แต้ตี้ย้ง ยี่กอฮง จีนฮง พระอนุวัตน์ราชนิยม หรือ ฮง เตชะวณิช (พ.ศ. 2394-2478) ไม่ว่าคุณคุ้นเคยกับชื่อใดเหล่านี้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำเรียกขานชาวจีนแต้จิ๋วผู้หนึ่งในสยาม [1] ที่เป็นทั้งนายอากรโรงหวย ก.ข. ย่านสามยอด เศรษฐีผู้นำชาวจีนผู้ทำสาธารณกุศล ทั้งยังเป็นเทพแห่งโชคลาภแห่งย่านพลับพลาไชยอีกด้วย
แต้ตี้ย้งเกิดในสยามช่วงปลายรัชกาลที่ 3 มีบันทึกเกี่ยวกับภูมิหลังที่แสนยากแค้นและครอบครัวอพยพอยู่หลายครั้ง อันเป็นเหตุให้เขาในวัย 13 ปีจำต้องร่อนเร่เดินทางไปหางานทำถึงซัวเถา (จังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง) ก่อนกลับมาแสวงโชคในสยามอีกครั้งในปีพ.ศ.2409 ด้วยการเป็นเสมียนโรงบ่อนของพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) และเป็นสมาชิกของสมาคมลับอั้งยี่ อีกทั้งยังประกอบกิจการต่างๆ สะสมทรัพย์ได้มากพอจนสามารถประมูลเป็นเจ้าภาษีโรงหวยแบบจีนได้ในเวลาต่อมา เขาไต่เต้าและสร้างฐานะด้วยความสามารถจนขึ้นเป็นหัวหน้าสมาคมลับได้ในช่วงวัยกลางคน พร้อมกับได้สมญานามว่า ‘ยี่กอฮง’ [2], [3]
ภาพที่ 1 ร้านค้าขายเครื่องไหว้บูชายี่กอฮงบนถนนพลับพลาไชย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ภูมิหลังชวนของยี่กอฮงที่ชวนให้ค้นหา คือความทรงจำร่วม (collective memory) ของผู้คนในปัจจุบันที่อาจหลงลืมเรื่องราวของพ่อค้าจีนอิสระผู้สร้างตัวจากการเป็นแรงงาน จนขึ้นมามีบทบาทสงเคราะห์ความต้องการพื้นฐานและสัมพันธ์แนวราบกับชุมชนจีนอพยพในกรุงเทพฯ [4], [5] คงเหลือไว้เพียงชื่อที่ยึดโยงกับอิทธิปาฏิหาริย์เกี่ยวกับเลขเด็ด โอยั๊วะ และเหรียญปลุกเสก พลวัตการรับรู้เรื่องราวของยี่กอฮง เชื้อเชิญให้ผู้เขียนเดินทางไปยังพื้นที่เพื่อเสาะหาหลักฐานและเรื่องราวที่อาจหลงเหลือ
ย้อนกลับไปอดีต ยุคสมัยนั้นยี่กอฮงคงเปรียบเสมือน ‘หัวหน้าฮง’ ผู้มักปรากฏในหน้าเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับชาวจีนโดยเฉพาะในช่วงพ.ศ. 2440 – 2460 อาทิ การเปิดบ้านรับการมาเยือนกรุงเทพฯ ของซุนยัตเซ็น (บิดาแห่งการปฏิวัติจีน) ในปลายปีพ.ศ. 2451 รวมถึงการหยุดงานประท้วงของชาวจีนต่อนโยบายเรียกเก็บ
รัชชูปการเพิ่มเติมของสยามในปีพ.ศ. 2453 [6] ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันให้ชนชั้นนำสยามเริ่มตระหนักถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่คาดคิดของกลุ่มพ่อค้าอิสระและแรงงานชาวจีนโพ้นทะเลในขณะนั้น ดังความตอนหนึ่งที่เจ้าพระยายมราชมีต่อการประท้วงครั้งนั้นว่า “จีนฮงหว่านโปรยเงินและทำบุญมาก…ทำให้คนจีนในเมืองจีนนับถือ ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการทำถนน ทำบุญอะไรก็ตาม จีนฮงทำมากกว่าใคร…การที่ชาวจีนประท้วงเรื่องเงินรัชชูปการครั้งนี้เจ็บมาก เจ็บแล้วต้องจำ วิธีการหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้คือการคิดจัดการกับจีนฮง…เมื่อจีนฮงไม่ได้รับทำภาษีอากร อำนาจก็น้อยลง” [7] กอปรกับการปฏิวัติซินไฮ่ (การปฏิวัติจีนโค่นล้มราชวงศ์ชิง) ที่เกิดขึ้นหลังผลัดแผ่นดินเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468) ได้เพียงปีเดียวจึงยิ่งตอกย้ำความวิตกให้แก่ชนชั้นนำสยาม เนื่องด้วยสยามประกอบไปด้วยผู้อพยพชาวจีนและลูกหลานจำนวนไม่น้อยที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ [8] ด้วยเหตุนี้จึงมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดผลสะเทือนของการปฏิวัติ และทอนอำนาจทางการเงินของยี่กอฮง
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายคฤหาสน์และครอบครัวของยี่กอฮง
แหล่งที่มาภาพ: A. Wright และ O. T. Breakspear, Twentieth Century Impressions of Siam: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources, 2nd ed. Cheney: White Lotus, 1994.
