คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบัน ออสเตรเลียกลายเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของคนรุ่นใหม่ ประเทศนี้เปิดโอกาสให้คนต่างชาติหารายได้ หรือแม้แต่สร้างชีวิตใหม่ในแผ่นดินโพ้นทะเล อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่กี่ศตวรรษ เกาะใหญ่ใจกลางแปซิฟิกเคยเป็นสถานที่แห่งความลับชวนให้นักสำรวจมาค้นหา ผู้อพยพมากหน้าหลายตาเดินทางข้ามสมุทรเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ การเดินทางเหล่านั้นไม่ได้จบลงอย่างงดงามเสมอไป หลายครั้งที่ผู้อพยพล้มตายเพราะโรคร้ายและภยันตรายจากท้องทะเล แต่แม้นามของพวกเขาจะสูญหาย ทว่าการตั้งรกรากบนแผ่นดินใหม่จะยังถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์เสมอไป ในวันนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกับสถานที่เก็บรักษาความทรงจำในวันวาน เมื่อครั้งที่ผู้อพยพนิรนามโดยสารเรือมายังทวีปใหม่ พวกเขาใช้ชีวิตกลางแผ่นน้ำกันอย่างไร และเรือเดินสมุทรในวันนั้นจะแตกต่างกับเรือใหญ่ในวันนี้หรือไม่ เชิญรับชมกันได้ที่ “พิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland Maritime Museum)”
พิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งรัฐควีนส์แลนด์ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริสเบน (Brisbane) ทางตะวันออกเฉียง เหนือของประเทศออสเตรเลีย ตัวอาคารตั้งอยู่ชิดติดริมฝั่งแม่น้ำบริสเบน (Brisbane River) เผยให้เห็นทิวทัศน์อันงดงามแฝงไปด้วยกลิ่นอายประวัติศาสตร์แต่ครั้งหลัง ในวันที่ผู้อพยพผิวขาวกลุ่มแรกมาขึ้นฝั่งที่รัฐควีนส์แลนด์ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งในปีค.ศ. 1971 สถานที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่อาคาร 2 ชั้นที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการหลัก และลานกลางแจ้งที่จัดแสดงเรือปลดระวางประเภทต่างๆ รวมถึงชิ้นส่วนเรือและประภาคารโบราณ
เมื่อเดินผ่านซุ้มขายบัตรเข้าชมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โซนแรกเป็นการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจออสเตรเลียยุคแรกเริ่ม อย่างที่หลายคนทราบกันดี ชาวอังกฤษคนแรกที่มาถึงแผ่นดินออสเตรเลียคือ “กัปตันเจมส์ คุก (Captain James Cook)” คุกนำ “เรือหลวงเอ็นเดฟเวอร์ (HMS Endeavour)” ออกเดินทางจากลอนดอนมาถึงชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียในปีค.ศ. 1770 ถือเป็นการนำพาแผ่นดินนี้เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ นิทรรศการหลักได้จัดแสดงโมเดลจำลองเรือเอ็นเดฟเวอร์ของกัปตันคุก รวมถึงสิ่งของร่วมสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กถ่วงน้ำหนักที่มีหน้าที่คล้ายตุ๊กตาอับเฉา ชิ้นส่วนปะการังที่เกาะติดกับท้องเรือและปืนใหญ่เอ็นเดฟเวอร์ เป็นต้น
นอกจากประวัติกัปตันคุกและเรือเอ็นเดฟเวอร์แล้ว ในโซนนี้ยังจัดแสดงโมเดลเรือยุคบุกเบิกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ดายฟ์เคน (Duyfken)” เรือสัญชาติดัตช์ที่มาถึงออสเตรเลียก่อนหน้าคุกกว่าร้อยปี “พอร์พอยส์ (HMS Porpoise)” เรืออังกฤษที่อับปางทางตอนเหนือของออสเตรเลียต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ “นอร์โฟล์ค (Norfolk)” เรือเดินสมุทรที่ใช้สำรวจชายฝั่งแทสแมเนีย ไม่เพียงแต่โมเดลเรือเท่านั้น นิทรรศการหลักยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เคยถูกใช้งานจริงบนเรือ ทั้งสมอเรือ เข็มทิศ กล้องส่องทางไกล ลูกโลก กำปั่น และแผนที่ เชื่อว่าคงถูกใจคนรักเรือโบราณไปตามๆ กัน
ภาพที่ 1 โมเดลเรือที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
แหล่งที่มาภาพ: Brisbane Living Heritage. Queensland Maritime Museum. (2022). [Online]. Accessed 2023 May 18. Available from: https://brisbanelivingheritage.org/location/queensland-maritime-museum/
