มีเรื่องเล่ากันว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามมักมีเรื่องวุ่นวายกับฝรั่งอยู่เนืองๆ และเมื่อเกิดเรื่องโต้เถียงกับพวกกงสุลต่างชาติที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในกรุงเทพฯ ขึ้นมาเมื่อไหร่แล้ว ก็เป็นคราวที่ฝรั่งพวกนั้นมักขู่สยามว่าจะเอาเรือรบเข้ามาปิดกรุงเทพฯ
เรื่องนี้มีมูลมากน้อยสักเท่าไหร่ไม่อาจรู้ แต่ก็มีเรื่องเล่าต่อกันมาอีกว่า รัชกาลที่ 4 ทรงรำคาญพระราชหฤทัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอควร อย่างน้อยก็มากพอที่ทำให้ทรงมีพระราชดำริในทำนองที่ว่า การมีราชธานีตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้นอยู่ใกล้ทะเลมากเกินไป ถ้าหากเกิดศึกสงครามกับต่างประเทศ บางทีข้าศึกอาจเอาเรือกำปั่นรบขึ้นมาถึงราชธานีได้
และนี่ก็เป็นที่มาทำให้ รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ตั้งเมือง ‘ลพบุรี’ เป็น ‘ราชธานีสำรอง’ เหมือนอย่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยุคอยุธยา โดยได้ทรงพระราชทานนามว่า ‘พระนารายณ์ราชนิเวศน์’ และใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จประพาส
ภาพที่ 1: พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เรื่องไม่ได้จบง่ายๆ อย่างนั้น เพราะเล่ากันว่าในครั้งนั้นไม่ได้มีแต่ฝ่ายที่เห็นควรให้ราชธานีสำรองไปตั้งอยู่ที่ลพบุรีเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอีกฝ่ายที่เห็นว่าราชธานีสำรองควรไปตั้งอยู่ที่ ‘นครราชสีมา’ มากกว่าด้วย
รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชา ผู้ครองราชย์เป็น the Second King อยู่เคียงคู่กับพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปตรวจสถานที่เมืองนครราชสีมา แต่เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จฯ ไปตรวจเมืองนครราชสีมาแล้วก็ทรงมีความเห็นว่า “เมืองนครราชสีมากันดารน้ำ ไม่เหมาะที่จะสร้างเมืองใหญ่”
จากนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ ไปยังเมืองสระบุรี เมื่อทอดพระเนตรเห็นเขาคอกแล้วก็ทรงโปรด ด้วยเห็นว่าเป็นเหมือน 'ป้อมปราการ' โดยธรรมชาติ จึงโปรดให้สร้างป้อมไว้ที่เขาคอก เพื่อใช้สำหรับต่อสู้กับข้าศึก
แต่กษัตริย์ที่ไหนจะทรงโปรดประทับอยู่ในป้อมค่ายทหาร?
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงทรงสร้างที่ประทับอยู่ที่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งตะวันตก ณ บ้านสีทา ในแขวงจังหวัดสระบุรี ซึ่งสะดวกต่อการเดินทางไปมายังป้อมค่ายที่เขาคอกในคราวเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี
เมื่อที่ประทับตั้งอยู่ที่บ้านสีทา จึงได้ชื่อว่า ‘พระบวรราชวังสีทา' ตามชื่อตำบลแห่งนั้น
คำว่า 'บวร' เป็นศัพท์เรียกเฉพาะของฝ่าย 'วังหน้า’ ซึ่งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ตรงกับคำว่า 'บรม' ของฝ่าย ‘วังหลวง' ที่ใช้สืบต่อเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ วังหน้าที่กรุงเทพฯ จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนวังหลวงคือ พระบรมมหาราชวัง
'วังสีทา' เมื่อสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ของฝ่ายวังหน้า จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 'พระบวรราชวังสีทา' นั่นเอง
ภาพที่ 2: พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพที่ 3: แนวรากฐานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันของพระบวรราชวังสีทา
แหล่งที่มาภาพจาก: https://www.naewna.com/lady/474689
มีเรื่องเล่าอีกเรื่องที่คงสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก และไม่มีใครรู้ได้ว่าเป็นเรื่องหรือไม่? แต่มีการจดบันทึกเอาไว้ในหนังสือประวัติจังหวัดราชบุรี ฉบับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เล่าถึงเรื่องราวที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สร้างวังสีทา ไว้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไปไกล ดังความที่ว่า
“พระองค์เสด็จผ่านลำน้ำแควป่าสัก ทรงพบสาวๆ ชาวบ้านสีทาที่แรกรุ่นอยู่ทั้งสองฟากลำน้ำนี้ รูปร่างลักษณะเป็นที่ต้องพระเนตร ต้องพระทัยนัก จึงได้ทรงแวะหมู่บ้านสีทา ตำบลเตาปูน (อำเภอแก่งคอย) และได้เสด็จพักแรมที่บ้านนี้ ทรงได้สาวบ้านสีทาเป็นบาทบริจาริกาก็หลายนาง ถึงกับโปรดฯ ให้สร้างวังขึ้นที่บ้านนี้ เพื่อให้หม่อมห้ามที่ทรงได้จากบ้านนี้พำนัก เรียกว่า วังสีทา ชาวบ้านแถบลำน้ำแควป่าสัก จึงได้พากันขนานพระนามพระองค์ว่าวังสีทา”
