หลังจากลงรถไฟที่มาถึงอุดรธานีในตอนเช้าผู้เขียนมีเวลาว่างเหลือเฟือกว่าจะถึงเวลาเช็คอินเข้าที่พัก และระหว่างรอเพื่อนร่วมทริปตามมาสมทบในช่วงเย็นจึงตัดสินใจแบกกระเป๋าเปิดแผนที่หาเส้นทางไปหนองประจักษ์เพื่อถ่ายรูปคู่กับเจ้าเป็ดเหลือง จุดเช็คอินที่ไม่ว่าใครมาเที่ยวอุดรธานีต้องแวะมาเก็บภาพเป็นที่ระลึก เมื่อคะเนระยะทางจากในแผนที่แล้วคิดว่าสองขาพอสู้ไหว จึงเริ่มออกเดินเท้า ลุย!
ด้วยผู้เขียนเคยมาทำงานอยู่ที่อำเภอนึงในจังหวัดอุดรธานี จึงพอคุ้นเคยเส้นทางในอำเภอเมืองอุดรธานีอยู่บ้าง แต่ก็ต้องเปิดแผนที่ดูประกอบเป็นป้องกันการหลงทิศทางของตัวเองด้วย
บริเวณข้างสวนสาธารณะหนองประจักษ์เป็นที่ตั้งของอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ซึ่งคราวก่อนที่ผู้เขียนมานั้นพิพิธภัณฑ์ปิดปรับปรุงกลับมาเปิดให้บริการแล้ว ด้วยรูปทรงอาคารสถาปัตยกรรมของตัวอาคารก็สามารถดึงดูดความสนใจให้ตัดสินใจเข้าไปใช้เวลาในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แม้จะไม่ได้วางแผนมาก่อน
ภาพที่ 1 ด้านหลังอาคารของพิพิธภัณฑ์ มุมมองจากสวนสาธารณะหนองประจักษ์
เมื่อเดินวนด้านนอกอาคารสักพักหนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่เดินมาให้คำแนะนำเบื้องต้น แล้วพาไปลงทะเบียนที่อาคารด้านข้างเพื่อรับคีย์การ์ดสำหรับใช้แตะตามจุดจัดแสดง ก่อนเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ต้องถอดรองเท้าไว้ด้านนอก พอได้ก้าวเข้ามาภายในอาคารก็รู้สึกเย็นกว่าที่คาดคิดมาก เหมาะกับการเข้ามาหลบอากาศร้อนได้อย่างดี
ห้องนิทรรศการเริ่มต้นการเปิดเรื่องด้วยการบอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ที่เคยครองผืนแผ่นดินอีสาน ดินแดนที่อดีตเมื่อหลายหมื่นปีก่อนเคยเป็นทะเล ทำให้อุดรธานีเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ของประเทศในปัจจุบัน ตามเส้นทางเดินภายในพาผู้เขียนมายังห้องนิทรรศการถัดมาที่บอกเล่าเรื่องราวอารยธรรมโบราณบ้านเชียง
ในความทรงจำวัยประถม บทเรียนหนึ่งในวิชาประวัติศาสตร์ บอกเล่ากันว่าประเทศไทยมีมรดกโลกบ้านเชียง สมัยอดีตที่มีการตั้งรกรากของมนุษย์ยุคโลหะเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์และมีเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ หลายครั้งที่ผู้เขียนต้องพยายามจดจำข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเชียงให้ได้เพื่อตอบคำถามในข้อสอบ เมื่อได้มาชมการจัดแสดงก็ช่วยดึงความทรงจำและความสนใจใคร่รู้ของผู้เขียนในวัยเด็กให้กลับมาได้อีกครั้ง
ใช่แล้ว! ตอนเด็กผู้เขียนเคยสงสัยและอยากมาที่บ้านเชียง อยากเห็นว่าโครงกระดูกมนุษย์และ เครื่องปั้นดินเผาในยุคนั้นเป็นแบบไหน ทั้งเคยขอให้คุณพ่อคุณแม่พามา แต่ระยะทางที่ค่อนข้างไกลจากบ้านมากทำให้การรบเร้าไม่เป็นผล พอโตขึ้นผู้เขียนก็ลืมเลือนเรื่องนี้ไป
บนผนังขนาดใหญ่แสดงภาพวิดีทัศน์ที่บอกเล่าวิถีมนุษย์ในบ้านเชียงผ่านลูกเล่นระบบสัมผัส หน้าจอ (touch screen) ที่มาพร้อมแสง เสียง กราฟฟิกข้อความที่ให้ข้อมูลแบบสั้นกระชับ การสัมผัสในแต่ละจุดบนหน้าจอนำพาไปสู่การเข้าถึงวิถีของมนุษย์บ้านเชียงว่าดำเนินไปอย่างไร มีความเชื่อ พิธีกรรม ภูมิปัญญาอะไรบ้าง เป็นการเรียนรู้ที่ตื่นตาตื่นใจมาก ไม่คิดว่าพิพิธภัณฑ์จะใช้เทคโนโลยีแบบสมัยใหม่มานำเสนอ มีตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผา โครงกระดูกจำลองที่ชวนให้รู้สึกอยากไปดูของจริงยังแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ภาพที่ 2 สายเส้นการ์ตูนเล่าวิถีมนุษย์ในยุคสมัยบ้านเชียง