จากบทความร่วมสมัยในวารสารจดหมายเหตุสยามไสมย เกี่ยวกับความสัมพันธ์พิเศษที่ข้าราชการสยามอนุญาตให้เจ้าภาษีจีนติดหนี้แผ่นดินจำนวนมากเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนลงทุนทางการค้า [9], [10] สู่ข้อเขียนพวกยิวแห่งบูรพาทิศ (พ.ศ.2457) ที่ปลุกเร้าจิตสำนึกใหม่ต่อสยามและวิพากษ์อุปนิสัยไม่พึงประสงค์ในหมู่ชาวจีนที่มีนัยยะถึงการเคลื่อนย้ายทุนมหาศาลออกจากสยามไปจีนระหว่างการรวมกลุ่มชาตินิยมช่วงหลังการปฏิวัติ โดยเฉพาะหมู่พ่อค้าคหบดีที่สะสมทุนผ่านระบบผูกขาดภาษีอากรที่ซ้ำซ้อน ท้ายที่สุดได้นำมาซึ่งการออก พ.ร.บ. การพนันให้ยกเลิกหวย ก.ข. (พ.ศ.2458) ซึ่งประกาศล่วงหน้าเพียง 15 วันก่อนมีผลบังคับใช้ และชี้ชัดถึงปัญหาที่สะสมหลายอย่าง ทั้งความยากจน อาชญากรรม และผู้มีอิทธิพลชาวจีนในระบบเจ้าภาษีนายอากร [11] ซึ่งมาตรการนี้นับว่าเป็นการสละ “เงินได้เปล่าที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรสักนิด” [12] ของรัฐบาลสยามเพื่อขจัดโคลนที่ติดล้อ
ผลการปฏิรูประบบการคลังที่พยายามยกเลิกบ่อนเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป (พ.ศ.2426-2460) [13] และยกเลิกระบบนายอากรธุรกิจผูกขาด (พ.ศ.2443-2460) ผลักให้กลุ่มนายอากรเดิมบางส่วนหันไปทำการค้ากับต่างประเทศ เข้ากับอำนาจรัฐราชการ หรือแม้แต่เข้าเป็นคนในบังคับของต่างประเทศเพื่อลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมาย [11] สำหรับยี่กอฮงที่ติดหนี้ภาษีแผ่นดินจำนวนมากถูกฟ้องล้มละลายและยึดบ้านกับตึกแถวย่านพลับพลาไชย คำถามคือทรัพย์สินที่ควรมีก่อนหน้านี้ไปตกอยู่ที่ใด?