เรื่องที่สงสัยว่าจริงหรือไม่นั้น ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงความงามของสาวๆ ชาวบ้านสีทา เพราะพวกเธอก็ออกจะจิ้มลิ้มมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ หากแต่หมายถึงการที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสร้างวังสีทาขึ้นด้วยเหตุผลทำนองนี้ต่างหาก
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พูดง่ายๆ ว่าก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ร่วมกับรัชกาลที่ 4) ทรงรับราชการที่สำคัญโดยตลอดมา และหน้าที่โดยตรงของพระองค์ก็เกี่ยวกับการทหาร
พระองค์เคยบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสาแขกอาสาจามที่มีกำลังคนมากในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นที่วางพระทัยของรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปืนใหญ่ทรงมีความเชี่ยวชาญถึงขนาดทรงเคยแปลตำราปืนใหญ่จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้เลยทีเดียว
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่พระองค์จะทรงเคยทำป้อมพิฆาตข้าศึก และโดยเฉพาะการไปรักษาป้อมที่สมุทรปราการ อันเป็นด่านสำคัญของสยามเพราะเป็นบริเวณปากน้ำ
พระราชดำริของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เรื่องชัยภูมิของเขาคอกจึงมีนัยยะที่สำคัญทางการทหารเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่ไม่ไช่เพียงพระราชดำริของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อคิดเห็นทางด้านยุทธศาสตร์ของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสร้างป้อมค่าย และเทคโนโลยีการรบจากโลกตะวันตกคือ ‘ปืน' ประเภทต่างๆ อีกด้วย
แน่นอนว่า คำร่ำลือเกี่ยวกับการที่พระองค์ทรงเลือกสร้างวังลงตรงบริเวณบ้านสีทา เพราะความงามของสาวๆ นั้น หากเป็นเรื่องจริงก็คงเป็นความจริงเพียงส่วนน้อย เพราะความจริงส่วนใหญ่คงเป็นเรื่องของชัยภูมิมากกว่า
ภาพที่ 4: คอกเขา
แหล่งที่มาภาพจาก: https://www.naewna.com/lady/474689
เมื่อปี พ.ศ. 2369 ตรงกับแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ข่าวสยามกับอังกฤษเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันจนกรุงเทพฯ เกือบถูกกองเรืออังกฤษเข้าโจมตีดังไกลไปจนถึงเวียงจันทน์ ทำให้เจ้าอนุวงศ์กระทำการแต่งทัพลงมาตีกรุงเทพฯ
เจ้าอนุวงศ์ยกทัพจากเวียงจันทน์เข้ามาทางเมืองนครราชสีมา และมุ่งสู่เมืองสระบุรีอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความแตกตื่นแก่ราชสำนักกรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่ง รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นทัพหลวง ยกไปตีทัพของเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบข่าวก็ยกทัพถอยร่นกลับไปยังเมืองนครราชสีมา (อันเป็นมูลเหตุให้เกิดตำนานเรื่องท้าวสุรนารี) ก่อนยกหนีไปทางเมืองหนองบัวลำภูอีกทอด
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ย่อมทรงทันเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้แน่ และทรงทราบดีถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองสระบุรี
การที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงเลือกเขาคอก และบ้านสีทาเป็นชัยภูมิที่มั่น จึงไม่ใช่สิ่งที่ไม่ผ่านการคิดตริตรองแต่อย่างใด การเดินทางจากเมืองนครราชสีมาเข้ามายังเมืองสระบุรีนั้นต้องผ่านบริเวณเขาคอกที่เป็นป้อมค่ายก่อน จากเขาคอกสามารถอาศัยแม่น้ำป่าสักเดินทางโดยเรือมาถึงบ้านสีทา ในระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ในขณะที่จากบ้านสีทาก็สามารถอาศัยแม่น้ำเส้นเดียวกันที่เดินทางคดเคี้ยวจนเข้าไปถึงเมืองสระบุรีในระยะทางเพียงไม่ถึง 20 กิโลเมตรเท่านั้น
บ้านสีทา และเขาคอก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองนครราชสีมาและเมืองสระบุรีจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินทางระหว่างพื้นที่ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบันมาสู่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง อันเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ และนี่ก็คือเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องของสาวๆ ที่ทำให้สมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงเลือกไปสร้างวังที่บริเวณนั้นนั่นเอง