์ บ่ายวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันท่องเที่ยวอิสระ ผู้เขียนจึงนั่งรถไฟใต้ดินมาที่พิพิธภัณฑ์อีกครั้ง เสียค่าธรรมเนียม 13 ยูโร หยิบโบรชัวร์ที่ชั้นแล้วก็ได้เวลาผจญภัยไปในโลกของ “มนุษย์”

               ด้านในอาคารเป็นห้องโถงเพดานสูงทาสีขาวปลอดดูสะอาดตา ด้านหนึ่งของอาคารเป็นกระจกใสเผยให้เห็นทิวทัศน์ภายนอกซึ่งอุดมไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มนานาพันธุ์ และมีหอไอเฟลเป็นหญิงเหล็กยืนตระหง่านอวดโฉมอยู่อย่างสง่างาม วิวหลักล้านจริง ๆ พิพิธภัณฑ์นี้

 

ภาพที่ 1 หอไอเฟลเมื่อมองจากภายในพิพิธภัณฑ์

 

               ผู้เขียนก้มลงดูโบรชัวร์ที่ถือไว้ นอกจากแผนผังแล้วยังมีสมุดขนาดเหมาะมือติดมาด้วยอีกเล่มหนึ่ง ที่หน้าปกมีภาพการ์ตูนมนุษย์ต่างดาวเขียนว่า “สมุดบันทึกการสำรวจกับเอเลี่ยน สำหรับอายุ 7-11 ปี เวลาทำภารกิจ 1 ชั่วโมงครึ่ง” ถึงแม้จะอายุเกินและบังเอิญหยิบติดมือมา แต่ก็น่าสนุกไม่น้อยที่จะถือโอกาสทำภารกิจระดับจักรวาลภารกิจนี้ คนเรามองอะไรซ้ำเดิมทุกวันย่อมเกิดความเคยชินและเห็นเป็นเรื่องปกติ ลองสมมุติว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่มาเยือนโลกมนุษย์ดูบ้าง อาจได้เห็นมุมมองใหม่จากเรื่องที่คุ้นเคยก็ได้ อย่างคำถามชวนคิดว่า “เราคือใคร” ที่ติดไว้ตรงทางเข้าพิพิธภัณฑ์

 

ภาพที่ 2 สมุดบันทึกสำหรับทำภารกิจในพิพิธภัณฑ์

 

              ภาพนักท่องเที่ยวนานาชาติเมื่อวันก่อนผุดขึ้นในความคิดอีกครั้ง ถึงแม้พวกเราจะเป็นโฮโม เซเปียนส์ (Homo Sapiens) ผู้ชนะในสนามแห่งวิวัฒนาการมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ในความเหมือนมีความต่าง และความต่างนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่น คำถามว่า “เราคือใคร” จึงนำพาเราไปสู่วิธีการหาคำตอบเกี่ยวกับตัวเราเองในหลายมิติ ทั้งในเชิงกายภาพ วิวัฒนาการ และสังคมวัฒนธรรมอย่างที่พิพิธภัณฑ์กำลังแสดงให้เห็น

 

ภาพที่ 3 รูปปั้นปูนปลาสเตอร์ 90 ชิ้น ทำจากเฝือกใบหน้าจริงของมนุษย์นานาชาติเพื่อแสดง
ความหลากหลายของมนุษย์ทั่วโลก

 

               ในห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการ โครงกระดูกของออสตราโลพิเทคัส (Australopithecus) ชื่อ “ลูซี่” พบในชั้นหินอายุราว 4 ล้านปีในแอฟริกาเป็นเบาะแสสำคัญที่บอกใบ้ถึงต้นเค้าบรรพบุรุษมนุษย์ ออสตราโลพิเทคัส ซึ่งมีความหมายว่าลิงไม่มีหางในภาคใต้เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ที่ยังไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์ ลักษณะคล้ายลิงไม่มีหาง สามารถปีนต้นไม้และเดินสองเท้าได้ ที่นี่พาเราย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์บทแรกของมนุษย์อีกครั้ง ผ่านชิ้นส่วนจำลองโครงกระดูกของลูซี่ที่ประกอบเป็นรูปร่างให้เห็นกันชัด ๆ และบนพื้นใกล้กันนั้นก็มี “รอยเท้าเลโทลิ” (Laetoli footprints) ซึ่งเป็นหลักฐานการเดินสองเท้าของออสตราโลพิเทคัสในแหล่งขุดค้นเลโทลิ ประเทศแทนซาเนีย ให้เราได้วัดรอยเท้ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ด้วย

 

ภาพที่ 4 วัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์

 