การตัดอำนาจทางการเงินเพื่อลดอิทธิพลทางการเมืองของบรรดาหัวหน้าอั้งยี่ ครั้งนั้นนำไปสู่จุดเสื่อมของสมาคมลับอย่างรวดเร็วหลังปีพ.ศ.2453 สมาคมบางแห่งยุติบทบาท บางแห่งแปรสภาพเป็นสมาคมของกลุ่มภาษาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีส่วนช่วยขยายการศึกษาในหมู่ชาวจีนภายหลัง ในขณะที่บางแห่งจัดตั้งเป็นสมาคมสงเคราะห์ข้ามเส้นแบ่งทางภาษา [6] มีความพยายามเปลี่ยนบทบาทของหัวหน้าอั้งยี่ให้กลายเป็นผู้นำที่ชอบธรรมขึ้นผ่านการทุ่มเงินเพื่อสร้างสาธารณกุศลในหมู่ชาวจีน หรือการบริจาคสาธารณประโยชน์เพื่อสนับสนุนนโยบายของทางการสยามจนเป็นคตินิยมในเวลานั้น [7] ดังปรากฏสิ่งก่อสร้างโดยยี่กอฮงในเวลาถัดมา
คณะเก็บศพไต้ฮงกง (พ.ศ.2452) เป็นหนึ่งในสมาคมสงเคราะห์ที่เปิดรับชาวจีนทุกกลุ่มภาษา โดยมีจุดเริ่มต้นจากครั้งที่นายเบ๊ยุ่นอัญเชิญรูปจำลอง ‘ไต้ฮงกง’ ภิกษุจีนผู้เป็นที่เคารพจากการช่วยเหลือสงเคราะห์ราษฎรในวิกฤติโรคระบาดและภัยพิบัติในเมืองจีนมาตั้งสักการะที่ร้านกระจกแถววัดเลียบจนมีผู้แวะเวียนมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก และต่อมาย้ายไปประดิษฐาน ณ สุสานแต้จิ๋วตรอกวัดดอน จนกระทั่งกลุ่มพ่อค้าคหบดีที่นำโดยยี่กอฮง รวบรวมเงินจัดซื้อที่ดินข้างวัดคณิกาผลเพื่อสร้างศาลประดิษฐานถาวร พร้อมกับจัดตั้งคณะเก็บศพไร้ญาติเพื่อสนับสนุนการกุศลของสุสาน อันเป็นปณิธานแรกเริ่มของไต้ฮงกงที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบันในฐานะมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง หรือ ป่อเต็กตึ๊ง (พ.ศ.2480) ทั้งยังเป็นกุศลสถานของชาวจีนที่ในปัจจุบันมีแท่นบูชาเทพองค์อื่นๆ รวมถึง
ยี่กอฮงรวมอยู่ด้วย [5]
ภาพที่ 3 ศาลเจ้าไต้ฮงกงที่มีแท่นบูชายี่กอฮงรวมอยู่ด้วย
ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 บริเวณท่าน้ำทรงวาด สมาคมแต้จิ๋วและกลุ่มพ่อค้าชาวจีนรวมถึงยี่กอฮงยังได้ร่วมกันบูรณะสร้างศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงซึ่งเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ในสำเพ็ง (พ.ศ.2449) ขึ้นใหม่ทางทิศใต้ของศาลเจ้าหลังเดิมซึ่งแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2488 อีกทั้งยี่กอฮงยังร่วมกับพ่อค้าจีนอีกสี่คนก่อตั้งโรงเรียนขึ้นทางทิศเหนือบนที่ดินผืนเดียวกัน เพื่อสอนภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับชาวจีนรุ่นลูก (รุ่นสอง) ได้พบปะสมาคมกัน เปิดสอนเมื่อปีพ.ศ.2463 ในชื่อ ‘เผยอิง’ โดยผนวกโรงเรียนแต้จิ๋วใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกัน ในปัจจุบันจึงพบภาพของยี่กอฮงในฐานะผู้มีส่วนสำคัญทั้งภายในศาลเจ้าและบริเวณทางเข้าโรงเรียน [14], [15]
ภาพที่ 4 ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงและโรงเรียนเผยอิงที่ยี่กอฮงมีส่วนร่วมในการสร้าง
นอกจากนี้ ยี่กอฮงยังได้อุทิศทรัพย์สร้างอาคารเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสะพานสูงที่แล้วเสร็จในปีเดียวกัน และได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 6 ว่า ‘อนุวัฒน์ศึกษาคาร’ พร้อมเสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2461 ในภายหลังโรงเรียนนี้ได้ผนวกเข้ากับโรงเรียนตระกูลดิษฐ์ศึกษาลัย (มัธยมวัดจันทร์สโมสร) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ‘มัธยมโยธินบูรณะ’ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2478 อย่างไรก็ดี