เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาประวัติการเป็นทาสแมวของมนุษย์ว่า บรรพชนของ ‘เจ้าเหมียวบ้าน’ นั้นคือเจ้า แมวป่าสปีชีส์ F.s. libyca หรือชื่อในภาษาไทยเรียกว่าแมวป่าแอฟริกา/แมวป่าตะวันออกใกล้ โดยเจ้าแมวป่าชนิดนี้มีดินแดนบ้านเกิดอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ที่บริเวณแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตประเทศตุรกี ประเทศซีเรีย หรือประเทศเลบานอน เป็นพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่าเขตลีแวนต์ (Levant)
แต่ทำไมเจ้าแมวบ้านทั้งหลายถึงได้แพร่กระจายไปอยู่ในดินแดนส่วนต่างๆ ของโลก ทั้งในเขตที่เป็นผืนแผ่นดินใหญ่ และบนเกาะกันได้?
เกี่ยวกับเรื่องนี้บันทึกโบราณบางฉบับสามารถเปิดเผยให้รู้ว่า เจ้าเหมียวตัวน้อยเหล่านี้แพร่กระจายไปได้ทั่วโลกด้วยวิธีใดบ้าง?
ในหนังสือโบราณฉบับหนึ่งของจีนที่ชื่อ ‘อวี้เซี่ย’ (แปลว่า เศษเสี้ยวหยก) ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในช่วงราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1814-1911) มีข้อความตอนหนึ่งอ้างว่า
“ประเทศจีนไม่มีแมว มันกำเนิดในเทียนจู๋ (หมายถึง ชมพูทวีป) ทางตะวันตก ไม่มีกลิ่นอายของจีน ศากยบุตรเลี้ยงไว้เพราะหนูมากัดพระไตรปิฎกเสียหาย เมื่อพระภิกษุเสวี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) เดินทางสู่ตะวันตกไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จึงนำกลับมาเลี้ยงและสืบทอดลูกหลานนับแต่นั้น”
ข้อความที่คัดมาข้างต้นถูกนำมาใช้ในการอธิบายถึงการแพร่กระจายของเจ้าพวกแมวเหมียวเข้ามาในจีนอย่างช้านานว่า แมวถูกพระถังซำจั๋งนำกลับเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้หนูกัดพระไตรปิฎก ก่อนออกลูกออกหลานแล้วไล่จับหนูให้ทั่วเมืองจีนโดยไม่ต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก
คำอธิบายข้างต้นฟังดูก็เข้าทีเพราะในความคิดของทุกวัฒนธรรมทั่วทั้งโลกมักจับให้ ‘แมว’ เป็นคู่ตรงข้ามกับ ‘หนู’ ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ในเอกสารฝั่งไทย อย่าง ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง’ ซึ่งเป็นเอกสารยุคปลายอยุธยานั้นก็มีข้อความระบุว่า
“เจ้าพนักงานพระนครบาลได้พิทักษรักษากลองทั้งสามชั้น (หมายถึง หอกลองในกรุงศรีอยุธยา) ผู้รักษาต้องเลี้ยงวิฬาร์ (แมว) ป้องกันไม่ให้มุสิก (หนู) กัดกลอง”
ดังนั้น ถ้าเจ้าพวกแมวเหล่านี้ถูกมนุษย์พาออกเดินทางไปรอบโลก เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าหนู (และน่าจะรวมถึงสัตว์ประเภทอื่นๆ) มากัดทำลายข้าวของต่างๆ ก็ไม่น่าแปลก
แต่ในกรณีของจีนนั้นเพิ่งมีการเปิดเผยหลักฐานใหม่เมื่อ พ.ศ. 2557 ว่ามีการค้นพบการเลี้ยงแมวที่แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านเฉวียนฮู่ มณฑลส่านซี เมื่อประมาณ 5,500-5,300 ปีมาแล้ว เพราะได้มีการวิเคราะห์ไอโซโทปของคาร์บอน (isotope of carbon) และไนโตรเจนของกระดูกแมวแล้วพบว่า เจ้าแมวซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อที่หมู่บ้านยุคหินใหม่แห่งนี้ได้เขมือบเอาธัญพืชเข้าไปเป็นจำนวนมาก หมายความว่ามนุษย์ที่หมู่บ้านเฉวียนฮู่ได้เลี้ยงพวกมันด้วยเมล็ดพืชเหล่านี้