               ปีแล้วปีเล่าที่มนุษย์เหยียบย่างสร้างรอยเท้าและเรื่องราวบนโลกจนมาเป็นโฮโม เซเปียนส์ในวันนี้ อันที่จริงมนุษย์ในสกุลโฮโมมีหลายสปีชีส์ เช่น โฮโม แฮบิลิส (Homo Habilis) ใช้เครื่องมือหิน โฮโม อีเรกตัส (Homo Erectus) มนุษย์วานรที่ยืนตัวตรงและรู้จักใช้ไฟ ส่วนโฮโม เซเปียนส์พบหลักฐานว่าอยู่ในแอฟริกาเมื่อ 200,000 ปีก่อน ชื่อสปีชีส์ “เซเปียนส์” นั้นแปลว่าฉลาด ในพิพิธภัณฑ์มีตู้หนึ่งที่จัดแสดงสมองของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด มนุษย์มีน้ำหนักสมอง 1,300 ซีซี ขณะที่ชิมแปนซีเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์มีน้ำหนักสมองเพียง 400 ซีซี และสมองส่วนหน้าของมนุษย์พัฒนามากเป็นพิเศษทำให้คิดซับซ้อนได้ต่างจากลิง ลักษณะของมือชิมแปนซีมีช่วงนิ้วที่ยาวและบาง นิ้วหัวแม่มือสั้น กระดูกนิ้วยาวโค้งเอื้อต่อการปีนต้นไม้ ส่วนมนุษย์นั้นมีนิ้วหัวแม่มือยาวแข็งแรง ข้อนิ้วสุดท้ายมีปลายกว้างซึ่งช่วยให้หยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้ถนัด แค่คำตอบแรกที่พิพิธภัณฑ์แสดงหลักฐานว่า “เราคือใคร” ก็ทำให้อัศจรรย์ใจไม่น้อยกับร่างกายของเราที่เป็นผลมาจากวิวัฒนาการนับล้านปี

 

ภาพที่ 5 ภาพเปรียบเทียบมือของมนุษย์กับลิงชิมแปนซี

 

               ที่นี่ค่อย ๆ คลี่คลายความซับซ้อนของมนุษย์ด้วยคำถามชวนคิดตลอดทาง สมุดบันทึกเอเลี่ยนมอบหมายภารกิจแรกให้สังเกตหุ่นจำลองเด็กหญิงและเด็กชายผมยาวที่สวมเสื้อผ้าเพียงซีกเดียว และให้บอกว่าร่างกายของทั้งสองมีอะไรคล้ายกันบ้าง การแต่งกายลักษณะใดที่บ่งบอกถึงความเป็นเด็กชายเด็กหญิง ซึ่งดูแล้วแทบไม่มีความแตกต่าง เอเลี่ยนเฉลยผลการสำรวจนี้ว่า เด็กหญิงเด็กชายถูกจำแนกให้แตกต่างกันด้วยเครื่องแต่งกาย ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงได้ตามวิถีชีวิตและบริบทของยุคสมัย

               เมื่อพูดถึงความเหมือนและความต่าง ที่นี่ยังชวนมองมุมกว้างเพื่อเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมในหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมปางประทานบุตรในศาสนาพุทธนิกายมหายาน และพระแม่มารีในศาสนาคริสต์ที่ให้กำเนิดพระบุตรโดยยังคงพรหมจรรย์ แม้คนละศาสนาแต่ทั้งสองต่างก็พูดถึงกำเนิดของเด็กโดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศเช่นเดียวกัน หรือความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติก็มีให้เห็นในสังคมหลายแห่ง ดังเห็นได้จากเครื่องใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพ การกล่าวถึงชีวิตหลังความตาย รวมไปถึงการกลับชาติมาเกิด ตัวอย่างที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เช่น ไพ่ทาโรต์ ตุ๊กตาทำนาย หน้ากากวิญญาณจากแอฟริกา มัมมี่จากเปรู มัมมี่เด็กสวมหน้ากากจากอียิปต์ และรูปหล่อพระโพธิสัตว์จิโซ (Jizo) ของญี่ปุ่น บริเวณที่เล่าเรื่องราวส่วนนี้ถูกกั้นเป็นห้องมืดสลัวด้วยแสงไฟริบหรี่ สร้างบรรยากาศลี้ลับดึงดูดให้เราค่อย ๆ เดินใจเต้นตึกตักเลียบเลาะเข้าไปดูด้านใน

 

ภาพที่ 6 มัมมี่จากเปรู อายุ 20-30 ปี มีชีวิตในราวศตวรรษที่ 9-15 ถูกจัดให้อยู่ในท่าเดียวกับทารกในครรภ์

