เมื่อพูดถึง 'ไต้หวัน' สิ่งแรกๆ ที่นึกถึงคงมีภาพมีม 'พันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) รวมอยู่ด้วย คนทั่วไปรู้จักไต้หวันในฐานะประเทศที่ยืนหยัดเพื่ออำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเองจากการกดดันของจีน และมีผู้นำที่โดดเด่นในเวทีโลก รวมไปถึงงานผลิตหนังสือของไต้หวันที่มีการพัฒนาไปไกลจนกลายเป็นแบบอย่างในอุดมคติที่คนในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ชาวไทยอยากเดินตามให้ทัน ตัวอย่างเช่น หนังสือภาพของจิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao) ที่ยังคงได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง
จากที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้อมูลชุดปัจจุบันที่ผู้คนรู้จักประเทศนี้ และอาจนึกภาพในอดีตไม่ออกว่ามีหน้าตาเป็นแบบไหน ผู้เขียนจึงขอพาทุกคนไปสัมผัสกับประเทศไต้หวันในยุคสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่น หลังราชวงศ์ชิงแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก (First Sino-Japanese War) ณ เมือง 'เป่ยโถว (Beitou)'
ภาพที่ 1 บ่อน้ำพุร้อนเป่ยโถว
ก่อนเป่ยโถ่วจะได้รับการขนานนามเป็นเมืองแห่งน้ำพุร้อน ไอน้ำร้อนๆ ที่พวยพุ่งไปทั่วอย่างน่าพิศวง รวมถึงกลิ่นกำมะถันกลับกลายเป็นองค์ประกอบของความลึกลับ เป็นเหตุที่มาให้ชนพื้นเมืองตั้งชื่อเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า 'Patauw' มีความหมายถึง ถิ่นอาศัยของเหล่าแม่มด (home of the witch) แม้แต่ชาวดัตช์และชาวสเปนที่ล่องเรือมาถึงในยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery) ยังบันทึกถึงกลิ่นเหม็นที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดโรคได้ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อชาวญี่ปุ่นผู้พกวัฒนธรรมการแช่ออนเซ็นมาด้วยค้นพบน้ำพุร้อนที่นี่ จึงก่อเกิดเป็นโครงข่ายธุรกิจบ้านพักตากอากาศที่พรั่งพร้อมไปด้วยวัฒนธรรมอาหาร ศิลปะ และดนตรีอยู่หลายสิบปีทีเดียว
ในพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป่ยโถว (Beitou Hot Spring Museum) จัดแสดงนิทรรศการเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเป่ยโถว ทั้งในแง่มุมด้านธรณีวิทยาที่มีการค้นพบแร่ 'Hokutolite' แร่ชนิดเดียวในโลกที่ได้รับการตั้งชื่อตามเมืองเป่ยโถว (Hakuto คือชื่อภาษาญี่ปุ่นของเป่ยโถว) รวมถึงการเปิดให้บริการบ่อน้ำพุร้อนที่เป็นพระเอกของเมืองนี้สำหรับประชาชนในปีค.ศ. 1913 นอกจากนี้เป่ยโถวก็มีแหล่งดินขาวคุณภาพสูงที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เซรามิก Beitou-yaki สร้างชื่อเสียงไปทั่ว ซึ่งพื้นกระเบื้องของบ่อน้ำพุร้อนก็ผลิตมาจากโรงงานเซรามิกของเมืองนี้เช่นกัน
ภาพที่ 2 บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อน
บ่อน้ำพุร้อนได้กลายเป็นแหล่งที่มาของยุคทอง ทำให้เมืองเป่ยโถวกลายเป็นหมุดหมายสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของทางการญี่ปุ่นและผู้มีอันจะกิน มีเกอิชา มีนักดนตรีเร่ (Nakasi musicians) เวียนไปทำการแสดงตามโรงแรมจนต้องมีบริการรับส่งผู้ให้ความบันเทิงเหล่านี้ ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ ทำนองเพลงที่เปิดคลอ โถงเสื่อทาทามิขนาดใหญ่อันเป็นจุดนั่งพักขา ล้วนช่วยเสริมสร้างให้เกิดจินตนาการย้อนอดีตถึงภาพบรรยากาศที่เคยคึกคักได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 3 การตกแต่งภายในแบบญี่ปุ่นในพิพิธภัณฑ์เป่ยโถว