แน่นอนว่าเจ้าแมวพวกนี้มีอายุเก่าแก่กว่าพระถังซำจั๋ง (เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 1207) ราว 4,000 ปี แต่เจ้าพวกแมวที่หมู่บ้านเฉวียนฮู่นั้นไม่ใช่แมวป่าแอฟริกาที่พัฒนามาเป็นแมวบ้านในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นแมวที่มีสายพันธุ์เกี่ยวโยงกับเจ้าเหมียวที่พระถังซำจั๋งนำเข้ามา (ในกรณีที่ข้อมูลในหนังสือเศษเสี้ยวหยกเป็นความจริง) แต่เป็นแมวภูเขาจีน (F.s. bieti) และแมวป่าเอเชียกลาง (F.s. ornata) ต่างหาก
ภาพที่ 1: แมวป่าแอฟริกา F.s. libyca
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/African_wildcat
ภาพที่ 2: แมวภูเขาจีน F.s. bieti
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_mountain_cat
ภาพที่ 3: แมวป่าเอเชียกลาง F.s. ornata
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Asiatic_wildcat
ลักษณะอย่างนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ดินแดนในปริมณฑลวัฒนธรรมจีนอันไพศาลนั้นเคยมีการเลี้ยงแมวมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ และรวมถึงมีความนิยมในการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องมากพอจนพัฒนามาเป็นเจ้าเหมียวบ้านนั่นเอง
อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ หมู่บ้านเฉวียนฮู่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกแล้ว ดังนั้นจึงอาจใช้แมวเพื่อเฝ้าระวังหนู รวมถึงสัตว์ชนิดต่างๆ ที่พร้อมเจ้าเข้ามาลักขโมยผลผลิตของมนุษย์ และเป็นหลักฐานการอยู่ร่วมกับมนุษย์ของเจ้าเหมียวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันหลักฐานการปรากฏตัวของ ‘แมว’ ในสังคมมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมาจากเกาะขนาดใหญ่ในทะเลเมดิเตอเรเนียนที่ชื่อว่า ‘ไซปรัส’ ซึ่งอยู่ตรงข้ามฟากทะเลกับดินแดนลีแวนต์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าแมวป่าแอฟริกาที่พัฒนามาเป็นเจ้าเหมียวบ้าน
จากข้อมูลเท่าที่มีการเผยแพร่มีการพบชิ้นส่วนกระดูของแมวในแหล่งโบราณคดีบนเกาะไซปรัส อย่างน้อย 4 แห่ง ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 11,000-9,500 ปีมาแล้ว โดยทั้งหมดเป็นแมวป่าแอฟริกา ที่สำคัญคือมีการพบโครงกระดูกแมวทั้งตัวที่แหล่งโบราณคดี ‘ซิลโลโรกัมโบส’ (Shillourokambos) อายุราว 9,500 ปีมาแล้ว มันที่ถูกฝังร่วมอยู่กับโครงกระดูกของมนุษย์ในหลุมฝังศพ ซึ่งชวนให้คิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเจ้าแมวเหมียวตัวนี้ในรูปแบบของสัตว์เลี้ยง
