Museum Core
Declaration of Arbroath คำประกาศเอกราชสกอตแลนด์ที่กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง
Museum Core
21 ก.ย. 66 844

ผู้เขียน : รหัท กิจจริยภูมิ

               หากใครมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Outlaw King ซึ่งอิงจากเรื่องราวเหตุการณ์ส่วนหนึ่งของการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ในช่วงศตวรรษที่ 14 นำโดยโรเบิร์ต เดอะบรูซ (Robert the Bruce) หรือกษัตริย์
โรเบิร์ตที่ 1 (Robert I of Scotland) ในการแยกตัวออกจากอังกฤษ และเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้ได้รู้จักเรื่องราวของประเทศสกอตแลนด์มากขึ้น 

               เรื่องราวในภาพยนตร์เล่าเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น เพราะตามในบันทึกประวัติศาสตร์ การต่อสู้เพื่อเอกราชนั้นได้ใช้เวลานานถึง 30 ปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับช่วงเวลาการประกาศเอกราชให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ได้ค้นหาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อไม่นานมานี้เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) ได้มีนิทรรศการจัดแสดงคำประกาศอาร์โบรธ (The Declaration of Arbroath) หนึ่งในสมบัติแห่งชาติที่สำคัญของสกอตแลนด์ที่นำมาจัดแสดงอีกครั้งที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสกอตแลนด์ (National Museum of Scotland)  หลังจากที่ไม่ได้เผยแพร่แก่สาธารณชนมานานกว่า 18 ปี 

               คำประกาศอาร์โบรธ เป็นจดหมายที่ถูกเขียนเป็นภาษาละตินและลงตราประทับเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1320 ส่งไปยังสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 22 โป๊ป (Pope John XXII ค.ศ. 1316-1334) หรือประมุขของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในขณะนั้น เพื่อยืนยันสถานะของสกอตแลนด์เป็นรัฐเอกราชอิสระ ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษอีกต่อไป และขอให้ยอมรับโรเบิร์ต เดอะบรูซเป็นกษัตริย์ของชาวสกอตโดยชอบธรรม

               ที่มาของเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กองทัพสกอตแลนด์สามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษในยุทธการแบนน็อคเบิร์น (Battle of Bannockburn) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1314 แต่ฝ่ายอังกฤษยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในการปล่อยให้สกอตแลนด์เป็นเอกราช มิหนำซ้ำ สกอตแลนด์ยังถูกคว่ำบาตรจากทางศาสนจักรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เมื่อกองทัพสก็อตแลนด์ยังยืนกรานที่จะไม่สงบศึก และพร้อมทำสงครามต่อไป 

 

ภาพที่ 1 ภาพวาดจำลองฉากการสู้รบในยุทธการแบนน็อคเบิร์น

แหล่งที่มาภาพ: https://www.bbc.co.uk/programmes/b00y2srx

 

 

               จดหมายคำประกาศฉบับนี้จึงถูกร่างขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้ทางการทูต โดยทำมาจากหนังแกะและเชื่อกันว่าจดหมายถูกเขียนอย่างเป็นทางการที่วิหารอาโบรธ (Abroath) ซึ่งมีเบอร์นาร์ดแห่งคิลวินนิง (Bernard of Kilwinning) เป็นผู้เขียน และมีเอิร์ล (Earl บรรดาศักดิ์ลำดับที่ 3 ในระบบขุนนาง) 8 คน และบารอน (Baron บรรดาศักดิ์ลำดับที่ 5 ในระบบขุนนาง) ประมาณ 40 คนเป็นผู้ลงปิดผนึก เนื้อหาในส่วนจดหมายนั้นมีความยาวประมาณ 1,000 คำ โดยมีเรื่องราวโดยย่อเกี่ยวกับตำนานต้นกำเนิดของชาวสกอต พร้อมกับเล่าว่าพวกเขาเคยอยู่กันอย่างสงบสุข จนกระทั่งกองทัพอังกฤษของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 (Edward I of England หรือที่รู้จักว่า Hammer of the Scots) ได้เข้ามารุกรานสกอตแลนด์และสร้างความยุ่งเหยิงอย่างมาก คำประกาศยังยืนยันว่าโรเบิร์ต
เดอะบรูซเป็นผู้ปลดแอกของชาวสกอตในฐานะกษัตริย์ของพวกเขา และจะไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์อังกฤษพร้อมกับขอร้องให้พระสันตะปาปาเกลี่ยกล่อมพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 (Edward II of England) กษัตริย์อังกฤษในขณะนั้นยุติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ปล่อยให้ชาวสกอตได้อยู่อย่างสันติ และถ้าหากสำเร็จ สกอตแลนด์ก็พร้อมสนับสนุนในการทำสงครามครูเสดที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ยังมีจดหมายอีก 2 ฉบับที่เป็นจดหมายจากกษัตริย์
โรเบิร์ต และจากบิชอปแห่งเซนต์แอนดรูว์ส (The Bishop of St Andrews) ได้ถูกส่งไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่น่าเสียดายที่จดหมายเหล่านั้นได้สูญหายไปแล้ว

