Museum Core
“พรหมลูกฟัก” ในสมุดภาพไตรภูมิของไทย มาจากไหน?
Museum Core
21 ก.ย. 66 3K

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               ในสมุดภาพไตรภูมิเก่าที่เขียนขึ้นตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นมีรูป ‘ไข่ทองคำ’ ประดิษฐานอยู่ภายในรูปปราสาท ดังนั้นไข่ทองคำดังกล่าวต้องมีฐานะสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ด้วยเป็นแน่

                สิ่งที่น่าสนใจคือ ไข่ทองคำที่ว่านี้มีรูปร่างสัณฐานกลมรี ไม่ต่างอะไรไปกับไข่ (แม้ว่าในสมุดภาพไตรภูมิบางฉบับ เช่น สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 ดังที่เห็นในภาพประกอบที่ 1 เขียนภาพ ‘ไข่’ ที่ดูคล้ายกับรูปหยดน้ำ) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกอะไรนักที่ศัพท์ช่างโบราณของไทยจะเรียกรูปร่างที่เห็นในสมุดภาพนี้ว่า ‘พรหมลูกฟัก’ เพราะรูปร่างหน้าตาของ ‘ไข่’ ก็คล้ายกันกับ ‘ลูกฟัก’ นั่นเอง

               แต่ว่าทั้ง ‘ลูกฟัก’ หรืออาจเรียกว่า ‘ไข่ทองคำ’ ก็ได้ มีเหตุผลอะไรและทำไมจึงมาเกี่ยวข้องกันกับพระพรหมได้?

 

ภาพที่ 1: ‘พรหมลูกฟัก’’ ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6

แหล่งที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:002%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5.jpg

 

               การทำความเข้าใจเรื่องนี้ อาจต้องเล่าย้อนไปถึงเรื่องพระพรหมในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของการคติเรื่อง ‘พระพรหม’ ในฐานะที่เป็น ‘ไข่ทองคำ’ กันเสียก่อน

               อาจกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า ‘พรหม’ ในศาสนาพุทธแตกต่างจากพรหมสี่หน้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตรงที่มีพระพักตร์ หรือใบหน้าเพียงหน้าเดียวเท่านั้น ซ้ำยังมีอยู่หลายองค์หลายประเภท จนเป็นเหตุให้ต้องมีการแยก ‘โลก’ ของบรรดา ‘พระพรหม’ ออกจากสวรรค์

               แต่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น พระพรหมมีอยู่เพียงองค์เดียว ไม่มีพรหมองค์อื่นๆ ในจักรวาลของพวกพราหมณ์อีก

               ‘พระพรหม’ มีอยู่มาก่อนศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (กล่าวอย่างเคร่งครัด คือ พระพรหมอยู่ในความเชื่อแบบพระเวท ซึ่งมีมาก่อนทั้งศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดู) โดยศาสนาพุทธได้ผนวกพระพรหมที่มีเพียงหน้าเดียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาลวิทยาของตนเองตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม หรือสมัยก่อนที่ปกรณัมเกี่ยวกับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีสี่หน้า ดังนั้นพระพรหมในพุทธศาสนาจึงมีหน้าเดียว

               นอกจากนี้พระพรหมยังมีสถานะคล้ายกับเทพรับใช้พระพุทธเจ้า สังเกตได้จากพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ที่มีพระพรหมมาคอยเข้าเฝ้าฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ และคอยปรนนิบัติอยู่ด้านข้างในฉากสำคัญต่างๆ เช่น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์และพระพรหมอยู่เคียงข้าง เป็นต้น

               พระพรหมในศาสนาพุทธจึงไม่ได้มีพัฒนาการตามปกรณ์เช่นเดียวกับพราหมณ์ เว้นเสียแต่บางครั้งที่ช่างสลักหรือเขียนรูปพระพรหมในศาสนาพุทธมีสี่หน้าอยู่บ้าง แต่ก็มีไม่มากนัก และมีปะปนกันกับรูปพระพรหมหน้าเดียว นอกจากนี้พระพรหมถูกลดคุณค่าและความสำคัญลงด้วยการขยายจำนวนของพระพรหมให้มีหลายองค์แทนที่จะมีองค์เดียวอย่างในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือความเชื่อแบบพระเวทที่มีมาก่อน โดยชาวพุทธมีทัศนะว่าใครก็ตามสามารถไปเกิดเป็นพรหมได้ถ้าสามารถสั่งสมบุญบารมีให้ถึงขนาด