จากที่ผู้เขียนเคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับบ้านเชียงบทสั้น ๆ ในหนังสือเรียน มาสู่การนำเสนอด้วยไอเดียแบบใหม่นี้ทำให้เพลิดเพลินมาก ความรู้สึกแรกที่เห็น คือ ว้าวมาก ภาพบนผนังในแต่ละจุดผสานกับเทคนิคที่นำมาใช้ทำให้เข้าใจได้ชัดเจน ไม่น่าเบื่อ ทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่น่าจะชื่นชอบ ผู้เขียนขอยกให้จุดนี้เป็นไฮไลท์ของที่นี่เลยทำได้ดีมาก
ภาพที่ 3 บอร์ดนิทรรศการเกี่ยวกับการค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
จากยุคโบราณ มาจนถึงยุคมนุษย์ปัจจุบัน…
จากชั้น 1 ที่บอกเล่าอุดรธานีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ใครจะคิดว่าชั้นที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์จะพาข้ามกาลเวลากลับมายังวิถีชีวิตที่คุ้นเคย บางคนอาจเคยผ่านช่วงเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วในรุ่นคุณตาคุณยาย และการเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตการณ์โลกส่งผลให้เมืองอุดรธานีเป็นอย่างในปัจจุบัน
ทั่วไปแล้วพิพิธภัณฑ์เมืองมักจะเล่าเรื่องความเป็นมาของเมืองนั้น ๆ ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน นิทรรศการเริ่มต้นเล่าเรื่องความเป็นมาจากบ้านเดื่อหมากแข้ง สู่การเป็นเมืองอุดรธานี หอพระเกียรติคุณกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี
การจัดแสดงนำเสนอด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ สถานที่จำลอง ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวให้เห็นว่าอุดรธานีในอดีตผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาไม่น้อยทั้งเหตุการณ์สมัยกบฏ ร.ศ.112 การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 2475 สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อุดรธานีดำเนินไป ทั้งการพัฒนาเมือง การวางรากฐานทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม และวิถีชีวิตของผู้คนอย่างที่พบเห็นใน
ทุกวันนี้
จุดที่น่าสนใจของนิทรรศการเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ชวนให้ผู้ชมทำกิจกรรมมากมาย ทั้งลองถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มสมัยก่อน ของเล่นของสะสมย้อนยุค การจำลองตัวเองนั่งอยู่ในขบวนรถไฟหรือรถสกายแลปที่เป็นรถรับจ้างท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของที่นี่ เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ มีรถตุ๊กตุ๊ก
ภาพที่ 4 ตู้รถไฟจำลองบรรยากาศการเดินทางในสมัยก่อน
ตลอดเวลาที่เดินชมผู้เขียนรู้สึกอยากชื่นชมทีมงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปรับปรุงและคืนชีวิต สร้างสีสันให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ พื้นที่ทุกส่วนของการจัดแสดงแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และคำนึงถึงประสบการณ์ ความรู้และความสนุกที่ผู้มาเยี่ยมชมจะได้รับเป็นอย่างดี
จากตอนแรกที่ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังมากนัก แค่ต้องการมาแวะมาพักหลบร้อนและฆ่าเวลากลับตื่นตาตื่นใจกับการบอกเล่าเรื่องราวที่ทันสมัย ชวนติดตาม การไล่เรียงเนื้อหาข้อมูลที่ทำให้เข้าใจความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของเมืองอุดรธานี พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นแหล่งที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับอุดรธานีได้เป็นอย่างดี ทำให้ระยะเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงผู้เขียนได้เติมเต็มความทรงจำในวัยเด็กที่เคยอยากเห็นบ้านเชียงและอยากเดินทางมาที่อุดรธานีจนหลงลืมไปนานแล้ว และรู้สึกดีใจที่ตัดสินใจแวะเข้ามาทำความรู้จักกับ “อุดรธานี” ได้มากกว่าเดิม