 

ภาพที่ 2 เอกสาร คำประกาศอาร์โบรธ

แหล่งที่มาภาพ: https://www.nrscotland.gov.uk/Declaration

 

               ผลจากจดหมายคำประกาศนั้น ทำให้พระสันตะปาปาได้ทรงเรียกร้องให้มีการประนีประนอมกันอีกครั้งเพื่อหยุดการนองเลือดทั้งสองฝ่าย กอปรกับสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษในเวลาต่อมา ทำให้การเจรจานี้ได้ข้อยุติผ่านสนธิสัญญาเอดินบะระ-นอร์ทแธมป์ตัน (Treaty of Edinburgh–Northampton) ในปี ค.ศ. 1328 รวมถึงการยอมรับกษัตริย์โรเบิร์ตที่ 1 ในฐานะกษัตริย์ และอิสรภาพของดินแดนสกอตแลนด์

 

 

ภาพที่ 3 และ 4 ตราประทับและเนื้อหาบางส่วนในคำประกาศอาร์โบรธ

แหล่งที่มาภาพ: https://www.nms.ac.uk/explore-our-collections/stories/scottish-history-and-archaeology/an-essential-guide-to-the-declaration-of-arbroath/

 

               ปัจจุบันคำประกาศอาร์โบรธที่หลงเหลือชิ้นสุดท้ายนี้อยู่ในความดูแลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสกอตแลนด์ (National Records of Scotland ชื่อย่อ NRS) ซึ่งตัวจดหมายนั้นแม้ในภาพรวมจะถือว่าอยู่ในสภาพดีแต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายได้ทุกเมื่อ ทำให้เอกสารนี้ต้องได้รับการอนุรักษ์และดูแลเป็นพิเศษ ไม่สามารถนำมาจัดแสดงได้บ่อยนัก มีบางส่วนที่สูญหายตามกาลเวลา เช่น ตัวตราประทับในจดหมายที่คงเหลือเพียง 19 ชิ้นจากเดิมที่มี 50 ชิ้น การจัดแสดงครั้งนี้จึงนับเป็นการฉลองครบรอบ 703 ปีของหนึ่งในเอกสารสำคัญที่สุดของประเทศสกอตแลนด์ที่ไม่มีโอกาสเห็นได้ง่าย 

               คำประกาศนี้ไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอิสรภาพของสกอตแลนด์ นักประวัติศาสตร์บางท่านยังเชื่อว่า คำประกาศอาร์โบรธอาจเป็นแรงบัลดาลใจให้เกิดคำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็น Tartan Day หรือวันผ้าตาหมากรุกเพื่อรำลึกถึงตัวเอกสารคำประกาศชิ้นนี้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเนื้อหาคำประกาศได้ที่ Transcription and translation of Declaration of Arbroath, 6 April 1320

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

BBC (2023). Declaration of Arbroath: Scotland’s most famous letter goes on display. BBC News. [online] 3 Jun. Available at: https://www.bbc.co.uk/news/uk-scotland-tayside-central-65780375.

 

National Museums Scotland (n.d.). An essential guide to the Declaration of Arbroath. [online] National Museums Scotland. Available at: https://www.nms.ac.uk/explore-our-collections/stories/scottish-history-and-archaeology/an-essential-guide-to-the-declaration-of-arbroath/.

 

National Museums Scotland (n.d.). The Declaration of Arbroath. [online] National Museums Scotland. Available at: https://www.nms.ac.uk/explore-our-collections/stories/scottish-history-and-archaeology/the-declaration-of-arbroath/.

 

National Records of Scotland (2013). National Records of Scotland. [online] National Records of Scotland. Available at: https://www.nrscotland.gov.uk/Declaration#:~:text=The%20Declaration%20is%20a%20letter

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