ปกติผู้เขียนและครอบครัวชอบวางแผนไปเที่ยวกันเองโดยไม่ซื้อทัวร์ จึงต้องหาข้อมูลเพื่อวางแผนการเดินทางทุกครั้ง และในครั้งที่ไปเที่ยวประเทศเวียดนาม ผู้เขียนก็ได้รับการร้องขอจากสมาชิกให้บรรจุโปรแกรมชม War Remnants Museum ไว้ในลิสต์ห้ามพลาด ด้วยความอยากเห็นเครื่องบินรบ รถถัง เครื่องบินลำเลียงจากที่เคยดูในภาพยนตร์สงครามมากมาย จึงอยากเห็นของแท้ว่าเหมือนกับในภาพยนตร์หรือไม่อย่างไร
หากแปลจากชื่อภาษาอังกฤษของพิพิธภัณฑ์ คำว่า remnant แปลว่า ซาก กาก หรือส่วนที่เหลือ ดังนั้น War Remnants Museum ก็คือ “พิพิธภัณฑ์เศษซากจากสงคราม” หรือ ขอเรียกง่ายๆว่า “พิพิธภัณฑ์สงคราม” น่าจะกระชับกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ หรือคนรุ่นเก่าอาจคุ้นเคยกับไซง่อนที่เป็นชื่อเดิม ครอบครัวผู้เขียนเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์ในช่วงบ่ายก็ตกใจกับภาพแรกที่เห็น คือ การเข้าคิวต่อแถวที่ยาวมากจนแอบคิดในใจว่ามีเหตุการณ์หรือการประท้วงอะไร และสุดท้ายก็โล่งใจที่ฝูงชนเหล่านั้นก็คือคณะทัวร์ชุดใหญ่ที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
ถัดจากประตูรั้วที่ขายบัตรเข้าชมมาที่ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ก็มองเห็นลานกว้างที่เต็มไปด้วยเครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียง และรถถังหลายรุ่นหลายประเภทที่เป็นของจริงจัดแสดงไว้กลางแจ้ง จนสมาชิกผู้ชายต่างตื่นเต้นดีใจกันยกใหญ่พร้อมถกกันเรื่องเครื่องบินรบรุ่นนั้นรุ่นนี้ และขอให้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกเสียหลายใบ
ภาพที่ 1 บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยเครื่องบินรุ่นต่างๆ
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/War_Remnants_Museum
ก่อนถึงตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนสังเกตเห็นมีจุดแขวนระฆังติดตั้งไว้พลางคิดในใจว่าเหตุใดที่นี่มีธรรมเนียมให้ตีระฆังก่อนเข้าอาคารด้วยทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่วัด รูปทรงของตัวระฆังก็สวยดูทันสมัย เมื่อเข้าไปใกล้มากขึ้นจึงเห็นป้ายด้านล่างที่เขียนคำอธิบายว่า ระฆังใบนี้ถูกสร้างขึ้นจากเศษโลหะของลูกระเบิดที่เก็บได้และที่สำคัญระฆังมีขนาดใหญ่พอสมควร แค่นี้ก็เป็นการเกริ่นนำที่ทำให้จินตนาการออกถึงสิ่งที่จะได้เห็นในพิพิธภัณฑ์
ภาพที่ 2 ระฆังที่สร้างจากลูกระเบิดติดตั้งและจัดแสดงไว้บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์
เมื่อก้าวเข้ามาในอาคาร มุมแรกที่ได้เห็นเป็นมุมขายของที่ระลึกก่อน ถัดมาเป็นโต๊ะให้บริการเช่าเครื่องนำชมด้วยเสียงหรือออดิโอไกด์ (Audio Guide) ซึ่งมีบริการหลายภาษา เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หากแต่ไม่มีภาษาไทยต่างจากทำเนียบอิสรภาพ (Independent Palace) ที่พวกเราเคยไปเยี่ยมชมมาก่อนหน้านี้
บริเวณชั้นที่ 1 มีห้องจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ เริ่มต้นจากห้องจัดแสดงสงครามสมรภูมิเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ที่บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์โลกถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสต่อกองโจรเวียดมินห์ และนำมาสู่การปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม โดยการจัดแสดงรูปภาพสงครามติดไว้บนบอร์ด มีหลุมหลบภัยจำลอง และอินเตอร์แอคทีฟบอร์ดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการทิ้งระเบิด แค่ได้เห็นภาพ อ่านข้อความพร้อมกับได้ยินเสียงเครื่องบินทิ้งระเบิดที่คอยสร้างอารมณ์ ผู้เขียนก็มีความรู้สึกสลดขึ้นมาเกาะกุมหัวใจทันทีแต่เพียงประเดี๋ยวเดียว เนื่องจากผู้ชมค่อนข้างเยอะและหนาแน่นในพื้นที่ห้องจำกัด จึงต้องรีบเดินออกจากห้องเพื่อรักษาระยะห่างป้องกันโรคโควิด
ถัดมาเป็นห้องโถงนิทรรศการขนาดใหญ่ จัดแสดงด้วยรูปภาพพร้อมข้อความบรรยายสลับกับอินเตอร์
แอคทีฟบอร์ด มีหลายภาพและหลายประโยคจากคำอธิบายที่รู้สึกกินใจ ตัวอย่างเช่น Children are Not for Burning เป็นต้น ซึ่งโซนนี้ตรงกลางห้องมีจัดเก้าอี้นั่งพักสำหรับคนที่เมื่อย หรือนั่งคอย
ภาพที่ 3 โถงกลางของพิพิธภัณฑ์ชั้นที่ 1