ถัดจากประวัติศาสตร์การสำรวจยุคบุกเบิกเป็นโซนจัดแสดงยุคแห่งการอพยพ แน่นอนว่าในยุคนี้ เรือเดินสมุทรที่มาถึงออสเตรเลียไม่ใช่แค่เรือรบของทหารและนักสำรวจอีกต่อไป แต่มีทั้งเรือสินค้าและเรือบรรทุกผู้โดยสารที่ต้องการตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ หากใครจินตนาการภาพไม่ออกให้คิดถึงเรื่องไททานิคที่เรือใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นหลายชั้นตามกำลังทรัพย์ของผู้โดยสาร ผู้อพยพกลุ่มแรกที่มาถึงรัฐควีนส์แลนด์ก็เช่นกัน คนเหล่านี้ประกอบด้วยผู้ดีเก่าที่เฝ้าฝันถึงการผจญภัย เหล่าวาณิชผู้มองหาลู่ทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงชนชั้นกรรมาชีพที่ต้องการชีวิตที่ดีกว่าให้กับตนและคนในครอบครัว และเช่นเดียวกับโซนแรก ห้องจัดแสดงนี้ยังคงมีโมเดลเรือที่น่าสนใจให้รับชม ทั้ง “ลูซินดา (Lucinda)” เรือกลไฟสุดหรูที่เคยใช้ล่องแม่น้ำบริสเบนในคริสต์ศตวรรษที่ 19
“ออร์เคดส์ (Orcades)” เรืออังกฤษที่พาผู้อพยพยุคบุกเบิกมายังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น และไฮไลท์ของนิทรรศการนี้เป็นโซนจำลองห้องสูบบุหรี่ของสุภาพบุรุษภายในเรือลูซินดาที่หรูหราชวนให้หวนนึกถึงบรรยากาศในภาพยนตร์อย่างไรอย่างนั้น โดยพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงภาชนะคริสตัลและเครื่องเงินโบราณที่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งเคยใช้รับประทานอาหาร รวมถึงการจำลองห้องแต่งตัวและห้องพักผ่อนของผู้โดยสารชั้นรองลงมา ทำให้ผู้เยี่ยมชมมีโอกาสสัมผัสการเดินทางข้ามสมุทรแบบโบราณที่กินเวลายาวนานกว่า 4 เดือน
นอกจากนิทรรศการหลักที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติการสำรวจและการอพยพแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไป ช่วงที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชม (เมษายน ค.ศ. 2022) ทางพิพิธภัณฑ์กำลังจัดนิทรรศการ “Women at Sea” ที่แสดงเรื่องราวของสตรีคนสำคัญตั้งแต่ยุคสำรวจจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทหารเรือ วิศวกรนาวี นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักเดินเรือมืออาชีพและมือสมัครเล่น แสดงให้เห็นว่ากรอบความคิดที่ว่าชีวิตบนเรือไม่เหมาะกับสตรีไม่เป็นความจริงเสมอไป ผู้หญิงเองก็สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพทางทะเลได้ หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นทุนเดิม
สำหรับลานจัดแสดงกลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์มีไฮไลท์ที่ถูกใจน้อง ๆ หนู ๆ คือ “เรือหลวงเดียเมนทินา (HMAS Diamentina)” เรือปลดประจำการสัญชาติออสเตรเลียที่ใช้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในมีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี และเปิดให้เข้าชมห้องต่างๆ ในเรือ ทั้งห้องเครื่อง ห้องบังคับ ห้องรับประทานอาหาร ห้องพักทหารและผู้บังคับบัญชา รวมไปถึงห้องสุขาและห้องอาบน้ำ ภายในมีป้ายกำกับอธิบายการใช้งานของสิ่งของในแต่ละห้อง รวมไปถึงภาพถ่ายขาวดำของตัวเรือและเหล่าทหารที่เคยประจำการ เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นและทดลองใช้อุปกรณ์บางอย่างได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
ภาพที่ 2 เรือรบเดียเมนทินายามค่ำคืน
แหล่งที่มาภาพ: Brisbane Living Heritage. Queensland Maritime Museum. (2022). [Online]. Accessed 2023 May 18. Available from: https://brisbanelivingheritage.org/location/queensland-maritime-museum/