ด้านนอกพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนยังแวดล้อมด้วยสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ช่วยให้ภาพความเฟื่องฟูในวันวานชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น สถานีรถไฟซินเป่ยโถ่ว (Xinbeitou Historic Railway Station) ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางโดยเฉพาะ พิพิธภัณฑ์เป่ยโถ่ว (Beitou Museum) กับสวนพลัม (Plum Garden) ซึ่งในอดีตเคยเป็นโรงแรม (Kazan Hotel) และบ้านพักตากอากาศตามลำดับที่รูปแบบสถาปัตยกรรมยังคงกลิ่นอายญี่ปุ่นไว้เต็มเปี่ยมชนิดถ่ายภาพไปอวดใครก็อาจนึกว่าไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น
นอกจากนี้วัดฝู่จี (Puji Temple) และสวนเซน (Marshal Zen Garden) นับเป็นอีกหนึ่งมรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นทิ้งไว้ก่อนถอนกองกำลังไปหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาะไต้หวันหวนคืนสู่อ้อมอกมาตุภูมิ จนกระทั่งพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) ลี้ภัยมาก่อตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนบนเกาะแห่งนี้ แม้จะมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครองไปหลายครั้ง เป่ยโถวก็ยังคงเป็นสถานที่นิยมจนถึงปลายยุคทศวรรษ1970 ที่มีการเข้ามาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โรงแรมหลายแห่งปรับตัวเป็นสตูดิโอถ่ายทำและห้องพักให้เช่าสำหรับ
นักแสดง
กระนั้นงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การใช้ทรัพยากรเกินพอดีในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งกฎหมายห้ามค้าประเวณีทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบ่อน้ำพุร้อนทยอยกันซบเซา อาคารพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนในเวลานั้นก็ถูกทิ้งร้างเสื่อมโทรม โชคดีที่มีครูนักเรียนกลุ่มหนึ่งค้นพบที่นี่อีกครั้ง และช่วยกันยื่นเรื่องต่อรัฐบาลร่วมกับชุมชนเป่ยโถวให้ช่วยบูรณะสถานที่ทรงคุณค่าให้กลับคืนสู่ความสง่างาม ตามมาด้วยการฟื้นฟูธรรมชาติ และบ่อน้ำพุร้อนให้กลับมาใสสะอาดดังเดิม เป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของเป่ยโถวโดยมีพิพิธภัณฑ์น้ำพุร้อนเป็นศูนย์รวมใจ
แม้ว่าขณะนี้บ่อน้ำพุร้อนสำหรับประชาชนในอดีตได้เปลี่ยนบทบาทไป ไม่ได้อบอวลไปด้วยไอน้ำแล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีบ่อกลางแจ้งให้บริการนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความเป็นชุมชนไปพร้อมกับชื่นชมธรรมชาติ ใครที่ขี้อายก็ไม่ต้องกังวลเพราะที่นี่เขาใส่ชุดว่ายน้ำแช่น้ำพุร้อนกัน หรืออาจลองทำความคุ้นเคยกับกลิ่นกำมะถันด้วยการลองจุ่มมือ วัดอุณหภูมิที่อ่างหน้าทางเข้าบ่อน้ำพุร้อน (Beitou Thermal Valley) และสัมผัสกับไอร้อนที่ลอยตัวขึ้นปะทะใบหน้าจะได้ไม่ตกใจเวลาลงแช่น้ำ สำหรับใครที่อยากได้ประสบการณ์แบบเป็นส่วนตัวก็แนะนำให้ทดลองเปิดก๊อกน้ำร้อนในห้องน้ำที่โรงแรม ด้วยผู้เขียนเคยอ่านกระทู้ใบเว็บบอร์ดท่องเที่ยวไต้หวัน พบว่ามีคนเล่าว่าไม่กล้าอาบน้ำเพราะน้ำมีกลิ่นแปลกๆ
การเดินทางไปยังเมืองน้ำพุร้อนก็ง่ายดายใช้เวลาเดินทางจากสถานีรถไฟไทไปเมน (Taipei Main Station) แค่ 30 นาที การเดินเที่ยวทั้งวันในเป่ยโถวทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเมืองทั้งเมืองก็คือพิพิธภัณฑ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ในสเกลที่ใหญ่ไปกว่าความหมายเดิมมาก แม้สถานที่แต่ละแห่งมีประวัติความเป็นมาของตัวเอง แต่สุดท้ายกลับเชื่อมโยงถึงกันแล้วเรียงร้อยออกมาเป็นหนึ่งชีวิตที่มีชื่อว่า ‘เป่ยโถว’ ซึ่งผู้เขียนอาจไม่รู้สึกถึง ‘ชีวิต’
ได้มากขนาดนี้ หากคนในชุมชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหล่อเลี้ยงให้เป่ยโถวไม่ใช่เพียงเคยมีชีวิต แต่ยัง
‘มีชีวิตอยู่’ และจะ ‘มีชีวิตอยู่ต่อไป’