จากข้อสังเกตยังพบว่ามีสิ่งก่อสร้างอื่นในบริเวณใกล้เคียงที่อาจสร้างขึ้นไล่เลี่ยกันโดยยี่กอฮง เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน การสัญจร และชุมชนจีนใกล้เคียง ได้แก่ ถนนเตชะวณิช เลียบกรมทหารม้าริมคลองเปรมประชากร สะพานนิยมนฤนาถ ข้ามคลองบางซื่อเชื่อมถนนเตชะวณิชสู่วัดสะพานสูง และ สะพานอนุวัฒนวโรดม ข้ามคลองบางกระบือเชื่อมกับวัดจันทรสโมสร อีกทั้ง ในปีเดียวกันยังมีการสร้าง สะพานฮงอุทิศ เหนือคลองบางลำพู เชื่อมถนนพระสุเมรุสู่ชุมชนวัดสังเวช [7], [16] ซึ่งชื่อสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สอดคล้องกับการได้รับพระราชทานนามในภายหลังมีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ยี่กอฮงเป็น ‘พระอนุวัตน์ราชนิยม’ รองหัวหมื่นกรมมหาดเล็กเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พ.ศ.2461 และพระราชทานนามสกุล ‘เตชะวณิช’ ในวันที่ 28 ก.ค. พ.ศ. 2461 [17] รวมถึงการยกหนี้ค้างชำระและให้ยี่กอฮงพำนักในบ้านพลับพลาไชยต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2479 ต่อมาในปีพ.ศ.2499 เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานีตำรวจนครบาลสามแยก หรือโรงพักสามแยก (ตั้งอยู่สามแยกเจริญกรุงตัดกับถนนพระราม 4) จึงมีการขอคืนบ้านพลับพลาไชยเพื่อใช้เป็นสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย จนกระทั่งปีพ.ศ.2535 จึงรื้อถอนแล้วสร้างอาคารใหม่เพื่อขยายพื้นที่ และได้สร้าง ‘ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง’ ขึ้นเป็นการถาวรไว้ที่ชั้นดาดฟ้าของสถานีตำรวจฯ [18]
.
ภาพที่ 5 สะพานฮงอุทิศ สะพานเชื่อมถนนพระสุเมรุกับชุมชนวัดสังเวช บางลำพู
ภาพที่ 6 ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮงบนชั้นดาดฟ้าอาคารสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย
ตลอดเส้นทางชีวิตที่พลิกผันของยี่กอฮง หากพิเคราะห์ในแง่การบริหารทรัพย์สินอาจมีคนคิดว่าเขา
ล้มเหลวในฐานะนักธุรกิจที่ไม่สามารถบริหารผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อต่อยอดศักยภาพ ขณะที่บทบาททางสังคมการเมืองที่โดดเด่นของเขาทำให้รัฐบาลสยามหวั่นเกรงและพยายามควบคุม ทว่า สำหรับทั้งชาวจีนอพยพและในเมืองจีน คงปฏิเสธมิได้ว่ายี่กอฮงเป็นผู้ที่ควรค่าแก่การยกย่องและระลึกถึงในแง่ความกตัญญูต่อรากเหง้าถิ่นกำเนิด* และความใจกว้างเผื่อแผ่เพื่อพวกพ้องผู้ด้อยโอกาส
แม้ว่าบทสรุปของเรื่องจบลงพร้อมบทบาทของยี่กอฮงจากเหตุการณ์ร่วมสมัย ในอีกแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวของเขาโรยรา แปรเปลี่ยนและเพิ่มเติมด้วยเรื่องเล่าชุดใหม่ตามกาลเวลาเช่นเดียวกับภูมิทัศน์ของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย กระนั้น ตราบใดที่สิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์จากอดีตเหล่านี้ยังคงอยู่ก็ยังอุ่นใจได้ว่าเรื่องราวของยี่กอฮงจะยังถูกเล่าขานต่อไปทั้งด้วยตัวมันเอง หรือผ่านผู้คนใหม่ๆ ที่ได้ไปเยือนที่นั่น
หมายเหตุ: (*) ยี่กอฮงเคยบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและซ่อมเขื่อนในเมืองแต้จิ๋ว จนได้รับตำแหน่ง
หยงลู่ไต้ฟู่จากรัฐบาลแมนจู และในปีพ.ศ. 2459 ยังพัฒนาหมู่บ้านที่ครบครันที่เมืองจีนสำหรับมารดา[2]
แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
[1] A. Wright และ O. T. Breakspear, Twentieth Century Impressions of Siam: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources, 2nd ed. Cheney: White Lotus, 1994.
