สีเทาของก้อนเมฆขนาดใหญ่กำลังบดบังแสงสว่างจากพระอาทิตย์ พร้อมกับเม็ดฝนที่กำลังโปรยปรายอยู่บนถนน เช้าวันที่ 2 ของการเดินทางมายังสิงคโปร์ของผู้เขียนน่าจะเป็นวันที่แผนการเดินทางอาจไม่ได้ดังใจ แต่พอช่วงสาย ๆ ท้องฟ้ากลับเปิดให้เห็นแสงสว่างของแดดอ่อน ๆ ที่ลอดผ่านหมู่ก้อนเมฆ พร้อมกับอากาศร้อนอบอ้าว และสถานที่ที่เป็นจุดมุ่งหมายของผู้เขียนวันนี้คือ “ฟอร์ทแคนนิง” (Fort Canning) สวนสาธารณะใจกลางเมืองสิงคโปร์
ภาพที่ 1 Heritage Tree Fort Canning
สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าที่ขนานไปกับถนนหนทางสู่สวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิง ทำให้ผู้เขียนเพลิดเพลินกับการมองแสงเงาของฟ้าหลังฝนที่พาดผ่านใบไม้ ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ใหญ่สูงลิ่ว สร้างความร่มรื่นให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมา ฟอร์ทแคนนิงเคยเป็นป้อมปราการเก่าใจกลางเมืองสิงคโปร์ สถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศ ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์สูงต่ำสลับกันไป จากการเดินสำรวจรอบสวนก็ทำให้รู้ว่าต้นไม้ใหญ่ที่ดูสมบูรณ์ และสูงลิ่วนั่นคือ ต้นไม้มรดก (Heritage Tree) ต้นไม้ที่ได้รับการอนุรักษ์ในฐานะมรดกทางธรรมชาติที่มีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม แต่ละต้นมีป้ายข้อมูลให้ได้อ่านคร่าว ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายป่าล้อมเมือง (City in Nature) ที่รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินนโยบายพื้นที่สีเขียวด้วยการให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้อยู่รอบเมืองที่ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ทำให้คนเมืองได้ผ่อนคลายและใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
เมื่อผู้เขียนเดินมาเรื่อย ๆ ก็สังเกตว่ามีต้นไม้ต้นเล็กนานาพันธุ์เรียงรายกัน มีบางต้นคลับคล้ายคลับคลาเหมือนเคยเห็นมาก่อน ซึ่งในตอนแรกผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นแค่ต้นไม้ประดับที่ขึ้นทั่วไป แต่พอเดินไปเรื่อย ๆ ก็พบกับป้ายสวนเครื่องเทศ (Spice Garden) สวนที่ปลูกพืชสมุนไพร และเครื่องเทศมากกว่า 180 ชนิด พืชพันธุ์เล็ก ๆ เหล่านี้มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ สะท้อนความเป็นไปของสิงคโปร์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ภาพที่ 2 บอร์ดให้ข้อมูลเรื่อง Spices Connecting the world
ขิง ข่า ตะไคร้ จันทร์เทศ โกโก้ และวานิลา ฯลฯ ให้สีสันนานาสลับเรียงรายขนานไปกับทางเดิน บางต้นออกดอกออกผลต้อนรับผู้คนที่เดินผ่านไปมาให้ได้ชื่นชม บางต้นก็เหลือไว้แต่ผลที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการสุกงอมมาแล้ว แต่ละต้นมีป้ายบอกชื่อ ประเภท และตัวอย่างหน้าของดอกและผล ทำให้การเดินชมสวนครั้งนี้เปรียบเสมือนได้เดินชมนิทรรศการกลางแจ้ง เมื่อเดินต่อมาเรื่อย ๆ ผู้เขียนก็พบกับป้ายอินโฟกราฟฟิก (Infographic) หัวข้อ “Spices Connecting the World” ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางของเครื่องเทศที่เชื่อมโลก และสิงคโปร์เข้าไว้ด้วยกัน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สิงคโปร์มีบทบาทในการค้าขายของเครื่องเทศทั้งในและนอกประเทศนั่นก็คือ การที่สิงคโปร์เป็นจุดศูนย์กลางของท่าเรือค้าขาย แลกเปลี่ยนเครื่องเทศของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 และสมุนไพรเครื่องเทศที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสิงคโปร์คือ กะเมีย หรือสีเสียดเทศ (gambier) พริกไทยดำ (Pepper) จันทน์เทศ(Nutmeg) และกานพลู (Clove) ซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในประเทศ เครื่องเทศจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผู้คนจากอีกฝั่งโลกเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อวิถีชีวิตโดยตรงต่อชาวสิงคโปร์ในด้านวัฒนธรรมอาหารอีกด้วย และเมื่อหันหลังให้กับป้าย ผู้เขียนก็พบช่อสีดำเล็ก ๆ ของผลพริกไทย ก่อนที่ทางเดินค่อย ๆ แคบลง และลาดลงไปยังอุโมงค์สไปซ์แกลอรี่ (Spice Gallery)