               ดังนั้น ตามปรัมปราคติของพุทธศาสนาจึงมีพระพรหมหลายองค์และมีโลกของพระพรหมโดยเฉพาะ ซึ่งตามจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา เรียกว่า ‘พรหมโลก’ ตั้งอยู่เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ทั้งหกห้องฟ้า (คำเก่าของคำว่า “ชั้นฟ้า” ปรากฏอยู่ในเอกสารยุคก่อนอยุธยาอย่าง โองการแช่งน้ำพระพัทธ์) ขึ้นไปอีกทอดหนึ่ง

               พรหมโลกในจักรวาลแบบพุทธยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เมื่อนับรวมกันแล้วในจักรวาลของศาสนาพุทธ โลกของพรหม (ทั้งรูปพรหม และอรูปพรหม) มีจำนวนถึง 20 ห้องฟ้าเลยทีเดียว มากกว่าสวรรค์ของเทวดาทั่วไปเสียอีกที่มีเพียง 6 ห้องฟ้า ในส่วนแรก โลกของ ‘รูปพรหม’ ที่อยู่ถัดจากสวรรค์ทั้งหกห้องฟ้าขึ้นไประดับหนึ่ง เป็นโลกของพรหมที่มียังร่างกาย มีรูปร่างหน้าตา และเสื้อผ้าหน้าผมเป็นอย่างเทวดา โดยพรหมโลกของรูปพรหมเหล่านี้แบ่งออกเป็น 16 ห้องฟ้า จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ‘โสฬสพรหม’ (โสฬส แปลตรงตัวว่า 16)

               ถัดมาเป็นพรหมโลกส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปที่เรียกว่า ‘อรูปพรหม’ หรือพรหมที่ไม่มีรูป กล่าวคือพรหมที่บำเพ็ญบารมีจนไม่มีรูปร่างเหลืออยู่ แบ่งเป็น 4 ห้องฟ้า นับเป็นโลกของผู้บำเพ็ญบุญบารมีสูงสุดก่อนถึงพระนิพพาน และพรหมกลุ่มนี้ที่สมุดภาพไตรภูมิเขียนเป็นรูป ‘พรหมรูปฟัก’

               สรุปอย่างง่ายได้ว่า ‘พรหมรูปฟัก’ ที่เขียนเป็นรูปทรงกลมสีทองเหมือน ‘ไข่ทองคำ’ คือ ‘อรูปพรหม’
ช่างเขียนต้องการสื่อความหมายถึงการเป็นพรหมที่ไม่มีรูปร่าง แต่รูปแบบอย่างนี้ก็ไม่ใช่ว่าช่างเขียนคิดขึ้นเองเสียทีเดียว

               ปรัชญา ‘อุปนิษัท’ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อในเรื่องเวียน-ว่าย-ตาย-เกิด ชีวิตคือ ‘อาตมัน’ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณสูงสุดที่เรียกว่า ‘ปรมาตมัน’ (คือ ปรม+อาตมัน) อาตมันนั้นเป็นทุกข์ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ การจะพ้นทุกข์ได้นั้นต้องบรรลุถึง ‘โมกษะ’ คือการไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก หนทางเดียวที่จะทำได้นั้นคือการกลับไปรวมเข้ากับปรมาตมันนั่นเอง

               ‘ปรมาตมัน’ นี้บางทีก็เรียกว่า ‘พรหมัน’ (คือ พรหม+อาตมัน) หมายถึงจิตวิญญาณของพรหม รูปของพระพรหมตามปรัชญาในศาสนาพราหมณ์นั้น แท้จริงแล้วจึงเป็นบุคคลาธิฐานของปรมาตมัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในอุดมคติของพวกพราหมณ์

               ที่สำคัญคือ รูปลักษณะของ ‘ปรมาตมัน’ นี้ พวกพราหมณ์อธิบายไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ว่าเป็น ‘หิรัณยครรภะ’ คือเป็นรูป ‘ไข่ทองคำ’ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาไม่ต่างไปจาก ‘พรหมลูกฟัก’ ในสมุดภาพไตรภูมิของไทย

 

ภาพที่ 2: พระพรหมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มี 4 พักตร์

แหล่งที่มาภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Brahma

 

 

ภาพที่ 3: ‘รูปพรหม’ ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี พระพรหมในศาสนาพุทธ

โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเพียงพระพักตร์เดียว

แหล่งที่มาภาพจาก: https://www.tnews.co.th/variety/311811

 

ภาพที่ 4: ‘ไข่ทองคำ’ (หิรัณยครรภะ) คือปรมาตมันในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ภาพจาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Hiranyagarbha

 

               และที่สำคัญยังมีพยานด้วยว่าชาวกรุงศรีอยุธยานั้นรู้จักพระพรหมในรูปของ ‘ไข่ทองคำ’ ดังหลักฐานที่อยู่ในหนังสือ ‘โองการแช่งน้ำพระพัทธ์’ (มักเรียกชื่อกันผิดในสมัยหลังว่า โองการแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) ซึ่งน่าจะแต่งขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 โดยมีส่วนต้นของโองการที่แต่งเป็นร่ายบูชาพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ทั้งสาม ได้แก่ พระนารายณ์ พระอิศวร และพรพรหม ตามลำดับ ในช่วงที่กล่าวสรรเสริญถึงพระพรหมนั้นมีปรากฎคำเรียก ‘พระพรหม’ ว่า ‘พรหมาณฑ์’ ดังข้อความว่า
               “...สิทธิ์พ่อ    เสวยพรหมาณฑ์    ใช่น้อย...”

                คำว่า ‘พรหมาณฑ์’ ผูกขึ้นมาจากคำว่า ‘พรหม’ กับคำว่า ‘อัณฑะ’ หมายถึง ‘ไข่แห่งพระพรหม’ ซึ่งก็คือ หิรัณยครรภะ หรือไข่ทองคำที่ปรากฏรูปอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิทั้งหลาย ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ‘พรหมลูกฟัก’ ที่บรรดาช่างโบราณของไทยวาดนั้นหมายถึงรูปไข่ทองคำในสมุดภาพไตรภูมินั่นเอง

                แต่ในสมุดภาพไตรภูมิยุคกรุงธนบุรีก็มีการเลือกแสดงภาพอรูปพรหมโดยการไม่เขียนรูปอะไรลงไปแทนการเขียนรูปพรหมลูกฟัก จึงเขียนเป็นรูปปราสาทโปร่งโล่งไม่มีอะไรอยู่ภายใน ถูกต้องตรงกับคำว่า ‘อรูป’ คือ ‘ไม่มีรูป’ (และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อพบว่าสมุดภาพไตรภูมิในยุคกรุงธนบุรีนี้ก็ไม่เขียนรูปพระพุทธเจ้าด้วยการเว้นช่องไฟไว้โล่งๆ เช่นเดียวกับที่ไม่เขียนรูปอรูปพรหมให้เป็น ‘ไข่ทองคำ’ หรือ ‘ลูกฟัก’)

                 รูป ‘พรหมลูกฟัก’ ในสมุดภาพไตรภูมิจึงแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผนวกเอาความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอะไรอีกสารพัดที่มีอยู่ในศาสนาอื่นเข้ามาในพุทธศาสนา ซึ่งกรณีนี้คือ ‘พราหมณ์’ เข้ามารวมอยู่ในจักรวาลวิทยาแบบไทยที่เอา ‘พุทธ’ ขึ้นมาบังหน้าพิธีกรรมและความเชื่อในศาสนา ‘ผี’ นั่นเอง

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