นอกจากเรือเดียเมนทินาแล้ว โซนจัดแสดงกลางแจ้งยังมีเรือปลดระวางที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่เรือที่ประทับใจผู้เขียนที่สุดจะเป็นลำไหนไปไม่ได้นอกจาก “เอลลาส์พิงก์เลดี้ (Ella’s Pink Lady)” เรือลำน้อยสีชมพูหวานแหววชวนนึกถึงตุ๊กตาบาร์บี้ หลายคนอาจคิดว่าเอลลาส์พิงก์เลดี้มีดีแค่สีลูกกวาด ทว่าเรือลำนี้ได้นำพา “เจสสิกา วัตสัน (Jessica Watson)” เด็กสาวชาวออสซีวัย 16 เดินทางรอบโลกระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 รวมเป็นเวลา 210 วัน การเดินทางในครั้งนั้นทำให้วัตสันกลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่เดินทางรอบโลกเพียงลำพัง เรื่องราวของเธอกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหญิงอีกนับล้านกล้าลงมือทำในสิ่งที่ตนใฝ่ฝัน และภายหลังการเดินทางรอบโลก เจสสิกา วัตสันได้มอบเรือแสนรักให้กับพิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งควีนส์แลนด์ ปัจจุบันเรือชมพูลำน้อยยังคงถูกบำรุงรักษาเป็นอย่างดี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงข้าวของต่างๆ ที่วัตสันนำติดตัวไประหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือแม้แต่ตุ๊กตาที่เธอเคยกอดในคืนวันอันอ้างว้าง และระหว่างการเดินทางสองร้อยกว่าวัน อีกหนึ่งอย่างที่ขาดไม่ได้ในทริปกลางทะเลคืออาหาร เช่นเดียวกับใครอีกหลายคนก่อนวันเงินเดือนออก วัตสันในวัย 16 ปีเองก็ดำรงชีพด้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารกระป๋อง เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งของจัดแสดงที่เรียกรอยยิ้มบนใบหน้าผู้เข้าชมได้ไม่มากก็น้อย
ภาพที่ 3 เรือเอลลาส์พิงก์เลดี้
แหล่งที่มาภาพ: Crockford, Toby. Barring 'miracle', this weekend will be Queensland Maritime Museum's last. (2021). [Online]. Accessed 2023 May 18. Available from: https://www.brisbanetimes.com.au/national/queensland/barring-miracle-this-weekend-will-be-queensland-maritime-museum-s-last-20210121-p56vzm.html
ไม่เพียงแต่เรือปลดประจำการเท่านั้น โซนจัดแสดงกลางแจ้งยังประกอบด้วย “ประภาคารบูลเวอร์
ไอแลนด์ (Bulwer Island Lighthouse)” ประภาคารโบราณที่เคยถูกใช้งานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปี ค.ศ.1983 แม้ว่าประภาคารแห่งนี้ไม่ได้ถูกใช้งานอีก แต่ยังคงเปิดให้เยี่ยมชมภายในเพื่อการศึกษา โดยมีป้ายกำกับอธิบายการใช้งานของประภาคาร และรูปถ่ายโบราณอีกมากมาย แสดงถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของสถานที่แห่งนี้
หากใครมีความรักประวัติศาสตร์การสำรวจเป็นทุนเดิม หรือชื่นชอบเทคโนโลยีการเดินเรือสมัยใหม่ ถ้ามีโอกาสได้มาเยือนเมืองบริสเบนแล้ว พลาดไม่ได้กับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ผู้เขียนมั่นใจว่านักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับทั้งสาระ ความบันเทิง และความประทับใจในเวลาเดียวกัน สำหรับการเดินทางมาที่นี่ก็ง่ายแสนง่าย แค่นั่งรถประจำทางมาลงที่สถานี Mater Hill หรือ South Bank แล้วเดินเท้าต่อราว 400 เมตรก็เห็นพิพิธภัณฑ์ริมน้ำมาแต่ไกล ค่าบัตรเข้าชมมีตั้งแต่ราคา 18 ดอลลาร์สำหรับบุคคลทั่วไป และ 15 ดอลลาร์สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และนักเรียนนักศึกษาที่มีบัตรประจำตัว แม้ราคาบัตรสูงไปสักนิดหากคิดเป็นเงินไทย
แต่เชื่อเถอะว่าคุณภาพที่ได้รับนั้นคุ้มเกินราคาอย่างแน่นอน แล้วมาท่องทะเลสู่โลกกว้างไปด้วยกัน!
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
Bach, John. A Maritime History of Australia. Nelson: Sydney, 1976.
Brisbane Living Heritage. Queensland Maritime Museum. (2022). [Online]. Accessed 2023 May 18.
Available from: https://brisbanelivingheritage.org/location/queensland-maritime-museum/
Queensland Maritime Museum. About Queensland Maritime Museum. (2023). [Online]. Accessed
2023 May 18. Available from: https://maritimemuseum.com.au/about/