จากนั้นการชมนิทรรศการต้องขึ้นไปที่ชั้น 2 ห้องแรกชื่อว่า War Crime เป็นห้องจัดแสดงอาวุธ และยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในสงคราม ทั้งปืนและกระสุนในรูปแบบต่างๆ เศษซากของปีกเครื่องบิน ระเบิด หรือซากความเสียหายของสิ่งของต่างๆ ซึ่งการได้เห็นสิ่งของเหล่านี้ผู้เขียนขอบอกว่าไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไร และยิ่งมีความรู้สึกสะเทือนใจมากกับภาพผู้คนที่ต้องผจญกับความโหดร้ายของสงคราม โดยเฉพาะภาพที่มีเด็กอยู่ในภาพ ตัวอย่างเช่น ภาพหนึ่งเป็นภาพเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังวิ่งหนีภัยสงครามในสภาพเปลือยกายไม่มีเสื้อผ้าเลยสักชิ้น วิ่งไปพร้อมน้ำตาและหน้าตาที่ทนทุกข์ทรมานบนถนนที่ติดกับท้องนา เด็กเล็ก ชาวบ้านไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ ภาพนี้ได้รางวัลพูลิตเซอร์ด้วย (พูลิตเซอร์ เปรียบเสมือนรางวันออสการ์สำหรับวงการสื่อสารมวลชน) เห็นแล้วน่าเวทนาอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีภาพซากศพของชาวบ้านที่วางทับถมกันเรียงรายในสภาพต่างๆ เลือดสีแดงสดดูน่าสยดสยองจนผู้เขียนไม่กล้าถ่ายรูปเก็บไว้ แต่จำภาพติดตาฝังใจจนทุกวันนี้ยังรู้สึกสะเทือนใจอยู่มาก
ภาพที่ 4 ห้อง War Crime จัดแสดงบอร์ดให้ความรู้ อาวุธ และอุปกรณ์ที่ใช้ในสงคราม
โซนต่อมา พิพิธภัณฑ์อุทิศพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งให้กับห้องนิทรรศการชื่อว่า Agent Orange Effect หรือผลกระทบจากฝนเหลือง เป็นห้องที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างมากที่สุด เพราะสงครามไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือความตายเฉพาะในช่วงสงครามเท่านั้น หากยังทิ้งร่องรอยและบาดแผลไว้ให้กับชนรุ่นหลังอีกยาวนาน ทั้งความพิการแสนสาหัสที่คนรุ่นหลังต้องรับชะตากรรมนี้ไปด้วยสารไดออกซิน (Dioxin) ตัวการร้ายที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิด อาวุธเคมีภัณฑ์ชนิดนี้มีพิษร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยเฉพาะมนุษย์ที่ได้รับสารนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ หรือเกิดการกลายพันธุ์และส่งผลให้เกิดความพิการ บรรดาภาพที่นำมาจัดแสดงดูแล้วช่างหดหู่ใจมาก ยิ่งผู้เขียนในฐานะแม่ เมื่อเห็นภาพแม่ที่คอยดูแลปกป้องลูกน้อยที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ แล้วสะเทือนใจอย่างเป็นที่สุด จึงได้แต่ขอภาวนาให้โลกมีแต่สันติภาพ ไม่อยากเห็นสงครามเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนส่วนใดของโลกเลย
ภาพที่ 5 ห้อง Agent Orange Effect
ในขณะที่กำลังเดินชมนิทรรศการจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งก็สังเกตเห็นว่ามีใบประกาศเกียรติบัตรยกย่องพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จากหลายสถาบันติดไว้ที่หน้าห้องสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญของสังคม ถ้าเด็กและเยาวชนมีคุณภาพก็จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป โดยพิพิธภัณฑ์อุทิศพื้นที่ให้เป็นห้องกิจกรรมเรียนรู้ ทาด้วยสีฟ้าสว่างไสวมีตุ๊กตุ่นตุ๊กตาวางประดับไว้ มีโซนหนังสือสำหรับเด็ก มีที่นั่งและอุปกรณ์เพื่อกิจกรรมสำหรับเด็ก เช่น การวาดภาพระบายสี และ การพับนก เป็นต้น แม้ว่าวันนั้นไม่มีใครมาใช้บริการในพื้นที่ แต่การได้เห็นของเล่นและการจัดเตรียมสิ่งของเพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ และพื้นที่มีความสดใสก็ชวนให้ปรับความรู้สึกหดหู่ให้ดีขึ้นได้
ภาพที่ 6 ห้องสำหรับเด็กและเยาวชน
ก่อนเดินออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้กางแผ่นพับดูแผนผังพื้นที่พิพิธภัณฑ์อีกครั้งก็พบว่ายังมีอีกหนึ่งนิทรรศการกลางแจ้งที่ชื่อว่า tiger cage หรือกรงเสือ จัดแสดงด้านนอกอาคาร (outdoor museum) ซึ่งเป็นนิทรรศการที่มีความน่าสนใจ จัดแสดงเกี่ยวกับวิธีการขังนักโทษการเมือง โดยเล่าให้เห็นภาพด้วยการสร้างห้องจำลอง มีทั้งห้องขนาดเล็ก มีเครื่องมือไว้ทรมาน และเป็นเรือนใหญ่แสดงภาพกว้างทั้งหมด ให้ความรู้สึกน่าเข็ดขยาดจริงๆ จนไม่อยากเห็นการทรมานต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างนี้เลย
เมื่อถึงเวลาอำลาพิพิธภัณฑ์ผู้เขียนและครอบครัวก็ทบทวนกันว่าการมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้ได้รับทั้งความรู้และมีความรู้สึกร่วมในหลายมุมหลายรสมากทีเดียว โอกาสหน้าหากเพื่อนๆ มีโอกาสก็ขอชวนให้ลองแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กัน รับรองคุ้มค่าและน่าประทับใจมาก และขอโลกเราจงมีแต่สันติสุข!