ภาพที่ 3 Spice Gallery อุโมงค์แห่งความรู้และเรื่องราวของเครื่องเทศ
สไปซ์แกลอรี่ เป็นพื้นที่จัดแสดงเล็ก บอกเล่าเรื่องราวของ “เครื่องเทศ” ในฐานะสิ่งที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมอาหารของสิงคโปร์ผ่านการค้าขาย และการบริโภค นิทรรศการนี้ใช้พื้นที่จัดแสดงเพียง 350 ตารางเมตรภายในอุโมงค์ลอดใต้ดินที่ทอดยาวลงไปจากสวนฟอร์ทแคนนิงถึงปลายทางที่เชื่อมไปยังคณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Science) ของมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University หรือ SMU) ด้วยพื้นที่จำกัดทำให้การคัดเลือกเนื้อหา การตกแต่งและสิ่งของที่นำมาจัดแสดงถูกทำให้สั้นและกระชับ ผนังทั้ง 2 ข้างนิทรรศการนี้ถูกตกแต่งด้วยรูปภาพของร้านขายของชำ ภาพถ่ายเก่า อินโฟกราฟฟิก และสิ่งของจัดแสดงเพียงไม่กี่ชิ้นที่เล่าเรื่องความเป็นมาเป็นไปของเครื่องเทศที่มีผลต่อสังคมสิงคโปร์ได้อย่างน่าสนใจ
ภาพที่ 4 การตกแต่งของนิทรรศการ และโมเดลจำลองย่านค้าขายเครื่องเทศ
ถุงกระสอบสีน้ำตาล โต๊ะน้ำชา หรือแม้แต่ประตูเหล็กของร้านชำ เป็นสิ่งที่ใช้ในการตกแต่งนิทรรศการนี้ได้บรรยากาศของการเดินย่านตลาดที่ค้าขายเครื่องเทศ การตกแต่งแบบร้านขายของชำ และร้านกาแฟแบบท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ใน “ห้องแถว” (Shophouse) สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คน และแหล่งค้าขายแลกเปลี่ยนเครื่องเทศที่สำคัญของสิงคโปร์ที่ตั้งขนานไปกับแม่น้ำสิงคโปร์ (Singapore River) ทำให้ผู้เขียนย้อนนึกถึงตอนที่ยังเป็นเด็กที่แม่วานให้ไปซื้อพริก กระเทียมที่ร้านขายของชำแถวบ้าน แม้จะต่างสถานที่แต่ความรู้สึกใกล้เคียงกันมาก
ภาพที่ 5 “ Voice on the Street” เสียงบอกเล่าประวัติศาสตร์ และวงล้ออาหารและเครื่องเทศ
การจัดวางสิ่งของจัดแสดง และเครื่องมือที่ช่วยในการเรียนรู้ภายในนิทรรศการนี้ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ และความรู้และอิทธิพลของเครื่องเทศให้กับผู้เขียนได้อย่างมาก เพราะนอกจากใช้สายตาในการอ่านข้อมูลจากป้ายแล้วนั้นยังมีประสบการณ์ฟังเรื่องเล่าจากเสียงบนท้องถนน (Voice on the Street) เล่าประวัติศาสตร์จากทั้งผู้ค้าเครื่องเทศในต้นศตวรรษที่ 20 จากผู้ค้าชาวอินเดียและจีนที่มีบทบาทสำคัญในการค้าขายเครื่องเทศในสิงคโปร์ ก่อนถึงปลายอุโมงค์ของนิทรรศการนี้ผู้เขียนพบกับโต๊ะน้ำชาทรงกลมกับคำถามชวนคิด Which spice are used in your favorite dishes? ที่พื้นด้านบนของโต๊ะถูกดัดแปลงให้เป็นวงล้อที่บอกถึงประเภทของเครื่องเทศที่ใช้สำหรับประกอบอาหารพื้นถิ่นของสิงคโปร์
หลังจากที่ได้ซึมซับบรรยากาศของพื้นที่สีเขียวจากพืชพรรณนานา และข้อมูลความรู้ที่สอดแทรกตามเส้นทางที่ได้จากทั้งต้นไม้มรดกและสไปซ์แกลอรี่ที่ประหนึ่งเป็นนิทรรศการกลางแจ้ง ทำให้ผู้เขียนได้เห็นถึงมุมมอง และวิธีการนำเสนอคุณค่าของสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่อาจถูกมองข้ามไปผ่านการสร้างสรรค์และนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นการอนุรักษ์และส่งต่อคุณค่าขององค์ความรู้ไปยังสาธารณะ และเมื่อใดที่ผู้เขียนนึกถึง สไปซ์แกลอรี่กับการเดินเพียงไม่กี่เมตรในอุโมงค์แห่งความรู้ที่เต็มอิ่มไปด้วยความรู้ใหม่ ๆ และกระตุ้นความอยากรู้ของผู้เขียนมากกว่าเดิมในเรื่องวัฒนธรรมอาหารที่ส่งผลมายังชีวิตของผู้คน จึงขอมอบวลีที่ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” แก่นิทรรศการนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับ Spice Gallery
Spice Gallery ตั้งอยู่ที่ Fort Canning Park
เวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 7.00 am - 7.00 pm
ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง : ลงสถานี MRT Fort Canning
สถานที่น่าสนใจใกล้เคียง: สายมิวเซียม National Museum of Singapore หรือ สายธรรมชาติ สวนสาธารณะ Fort Canning
แหล่งที่มาของข้อมูล: https://www.nparks.gov.sg/gardens-parks-and-nature/heritage-trees