ตามธรรมเนียมการฝังศพของชาวอินคา

 

               วันนี้มีผู้ชมในพิพิธภัณฑ์หนาตา ทั้งประเภทฉายเดี่ยว คู่รัก คู่เพื่อน และพ่อแม่ลูก เรียกว่าด้านหน้าพื้นที่จัดแสดงทุกแห่งแทบไม่มีที่ว่าง แต่ด้วยการตกแต่งภายในโทนสีขาว ความโปร่งโล่งของห้องและมีแสงสว่างจากภายนอกสาดส่องผ่านกระจกใสบานใหญ่ให้ได้พักสายตามองวิวนอกหน้าต่างเป็นระยะ วันนี้จึงเหมือนมาเดินกินลมชมวิว ทำความรู้จัก “มนุษย์” จากหลักฐานตามลำดับเวลาบ้าง จากการเปรียบเทียบหรือการจัดหมวดหมู่บ้าง วัตถุที่จัดแสดงก็มีทั้งของจริงและของจำลองจากทั่วโลกให้ตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นกะโหลกมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon man) อายุ 28,000 ปี กะโหลกของเรอเน เดการ์ต (René Descartes) นักปรัชญาคนสำคัญและบิดาแห่งเรขาคณิตวิเคราะห์ เครื่องมือหินที่มนุษย์พัฒนาขึ้นในแต่ละยุค สัตว์สตัฟฟ์นานาชนิดที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตมนุษย์ รถบัสสีสันสดใสสะดุดตาซึ่งเป็นภารกิจสำรวจอีกข้อหนึ่งในสมุดบันทึก กระโจมหลังใหญ่ที่วางข้าวของไว้เสมือนจริงเพื่อเทียบให้เห็นความเป็นอยู่ของชาวฝรั่งเศสและมองโกล หัวข้อใดที่เป็นไฮไลท์ผู้ชมก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าไปฟังข้อมูลเพิ่มเติมในพอดแคสต์ได้ด้วย

               พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา ปารีส ไม่ได้เพียงแค่จัดแสดงวัตถุ แต่ยังเชื้อเชิญให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับเรื่องราวทำให้เพลิดเพลินมากขึ้นไปอีก ได้เห็นคนยืนขยับตัวยุกยิก ยกแขน กางขา ทำท่าเลียนแบบคนชาติต่าง ๆ ตามภาพที่ขึ้นในจอ ถ้าทำเหมือนเป๊ะเมื่อไหร่ในจอจะขึ้นว่าผ่านเกม บริเวณนี้มีทั้งคนเล่นและคนเชียร์ ผลพลอยได้ (ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจอย่างแนบเนียนของผู้จัด) คือทำให้ผู้ชมไม่ได้ดูแค่ผ่าน ๆ แต่ต้องสังเกตภาพนั้นอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีบอร์ดสีแดงขนาดใหญ่ที่มีตัวอย่างเสียงพูดของภาษาที่ไม่คุ้นเคยกว่า 30 ภาษา อยากฟังภาษาไหนก็ดึง “ลิ้น” เจ้าของภาษานั้นออกมา พอเดินผ่านบริเวณนี้จะได้ยินเสียงสูงต่ำหนักเบาราวกับเสียงดนตรีคลอประสานกันอยู่ตลอด เพราะมีคนแวะเวียนมาดูบอร์ดแลบลิ้นไม่ขาดสาย

 

ภาพที่ 7 บอร์ดแลบลิ้นให้ฟังตัวอย่างเสียงพูดในภาษาต่าง ๆ

 

               ใกล้สี่โมงเย็นผู้เขียนจึงเสร็จสิ้นภารกิจในสมุดสำรวจ ถ้าเดินดูเองก็คงดูเฉพาะเรื่องที่สนใจ แต่พอมีภารกิจในสมุดที่อยากทำให้ครบเลยได้ดูเรื่องอื่นเพิ่มไปด้วย นับว่าคุ้มค่าทีเดียว เวลาเพียงครึ่งวันไม่อาจทำให้เรารู้ทุกเรื่องของมนุษย์อย่างแจ่มชัด แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นมาตลอดเวลานับล้านปีคือการปรับตัว มนุษย์เราอยู่รอดเพราะปรับตัวให้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติหรือในแง่สังคมวัฒนธรรม ในอนาคตเมื่อสภาพแวดล้อมหรือบริบทเปลี่ยนไป วิวัฒนาการครั้งสำคัญของมนุษย์คงเกิดขึ้นอีกครั้ง

              แล้วคุณล่ะ จินตนาการถึงอนาคตของมวลมนุษยชาติไว้ว่าอย่างไร

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