ยิ่งไปกว่านั้นแมวไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่นบนเกาะใหญ่แห่งนี้ แต่กลับพบกระดูกของแมวอยู่ในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ที่รู้จักการเพาะปลูกแล้วหลายแห่ง ดังนั้นมนุษย์นั่นแหละที่นำพาเจ้าพวกแมวเหมียวขึ้นเรือไปยังพื้นที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่ราว 60-70 กิโลเมตร อย่างเกาะไซปรัส (ด้วยระยะห่างขนาดนี้พวกเจ้าเหมียวไม่สามารถว่ายน้ำไปด้วยตัวเอง)
แน่นอนว่าการที่มนุษย์นำเจ้าแมวพวกนี้ติดเรือมาบนเกาะไซปรัสนั้นก็เพื่อให้แมวช่วยป้องกันไม่ให้หนูกัดสิ่งของบนเรือ และใช้สำหรับปกป้องผลผลิตทางการเกษตรบนไร่นาบนเกาะด้วย
เอกสารเก่าแก่อีกชิ้นหนึ่งที่อธิบายถึงสาเหตุที่คนในยุคโบราณนำแมวติดไปบนเรืออยู่เสมอ มาจากเกาะอีกแห่งหนึ่งคือ เกาะญี่ปุ่น
งานเขียนเรื่อง ‘เครื่องยาญี่ปุ่น’ ในยุคเอโดะ (พ.ศ. 2146-2411) เขียนโดยนักวิชาการสมัยดังกล่าวที่ชื่อ ไคบาระ เอกิเดน มีข้อความระบุว่า
“ในอดีตห้องสมุดของเขตการปกครองบุซู-คานาซาวะ รับหนังสือมาจากแคว้นถัง (หมายถึง จีน โดยเรียกตามชื่อราชวงศ์ถัง) และเลี้ยงแมวถัง (หมายถึงแมวท้องถิ่นของจีน) ไว้เพื่อป้องกันหนูในเรือ จึงเรียกกันว่าแมวถังของคานาซาวะ”
แมวถูกนำติดไปบนเรือย่อมได้ติดสอยห้อยตามมนุษย์ไปยังดินแดนต่างๆ และแพร่กระจายจนเป็นสัตว์เลี้ยงในแต่ละท้องที่ไปในที่สุด ข้อความจากเอกสารญี่ปุ่นยุคเอโดะอีกชิ้นหนึ่งคือ ‘ปกิณกะเขลา’ ของ ทามิยะ นากะโนะบุ ก็สะท้อนให้เห็นภาพที่ว่าได้เป็นอย่างดี ดังที่มีปรากฏข้อความในเอกสารชิ้นนี้ว่า
“สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ในเกียวโตปัจจุบันคือแมวถัง ส่วนแมวที่เลี้ยงในโอซากะเป็นอีกสายพันธุ์ จุดเด่นคือแมวในเมืองหลวงหางยาว แมวในโอซากะหางสั้น แบ่งโดยพิจารณาจากหาง”
ในเอกสารปกิณกะเขลาที่ว่านี้ นากะโนะบุยังระบุด้วยว่า “สาเหตุที่นำแมวโดยสารเพื่อป้องกันหนูบนเรือ” ดังนั้นความนิยมในการเลี้ยงแมวในญี่ปุ่น รวมถึงที่อื่นอีกหลายๆ แห่งในโลกก็น่าจะเกิดขึ้นจากเหตุนี้
อาจสรุปได้ว่า มนุษย์ทำความรู้จักกับเจ้าเหมียวเมื่อเริ่มทำเกษตรกรรมเมื่อราว 11,000 ปีมาแล้ว คนเหล่านี้นำแมวเข้ามาอยู่ในชุมชนเพื่อป้องกันหนูและสัตว์อื่นๆ ที่มาขโมยผลิตผล เมื่อพวกเขาเดินทางไปยังดินแดนอื่นด้วยเรือ (เริ่มต้นตั้งแต่เกาะไซปรัส) ก็ค้นพบว่า เจ้าพวกเหมียวยังช่วยป้องกันไม่ให้หนูทำลายสิ่งต่างๆ บนเรือเสียหายได้อีกด้วย และนั่นก็ทำให้ ‘มนุษย์’ กับ ‘แมว’ ได้อยู่ร่วมกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ภาพที่ 4: เจ้าเหมียววัย 8 เดือนในหลุมฝังศพของมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีซิลโลโรกัมโบส บนเกาะไซปรัส อายุราว 9.500 ปีมาแล้ว (ปรับปรุงภาพจาก: J. D. Vigne, J. Guilaine, K. Debue, L. Haye and P. Gérard (2004), Early Taming of the Cat in Cyprus. Science, 304(5668), 259.)
ภาพที่ 5: แมวพันธุ์หางสั้นในญี่ปุ่น เรียกกันในปัจจุบันว่า Japanese Bobtail
แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_Bobtail