[2] ศิลปวัฒนธรรม, “‘ยี่กอฮง’ ครอบครัวตกอับขอทาน สู่เศรษฐีจีนในไทย พบหายนะการเงินได้อย่างไร?”, ศิลปวัฒนธรรม, 1 กันยายน 2564. https://www.silpa-mag.com/history/article_48549 (สืบค้น 16 พฤษภาคม 2023).
[3] ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, “ทำไมซุนยัตเซนจึงเข้าพบยี่กอฮง เทพเจ้าหวยแห่งสยามประเทศ?”, มติชนสุดสัปดาห์, 5 สิงหาคม 2565. https://www.matichonweekly.com/column/article_583198 (สืบค้น 25 พฤษภาคม 2023).
[4] ศิลปวัฒนธรรม, “กำเนิด ป่อเต็กตึ๊ง คณะเก็บศพฯ ที่ ร.6 พระราชทานทุน สู่แรงบันดาลใจงานสาธารณกุศล”, ศิลปวัฒนธรรม, 23 มกราคม 2566. https://www.silpa-mag.com/history/article_38908 (สืบค้น 16 พฤษภาคม 2023).
[5] ธรรญาภรณ์ วงศ์บุญชัยนันท์, “ศาลเจ้าไต้ฮงกงและมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง”, ใน สำเพ็ง: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ, สุภางค์ จันทวานิช, บ.ก., กรุงเทพฯ: ศุนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, น. 386–398.
[6] จี. ว. สกินเนอร์, สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, 3 พิมพ์ครั้งที่. กรุงเทพฯ: มติชน, 2564.
[7] พรรณี บัวเล็ก, “เส้นทางชีวิตผู้นำจีน”, ใน ลูกจีน หลานมอญ ในกรุงสยาม, สุดารา สุจฉายา, บ.ก., กรุงเทพฯ: สารคดี, 2547.
[8] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, เป็นจีนเพราะรู้สึก: ประวัติศาสตร์เสื่อผืนหมอนใบที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.
[9] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2562.
[10] มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า, “หวย ก.ข.: นโยบายหารายได้ของรัฐ”, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปี 27, ฉบับที่ 1, 2549.
[11] ส. มงคลวรเดช, “ความสำคัญของหวยต่อเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2417 - 2482”, 2563. [ออนไลน์]. Available at: http://ir-ithesis.swu.ac.th/dspace/bitstream/123456789/688/1/gs621110110.pdf
[12] จ. อมรดรุณารักษ์, เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนธงชาติไทย; ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สำรวจคอคอดกระ; รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เลิกหวย ก. ข.; ที่ประทับชายทะเลของรัชกาลที่ 6; กำเนิดสวน
ลุมพีนี. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512.
[13] วิยะดา ทองมิตร, “การใช้แรงงานชาวจีนในสังคมไทย พ.ศ.2325-2453”, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ, 2527.
[14] อมราภรณ์ หมีปาน, “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง”, ใน สำเพ็ง: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
[15] อรุณี หงส์ศิริวัฒน์, “โรงเรียนเผยอิง”, ใน สำเพ็ง: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, น. 334–345.
[16] โรงเรียนโยธินบูรณะ, “ประวัติโรงเรียน”, โรงเรียนโยธินบูรณะ. www.yothinburana.ac.th (สืบค้น 18 พฤษภาคม 2023).
[17] พิศาลบุตร พิมพ์ประไพ และ นุ่มนนท์ แถมสุข, กระเบื้องถ้วยกะลาแตก. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น, 2550.
[18] สุวรรณา มาประเสริฐ, “ความหลังในหลังบ้านยี่กอฮง”, ใน ลูกจีน หลานมอญ ในกรุงสยาม, กรุงเทพฯ: มติชน, 2547.